ใกล้เปิดเทอมอย่างนี้ คุณแม่เตรียมรับมือกับการ ปลุกเจ้าตัวเล็กให้ตื่นไปโรงเรียน หรือยังคะ เพราะการหยุดต่อเนื่องที่ยาวนาน ทำให้ลูกนอนตื่นสาย เสียจนเคยชิน คุณแม่หลายบ้านถึงกับต้องปวดหัว คิดหาสารพัดวิธีในการงัดเจ้าตัวเล็กให้ลุกออกจากเตียง สงครามย่อม ๆ ในตอนเช้า พาลทำให้คุณแม่ต้องหงุดหงิดเสียอารมณ์ก่อนไปทำงานทุกวัน มาลองปรับเปลี่ยนวิธีปลุกใหม่ รับรองได้ว่า สบายใจทั้งคุณแม่ เจ้าตัวเล็กก็ไม่งอแง แถมอาจตื่นเองไปซะงั้น
9 ปฏิบัติการ ปลุกเจ้าตัวเล็กให้ตื่นไปโรงเรียน
1. เรียนรู้ และรู้จักลูกของคุณให้มากขึ้น
สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำคือ การเรียนรู้ว่า ลูกของคุณมีลักษณะอย่างไรบ้าง เช่นนอนนานแค่ไหน หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือไม่ เป็นเด็กขี้เซา หรือเขาสามารถตื่นได้เองเมื่อถึงเวลา หลังจากนั้น คุณค่อยเลือกวิธีการปลุก หรือการพาเขาให้ลุกออกจากที่นอน ให้เหมาะสม และพยายามทำเช่นเดิมเป็นประจำ และต้องอ่อนโยน แล้วเขาจะสามารถตื่นนอน พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยอารมณ์ที่สดชื่น พร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
2. จัดเวลานอนให้ลูกอย่างเหมาะสม
เป็นเรื่องธรรมดาในช่วงวันหยุด หรือช่วงที่ปิดเทอมนาน เรามักจะปล่อยให้ลูก ใช้ชีวิตแบบไลฟ์สไตล์ อาจจะนอนตื่นสายบ้าง หรือเล่นจนดึกจนดื่น แต่เมื่อใกล้ช่วงจะเปิดเทอมควรจะต้องจัดตารางเวลานอนให้ลูกของคุณอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ลูกนอนดึก การที่จะให้ลูกตื่นเช้าเพื่อไปเรียน ก็คงจะเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่อยากให้ลูกงอแงตอนตื่น ให้ดูว่าปกติลูกจะใช้เวลานอนโดยประมาณกี่โมงในแต่ละวัน และจัดสรรให้พอเหมาะกับตัวเขา ต้องมั่นใจว่า เขานอนหลับได้มากเพียงพอกับความต้องการ และเขาจะสามารถตื่นนอน พร้อมกับการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
3. จู่โจมแบบเบา ๆ เพื่อ ปลุกเจ้าตัวเล็กให้ตื่นไปโรงเรียน
การเข้าไปกอด หอม และกระซิบข้างหู ทักทายกับลูกเบา ๆ ในตอนเช้า เป็นวิธีการปลุกที่ดีที่สุด จะทำให้ลูกตื่นอย่างสดชื่น แจ่มใส ไม่งอแง รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยตลอดทั้งวัน ส่งผลให้การเรียนรู้ระหว่างวันก็พลอยมีพัฒนาการที่ดีไปด้วย แบบนี้ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และยังดีต่อสุขภาพของสมองอีกด้วยนะคะ
4. เสียงเพลงยามเช้า
คุณแม่อาจค่อย ๆ เปิดเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน เพื่อปลุกเจ้าตัวเล็กในตอนเช้า ให้เป็นเช้าอีกวันหนึ่งที่มาพร้อมความร่าเริงแจ่มใส เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ลูกตื่นเองด้วยความสดใส มีอารมณ์ดี ไม่เครียด หรือบางวัน คุณแม่อาจทำตัวเป็นนักร้องจำเป็นเสียเอง อาจจะได้เห็นรอยยิ้มน่ารัก ๆ ของเจ้าตัวเล็กตื่นขึ้นมาทักทายตรงหน้าก็เป็นได้
5. นาฬิกาห่างตัว
วิธีนี้จะเหมาะกับลูกในวัยที่โตขึ้นมาหน่อย ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการฝึกให้ตื่นได้ด้วยตัวเอง แต่บางวันก็ยังอิดออดไม่ยอมตื่นเสียที คุณแม่อาจตั้งนาฬิกาปลุกไว้ห่างตัวลูก เพื่อที่ตอนถูกปลุก ลูกจะต้องลุกขึ้นจากเตียงเพราะทนเสียงนาฬิกาไม่ไหว
6. ปูไต่เจ้าเสน่ห์
คุณแม่หลายคน เลือกใช้วิธีเล่นปูไต่ปลุกเจ้าตัวเล็กแทนการเรียกให้ตื่น โดยจะสัมผัสตัวลูกก่อนเบา ๆ เพื่อให้รู้สึกว่าแม่กำลังจะปลุกแล้วนะ แล้วเริ่มไต่ไปตามตัว เข้าไปในหูบ้าง ไต่ไปบนหัวบ้าง ลูกจะรู้สึกจั๊กจี้ ส่งเสียงหัวเราะ และตื่นนอนอย่างมีความสุข บางทีเจ้าตัวเล็กอาจแกล้งทำเป็นหลับต่อ เพราะอยากเล่นปูไต่อีกครั้งก็ได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : How to ดูแลลูกวัยเรียนรู้ให้เก่งรอบด้าน
