เด็กหลายคนเริ่มใช้การ ขนส่งสาธารณะ ตั้งแต่เด็ก ทำให้ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อระมัดระวังอันตรายต่าง ๆ รอบตัว ทั้งจากอุบัติเหตุ, คนแปลกหน้า หรือจะเป็นโรคระบาด เป็นต้น เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันก่อนจะเริ่มเดินทางด้วยตนเองจริง ๆ ถือเป็นการเตรียมพร้อมที่มีความสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถมองข้ามได้
ขนส่งสาธารณะมีความสำคัญต่อเด็ก
การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มีตัวเลือกมากมายตามความสะดวกของแต่ละบุคคล บ้างก็ใช้รถส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็อาจใช้การขนส่งสาธารณะในการเดินทาง สำหรับเด็กเองก็คงไม่ต่างกัน ส่วนมากการเดินทางสำหรับเด็กเล็กมักมีผู้ปกครองไปด้วยอยู่ตลอด ๆ แต่ในบางครั้งเด็กอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางด้วยตนเองเมื่อเริ่มโต ซึ่งเราจะเห็นได้โดยทั่วไป เช่น การเดินทางไปโรงเรียน, ไปเที่ยวกับเพื่อน หรือการออกไปทำธุระต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นต้น
ด้วยความที่การเดินทางสาธารณะมีหลายรูปแบบ และมักถูกใช้งานอย่างมากสำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นทั้งการใช้รถเมล์, รถไฟฟ้า, รถสองแถว หรือรถไฟ จึงทำให้ต้องเรียนรู้ข้อควรระวัง และวิธีการใช้งานอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทางต่อทั้งตัวของเด็กเอง และบุคคลรอบข้างด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : สร้างเกราะป้องกันลูกจากคนร้าย มาสอนลูกวัยอนุบาลให้รู้จักการปฏิเสธคนแปลกหน้ากัน
วิดีโอจาก : Pun Pam Show
ทำไมจึงต้องระวังการใช้การขนส่งสาธารณะ
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวัน จะต้องมีความรอบคอบในการทำสิ่งต่าง ๆ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ หากเราประมาท หรือขาดการศึกษาก่อน การเดินทางด้วย ขนส่งสาธารณะ ก็เช่นเดียวกัน ขึ้นชื่อว่าสาธารณะก็มีความหมายตรงตัวคือ ไม่ใช่ของเราแต่เพียงผู้เดียว การเดินทางจะใช้ร่วมกับผู้อื่นด้วย ด้วยความที่ต้องเจอคนมากหน้าหลายตา ล้วนแล้วแต่ต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับเด็ก สำหรับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้ก็มีหลากหลายแบบ ได้แก่
- การถูกขโมยของ : บางครั้งการเดินทาง อาจต้องเจอกับชั่วโมงเร่งด่วนที่ทุกคนต่างไม่อยากรอรถคันใหม่ เพราะอาจทำให้ไปทำงานสาย หรือไปโรงเรียนสาย เป็นต้น ทำให้หลายคนตัดสินใจขึ้นรถไม่ว่าจะรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า ทำให้เกิดความแออัด และต้องเบียดกับผู้อื่นตลอดการเดินทาง หากหนึ่งในนั้นมีมิจฉาชีพที่อาศัยสถานการณ์ดังกล่าวหยิบขโมยสิ่งของมีค่า อาจทำให้เด็กไม่รู้ตัวได้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีความชำนาญ และอาจไม่ได้มีคนสนใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
- เสี่ยงต่อเชื้อระบาด : เมื่อมีการระเบิดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ หรือโรคติดต่อ การไปในที่ชุมชนนั้นถือเป็นความเสี่ยง การใช้งานการขนส่งสาธารณะเองก็มีความเสี่ยงไม่ต่างจากในชุมชน ด้วยเหตุผลของความแออัดตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันคือเชื้อไวรัส Covid-19 ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางในช่วงนี้ ควรเป็นการเดินทางที่มีความจำเป็น เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนด, สวมหน้ากากอนามัย, พกเจลแอลกอฮอล์ และพยายามไม่สัมผัสพื้นผิวระหว่างเดินทาง
- การเกิดอุบัติเหตุ : อุบัติไม่ได้เกิดได้แค่บนท้องถนนเท่านั้น ยังสามารถเกิดได้แม้การใช้งานขนส่งสาธารณะทั้งการตกจากรถเมล์ด้วยเร่งรีบ, การตกรางรถไฟฟ้าจากความไม่ระวัง หรืออุบัติเหตุที่มาจากคนขับเองก็ตาม ด้วยอันตรายเหล่านี้ต้องอาศัยความรับผิดชอบของทุกคนร่วมกัน เพื่อลดโอกาสเกิดอันตรายขึ้น รวมถึงตัวของเด็กเองด้วยเช่นกัน
