สังเกตอย่างไร? ว่า ลูกเป็นออทิสติก พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงต่อโรคนี้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังสงสัยว่าลูกของเรามีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้ไหม หรือถ้าลูกของเราป่วยเป็นโรคนี้ จะต้องมีวิธีการรับมือและรักษาลูกให้หายได้ยังไง เอาเป็นว่าไม่ต้องเป็นกังวลใจไปนะคะ เพราะวันนี้ TheAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาคลายข้อสงสัยและรู้วิธีการรับมือเมื่อ ลูกเป็นออทิสติก ไปพร้อม ๆ กันค่ะ ส่วนจะเป็นอย่างไรกันบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
ในกรณีที่ลูกคลอดออกมาปกติทุกอย่าง ตรวจคัดกรองเกี่ยวกับเรื่องดาวน์ซินโดรมก็ปกติ แล้วถ้าหลังคลอดออกมาลูกมีโอกาสเป็นออทิสติกได้ไหมคะ?
(รูปโดย serhii_bobyk จาก freepik.com)
คุณหมอ : มีโอกาสเป็นได้ค่ะ เหตุผลเพราะว่าการตรวจไม่ว่าจะเป็นการตรวจก่อนคลอด หรือว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์ รวมถึงผลการฝากครรภ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทราบเกี่ยวกับโรคออทิสติกได้ เพราะโรคออทิสติกเป็นความผิดปกติทางสมอง โดยสิ่งเหล่านี้จะยังตรวจไม่เจอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูการทำงานของสมองของลูกเราไปเรื่อย ๆ โดยอาจจะต้องคอยดูพัฒนาการของลูกเราว่าเขามีพัฒนาการช้าไหม สิ่งนี้ถึงจะบอกได้ว่าลูกเป็นโรคออทิสติกค่ะ
โรคออทิสติกมีกี่ประเภท เราสามารถสังเกตลูกของเราได้อย่างไรบ้างคะ?
คุณหมอ : แบ่งออกเป็น 2 ประเภทง่าย ๆ เลยค่ะ ได้แก่ ประเภทออทิสติกแท้ และประเภทออทิสติกเทียม ในกรณีของออกทิสติกแท้เกิดจากการทำงานของสมองที่เด็กไม่สามารถที่จะเลียนแบบสังคม เลียนแบบพ่อแม่ หรือสบตาคนอื่นได้ มันจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่เราสามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการบำบัด เช่น สามารถทำให้เขาเข้าสังคมได้ สามารถทำให้เขาพูดทันคนอื่นได้ ส่วนกรณีออทิสติกเทียม คือเกิดจากสมองไม่ได้เกิดความบกพร่องอะไรเลย แต่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นออทิสติกเทียมได้ เช่น การไม่มองหน้า ไม่สบตา พูดช้าและไม่มีทักษะทางสังคม โดยอาจจะมาจากการเลี้ยงดูที่ให้ลูกเล่นโทรศัพท์มากจนเกินไป เพราะโดยปกติเด็กที่เกิดมาสมองของเด็กก็จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่การมองหน้า การสบตา สังเกตได้ง่ายๆ เวลาที่เรามองหน้าหรือสบตาลูก เด็กเขาก็จะแสดงออกตามเราไปด้วย โดยเฉพาะเด็กทารกนั่นเอง แต่ถ้าเราเลี้ยงลูกแบบให้ลูกเล่นโทรศัพท์มากจนเกินไป เขาก็จะไม่สามารถเข้าสังคมได้ เพราะไม่รู้จะต้องเลียนแบบจากใคร หรือต้องปฏิบัติตัวต่อสังคมยังไงนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าออทิสติกแท้เกิดจากความผิดปกติทางสมอง แต่ออทิสติกเทียมเกิดจากการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติไปค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกไม่สบตา ไม่มองหน้า เพราะอะไร อันตรายมั้ย เป็นออทิสติกหรือเปล่า แก้ยังไงได้บ้าง
ถ้าพบว่าลูกของเรามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นออทิสติก เราสามารถดูแลลูกอย่างไรได้บ้างคะ?