7. ปลุกเจ้าตัวเล็กให้ตื่นไปโรงเรียน ด้วยอาหารเช้าแสนอร่อย
กลิ่นของอาหารเช้าแสนหอม อาจเป็นสิ่งยั่วยวนให้ลูกตื่นขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าลูกของคุณเป็นเด็กไม่ค่อยชอบทานอาหาร ก่อนเข้านอนทุกคืน คุณแม่อาจกระตุ้น ด้วยการให้เขาเป็นคนคิดเมนูอาหารเช้าประจำบ้าน หรือให้มีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในการจัดเตรียมอาหาร เพียงเท่านี้เจ้าตัวเล็กก็อยากให้ถึงมื้อเช้าไว ๆ แล้วล่ะ
8. ปลุกด้วยแสงธรรมชาติ
ก่อนเข้านอน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเปิดผ้าม่านออกเล็กน้อย หรือปิดแค่ผ้าม่านกรองแสง เพื่อให้แสงสว่างจากพระอาทิตย์ยามเช้าค่อย ๆ ส่องผ่านเข้ามาในห้องนอน เพื่อเป็นสัญญาณให้กับเด็ก ได้รู้ว่า ถึงเวลาที่เขาจะต้องตื่นนอน เพราะร่างกายคนเรา มักจะตื่นตัวเมื่อเจอกับแสงอาทิตย์กระตุ้น
9. ปลุกด้วยของเล่นที่มีเสียง
คุณพ่อคุณแม่ อาจจะเลือกหยิบของเล่นที่ลูกคุณให้ความสนใจ และชอบเล่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่มีเสียง หรือของเล่นที่มีเสียง เพื่อกระตุ้นให้เขารับรู้ และอยากที่จะตื่นมาเล่นของเล่นชิ้นนั้น ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เปิดเทอมหน้าฝนนี้ ลูกควรระวังอะไร และคุณแม่ควรเตรียมของใช้อะไรให้ลูกพกไปโรงเรียนบ้าง
Tips : วิธีที่ไม่ควรใช้ในการปลุกลูก
- ตะโกนด้วยความโมโห : วิธีนี้อาจจะสามารถปลุกลูกของคุณให้ตื่นขึ้นมาได้ แต่การตื่นของเด็ก จะตื่นมาด้วยความหงุดหงิด งัวเงีย บางรายอาจจะเกิดอาการต่อต้านที่เก็บเอาไว้ในใจ และอาจสั่งสมไปเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ในอนาคต
- ปลุกไปด้วย บ่นไปด้วย : การที่ต้องตื่นแล้วเจอกับคำบ่น กร่น ด่า ในแต่ละวัน คงไม่ทำให้สุขภาพจิตของเด็กที่ได้ยิน จะดีเท่าที่ควร ซึ่งคำบ่นเหล่านั้น จะส่งผลถึงอารมณ์กับตัวเด็ก และส่งผลเสีย ไปถึงพัฒนาการ การเรียนรู้ และการพัฒนาสมองได้อีกด้วย
- ดึงหรือกระชากผ้าห่มออกจากตัวแรง ๆ : การกระทำในลักษณะนี้ เป็นการสร้างความรู้สึกหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย และเกิดความกังวลใจ ในบางรายอาจจิตตก ถึงขั้นมีอาการหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ตื่นอยู่ก็ตาม
- ทำให้ตกใจตื่นด้วยการตี หรือทำเสียงดัง ๆ : จะเป็นในลักษณะเดียวกันกับการกระชากผ้าห่มออกจากตัว เพราะเป็นการทำให้เกิดการสะดุ้ง เกิดอาการตกใจ ขวัญผวา ส่งผลให้เด็กรู้สึกกังวล ไม่ปลอดภัย อาจจะทำให้เกิดอาการกลัวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จนไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีเหล่านี้จะส่งผลต่ออารมณ์ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของลูก สิ่งเร้าที่ทำให้เป็นเด็กมีอาการ ก้าวร้าว ขี้หงุดหงิด เครียดง่าย และไม่มีสมาธิในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บางครั้งมาจากพฤติกรรมบางอย่างที่คุณได้ทำไปโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น หากเด็กมีนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวผู้ปกครองอาจจะต้องย้อนกลับมาดูว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง แล้วพยายามลด หรือเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้พฤติกรรมนั้น ๆ ถูกฝังลงลึกไปกับตัวของเด็กเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมื่อลูกต้องใช้ “ขนส่งสาธารณะ” เป็นครั้งแรก ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เตรียมตัวพาลูกเดินทาง ขึ้นเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย หลังจากวิกฤติโควิด
ใกล้เปิดเทอมแล้ว เตรียมเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกด้วย โพรไบโอติก
ที่มา : huffpost
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!