อาการตาแดงเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกวัย ทารกแรกเกิดตาแดง เป็นอย่างไร เพราะผลกระทบอาจมากกว่าปกติ จากร่างกายของทารกที่ยังไม่แข็งแรงดี ผู้ปกครองต้องรับมืออย่างไร รักษาแบบไหนให้ทารกปลอดภัยที่สุดต้องอ่าน
ทำไมทารกที่คลอดออกมาจึงมีอาการตาแดง ?
โดยทั่วไปอาการตาแดงของทารกแรกเกิด มักพบได้หลังคลอดในช่วง 1 เดือนแรก ส่วนมากสาเหตุมักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia)” นอกจากนี้ยังเกิดจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งการติดเชื้อในครั้งนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการคลอด ตอนที่ทารกผ่านช่องคลอดของคุณแม่ออกมา ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ตามการที่ทารกแรกเกิดตาแดง อาจไม่ใช่สาเหตุที่มาจากการติดเชื้อก็ได้เช่นกัน
แม้อาการตาแดงในเด็กเล็ก หรือเด็กวัยเรียนหลายคนสามารถหายไปได้เอง แต่สำหรับทารกแรกเกิดนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากทารกไม่ได้แข็งแรงเหมือนกับเด็กวัยเรียน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายตามมาได้ เช่น เสี่ยงต่อการสูญเสียดวงตาการมองเห็น เชื้อโรคอาจกระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หัวใจ และสมอง ซึ่งเสี่ยงต่อความพิการ และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากผู้ปกครองพบว่าทารกแรกเกิดช่วง 1 เดือนแรก หรือหลังจากนี้มีอาการตาแดง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไขข้อสงสัย เห็นสีผิวทารกชัดเจนตอนไหน ทำไม ทารกสีผิวเปลี่ยน มาดูกัน !
เชื้อโรคที่ทำให้ทารกแรกเกิดตาแดง
อาการตาแดงของทารกแรกเกิดนั้น โดยส่วนมากมักมาจากปัจจัยของเชื้อโรคต่าง ๆ ตามที่กล่าวไป ซึ่งทารกไม่ได้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเหมือนกับเด็กโต โดยเชื้อที่สามารถทำให้เกิดกลุ่มอาการตาแดงได้นั้น ตัวอย่างเช่น
- เชื้อคลาไมเดีย : เชื้อชนิดนี้มักพบในเด็กทารกในช่วงอายุ 5 – 14 วัน เชื้อชนิดจะทำให้เกิดตาแดง ลักษณะของอาการ คือ เปลือกตาจะบวม และมีขี้ตาเหนียวประมาณหนึ่ง ควรเข้ารับการรักษาก่อนที่อาการจะหนักขึ้นกว่าเดิมได้
- แบคทีเรียหนองใน : สามารถทำให้เกิดอาการตาแดงในทารกแรกเกิดช่วงอายุ 3 – 5 วัน โดยเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงสามารถทำให้ตาบอดได้ อาการตาแดงจากเชื้อชนิดนี้มักเกิดขึ้น 2 ข้าง และมีขี้ตาเป็นหนองร่วมด้วย เชื้ออาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ได้
- เชื้อไวรัสเริม : สามารถติดเชื้อได้ในช่วง 14 วัน (2 สัปดาห์แรก) หลังคลอด นอกจากอาการตาแดงแล้ว ยังทำให้เป็นแผลที่กระจกตา ทารกบางรายอาจมีตุ่มน้ำรอบเปลือกตา อาจกลายเป็นแผลเป็นหากไม่รักษา นอกจากนี้เชื้อยังลุกลามไปสมอง ทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้
ทารกแรกเกิดตาแดง สังเกตอย่างไร ?