(รูปโดย rawpixel.com จาก freepik.com)
คุณหมอ : ถ้าคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่รู้ว่าลูกของเราเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิสติก การรักษาที่ดีอาจจะมาจากการบำบัดหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ แต่อันดับแรกเราต้องดูก่อนว่าลูกของเรามีพัฒนาการช้าไหม โดยอาจจะเริ่มต้นจากการสังเกตง่าย ๆ ว่าลูกไม่มองหน้า ไม่สบตา หรือเวลาที่เราเรียก เขาก็จะไม่หันมามอง หรือช่วงเวลาที่เขามีอายุประมาณ 6 – 9 เดือน เขาจะไม่กลัวคนแปลกหน้า จะไม่รู้ว่าใครคือคนในครอบครัว หรือใครคือคนเลี้ยงประมาณนี้ค่ะ
ส่วนในช่วงที่เขาอายุประมาณ 1 ขวบ เด็กที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้เขาจะไม่มีความสงสัยอะไรเลย ไม่ถาม ไม่พูดอะไร หรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ นั้นก็แสดงว่าเขามีโอกาสที่จะเป็นออทิสติกค่อยข้างสูง นอกจากนี้เด็กบางคนก็อาจจะมีพฤติกรรมแปลกแทรกเข้ามาด้วย อาทิเช่น ชอบสะบัดมือ ชอบเดินแขยงเท้า เป็นต้น และถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้แบบนี้อาจจะต้องพาลูกไปพบหมอพัฒนาการ หรือว่าจิตแพทย์เด็กได้เลย เพื่อที่จะปรึกษาและหาสาเหตุที่เกิดขึ้นค่ะ
ในกรณีที่คุณแม่เป็นออทิสติกอัจฉริยะสามารถถ่ายทอดส่งไปถึงลูกได้ไหมคะ?
คุณหมอ : ไม่ว่าคุณแม่จะเป็นออทิสติกประเภทไหนก็สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ค่ะ อาทิเช่น โรคออทิสติก โรคสมาธิสั้น โรคทางสมอง หรือโรคอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันสามารถถ่ายทอดออกมาทางพันธุกรรมได้ แต่อาจจะไม่ได้เป็นเลย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นกัน
โรคออทิสติกเทียมสามารถเกิดขึ้นกับวัยเด็กเท่านั้นไหมคะ หรือโตขึ้นมาแล้วอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ก็สามารถเป็นได้ใช่ไหมคะ?
คุณหมอ : จริงๆ แล้วส่วนใหญ่การมองหน้า สบตา ทักษะการเข้าสังคม การเลียนแบบอะไรพวกนี้มันจะมีการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กแล้วค่ะ แต่กรณีที่เด็กโตแล้วเขาก็จะมีทักษะการเข้าสังคม การพูดคุย หรือมองหน้าสบตาคนอื่นๆ ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโรคออทิสติกอาจจะเป็นมาตั้งแต่วัยเด็กแล้วค่ะ
นอกจาการเลี้ยงดูด้วยโทรศัพท์ที่ส่งผลให้ลูกเป็นออทิสติกเทียมได้แล้วนั้น ยังมีการเลี้ยงดูแบบอื่นที่ส่งผลให้ลูกเป็นออทิสติกเทียมได้อีกไหมคะ?
คุณหมอ : จริง ๆ แล้วการเลี้ยงดูแบบอื่นที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิสติกเทียมยังไม่ค่อยมีค่ะ แต่ถามว่ามีวิธีอื่นก็อาจจะยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรือเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพราะการที่เด็กถูกทำร้ายร่างกายมาก ๆ ก็อาจจะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กับเด็กออทิสติกก็ได้ เพราะฉะนั้นออทิสติกเทียมส่วนใหญ่จะเกิดจากการเลี้ยงลูกแบบให้ลูกอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์นานเกินไปมากกว่านะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเล่นโทรศัพท์จนตาอักเสบหวิดตาบอด เคยได้ยินมาไม่อยากเชื่อ จนลูกเป็น!
