เพราะการโดนล้อ การเป็นตัวโดน หรือการถูกกลั่นแกล้ง ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม ถึงแม้คนอื่นจะมองเป็นเพียงเรื่องเล็ก การละเล่นหยอกล้อกันทั่วไป แต่การหยอกล้อที่ผู้โดนกระทำไม่ได้รู้สึกแฮปปี้ไปด้วย สิ่งนั้นเรียกว่าคือการบูลลี่ (Bully) ซึ่งการกระทำเล็กๆ ดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องที่สร้างแผลและปมในใจให้กับคนอื่น ดังนั้นเราควร หยุด Bully ก่อนที่จะส่งผลต่อสุขภาพจิตจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้
การ Bully (Bullying) คืออะไร?
บูลลี่ (Bully) หรือ Bullying คือการกระทำหรือพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใสนวัยเรียนหรือในโรงเรียน
พฤติกรรมการบูลลี่ (Bullying) ส่วนใหญ่มักเป็นผลเสียที่กระทบต่อเหยื่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านจิตใจและร่างกาย เช่น การข่มขู่ การปล่อยข่าวลือ การใช้ความรุนแรง การด่าทอ การล้อปมด้อย รวมไปถึงการนินทา
ซึ่งการกระทำเหล่านี้ก็เพื่อเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจและเหนือกว่า เมื่อเกิดขึ้นในครั้งแรกแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดซ้ำได้อีก และสามารถเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อย้อนดูสถิติของปี 2563 พบว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในต้นกำเนิดการบูลลี่คนอื่น อีกทั้งยังมีข้อมูลของปี 2561 ที่ยืนยันโดยกรมสุขภาพจิตด้วยว่าในโรงเรียนมีการกลั่นแกล้งในหมู่นักเรียนสูงถึง 40% หรือราว 6 แสนคน
ประเด็นส่วนใหญ่ที่คนไทยมักติดนิสัยจนกลายเป็นพฤติกรรมการบูลลี่ คือ การพูดเหยียดเรื่อง รูปลักษณ์ เพศ และความคิดกับทัศนคติ ระดับการศึกษาที่ใช้คำบูลลี่มากที่สุด
บทความน่าสนใจ : cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ สู่ปัญหาการ “ฆ่าตัวตาย” ของเด็ก
การ Bully มีกี่ประเภท?
1. การกลั่นแกล้งทางร่างกาย (Physical Bullying)
เป็นการกลั่นแกล้งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายตั้งแต่เบาๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งข้อนี้ยังรวมถึงการทำให้ข้าวขอเสียหาย หรือรังแกด้วยการทำร้ายของรักของหวง เช่น การตบตี, ถุยน้ำลายใส่, ผลักให้ล้ม, เอาของไปซ่อนหรือทำให้เสียหาย, แสดงสีหน้าหรือสัญญาณมือที่หยาบคาย
2. การกลั่นแกล้งทางคำพูด (Verbal Bullying)
การบูลลี่ด้วยกลั่นแกล้งทางคำพูด ประกอบไปด้วยคำพูดที่พูดออกเสียงให้รู้สึกแย่ หรือแม้กระทั่งการเขียนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถ้าทั้งหมดนั้นคือการบูลลี่ หากมันทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีหรืออับอาย เช่น การล้อเลียนท่าทาง, การล้อรูปร่าง (Body Shaming), การล้อชื่อพ่อแม่, การด่าเพศสภาพ, การเยาะเย้ย, การข่มขู่ด้วยคำพูด
3. การกลั่นแกล้งทางสังคมหรืออารมณ์ (Relational or Emotional Bullying)
พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในข้อนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นการสร้างความอับอายให้คนหมู่มากรับรู้ โดยผู้ที่ถูกกระทำจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งส่งผลให้คนนั้นรู้สึกไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เช่น การปล่อยข่าวลือ, กีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม, หัวเราะเสียงดังเมื่อผิดพลาด, เขียนด่าหรือประจานให้ทุกคนรู้
4. การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying)
เป็นหนึ่งในการบูลลี่ที่กำลังมีเพิ่มขึ้น โดยการ Cyberbullying มักเป็นการแกล้งผ่านอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบของภาพ เสียง ข้อความ เช่น การโทรคุกคามข่มขู่, การพิมพ์คำหยาบหรือกล่าวหาในทางไม่ดี, โพสต์ข้อมูลส่วนตัวให้อับอาย, การแพร่ภาพอนาจาร รวมถึงการสร้าง Account ปลอมเพื่อโจมตี
นอกจากนี้ยังมีการ Bully ในรูปแบบอื่นที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น
- การกลั่นแกล้งด้วยการเหยียดความแตกต่าง (Racist Bullying) การบูลลี่ประเภทนี้เป็นการกระทำเมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายแตกต่างจากตัวเอง ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วิธีการพูดหรือสำเนียง ลักษณะอื่นๆ ทางร่างกาย ซึ่งมักจะแสดงออกจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี ไม่มั่นใจ และไม่กล้าเข้าสังคม