ปัญหาที่เกิดขึ้นของทารกแรกเกิด และคุณพ่อคุณแม่ คือ การสื่อสาร เมื่อทารกไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้โดยตรง ไม่สามารถพูดได้ตนเองเป็นอะไร ประกอบกับหากผู้ปกครองไม่ได้สังเกตให้ดี ก็อาจไม่พบความผิดปกติเช่นกัน ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ทารกมีอาการหนักขึ้น จนเกิดอันตรายได้
- ดวงตาจะมีขี้ตามาก โดยเฉพาะช่วงเช้า น้ำตาของอาจไหลโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีตุ่มขนาดเล็กเกิดขึ้นบริเวณรอบดวงตาของลูก
- ดวงตามีอาการแดง จากการมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา
- ในมุมของทารกเองจะมีอาการเจ็บตา เคืองตา และแสบตาจนทำให้ร้องไห้ออกมามาก
- ทารกจะขยี้ดวงตา หรือกะพริบดวงตาบ่อยมากกว่าปกติ
- บางรายอาจมีอาการของไข้หวัดเกิดขึ้นก่อนอาการตาแดงด้วย
ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการของทารกตลอดเวลา ว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงเช้าว่าทารกมีขี้ตาหรือเปล่า หรือทารกขี้ยา กะพริบตาบ่อย ๆ ไปจนถึงทารกร้องไห้มาก ร้องไห้ไม่หยุดโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากพบความผิดปกติใด ๆ อย่ารอช้า ให้รีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทารก เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน
ทำอย่างไรเมื่อพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาแดง
เมื่อผู้ปกครองสามารถสังเกตพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาแดง ห้ามคิดว่าเดี๋ยวก็หายเด็ดขาด แต่ควรนึกถึงการรักษาก่อนเป็นอันดับแรกให้เร็ว และถูกต้องที่สุด ดังนี้
- ผู้ปกครองห้ามซื้อยาหยอดตา หรือยาใด ๆ มาใช้ด้วยตนเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- พาทารกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้อง
- โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาหยอดตามาใช้ 2 – 4 สัปดาห์ อาการตาแดงจะบรรเทาตามลำดับ
- ระหว่างการใช้ยาหยอดตา พยายามคอยดูไม่ให้ลูกน้อยขยี้ตา
- ล้างมือของลูกบ่อย ๆ เพราะเชื้อจะแพร่ได้ผ่านขี้ตา และน้ำตาที่ลูกอาจสัมผัส
- ผู้ปกครองต้องหมั่นดูแลสุขอนามัยของตนเอง และแวดล้อมที่ลูกอาศัยอยู่ด้วย
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
จะป้องกันอาการตาแดงในทารกแรกเกิดได้อย่างไร
ทารกที่อ่อนแอนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วภูมิคุ้มกันของลูกจะแข็งแรงจามช่วงวัย ในช่วงที่เป็นทารกนมแม่จึงสำคัญมาก เพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญ ที่ช่วยปกป้องทารกจากโรคภัยได้ด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ตามสาเหตุหลักที่เกิดขึ้นของอาการตาแดงในทารกแรกเกิดมาจากเชื้อโรค หากไม่ได้รับมาจากการคลอด ก็มีความเสี่ยงที่จะรับได้จากสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ดังนั้นการดูแลสุขอนามัยโดยรอบจึงสำคัญมาก ผู้ที่จะมาจับทารกจะต้องสะอาดปลอดภัย และทารกก็ไม่ควรพบปะกับคนที่เป็นไข้เป็นหวัด หรือคนที่กำลังป่วยเป็นโรคอยู่ด้วย
อีกสิ่งที่ต้องระวัง คือ น้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของอาการตาแดง หากลูกเผลอไปโดนน้ำที่ผู้ปกครองคิดว่าสกปรก ก็ต้องรีบล้างให้ลูกทันที และเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น สามารถทานอาหารได้หลากหลายไม่ใช่แค่นมแม่เท่านั้น ก็ควรฝึกให้ลูกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และระมัดระวังข้าวของเครื่องใช้ของลูก ที่ต้องห้ามใช้ร่วมกันโดยเด็ดขาด
เมื่อทารกแรกเกิดมีอาการตาแดงต้องรีบรักษา ถึงแม้ทารกจะโตขึ้นตามวัย และอาการตาแดงผู้ใหญ่อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การพาลูกไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติทุกประเภท เป็นทางเลือกที่ดี และปลอดภัยกว่ารักษาเองเสมอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีดูแลจมูกทารกแรกเกิด ลูกงอแง อาจเกิดจากรูจมูกอุดตัน
ลูกกินอาหารแช่แข็งได้ไหม ต้องทำอย่างไรให้ลูกกินได้อย่างปลอดภัย ?
ภาวะ สมองเสื่อมในเด็ก อันตรายแค่ไหน เกิดจากสาเหตุอะไร มาดูกัน
ที่มา : paolohospital, nakornthon
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!