ถ้าน้องสาวเป็นออทิสติก ปัจจุบันอายุ 27 ปีแล้ว ลูกของเรามีโอกาสที่จะเป็นออทิสติกมากน้อยแค่ไหนคะ?
คุณหมอ : ถ้าคุณแม่ไม่ได้เป็นโรคออทิสติก ลูกของเราก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ค่อนข้างน้อยค่ะ หรือถ้าเป็นก็อาจจะมีความเสี่ยงน้อยมากๆ แต่ถ้าเป็นลูกของน้องสาวเราเลย เด็กก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าค่ะ
ในกรณีเด็ก 3 ปีแรกนะคะ เด็กไม่เคยดูจอโทรศัพท์เลย แต่พึ่งมาเล่นหลังจากนี้ 3 ปี 3 เดือน โดยเราจะกำหนดให้เขาเล่นรอบละ 10 – 15 นาที วันละ 4 – 5 รอบ ลูกมีโอกาสที่จะเป็นออทิสติกไหม?
(รูปโดย wirestock จาก freepik.com)
หมอแอม : ไม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคออทิสติกค่ะ เพราะเท่าที่หมอดูเด็กก็จะเล่นโทรศัพท์ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอดีค่ะ ไม่เกินเวลาที่กำหนดสำหรับเด็กในช่วงอายุประมาณนี้ เพราะวัยนี้ไม่ควรที่จะเล่นโทรศัพท์เกิน 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน (อันนี้จะยังไม่รวมการเรียนออนไลน์ เพราะสมัยนี้เด็กมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมันคนละอันเกี่ยวกับการดูยูทูปนะคะ) เพราะฉะนั้นการเล่นโทรศัพท์ทีหลังแต่ถ้าไม่เกินช่วงเวลาที่กำหนด ก็ไม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคออทิสติกค่ะ ส่วนกรณีที่ดูทีหลังแต่ดูเป็นเวลานาน ดูทั้งวันก็อาจจะมีโอกาสเป็นโรคออทิสติกขึ้นมาได้ แต่จะมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นได้มากกว่าค่ะ
ลูกอายุเกือบ 4 ขวบแล้ว แต่ยังไม่พูดเลย มีอาการเหมือนโรคออทิสติก เมื่อพาไปหาหมอแล้ว หมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติก เราควรทำอย่างไรดีคะ?
คุณหมอ : เราก็อาจจะรักษาไม่ใช่แค่การกินยาเท่านั้น แต่เราต้องปรับพฤติกรรมและทำการบำบัดตามไปด้วย โดยเราอาจจะเข้ากลุ่มเกี่ยวกับเด็กออทิสติกร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมาคมบำบัดเด็กออทิสติกธนบุรี เป็นต้น เราก็อาจจะรวมกลุ่มเพื่อทำการบำบัดลูก หรืออาจจะให้ลูกเรียนโรงเรียนสอนบำบัดตามจังหวัดต่าง ๆ ได้เช่นกัน ถ้ากรณีลูกของเราโตขึ้น และต้องเข้าโรงเรียนเราก็อาจจะต้องดูด้วยว่าลูกของเราเป็นออทิสติกในระดับไหน ถ้าเขาเป็นเด็กออทิสติกที่บกพร่องทางสติปัญญามาก เราไม่ควรที่จะให้ลูกเรียนกับเด็กคนอื่น แต่ถ้าลูกของเราเป็นออทิสติกที่สมาธิสั้น บกพร่องทางสติปัญญาน้อย เราก็สามารถให้ลูกเรียนโรงเรียนปกติได้ แต่คุณครูที่สอนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเด็กพิเศษตามไปด้วย และในกรณีนี้ก็จะทำให้ลูกของเราได้เรียนรู้ ได้ปรับตัวเข้ากับสังคมมากขึ้นได้นั่นเองค่ะ
โรคออทิสติกเทียม ต่างจากสมาธสั้นอย่างไรคะ?
