ทำอย่างไรดีเมื่อ ลูกกินเลอะเทอะ คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนคงต้องพบเจอกับปัญหานี้กันมาบ้างแล้ว ยิ่งลูกที่อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะก็จะเล่นเลอะเทอะอยู่เป็นประจำ หรือสกปรกเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็น กินเลอะเทอะบ้าง เล่นอาหารบ้าง เล่นดิน เล่นโคลน หรือเล่นสี สมกับคำกล่าวที่ว่า ยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์จริง ๆ ! แต่การปล่อยให้ ลูกเลอะเทอะดีจริงหรือ ? แบบนี้จะสามารถช่วยส่งผลดีต่อพัฒนาการเด็กได้ไหม ตามไปหาคำตอบพร้อมกันได้เลย
ลูกกินเลอะเทอะ ดีต่อพัฒนาการวัยเตาะแตะ
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวาได้ลองศึกษาจากเด็กที่มีอายุ 16 เดือนว่าหนูน้อยเหล่านี้มีทักษะพัฒนาทางด้านภาษาเกิดขึ้น เด็ก ๆ จะรู้จักชุดคำศัพท์จากวัตถุที่ไม่เป็นของแข็ง เช่น ข้าวโอ๊ต ซอส ฯลฯ ได้หรือไม่ โดยให้เด็ก ๆ ได้นั่งอยู่บนเก้าอี้ทรงสูงสำหรับกินข้าวหรือในที่ที่เขาคุ้นเคย แล้วนำอาหาร เครื่องดื่ม หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่ที่วัตถุที่เป็นของแข็งวางไว้ ซึ่งหนูน้อยเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ชื่อของวัตถุได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ซอสแอปเปิล พุดดิ้ง ไปจนถึงน้ำผลไม้ ที่อยู่ตรงหน้า เด็ก ๆ จะสนุกสนานกับการใช้มือจุ่ม หยิบกิน ขว้างปา การหยิบขึ้นมาบดบี้ขยี้ และทามันลงบนโต๊ะแทบทุกส่วน
จากการศึกษานี้ได้พบว่า เด็กน้อยวัยเตาะแตะที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับอาหารต่าง ๆ เป็นอย่างมาก นั้นมีแนวโน้มที่จะแยกแยะชื่อได้อย่างถูกต้องจากการหยิบจับ ยิ่งไปกว่านั้นเด็ก ๆ ได้เลอะเทอะมากเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งเรียนรู้วิธีการกินมากขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นการสร้างพัฒนาการของลูก ที่พ่อแม่อย่าเพิ่งหงุดหงิด หากลูกจะกินเลอะเทอะเปรอะเสื้อ เลอะไปถึงผ้าอ้อม ลามไปถึงหน้าตา หรือออกไปเล่นเปรอะเปื้อนกลับมา ถ้าอยากให้ลูกรักได้เรียนรู้ประสบการณ์และมีพัฒนาการดี ๆ รวมถึงอารมณ์ดี มีความสุข เพิ่มมากขึ้นจากสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการทดลองของเจ้าหนูตรงหน้า
วิธีฝึกลูกกินข้าวเอง บ้านไหนลูกไม่ยอมกินข้าวต้องลอง !
วิธีฝึกลูกกินข้าวเอง ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะเด็ก ๆ เมื่อถึงวัยหนึ่งเข้าจะเริ่มแสดงพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพัฒนาของร่างกาย ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าพวกเขาพร้อมที่จะเริ่มช่วยเหลือตนเองได้แล้ว การหัดให้ลูกได้เรียนรู้การทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวง่าย ๆ ก่อน อย่างเช่นการกินข้าวด้วยตนเอง และสำหรับวิธีฝึกลูกกินข้าวเอง นั้นก็ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากเลย โดยมีวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
- แนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่า ให้ลูกน้อยได้ลองจับช้อนของตัวเองดู แต่ก็อย่าปล่อยให้ลูกน้อยกินข้าวเองก่อนนะ พ่อแม่ควรจะมีช้อนอีกคันเพื่อตักอาหารให้ลูกน้อยทานด้วย
- ช้อนที่ใช้สำหรับเด็กควรเลือกดูว่ามีขนาดใหญ่เกินไปหรือเปล่า ลูกน้อยจับถนัดมือไหม มีด้านคมที่อาจทำให้ลูกเป็นแผลหรือไม่ถ้าให้ดี มีสีสันสดใสดึงดูดลูกน้อยแค่ไหน เพราะองค์ประกอบพวกนี้จะทำให้เด็กสนใจที่ลองใช้
- คุณแม่ลองสาธิตการใช้ และการกินให้ลูกดูก่อน จากนั้นให้ลูกน้อยได้ลองทำตามเพราะเด็กเขาเริ่มที่จะเลียนแบบแล้ว ระหว่างนั้นพ่อแม่ก็กินข้าวไปด้วย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การกินที่ถูกวิธี แต่ไม่ต้องรีบ ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปให้เขาจับให้ชินก่อนเดี๋ยวก็เป็นเอง
- ลองให้ลูกทำซ้ำ ๆ ตอนแรกคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองจับมือลูก ให้ตักและดันช้อนให้เข้าปากเขาไปก่อน ทำวนสลับกับป้อนข้าวเองบ้าง จะได้ไม่เป็นการบังคับมากเกินไป
- แบ่งจานอาหารสำหรับให้ลูกตักเอง และจานสำหรับป้อนลูกไว้ เพื่อป้องกันชามกับข้าวลูกคว่ำไปเสียก่อน เดี๋ยวลูกน้อยจะอดทานข้าวเอาได้ พอเขาเริ่มทานเองได้ คราวนี้เราก็ไม่ต้องแยกชามอาหารแล้ว