- การกลั่นแกล้งผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Homophobic and Transphobic Bullying) เป็นการกลั่นแกล้งที่รวมทั้งการแสดงออกทางการกระทำ คำพูด แสดงออกบนโลกออนไลน์ เช่น การขู่ทำร้าย, การทำร้ายร่างกาย, การนำเสนอเรื่องเสียหายบนโลกออนไลน์, การล้อเลียนท่าทาง รวมถึงการคุกคามทางเพศ โดยผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะถูก Bully ในโรงเรียนมหาวิทยาลัยในที่ทำงานไม่เว้นแม้แต่สังคมภายนอก
ปัจจัยของการเกิดพฤติกรรมบูลลี่มีได้หลายสาเหตุ โดยอาจจะเป็นเพราะคนนั้นขาดความรัก, ขาดความเอาใจใส่ และไม่มีตัวตนในสายตาคนอื่น จนรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต นำไปสู่การ Bully คนอื่นเพื่อเติมเต็มความรู้สึกเหล่านั้นให้แก่ตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลัก
นอกเหนือไปกว่านี้การบูลลี่คนอื่น หรือการจงใจสร้างความแตกต่างใส่คนอื่น เพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่ในสังคม หรือมีอำนาจเพื่อที่จะควบคุมคนอื่น โดยไม่สนใจความรู้สึกของอีกฝ่าย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นเช่นกัน อาทิเช่น
- เคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน และต้องการที่จะระบายความเจ็บปวด
- กลั่นแกล้งเพื่อที่จะให้คนในสังคมนั้นๆ มาเป็นเพื่อนหรือพวก
- ต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีหรือมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อรู้สึกอิจฉา
- เป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว
- กลั่นแกล้งผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองเป็นที่สนใจ
- เพราะไม่มีความสุข เลย Bully คน เพื่อให้ไม่มีความสุขเหมือนตัวเอง
- ต้องการสร้างความหวาดกลัวต่อผู้อื่น เพียงเพื่อปกปิดความรู้สึกของตัวเอง
- กลั่นแกล้งผู้อื่นเพียงเพราะมีความแตกต่างจากตัวเอง
บทความน่าสนใจ วิธีป้องกันไม่ให้ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ในวัยอนุบาล
การ Bully มักเกิดกับใคร
จากรายงานเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียนไทย ได้สรุปลักษณะของนักเรียนที่มักถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำไว้ โดยระบุว่าเป็น “คนที่อ่อนแอและแตกต่างจากเพื่อน” ซึ่งสรุปลักษณะได้ดังนี้
- นักเรียนพิเศษ เช่น สมาธิสั้น, ดาวน์ซินโดรม, อัจฉริยะแต่เข้าสังคมไม่ได้
- นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เกย์, กะเทย, ทอม
- นักเรียนที่โดดเดี่ยวมีเพื่อนน้อย
- นักเรียนที่ไม่สู้คน เป็นได้ทั้งทางด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ เช่น นักเรียนที่ตัวเล็กกว่า, เป็นคนมีความอดทนสูง
- นักเรียนที่มีปัญหาทางบ้าน มีความทุกข์สะสมในใจ เก็บตัว
- นักเรียนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกต่างจากผู้อื่น เช่น ฟันเหยิน, ผิวดำ, อ้วน
หยุด Bully พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องตลก
เพราะผลกระทบที่เกิดจากการบูลลี่ เป็นการกระทบในวงกว้างทั้งผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ การถูกบูลลี่ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร เพราะมันสามารถสร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ ดังนั้นมาดูกันว่าพฤติกรรมใดบ้างที่เข้าข่าย และเราต้องหยุดมัน ก่อนที่จะสร้างผลกระทบให้กับคนอื่น
- ล้อหรือเปรียบเทียบรูปร่าง, หน้าตา, เพศ, รสนิยม
- ตั้งฉายาให้คนอื่นด้วยปมด้อย
- แซวแรงจนเจ้าตัวอาย ตบท้ายด้วยหยอก หยอก
- หลอกให้กินของที่แพ้หรือไม่ชอบ
- ลวนลามทางเพศ ทั้งคำพูดและท่าทาง
- ล้อข้อแตกต่าง, ความเชื่อทางศาสนา
- ล้อเลียนและแตกย้ำความผิดพลาด
- แกล้งเพื่อนต่อหน้าคนอื่นหรือในที่สาธารณะ
การ Bully หรือการกลั่นแกล้งผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรมทางสังคม ซึ่งการกระทำเหล่านั้นสามารถส่งผลกระทบรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้กระทำไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข
ทุกคนในสังคมจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความร้ายแรงของการ Bully เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายที่จะตามมา เพราะไม่มีควรสมควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างเพียงเพราะเกิดมาแตกต่าง หรือเพียงเพราะความสะใจของผู้อื่น!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ คำสอนสำคัญที่ควรให้ลูกรู้จักตั้งแต่เด็ก
สอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่เคารพตนเอง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
การกลั่นแกล้งกัน ภัยร้ายที่อาจจะนำไปสู่ความตาย ไม่ใช่แค่เรื่องเด็ก ๆ
ที่มา : doctoranywhere, mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!