การฝึกลูกกินข้าวเอง คืออีกหนึ่งพัฒนาการสำหรับเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ทุกคนควรฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคคือการที่ลูกไม่ยอมกินข้าว ไม่ว่าจะใช้ความพยายามมากน้อยแค่ไหน ลูกก็เกิดอาการงอแง ทำเป็นไม่สนใจ และต้องการให้พ่อและแม่ป้อนมากกว่า วันนี้เราจึงนำเทคนิคง่าย ๆ เพื่อ ฝึกลูกกินข้าวเอง รับรองว่าไม่ยากอย่างที่คิดพ่อแม่ทุกคนก็สามารถทำได้
พ่อแม่ควรฝึกลูกกินข้าวตอนกี่เดือน
คุณแม่สามารถให้ลูกเริ่มกินข้าวได้ตอนอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่คุณแม่ควรบดข้าวให้ละเอียดเพื่อให้ลูกได้ลองทานดูก่อน ถ้าหากลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจยังไม่แนะนำให้กินข้าว เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กยังไม่พร้อมสำหรับการย่อยอาหารในชนิดอื่นนอกจากนม และลูกจะสามารถกินข้าวหยาบ หรือเป็นเม็ดแบบผู้ใหญ่ได้ ในช่วงอายุ 1 ขวบขึ้นไป
9 เทคนิค ฝึกลูกกินข้าวเอง
1. สังเกตความพร้อมในการกินของลูก
อาหารมื้อแรกของลูก ควรเริ่มต้นเมื่อลูกมีความพร้อมที่จะรับประทานอาหารอย่างอื่น เพราะหากเริ่มอาหารเร็วและลูกยังไม่พร้อม อาจส่งผลทำให้ลูกท้องอืด เพราะระบบย่อยอาหารของลูกยังไม่พร้อมในการย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และกระเพาะอาหารของลูกยังมีความจุน้อยเกินไปกว่าจะรับอาหารหนัก ๆ
2. เริ่มต้นด้วยอาหารทีละชนิด
ในช่วงที่ลูกเริ่มทดลองกินอาหารโดยเริ่มจากผักผลไม้ โดยลองครั้งละ 1 อย่าง เป็นเวลา 4-5 วันเพื่อดูการแพ้อาหารของลูก ซึ่งข้อดีของการเริ่มอาหารทีละชนิดจะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าลูกของเราแพ้อาหารชนิดใด และส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ถึงรสชาติตามธรรมชาติของอาหารแต่ละชนิด เพื่อให้การจัดการที่ง่าย และเป็นระบบ คุณแม่ควรทำบันทึกตารางประจำวัน และจดบันทึก ข้อมูลต่าง ๆ เช่น วัตถุดิบต่าง ๆ จำนวนมื้อที่ป้อน และบันทึกการแพ้อาหารในแต่ละชนิด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ 8 วิธีฝึกลูกกินข้าวเอง แบบง่าย ๆ บ้านไหนลูกไม่ยอมกินข้าวต้องลอง!!
3. กินทีละเล็กน้อย
การเริ่มให้ลูกรับประทานอาหารอื่นนอกจากนม ควรเริ่มให้รับประทานทีละน้อย ๆ วันละ 1 มื้อ มื้อละ 1-2 ช้อนโต๊ะ และตามด้วยนมแม่ให้ลูกอิ่ม แต่ถ้าหากเห็นว่าลูกยังไม่อิ่ม จึงค่อยเพิ่มปริมาณ ซึ่งจะรู้ได้ไงว่าลูกยังไม่อิ่ม ลูกจะไม่หันหน้าหนีไปไหน หรือดุนอาหารออกจากปาก ไม่ควรป้อนอาหารลูกมากจนเกินไป เพราะอาหารหลักของลูกในช่วงขวบปีแรกคือ นมแม่
4. ควรให้ลูกกินผักก่อนผลไม้
อาหารที่เริ่มก็คือผัก เพราะจะทำให้ลูกได้คุ้นชินกับรสชาติของผักที่มีรสอ่อนกว่า และมีความหวานน้อยกว่าผลไม้ ไม่เพียงเท่านี้ยังเป็นการฝึกลูกกินผักได้ไปในตัว แต่หากให้ลูกเริ่มกินผลไม้ก่อนผักจะทำให้ลูกติดรสหวานจากผลไม้ ทำให้ลูกปฏิเสธการกินผักได้ ผักที่แนะนำให้ลูกกินในครั้งแรกควรเป็นผักที่นิ่ม ๆ และมีสีสันที่น่ากิน รสชาติไม่จัด ไม่ขม และมีกลิ่นที่ฉุน อย่างเช่น แคร์รอต ฟักทอง ตำลึง ถั่วลันเตา และบรอกโคลี เป็นต้น
5. ควรให้ลูกกินไข่แดงก่อนไข่ขาว
เพราะลูกของคุณแม่อาจมีสิทธิ์ที่จะแพ้โปรตีนในไข่ขาวได้มากกว่าไข่แดง ถึงแม้ว่าจะผ่านการปรุงสุกมาแล้ว อีกทั้งไข่แดงจะย่อยง่ายกว่าไข่ขาวอีกด้วย การให้ลูกกินไข่แดง ควรปรุงให้สุก เพราะหากกินแบบไม่สุกหรือที่เรียกว่ายางมะตูม จะทำให้ลูกย่อยยาก และหากลูกมีอายุมากกว่า 1 ขวบ ค่อยฝึกให้ลูกกินไข่ได้ทั้งลูก
6. ฝึกให้ลูกกินปลาน้ำจืดก่อนปลาทะเล
เนื้อปลา เป็นเนื้อสัตว์ย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น และยังมีสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อสมองและการเจริญเติบโตของลูก ดังนั้นอาหารของลูกก็ควรมีปลาอยู่ในนั้นด้วย
