ผู้ปกครองจะต้องกังวลหากพบว่าเกิด สีผิวผิดปกติของลูก เพราะสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ เป็นข้อสังเกตสำคัญของอาการ “โรคด่างขาว” ที่รักษาได้ยาก และต้องระมัดระวังในการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง หากคิดว่าลูกรักมีความเสี่ยง รีบอ่านเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้
โรคด่างขาวเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคด่างขาว (Vitiligo) นี้ไม่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ หรือมาจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน และโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) เป็นต้น อาการของโรคด่างขาวมาจากการที่ร่างกายทำงานผิดพลาดไปทำลายเซลล์ที่ชื่อว่า “Melanocyte” ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี “Melanin” ซึ่งสำคัญมากต่อการกำหนดสีตามร่างกาย เช่น สีของดวงตา, สีเส้นผม ไปจนถึงสีผิว เป็นต้น เมื่อ Melanin ถูกทำลาย ทำให้ผิวเกิดเป็นด่างสีขาวขึ้นมานั่นเอง
โรคด่างขาวแม้จะสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ และถือว่าเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงสำหรับเด็ก หากไม่ป้องกันแสงแดดให้ดี และไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ปกครองควรเน้นย้ำกับลูก หากลูกมีเพื่อนที่เป็นด่างขาว ก็สามารถพูดคุย เล่นด้วยได้โดยที่ไม่ต้องกังวลใด ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคสะเก็ดเงินในทารก คืออะไร เป็นแล้วทำไมไม่หาย จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็น
วิดีโอจาก : รายการ คุยกับหมออัจจิมา
สีผิวผิดปกติของลูก อาการหลักของโรคด่างขาว
การสังเกตความเสี่ยงของทารกที่จะเป็นโรคนี้ คือ ด่างสีขาวตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกจุด สำหรับเด็กที่โตขึ้น จะพบว่าจุดที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ จะทำให้เกิดด่างสีขาวนี้ได้มากกว่า เช่น บริเวณใบหน้า และมือ เป็นต้น หรือพบที่ผิวหนังบริเวณรอบรูเปิด (Orifices) เช่น รูจมูก หรือสะดือ เป็นต้น อาการของด่างขาวจะสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของรอยด่างได้หลัก ๆ 3 แบบ ดังนี้
- ด่างขาวแบบธรรมดา (Generalized Vitiligo) : เป็นแบบที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคนี้ โดยด่างขาวจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และมักพบว่าจำนวนของด่างขาวของร่างกายซีกซ้าย และร่างกายซีกขวา มักมีจำนวนเท่า ๆ กันเสมอ
- ด่างขาวแบบเป็นหย่อม (Focal Vitiligo) : เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นน้อยกว่าแบบธรรมดา คือ จะพบว่าร่างกายมีด่างขาวเพียงไม่กี่จุดเท่านั้น โอกาสในการพบเจอไม่มากเท่ากับด่างขาวแบบธรรมดา
- ด่างขาวเฉพาะส่วน (Segmental Vitiligo) : เป็นด่างขาวที่เกิดเฉพาะเพียงแค่ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น จะไม่เกิดขึ้นกับอีกซีก โดยลักษณะอาการนี้ จะพบเจอได้ยากที่สุดในอาการทั้งหมดที่กล่าวมา
ความจริงแล้วอาการของโรคด่างขาว จะสังเกตไม่ค่อยชัดเจนหากเป็นผิวของคนยุโรป แต่สำหรับคนไทยที่มีผิวเข้มกว่า จะทำให้เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ริมฝีปากมีสีจากลง และผมขาวก่อนวัย เป็นต้น
โรคด่างขาวอันตรายสำหรับเด็กหรือไม่
ถึงแม้ว่าอาการโดยทั่วไปจะส่งผลต่อสีผิวของลูกน้อย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ นับว่าอันตรายมากจึงไม่ควรปล่อยไว้ หากพบว่าสีผิวของลูกแปลก ๆ ไม่สม่ำเสมอ ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากปล่อยไว้จนโต จะทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ด้วยการรักษาที่ต้องใช้เวลานาน การใช้ยาบางประเภทอาจส่งผลต่อร่างกายได้ หากผู้ปกครองตัดสินใจที่จะพาลูกน้อยไปรักษา ระหว่างทำการรักษา จะต้องดูแลผิวลูกให้ดี พยายามเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด เพราะจะส่งผลเสียต่อผิวลูกได้โดยง่าย
หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการของโรคด่างขาว ระหว่างนั้นผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์เบื้องต้นก่อน และอย่าลืมที่จะขอคำแนะนำในการเลือกครีมกันแดด ซึ่งสำคัญมากสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน แดดแรง การที่ลูกจะต้องเผชิญหน้ากับแสงแดดจึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ใช้ครีมกันแดด จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังได้ง่ายขึ้นไปอีกนั่นเอง
โรคด่างขาวสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม
หากอิงตามสาเหตุของการเกิดโรคที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ทำให้ไม่มีการรักษาที่ยืนยันผลได้ 100 % ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายแบบ เช่น การใช้ยา, การปลูกถ่ายผิวหนัง หรือใช้เครื่องมือฉายแสงที่เรียกว่า Excimer 308 เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษาด้วยการฉายแสงเป็นที่นิยมในการรักษาโรคนี้ อย่างไรก็ตามจากสถิติการรักษา 50 % ของผู้ป่วยที่สามารถควบคุมสีผิวได้ในระยะยาว ในขณะที่อีก 50 % จะควบคุมได้ในระยะสั้น ก่อนที่สีผิวจะกลับมาด่างอีกครั้ง ดังนั้นก่อนไปรักษาผู้ปกครองต้องพูดคุยกับลูกให้เข้าใจก่อนว่าอาจไม่ได้หายแน่นอน
เสริมสร้างความมั่นใจหากลูกเป็นโรคด่างขาว
คงเป็นเรื่องปกติที่ความแตกต่างของผิวพรรณลูก อาจไปเตะตาคนรอบข้าง ลูกอาจถูกมอง อาจมีเด็กรอบข้างที่สงสัย ทำให้ลูกขาดความมั่นใจได้ ซึ่งผู้ปกครองควรเตรียมพร้อม และพูดคุยกับลูก ดังนี้
- ไม่ควรพูดจาในแง่ลบ หรือแสดงความเห็นในเชิงอับอาย หรือคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าการที่ตนเองมีผิวแบบนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ควรพูดจาโฟกัสไปที่สีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ หรือถ้อยคำที่ทำให้ลูกต้องคิดมาก
- เสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกบ่อย ๆ เพราะลูกอาจถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อ ทำให้ความมั่นใจขาดหายไปได้ ควรบอกให้ลูกเข้าใจว่าการที่มีสีผิวแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าในตัวของเราลดน้อยลงไป
- ควรพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับโรคด่างขาวว่าไม่ใช่โรคติดต่อ เพื่อให้ลูกเกิดความเข้าใจ และสามารถบอกคนรอบข้างที่อาจเข้าใจผิดได้
- พยายามหาโอกาสให้ลูกได้เข้าสังคมกับเด็กที่อายุใกล้เคียงกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จะทำให้ลูกสามารถปรับตัว และเข้าหาคนรอบข้างได้โดยที่ไม่กังวลในตอนที่มีอายุมากขึ้น
การใช้ชีวิตของลูกในอนาคต จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลผิวของตนเองด้วยครีมกันแดด แต่ถ้าหากมีโอกาสในการรักษา ผู้ปกครองไม่ควรรอช้า ควรรีบคว้าโอกาสไว้จะดีกว่า เพราะกระบวนการต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลากว่าที่ตั้งใจเอาไว้มาก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 อาการทารกเท้าคด เท้าบิดด้านใน เท้าผิดรูป มีอะไรบ้าง รักษาอย่างไร
ทารกแรกเกิดตาแดง สังเกตอาการอย่างไร อันตรายมาก รับมืออย่างไร ?
ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ อาการที่เด็กเล็กอายุ 6-8 ปีก็เสี่ยงได้
ที่มา : Thonburi Hospital, Phyathai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!