หมอแอม : สองอย่างนี้ค่อนข้างต่างกันชัดเจนเลยค่ะ เด็กสมาธิสั้นจะเป็นเด็กที่ไม่มีสมาธิเลย นั่นแปลว่าเด็กเหล่านี้เขายังสามารถมองหน้า สบตา หรือเข้าสังคมได้ แถมเขายังมีปฏิสัมพันธ์กับเราได้อย่างปกติ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้มีสมาธิที่จะทำงานให้เสร็จได้เท่านั่นเอง หรือบางคนก็อาจจะรออะไรได้ไม่นาน อยากได้อะไรก็ต้องได้เดี๋ยวนี้ ซึ่งในกรณีนี้ก็อาจจะเป็นตั้งแต่เด็กจนโตได้เช่นกัน ส่วนโรคออทิสติกอย่างที่บอกเลยค่ะ เด็กเหล่านี้จะไม่พูด ไม่สบตา ไม่มองหน้า ไม่เข้าสังคม เพราะเขาบกพร่องทางทักษะทางสังคมเป็นหลัก ส่วนความบกพร่องทางด้านสติปัญญาจะขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลยค่ะว่าบกพร่องเยอะ หรือบกพร่องน้อยแค่ไหนค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นสมาธิสั้นทำยังไง? กิจกรรมแก้โรคสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง ซุกซน
ส่วนความเชื่อที่บอกว่ามีลูกในช่วงอายุมาก ลูกจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิสติกไหมคะ?
หมอแอม : บอกเลยว่าไม่เสี่ยงค่ะ แต่ลูกอาจจะเสี่ยงเป็นโรคดาวน์ซินโดรมมากกว่า เพราะโรคดาวน์ซินโดรมจะเป็นแนวสติปัญญาเกิดความบกพร่องเลย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไอคิวต่ำ แต่เด็กเหล่านี้เขาก็ยังสามารถมองหน้า สบตา หรือถาม – ตอบเราได้อย่างปกติ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ามีลูกในช่วงอายุมาก ๆ เสี่ยงที่จะเป็นโรคดาวน์ซินโดรมมากว่า ไม่เกี่ยวกับการเป็นโรคออทิสติกค่ะ
(รูปโดย master1305 จาก freepik.com)
ดังนั้นขอสรุปเลยนะคะว่าเรื่องความแตกต่างระหว่างโรคออทิสติกกับสมาธิสั้น การที่เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นเขาจะยังเข้ากับสังคมได้ สามารถพูดคุยกับเราได้ เพียงแต่เขาไม่ได้มีสมาธิที่จะทำอะไรสำเร็จได้ตัวเอง หรือเขาอาจจะรอคอยไม่ได้ อดทนไม่ได้เฉยๆ แต่ในส่วนของออทิสติกนั้น เด็กจะไม่สามารถเข้าสังคมได้ ไม่มองหน้า ไม่สบตาใคร ซึ่งอาจจะมีเรื่องของการพูดช้าหรือสติปัญญาเกิดความบกพร่องร่วมด้วย และถ้าลูกของเรามีพัฒนาการช้า หรือว่ามีสัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการเป็นออทิสติก อย่าปล่อยไว้นาน เราควรพาลูกไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะทำการบำบัดและรักษาเขาให้ดีขึ้นนั่นเองค่ะ นอกจากนี้อยากจะฝากบอกคุณพ่อคุณแม่ทุกคนว่า ไม่ว่าลูกของเราจะเป็นแบบไหน หรือเติบโตมายังไง การยอมรับ และเข้าใจเป็นที่ดีที่สุดในการเลี้ยงลูกของเราให้ดีขึ้นได้ค่ะ
บทความที่น่าสนใจ : วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง เลี้ยงลูกยังไงให้พอดีในยุคโซเชียล ก่อนจะสายเกินแก้
เลี้ยงลูกแบบนี้ไง ลูกถึงเป็น โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เด็กเกเร ไม่ใช่เรื่องเล็ก
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างความรุนแรง เลี้ยงลูก อย่างไร? ไม่ให้ลูกตกเป็นเหยื่อ
ที่มา : แพทย์หญิง พรนิภา ศรีประเสิรฐ กุมารแพทย์ เจ้าของเพจ เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!