มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึก ดังนั้น ก็ไม่แปลกที่เราจะเสียใจ โมโห รู้สึกอยากร้องไห้ หรือมีความสุข ซึ่งเด็กเล็ก ๆ ก็มีความรู้สึกเหมือนกันกับผู้ใหญ่ แต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่ว่า เด็ก ๆ จะยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่เก่ง หรืออาจจะยังไม่เข้าใจในอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งในวันนี้ เราจะมาพูดถึงอารมณ์ของเด็ก พร้อมทั้งแชร์เทคนิคให้แม่ ๆ นำไปใช้ เอาไว้ สอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจอารมณ์ และ จัดการอารมณ์ ของตัวเอง ได้ดีมากยิ่งขึ้น มาดูกันเลยค่ะ
ทักษะการจัดการอารมณ์ คือทักษะที่คนทุกคนต้องมี
นักจิตวิทยาที่ชื่อว่า ซูซาน เดวิด ได้แนะนำว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อลูกยังเด็ก คือ การสอนให้เด็กจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง หากเราสอนให้ลูก ๆ จัดการอารมณ์และควบคุมตัวเองได้ดีตั้งแต่ยังเด็ก เด็กจะสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน เด็กจะต้องพบเจอคนมากหน้าหลายตา ซึ่งแต่ละคนก็นิสัยแตกต่างกันออกไป หากเด็กถูกยั่วยุ หรือกลั่นแกล้ง แต่เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ก็จะทำให้เด็กก้าวผ่านเรื่องเหล่านั้นมาได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงกับคนอื่น ๆ
วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด
นอกจากนี้ ก็ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่มีทักษะการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง จะเป็นเด็กที่มีทักษะการแก้ไขปัญหา และรับมือกับสถานการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ได้ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทักษะนี้ก็จะพัฒนากลายเป็นความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) หรือความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ เพื่อช่วยให้เด็กรับมือกับสถานการณ์ที่กดดัน และมีความเคารพนับถือตัวเอง ช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าไปได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกขี้หงุดหงิด โมโหร้าย เจ้าอารมณ์ พ่อแม่ควรจัดการอย่างไร ไม่ให้ลูกเป็นเด็กขี้วีน
จะสอนให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ยังไงบ้าง
อารมณ์ของคนเรามีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ซึ้ง เศร้า เหงา โกรธ โมโห เสียใจ หรือมีความสุข ซึ่งการสอนให้เด็ก ๆ จัดการกับอารมณ์เหล่านี้ จะช่วยให้เด็กแสดงออกได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิต ส่วนเทคนิคที่พ่อแม่นำไปใช้สอนลูก ๆ ได้ ก็มีดังต่อไปนี้ค่ะ
1. พ่อแม่ต้องไม่เข้าไปวุ่นวายมากเกินไป
อย่างแรกเลย เราควรปล่อยให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมาก่อน ไม่ควรพยายามบังคับให้เด็กแสดงแต่อารมณ์ด้านบวกออกมา เพราะจะทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ แถมยังเป็นการทำให้ความจริงของลูกบิดเบี้ยวจากข้อเท็จจริงที่ลูกต้องเผชิญในอนาคต ทำให้ลูกขาดทักษะที่จะช่วยจัดการกับอารมณ์ตัวเอง เมื่อลูกกำลังรู้สึก กำลังมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หลาย ๆ ครอบครัวเลือกที่จะผลักอารมณ์ด้านลบนั้นออกไป จนเด็กไม่ได้แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมา จนกลายเป็นว่าเก็บกด และไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้สึกนั้น ๆ
2. อย่ากลัวการแสดงออกทางอารมณ์ของลูก
