คดีป้าบัวผัน กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจของสังคมจากการก่อเหตุของเยาวชน 5 คน อายุ 13-16 ปี โดย 2 คนในกลุ่มมีพ่อเป็นตำรวจ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทลงโทษสำหรับเยาวชน ที่ก่อความรุนแรงจนถึงขั้นเหยื่อเสียชีวิต แต่กลับได้รับโทษเพียงเล็กน้อย เพราะกฎหมายไม่สามารถเอาผิดเยาวชนได้ ล่าสุดมีหลายคนออกมาเรียกร้องผ่าน #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน บนแพลตฟอร์ม X เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ป้าบัวผัน และแก้กฎหมายเพื่อเอาผิดเยาวชนที่ใช้ความรุนแรง
คดีป้าบัวผัน อุทาหรณ์พ่อแม่ สู่การแก้กฎหมายเยาวชน
คดีฆาตกรรมของป้าบัวผัน หรือนางบัวผัน ตันสุ หญิงสติไม่ดี อายุ 47 ปี เริ่มต้นขึ้นในช่วงวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา หลังพบศพนางบัวผันบริเวณบ่อน้ำข้างโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งต่อมาลุงเปี๊ยก หรือนายปัญญา คงแสนคำ อายุ 56 ปี ผู้เป็นสามีของป้าบัวผันได้ออกมาสารภาพกับตำรวจว่าใช้เก้าอี้ทุบหัวป้าบัวผัน เนื่องจากเมาแล้วเกิดการทะเลาะวิวาทกัน ก่อนนำศพไปถึง เจ้าหน้าที่สืบสวนของสถานีตำรวจภูธร อรัญประเทศ จึงได้ควบคุมตัวไปทำแผนประกอบรับสารภาพ พร้อมนำตัวลุงเปี๊ยกไปฝากขังที่ศาล เพื่อเตรียมส่งเข้าเรือนจำจังหวัดสระแก้ว
ต่อมานายณัฐดนัย นะราช ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ได้เปิดเผยภาพกล้องวงจรปิดของช่วงเที่ยงคืนวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา กลับพบว่าป้าบัวผันถูกทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มเยาวชนอายุ 13-16 ปี จำนวน 5 คน เหตุการณ์เกิดขึ้นบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในซอยบำรุงราษฎร์ เทศบาลเมืองอรัญญประเทศ โดยพบว่า 2 คนในกลุ่มเป็นลูกของตำรวจในพื้นที่
จากภาพกล้องวงจรปิดเผยภาพของป้าบัวผันที่พยายามป้องกันตัวเอง แต่สุดท้ายก็ถูกพาขึ้นรถจักรยานยนต์ของกลุ่มเยาวชน และถูกจับกดน้ำจนเสียชีวิต ต่อมาภาพจากกล้องวงจรปิดช่วงประมาณ 02.40 น. ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดพบศพ ปรากฏภาพของกลุ่มเยาวชนที่ยืนล้างรถที่คาดว่าใช้ก่อเหตุ บริเวณร้านล้างรถหยอดเหรียญ พร้อมได้มีบทสนทนาที่คุยกันในกลุ่มว่า กล้องวงจรปิดหน้าร้านสะดวกซื้อจะจับภาพของพวกตนก่อนหน้าได้หรือไม่
เมื่อภาพจากกล้องวงจรปิดได้ถูกเผยแพร่ออกมา ส่งผลให้คดีพลิก กลายเป็นว่าลุงเปี๊ยก สามีของป้าบัวผันไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุที่แท้จริงจึงพ้นผิด ตำรวจได้นำตัวเยาวชนทั้ง 5 คนมาสอบปากคำ ซึ่งทั้งหมดก็ได้ยอมรับว่าร่วมกันก่อเหตุ จึงถูกนำตัวส่งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสระแก้ว ในเวลาถัดมา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ข่าวเด็ก 14 ยิงห้างดัง อุทาหรณ์ที่พ่อแม่ต้องระวังพฤติกรรมของลูกมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก The Thaiger News
ภายหลังจากที่ได้มีการนำเสนอภาพเหตุการณ์อันเลวร้าย ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงข้อสงสัย คือ หลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่ไม่ถูกนำมาประกอบคดี รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้จับสามีของป้าบัวผันแทน รวมถึงยังมีการวิจารณ์ไปถึงข้อกฎหมายเยาวชน ที่ไม่สามารถเอาผิดเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปีได้ ทำให้เด็กเยาวชนเหล่านั้นกระทำความผิด จนทำให้เกิด #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน บนแพลตฟอร์ม X เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเยาวชนใหม่ เพราะหลายครั้งที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จากผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นข่าวเด็ก 14 กราดยิงที่ห้างดัง รวมถึงคดีป้าบัวผัน
นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊กดัง อีซ้อขยี้ข่าว ยังได้ออกมาแฉวีรกรรมสุดโหดของเยาวชนกลุ่มนี้ ที่ได้มีการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่มาหลายครั้ง โดยในโพสต์ได้ระบุว่า “ความจริงแก๊งลูกตำรวจ มีชื่อแก๊ง ตังค์ไม่ออก หลายคนมีคดีเก่าติดตัว แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าไม่ว่าจะไปสร้างวีรกรรมที่ไหน สุดท้ายก็ใช้ชีวิตกันปกติ ก็คงไม่แปลกถ้าทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษก็จะได้ใจทำผิดซ้ำ ๆ เพราะผิดแล้วไง พ่อเคลียร์ได้ตลอด ผลงานแค่บางส่วน สื่อลองไปเช็กดูได้ ปี 65 มี 3 คนแล้วที่เกี่ยวข้อง”
ชาวเน็ตจำนวนมากมองว่าโทษที่เยาวชนกลุ่มก่อเหตุได้รับดูเบากว่าความผิด และยังมีช่องโหว่จำนวนมาก ที่ให้สิทธิกับเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาไม่ต้องรับโทษ แม้จะทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงขั้นเสียชีวิตก็ตาม ควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มโทษ โดยเฉพาะกรณีที่ทำความร้ายแรงเช่นนี้
ขณะที่ชาวเน็ตอีกมุมหนึ่งมองว่า กฎหมายควรคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนต่อไป เพราะเด็กอาจจะอยู่ในช่วงที่ขาดวุฒิภาวะ ขาดประสบการณ์ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การเอาผิดลงโทษอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่ต้องแก้ไขเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ให้เรียนรู้ผลของการกระทำ และปรับปรุงตัวเองให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : จิตแพทย์แนะนำ! วิธีป้องกันและช่วยเหลือ เด็กก่อความรุนแรง
รู้จักกฎหมายเด็กและเยาวชน
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว ได้ใช้วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ตามมาตรา 4 ซึ่งได้นิยามความหมายเอาไว้ว่า “เด็ก” คือ บุคคลที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ส่วน “เยาวชน” คือ บุคคลที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ โดยตามประมวลกฎหมายอาญากรณีเด็กหรือเยาวชน กระทำความผิดจะมีบทลงโทษตามมาตรา 73-75 แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุที่ยังไม่เกิน 12 ปี หากกระทำความผิด จะไม่ต้องรับโทษ
- เด็กอายุ 12-15 ปี หากกระทำความผิด จะไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลจะมีการใช้อำนาจดำเนินการ เช่น กล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป ทั้งตัวเด็ก และพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยจะวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กไม่ให้ก่อเหตุความรุนแรงตามที่ศาลกำหนด หากเด็กยังฝ่าฝืน ผู้ปกครองจะต้องจ่ายต่อศาลไม่เกิน 10,000 บาท หรือส่งตัวเด็กไปสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรม ตามที่ศาลได้กำหนด แต่ไม่เกินวันที่เด็กมีอายุครบ 18 ปี
- เยาวชนอายุ 15-18 ปี หากกระทำความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบตามแต่ละกรณี และอาจไม่สั่งลงโทษ แต่ใช้มาตรการพิเศษแทน หรือสั่งลงโทษก็ได้ แต่จะลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
ทำไมวัยรุ่นถึงมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรง
วัยรุ่น เป็นวัยช่วงสุดท้ายของรู้จักและสร้างตัวตนก่อนจะเป็นผู้ใหญ่ เราอาจเรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นและจะทดลองประสบการณ์ต่าง ๆ โดยอาจเป็นประสบการณ์ที่ต่อต้านกฎเกณฑ์หรือขนบเดิม ๆ โดยตัววัยรุ่นอาจรับผู้มาจากกลุ่มเพื่อนหรือสื่อต่าง ๆ จนก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและเกิดความรุนแรงต่าง ๆ เหตุผลที่วัยรุ่นมีพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- ปัจจัยในตัวเด็ก แนวโน้มของบุคลิกภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็น ระดับสติปัญญา และภาวะทางสมอง เช่น ออทิสติก หรือสมาธิสั้น รวมถึงอุปนิสัยของตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานมาจากอารมณ์
- ปัจจัยทางครอบครัว เด็กที่มาจากครอบครัวที่ชอบทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้ความรุนแรงต่อคนในครอบครัวหรือตัวเด็กเอง จะมีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงเมื่อเด็กโตขึ้น