สำหรับปลาที่เหมาะสมที่จะให้ลูกของคุณแม่รับประทานคือปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาดุก หรือปลาสวาย เพราะปลาดังกล่าวจะมีเนื้อที่นุ่ม ก้างใหญ่ บดละเอียดง่าย โดยเฉพาะปลาช่อนจะมีโอเมก้า 3 มากที่สุดในบรรดาปลาน้ำจืดด้วยกัน สำหรับปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาแซลมอน ควรให้ลูกเริ่มกินเมื่ออายุ 1 ขวบขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงที่จะแพ้โปรตีนในปลาทะเลง่ายกว่าปลาน้ำจืด
บทความที่เกี่ยวข้อง : การปล่อยให้ ลูกกินเลอะเทอะ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ของลูกได้จริงไหม?
7. การกินผลไม้ปั่นควรผ่านการปั่นเองด้วยตัวเอง
การให้ลูกกินผลไม้ปั่น เช่น มะม่วง มะละกอ แอปเปิล สาลี่ แพร์ จะช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย ผลไม้ที่นึ่งและปั่นสดจะได้ประโยชน์มากที่สุด และลูกควรกินผลไม้ปั่นทันทีเมื่อทำเสร็จหรือไม่ควรนานเกิน 15 นาที เพราะวิตามินในผลไม้จะไม่สูญเสียไป มั่นใจได้ว่าลูกกินแล้วจะไม่ท้องเสีย และปราศจากเชื้อโรคแน่นอน
8. อุ่นร้อนก่อนกิน
อาหารที่ทำให้ลูกกิน ถ้าทำเสร็จ สด ใหม่ แล้วรับประทานเลยคงจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่ทำงานนอกบ้านด้วย มีความจำเป็นที่จะต้องทำอาหารไว้ ให้คุณยายป้อนแทน ก่อนป้อนจะต้องอุ่นอาหารให้ร้อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการอุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือการอุ่นด้วยเครื่องนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกรอบ สำหรับอาหารที่อุ่นให้ลูกกินแล้ว เมื่อกินไม่หมดควรเททิ้ง ไม่ควรนำกลับมาให้กินใหม่ เพื่อป้องกันแบคทีเรียในน้ำลายของลูกจากการป้อนครั้งก่อน
9. ป้อนมื้อเช้าชัวร์ที่สุด
อาหารเสริมลูกควรเป็นอาหารปั่นละเอียด ลักษณะของอาหารควรเหลวเป็นน้ำคล้ายโยเกิร์ตหรือเหลวกว่า ควรป้อนมื้อเช้าหรือกลางวัน เพราะหากมีอาการแพ้จะได้ไปโรงพยาบาลเตรียมหาหมอทัน แต่ถ้าหากว่าไม่มีอาการแพ้สามารถเปลี่ยนมาป้อนมื้อเย็นได้ เพราะจะทำให้ลูกอิ่มนานขึ้นและหลับยาวขึ้น
อาหารเสริมมื้อแรกของแต่ละช่วงวัย
- เด็ก 6 เดือนขึ้นไป นอกจากนมแม่แล้ว คุณแม่สามารถเริ่มให้กินอาหารเสริม 1 มื้อ เริ่มต้นด้วยข้าว 3 – 4 ช้อนโต๊ะ ไข่แดงครึ่งฟอง สลับ หมู ไก่ กับปลาน้ำจืด ตับบด ผักสุกบด ฟักทอง และเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นไปเรื่อย ๆ
- เด็ก 8 เดือนขึ้นไป ช่วงวัยนี้ต้องเพิ่มปริมาณมื้ออาหารเป็น 2 มื้อ ในช่วงเวลาไหนก็ได้ รวมถึงเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นด้วย
- อายุ 10 เดือน – 1 ปี เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงอายุ 10 เดือน – 1 ปี จะเริ่มกินอาหาร 3 มื้อแทนนมแม่ นมแม่จะกลายเป็นอาหารเสริม คุณแม่สามารถให้นมลูกในช่วงระหว่างมื้ออาหาร เช่นก่อนมื้อเช้า หลังมื้อเที่ยง หรือก่อนนอน เป็นต้น
- อายุ 1 ปี ขึ้นไป เมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 ปี จะสามารถกินอาหารได้เหมือนคนทั่วไป เน้นอาหารที่ไม่แข็งมาก เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ โจ๊ก ข้าวต้ม ราดหน้า เป็นต้น
แนะนำให้คุณแม่ทำอาหารเองมากกว่าซื้อตามท้องตลาด ด้วยเมนูง่าย ๆ ที่สามารถกินกับลูกน้อยได้ เช่น ต้มจืดตำลึงกระดูกหมูกับข้าวต้มหอมมะลิ ในช่วงแรกของการเริ่มฝึกลูกกินข้าวไม่แนะนำให้บดอาหารทุกอย่างเข้าด้วยกัน เพราะเด็กมักมีปัญหาไม่ยอมเคี้ยวข้าว หรือเคี้ยวข้าวไม่เป็น ใช้แค่ตะแกรงบดอาหารก็เพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารเสริมสำเร็จรูป จำเป็นกับลูกน้อยอย่างไร รู้หรือไม่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด!