ให้ลูกกินข้าวเองดีอย่างไร
- ช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึก ให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการหยิบจับช้อน การตัก การเกร็ง เพื่อให้ลูกน้อยพัฒนาไปอีกขั้นของพัฒนาการ
- ฝึกประสาทสัมผัส โดยเฉพาะทางมือ และสายตา เพราะระหว่างที่ลูกน้อยหัดกินข้าวนั้น เขาจะใช้วิธีการสังเกตพร้อม ๆ กับการหยิบจับไปด้วย
- การพัฒนาด้านสติปัญญา เพราะลูกน้อยเวลาที่กินข้าวในแต่ละครั้ง เขาจะใช้ความคิด วิเคราะห์ว่าต้องจับยังไง ตักขนาดไหน ทำยังไงให้เข้าปาก ต้องตักขนาดเท่าไหนทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกน้อยฝึกการคิดมากขึ้น
- แก้ปัญหาลูกไม่ยอมทานข้าว พ่อแม่บางบ้านพยายามหาวิธีให้ลูกกินข้าวสารพัด ทำอย่างไรลูกก็ไม่ยอมกินข้าวเองสักที ซึ่งจะเป็นอีกวิธีที่ทำให้ลูกสนุกกับการทานข้าว เขาก็จะไม่เบื่ออาหาร และทานได้เยอะขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาลูกกินข้าวยาก ปัญหาหนักอกของพ่อแม่ ทำอย่างไรให้ลูกทานข้าว
ควรให้ทารกกินอาหารได้เมื่อไหร่
แพทย์หญิงแมรี่ ระบุว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการให้ทารกเริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ คือเมื่อทารกได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการกินแล้วนั่นเอง ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำให้คุณแม่รอจนลูกมีอายุ 6 เดือนเสียก่อน เพราะเริ่มมีความพร้อมสำหรับการกินอาหารที่จำเป็นต้องใช้การบดเคี้ยวได้แล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่ากินอาหารอื่นได้แล้ว
เด็กจะต้องคอแข็งพอ และสามารถควบคุมศีรษะได้ รวมถึงสามารถนั่งบนเก้าอี้สูง(สำหรับเด็ก)ได้ ซึ่งปกติแล้วมักจะอยู่ในช่วง 4- 6 เดือนไปแล้ว หากให้ลูกกินอาหารที่ไม่ใช่นมหรือน้ำเปล่า และมีปฏิกิริยาในการห่อปาก ใช้ลิ้นดุนอาหารออกมาทันที นั่นแสดงว่ายังไม่ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้ลูกกินอาหารใด ๆ แม้ว่าจะเป็นกล้วยหรือข้าวที่บดแล้วก็ตาม ซึ่งตามธรรมชาติของเด็ก ปฏิกิริยาเหล่านี้จะเริ่มหายไปเมื่อมีอายุประมาณ 4-6 เดือน
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารเช้าน่ารัก ๆ พิชิตใจลูกน้อยกินข้าวยาก รับรองลูกติดใจ
สัญญาณอื่น ๆ ที่แสดงว่าลูกพร้อมกินอาหารได้
เด็กเริ่มแสดงอาการสนใจในอาหาร เช่น มองในสิ่งที่คนอื่นกิน เอามือจับอาหาร เปิดปากเมื่อมีคนป้อนอาหาร เริ่มกลืนอาหารเป็น และมีน้ำหนักตัวมากกว่าตอนแรกเกิด 2 เท่า หรือใกล้เคียง
นมแม่สำคัญที่สุด ควรให้ต่อเนื่องจนถึง 1 ปี
หากลูกพร้อมกินอาหารได้แล้ว ก็ควรจะให้ลูกกินนมแม่ก่อน จากนั้นค่อยให้กินอาหาร เพราะนมแม่มีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นสำหรับลูกน้อย หากเป็นไปได้ควรให้ลูกกินนมแม่ไปจนกระทั่งอายุ 1 ขวบ ส่วนอาหารนั้นให้ควบคู่กันได้ แต่ต้องให้หลังจากกินนมไปแล้ว เพราะถึงอย่างไรเสียนมแม่ก็สำคัญที่สุด
ท่องไว้ ! น้ำผลไม้ไม่จำเป็นสำหรับทารก
หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าน้ำผลไม้ดีต่อสุขภาพของลูกน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำผลไม้ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะแทนที่จะได้รับคุณค่าทางอาหารจากการกินนมแม่ การดื่มน้ำผลไม้กลับทำให้เด็กอ้วนได้ง่ายจากน้ำตาลในน้ำผลไม้ นอกจากนี้ก็ยังเป็นสาเหตุให้ท้องเสีย รวมถึงเสี่ยงต่อการฟันผุเมื่อเริ่มมีฟันขึ้นด้วย
เห็นไหมคะสำหรับเด็ก ๆ ยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์ ดังนั้นเมื่อเห็นลูกของเรากินอย่างเลอะเทอะ พ่อและแม่ ควรปล่อยให้เขาได้สนุกอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้กับความอยากรู้อยากเห็น ได้ปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังเป็นการช่วยสร้างทักษะต่าง ๆ และเชื่อมโยงความฉลาดอื่น ๆ ได้อีกหลายด้าน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 ช้อนทารก ยี่ห้อไหนดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แนะนำช้อนป้อนข้าวทารก
ลูกกินยาก ไม่เจริญอาหาร ปัญหาสำคัญที่คุณแม่ควรแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ
10 วิธี ชวนลูกกินผัก ฝึกลูกกินผัก ทำอย่างไร ลูกจะได้สุขภาพร่างกายแข็งแรง
ที่มา : amarinbabyandkids
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!