- ปัจจัยทางสังคม เด็กอาจรับความรุนแรงผ่านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว เช่น ภาพยนตร์ ข่าว หรือเกม รวมถึงเพื่อนและสังคม ที่หล่อหลอมให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างความรุนแรง เลี้ยงลูก อย่างไร? ไม่ให้ลูกตกเป็นเหยื่อ
อาการแบบไหนที่เข้าข่ายว่าลูกเป็นโรคจิตเภท
อาการที่ช่วยบ่งชี้เบื้องต้นว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคจิตเภทอาจมาจากพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะเด็กบางคนอาจไม่มีการแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างชัดเจน แต่อาจมีความผิดปกติของการรับรู้ หากลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- มีอาการวิตกกังวล หรือหวาดระแวงจนผิดปกติ
- มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน และทำร้ายร่างกายตนเอง
- ความสามารถลดลง เช่น ผลการเรียนต่ำลง หรือทักษะทางกีฬาลดลง
- มีความเชื่อในเรื่องที่แปลกไป เช่น สนใจเรื่องศาสนามากกว่าปกติ หรือเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ
- พฤติกรรมและอุปนิสัยที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น ก้าวร้าว แยกตัว ไม่สุงสิงกับใคร หรือทำร้ายผู้อื่น
เทคนิคแก้ปัญหาลูกวัยรุ่นชอบใช้ความรุนแรง
อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้เผยว่า ปัจจุบันวัยรุ่นมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาท การทำลายทรัพย์สิน การรวมกลุ่มยกพวกตีกัน รวมถึงการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมความรุนแรง ด้วยเทคนิคดังนี้
- ฝึกลูกขจัดความโกรธ คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกทักษะต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจของลูก เช่น ฝึกควบคุมความโกรธ ฝึกจัดการอารมณ์ หรือฝึกคลายเครียด เป็นต้น
- มีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น พ่อแม่ควรให้เวลากับลูกมากขึ้น และจะต้องมอบความรักและความอบอุ่น พร้อมทั้งมีการพูดคุยร่วมกัน ให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้เด็กวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม
- สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าในตนเอง เพื่อสนับสนุนให้ลูกวัยรุ่นเชื่อว่าเขามีความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ โดยครอบครัวและคนรอบตัววัยรุ่นก็มีส่วนที่จะสนับสนุนเขาให้ยอมรับในตัวตนของตัวเองได้
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ห้ามใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ควรสงบสติอารมณ์ต่อหน้าลูก และค่อย ๆ คิดวิธีแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา หากลูกมีปัญหาอะไร คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้คำแนะนำแก่เขาได้ รวมถึงต้องสนับสนุนให้ลูกใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา
พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ล้วนมาจากหลายปัจจัย ทั้งในด้านของการเลี้ยงดู ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน และสภาพแวดล้อม คุณพ่อคุณแม่จึงมีส่วนสำคัญในการเลี้ยงดูลูก เพื่อให้เขาเติบโตมาเป็นคนดี ไม่ก้าวร้าว และใช้ความรุนแรง หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ควรพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์ หรืออาจโทรขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิตโทร 1323
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
หยุด Bully เพราะเรื่องที่เกิดเป็นปมในใจ ไม่ใช่เรื่องน่าขำ
ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
เลี้ยงลูกแบบนี้ไง ลูกถึงเป็น โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เด็กเกเร ไม่ใช่เรื่องเล็ก
ที่มา : bbc.com, komchadluek.net, today.line.me, synphaet.co.th, thaihealth.or.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!