ลูกไม่ยอมกินข้าวควรทำอย่างไร
1. ให้เด็กกินอาหารใหม่ ๆ โดยไม่ต่อต้าน
การฝึกให้เด็กกินผักหรือผลไม้ชนิดต่าง ๆ เนื้อสัตว์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ลูกไม่คุ้นเคยแต่ดีต่อสุขภาพ และเป็นไปตามช่วงวัย เราแนะนำให้คุณแม่ค่อย ๆ ปนไปกับอาหารเดิมที่ลูกกินได้อยู่แล้ว และเติมทีละเล็กน้อยเขาจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีอะไรแปลกใหม่จนไม่ยอมกิน แต่ถ้าเขาปฏิเสธคุณแม่ก็อย่าเพิ่งท้อ สามารถลองทำแบบเดิมซ้ำ ๆ ได้ถึง 10 ครั้ง
2. กินอาหารให้ตรงเวลา
พยายามอย่าให้ช่วงเวลาหิวของลูกตรงกับช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ง่วงนอน ช่วงวัยแบเบาะอาจจะต้องค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เรียนรู้กันไปสักพัก คุณแม่จะรู้เองว่าส่วนใหญ่ลูกจะง่วงนอนช่วงเวลาไหน หรือสามารถตั้งเวลาอาหารให้กับลูกตั้งแต่แรก หลังจากอิ่มแล้วเขาจึงจะมีอาการง่วงนอนตามมา แต่ถ้าให้ผิดเวลาบ่อย ๆ และตรงกับช่วงเวลานอนลูกจะไม่ค่อยยอมกินเท่าไหร่ เพราะร่างกายต้องการพักผ่อนมากกว่า
3. เวลากินข้าว ไม่ควรมีอย่างอื่นมาดึงความสนใจของลูก
บางครั้งคุณแม่อาจจะคิดว่าขอหลอกล่อให้ลูกกินข้าวด้วยการเปิดทีวี ให้เล่นของเล่นควบคู่ไปด้วย แต่จริง ๆ แล้วยิ่งทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้เด็ก ๆ ไปสนใจสิ่งอื่นมากกว่าการกินข้าว วิธีที่ดีที่สุด คือเวลากินก็อยู่กับการกินเท่านั้น หลังจากกินเสร็จแล้วถึงจะทำกิจกรรมอื่นต่อได้ เป็นการฝึกนิสัยที่ดีในเรื่องการกินให้กับลูกด้วย
ในระหว่างการฝึกให้ลูกกินข้าวเอง เด็กอาจจะมีอาการต่อต้าน และดื้อตามประสา ซึ่งในช่วงวัยที่กำลังหัดฝึกฝนในแต่ละด้าน พ่อและแม่ควรใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการสอนลูกอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กหวาดกลัวและไม่อยากที่จะฝึกต่อไปอีกได้ ทั้งนี้ ลองนำเอาเทคนิคที่เราได้แนะนำไปมาปรับใช้กันดู เพื่อให้ลูกของเราสามารถกินข้าวได้เองสำเร็จ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 วิธีการเลือกช้อนส้อมสำหรับเด็ก เลือกอย่างไรให้เหมาะกับวัย
วิธีหลอกล่อให้ลูกกินข้าว ลูกไม่ยอมกินข้าวทำไงดี หลอกล่อ ให้ลูกยอมกินข้าวซะที
ลูกไม่ยอมกินข้าว ทำไงดี สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่กินข้าวคืออะไรและวิธีทำให้ลูกกินข้าว
ที่มา : phyathai, paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!