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวล หรือกลัวว่าลูกจะแสดงออกแต่ด้านลบ อารมณ์และความรู้สึก ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะถูกเก็บและกดเอาไว้ การบอกว่า เป็นผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ หรือ แม่ไม่ยอมให้ลูกแสดงอาการโกรธตรงนี้หรอกนะ แม้คุณพ่อคุณแม่จะมีเจตนาที่ดี แต่การกระทำแบบนี้ เท่ากับเป็นการบอกให้ลูกกลัวที่จะแสดงออกทางอารมณ์ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูก 3 ขวบ กรีดร้อง โมโหร้าย เจ้าอารมณ์ สาเหตุเกิดจากอะไร พ่อแม่ควรทำอย่างไร
3. การรู้เท่าทันอารมณ์ลูก
ทุกคนคงเคยไม่เข้าใจตัวเอง ว่าตอนนี้รู้สึกยังไงกันแน่ เพราะอารมณ์ของเรา ยิ่งโตยิ่งมีหลายอารมณ์ในเหตุการณ์เดียว (ถ้าดูเรื่อง Inside Out จะเข้าใจลูกบอลที่มีหลายอารมณ์ในลูกเดียว) ทั้งโมโห โกรธ หงุดหงิด และกลัว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อน ว่าเด็กเองก็มีได้หลายอารมณ์ หนึ่งนาทีที่แล้วลูกอาจกำลังหัวเราะ แต่ห้านาทีต่อมาลูกอาจจะกำลังร้องไห้อยู่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเห็นใจลูก ๆ นะคะ
4. สอนให้ลูกปล่อยวาง
คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำลูกได้ว่า เราไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกเหมือนเดิม สำหรับเหตุการณ์ที่เหมือนกัน ไม่ควรยึดติดในอารมณ์ หรือเอาความรู้สึกเดิม ๆ ไปผูกติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินไป ในวันนี้ ลูกอาจจะรู้สึกกลัว เมื่อได้ยินเกี่ยวกับสิ่งหนึ่ง แต่ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ลูกอาจจะรู้สึกเฉย ๆ กับสิ่งสิ่งนั้น ถือเป็นเรื่องที่ปกติ
5. สอนให้ลูกถามตัวเองว่าต้องการอะไร
เมื่อลูกเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกถามตัวเอง ว่าเขาต้องการอะไร แล้วรู้สึกยังไง เพื่อที่เขาจะได้หาทางออกหรือวิธีแก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้ หากลูก ๆ โมโห ก็ให้เขาถามตัวเอง ว่าโมโหเพราะอะไร และเมื่อทราบสาเหตุของอารมณ์โมโห ก็ให้เขาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
6. สอนให้ลูกรู้จักขอความช่วยเหลือ
อาจจะมีบางครั้ง ที่ลูกเราไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร หรืออาจจะไม่รู้ว่าต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองยังไง หากลูก ๆ พบเจอกับปัญหานี้ ให้คุณพ่อคุณแม่สอนน้อง ๆ ให้หันหน้าเข้ามาพูดคุย หรือปรึกษากับคนที่บ้าน อย่าเก็บความรู้สึกเอาไว้เพียงคนเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปราบลูกงอแงตอนไปเที่ยว วิจัยเผยวิธีรับมือลูกโวยวายเมื่อเดินทางไปเที่ยว
ท้ายที่สุดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนช่วยให้ลูกทำความเข้าใจและสามารถ จัดการอารมณ์ ของตัวเอง ต้องคอยถามไถ่ ว่าลูกรู้สึกยังไง และจะจัดการอารมณ์ตัวเองยังไง หากลูกยังไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง ก็ควรชี้แนะลูก เพื่อเป็นแนวทาง ซึ่งการฝึกลูกตั้งแต่เขาอายุยังน้อย จะทำให้เด็กโตมาเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
เด็กยุคใหม่เครียด เรียนออนไลน์ ไม่รู้เรื่อง ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ห้ามละเลย
ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเด็ก มีอาการอย่างไร เด็กก็เศร้าเป็น
ลูกขี้โมโห ! เลี้ยงยังไงดี จะรับมือกับลูกขี้โมโหได้ยังไงบ้าง
ที่มาข้อมูล : lingoace , sikarin
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!