- ภัยจากคนแปลกหน้า : หนึ่งในอันตรายที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หากไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ คือการเจอกับคนแปลกหน้าระหว่างเดินทางซึ่งสามารถมาได้หลายรูปแบบทั้งจากคนที่เข้ามาชวนคุยพยายามให้เกิดความเชื่อใจ, คนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจนเด็กอาจคล้อยตาม หรือการเป็นเป้าหมายของคนที่มีอาการป่วยทางจิตที่มักเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากการเดินทางอีกหลายรูปแบบที่เราไม่ได้กล่าวถึง จะเห็นได้ว่าหากปล่อยไว้ไม่ให้ความรู้กับเด็ก และให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองมากไป อาจเกิดข้อเสียได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสเพื่อที่จะพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับการใช้การขนส่งสาธารณะ
การใช้การขนส่งสาธารณะที่ถูกต้อง และปลอดภัย
อันตรายที่เกิดขึ้นนั้นต้องอาศัยความระมัดระวังส่วนบุคคล ไม่ใช่แค่เพียงเด็กเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้ใหญ่ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกเพศ ไม่ใช่แค่เพียงเพศหญิงเพียงอย่างเดียว ในเบื้องต้นนั้นหากเป็นการเดินทางครั้งแรก ควรไปกับลูกด้วยเพื่อดูว่าลูกมีความสงสัยในเรื่องไหนบ้างจะได้ตอบคำถามได้ทันที และเพื่อให้ลูกมีความเคยชินกับการใช้ขนส่งสาธารณะในแต่ละรูปแบบก่อนเสมอ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมคุยกับลูกเกี่ยวกับข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ต้องรู้ ได้แก่
- เรียนรู้เส้นทาง : ก่อนการเดินทางในแต่ละครั้ง หากเป็นเส้นทางเดิมคุณพ่อคุณแม่ควรให้คำแนะนำการเดินทางที่เหมาะสมที่สุดก่อนเสมอ โดยเฉพาะในเมืองหลวง หรือจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มักมีจราจรแออัดเกือบจะตลอดเวลา จะช่วยให้ลูกประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางได้
- เตรียมตัวให้พร้อม : ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ควรเน้นย้ำให้เด็กตรวจสอบสิ่งของที่จำเป็นเพื่อป้องกันเชื้อโรค และไม่ควรปล่อยให้โทรศัพท์แบตหมดเด็ดขาด เนื่องจากหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขอความช่วยเหลือได้ นอกจากจะเป็นของที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยแล้ว ยังต้องสอนให้เด็กรู้จักความรอบคอบด้วยว่ามีสิ่งของอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมหรือไม่ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ปกครองคอยเตือนอยู่ตลอดเวลา
- พยายามเผื่อเวลา : อุบัติเหตุหลายอย่างเกิดจากความรีบร้อนมากจนเกินไป เพราะกลัวไม่ทันเวลา เช่น วิ่งขึ้นรถเมล์ และตกจากรถเพราะรถออกตัวแรงเกินไป เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้อาต้องเริ่มแก้จากตัวของเราก่อน เพราะถ้าหากอาศัยอยู่ในเมืองหลวง คงยากที่จะให้คนอื่นมาแก้ไขให้ ด้วยการเผื่อเวลาในการเดินทางให้เหมาะสม ควรประเมินเวลาจากการเดินทางปกติประมาณ 30 นาทีขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงคนแปลกหน้า : บางครั้งอาจต้องแยกแยะระหว่างคนที่สนทนาด้วยทั่วไป กับบุคคลที่เป็นอันตราย เช่น ไม่ควรพูดคุยกับใครมากเกินไป หากเป็นการสนทนาทั่วไปแบบถามตอบ และจบการสนทนาไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากคู่สนทนาพยายามชวนคุย และถามเรื่องอื่น ๆ มากเกินไป ให้พยายามหลีกเลี่ยง เพราะอาจเป็นผู้ไม่หวังดี นอกจากนี้กรณีเป็นเด็กผู้หญิง หากรู้สึกว่ามีคนเดินตาม ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ลับตาคน หรือเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น
- เคารพกฎระเบียบ : การใช้เส้นทางใด ๆ จะต้องมีกฎระเบียบที่เป็นข้อควรปฏิบัติสำหรับทุกคน เช่น การไม่ยืนเกินเส้นเหลืองกรณีรอรถไฟฟ้า หรือไม่ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อทานอาหารในที่สาธารณะ เป็นต้น
การเดินทางในแต่ละแบบต่างต้องใช้ความระวัง และต้องมีสติอยู่เสมอ ไม่ควรให้เด็กเล่นมือถือมากเกินไป เพราะอาจทำให้เลยจุดที่จะต้องลงรถ หรือเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ด้วยเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ถึงสนามบินแล้ว แต่ลูกกลัวเครื่องบินไม่ยอมขึ้น ทำอย่างไรดี ?
ลูกร้องไห้จะเอา “โมเดล” ควรแก้ปัญหานี้อย่างไร และควรเลือกซื้ออย่างไร
“ความเคารพ” สำคัญสำหรับเด็ก ฝึกอย่างไรให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังเล็ก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!