เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ คำนี้กลายเป็นคำที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กหรือผู้หญิงหลายคน ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ว่าครั้งหนึ่งฉันก็เคยโดยกระทำและไม่เคยได้รับคำขอโทษ โดยเฉพาะกับกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงชั้นเรียนเพียง ป.5 เท่านั้น
ล่าสุดได้เกิดการเสนอข่าวในพื้นที่ของ จ.เพชรบูรณ์ มีเด็กชายชั้น ป.6 ข่มขืน เด็กหญิง ป.5 ในอาคารเรียน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันอังคารที่ 21 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ซ้ำเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นนางเอ (นามสมมติ) ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกกับเด็กหญิงบี (นามสมมติ) ว่าอย่าเอาเรื่องนี้ไปบอกกับผู้ปกครองเด็ดขาด เพราะทางผู้อำนวยการจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งเด็กหญิงบี ก็ทำตามที่ ผอ.บอก คือไม่ยอมบอกผู้ปกครอง จนกระทั่งเมื่อช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ทางผู้ปกครองเด็กบังเอิญได้ยินเด็กหญิงบีกำลังคุยปรึกษากับพี่ จึงได้เรียกเด็กหญิงบี มาถามว่า มีเรื่องอะไรกันที่โรงเรียน เด็กหญิงบี จึงได้เล่าทุกอย่างให้ผู้ปกครองทราบ
บทความที่น่าสนใจ สถิติเด็กถูกล่วงละเมิด ภัยสังคมร้อนแรงในไทย เมื่อตัวเลขพุ่งสูง
ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นอีกปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยค่าเฉลี่ยในรอบปี 5 ที่ผ่านมา เกิดคดีข่มขืนกว่าปีละ 4,000 คดี โดยในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 60 เป็นเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-20 ปี และหลังจากเกิดเรื่องขึ้นมักมีการโทษเหยื่อหรือข่มขู่ไม่ให้เหยื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และเมื่อพูดถึงเหยื่อโดนล่วงละเมิดทางเพศ อีกเรื่องที่ควรจะต้องตระหนักถึงในสังคมยุคนี้ก็คือเรื่องของการ “การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)” หรือ การประพฤติกที่ไม่ดีต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้าม โดยที่ผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อไม่ยินยอม โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีเรื่องทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก แต่มักมีการเลี่ยงด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสายตา คำพูด และการปฏิบัติที่ส่งผลต่อจิตใจหรือร่างกายของอีกฝ่าย
การถูกคุกคามหรือตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด มักเกิดความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย, กังวล, อึดอัด จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ โดยเฉพาะเหยื่อที่ถูกทำให้รู้สึกกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งพฤติกรรมการโดนคุกคามอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
- การคุกคามทางเพศด้วยคำพูดหรือการสื่อสาร
- การคุกคามทางเพศทางร่างกาย
การถูกคุกคามทั้ง 2 ประเภท แม้ในบางครั้งจะไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นเห็นว่าน่าเดือดร้อน เพราะอ้างจากเจตนา แต่เมื่อเกิดความไม่สบายใจขึ้น สิ่งสำคัญที่ควรจะทำคือการพูดคุยหรือหาคนที่สามารถช่วยเหลือได้ ไม่ควรเก็บไว้กับตัวเอง อย่างเช่นกรณีของข่าวเด็กหญิงที่ถูกล่วงละเมิด สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรสอนให้ลูกน้อยของเราจำไว้ให้ขึ้นใจ นั่นก็คือการปกป้องสิทธิของตนเอง และไม่ปิดบังให้เป็นความลับกับคนในครอบครัว
8 วิธีสอนลูก ไม่ตกเป็น เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ
สอนลูกให้รู้จักร่างกายตัวเอง : เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น การสอนเรื่องของอวัยวะส่วนต่างๆ ไม่เว้นกระทั่งเรื่องอวัยวะเพศก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เมื่อเด็กเริ่มจดจำและเรียกชื่ออวัยวะเพศได้ถูกต้อง การสอนเพื่อให้เด็กรู้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อทางการ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงวัยที่ลูกรู้ ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียกด้วยคำที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า การใช้คำทางการทำให้มีความเข้าใจตรงกัน อธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง
บอกพื้นที่ส่วนตัว : การสอนให้ลูกรู้จักว่าส่วนไหนบนร่างกายที่คนอื่นห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำสิ่งนี้กับลูกได้ และส่วนไหนบนร่างกายที่พ่อแม่เท่านั้นที่สัมผัสได้ เมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแลและแนะนำ โดยให้ระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูก และให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน, ไม่อาบน้ำพร้อมกัน
เน้นย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง : เมื่อเวลาผ่านไปลูกเริ่มโตขึ้น การย้ำกับลูกเสมอว่าลูกมีสิทธิในร่างกายของลูกคนเดียวเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรสอน ความสะดวกใจของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการสัมผัสเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ หากไม่ยอมให้ใครมาสัมผัส ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิมาสัมผัส หากใครมาสัมผัสแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ต้องกล้าบอกไปว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ
สอนให้รู้จักปฏิเสธ : การปฏิเสธคนเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกควรต้องรู้ เพราะหากมีคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว หรือไม่ใช่พ่อแม่ ตั้งใจจะสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกายตัวเอง ต้องสอนให้ลูกพูดปฏิเสธไปเลยว่าไม่ได้ และหากมีการรบเร้าเพิ่มขึ้นควรขอความช่วยเหลือด้วยการส่งเสียงหรือเปล่านกหวีด รวมไปถึงการหลบหนีออกมาจากบุคคลนั้นหากรู้สึกไม่สบายใจ และไม่จำเป็นต้องเกรงใจใคร
สัมผัสแค่ไหนคือปลอดภัย : พ่อแม่ต้องเพิ่มความเข้าใจให้กับลูกน้อย ว่าสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สัมผัสเท่าไรที่ทำได้ เช่น สัมผัสของพ่อแม่, ญาติ, พี่เลี้ยง ที่จำเป็นต้องช่วยในการทำความสะอาดร่างกาย หรือสัมผัสของแพทย์เพื่อตรวจรักษาร่างกาย แต่บอกลูกว่าพ่อแม่จะอยู่ด้วยเสมอ หรือบางครั้งการสัมผัสของครูในวิชาเรียนบางอย่างอาจต้องมีการสัมผัสกันเล็กน้อย
อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า : คนแปลกหน้าบางครั้งก็สร้างความอันตรายให้ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักกับการไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าที่ตั้งใจเข้ามาคุยตามลำพังโดยเด็ดขาด ถึงแม้คนเหล่านั้นจะมีการเอาขนมเข้ามาให้กิน หรือจะมีการอ้างว่ารู้จักกับพ่อแม่ ก็ต้องไม่หลงเชื่อและไม่ต้องเกรงใจ หากบุคคลที่พยายามล่วงละเมิดเป็นคนใกล้ชิด ก็ต้องสอนให้เด็กรู้ว่าเรื่องแบบนี้แม้เราจะเคารพรัก แต่หากโดยล่วงละเมิดก็ต้องปกป้องตนเอง
ไม่ปิดบังหรือใจอ่อนกับคนผิด : หมั่นกำชับกับลูกของเราเสมอ ถึงแม้คนที่กระทำกับลูกจะขอร้องหรือขู่แค่ไหน หากลูกไม่ยินยอมหรือไม่พอใจกับสิ่งที่โดนกระทำ ต้องบอกพ่อแม่ทันที ไม่จำเป็นต้องเก็บเป็นความลับ ไม่มีใครทำอะไรลูกได้เด็ดขาด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าพ่อแม่สามารถดูแลและปกป้องได้
สร้างความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ : เมื่อไรที่ลูกโตขึ้นและต้องใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มขึ้น หาบรรยากาศสบายๆ เพื่อสอนให้ลูกรู้และเข้าใจในตนเอง รวมถึงความหมายของการล่วงละเมิดทางเพศ และสิทธิที่ลูกจะปกป้องตัวเองหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจกันภายในครอบครัว อีกทั้งยังช่วยให่ลูกไม่กดดัน เมื่อเกิดมั่นหาจะกล้าเข้าหาและมั่นใจในการแก้ปัญหา
วิธีปกป้องตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อล่วงละเมิด
ในปัจจุบันการตกเป็นเหยื่อการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิด สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย และไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะสามารถปล่อยผ่านไปได้ การปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่ทำผิดก็อาจจะไปทำกับคนอื่นได้เหมือนกัน
เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับลูกของเรา หรือลูกอาจเป็นผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว ต้องรู้จักวิธีการป้องกันตัวเองให้เหมาะสม ที่สำคัญการกระทำดังกล่าวมีโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คนทำผิดกฎหมายก็สมควรได้รับโทษทางกฎหมาย ควรรวบรวมหลักฐานแจ้งกับทางต้นสังกัดหรือแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเอาผิด ต้องหยุดพฤติกรรมของผู้ทำผิด จะได้ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจกับผู้อื่น วิธีที่พอจะกระทำได้มีดังนี้
- อย่าเพิกเฉยต่อสิ่งที่เจอ เพราะการเพิกเฉยไม่ช่วย การยอมหรือทำเป็นไม่สนใจมีแต่จะทำให้อีกฝ่ายได้ใจ มันจึงไม่ช่วยให้การคุกคามทางเพศยุติลง
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธเมื่อตกเป็นเหยื่อของการคุกคาม เช่น ขอร้องให้หยุด หรือแสดงออกถึงความรู้สึกไม่พอใจ แสดงออกว่าเราไม่ยอมที่จะตกเป็นเหยื่อ
- ร้องเรียนหรือแจ้งเอาผิด หากตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ ควรรวบรวมหลักฐาน แล้วร้องเรียนกับผู้มีอำนาจหรือคนที่เชื่อใจได้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
- พยายามเอาชนะความกลัวหรือความรู้สึกอับอาย หากเป็นเหยื่อเป็นผู้ถูกกระทำ ต้องสู้และเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงจะได้รับการคุ้มครอง การปกป้องในชีวิต ในเมื่อมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ต้องรู้จักที่จะปกป้องสิทธิ์ของตนเอง
- ไม่เพิกเฉยต่อผู้เป็นเหยื่อ ในกรณีที่เป็นผู้พบเห็นและเหยื่อที่ถูกคุกคามโดยตรงรู้สึกกลัว อับอาย ต้องให้กำลังใจเหยื่อ อย่าโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ไม่ว่าใครก็ไม่สิทธิ์จะโดนกระทำหากไม่เต็มใจ อย่าเพิกเฉย อย่าปล่อยให้เหยื่อโดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- อย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับพฤติกรรมคุกคาม การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นโดยที่ไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังคุกคามคนอื่นอยู่ เพราะหลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แม้แต่การร่วมหัวเราะกับพวกมุกตลกทางเพศก็ถือว่ามีส่วนร่วมและส่งเสริมการคุกคามทางเพศแล้ว อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะคนที่โดนเขาไม่สนุกด้วย
บทความน่าสนใจ
เมื่อคนใกล้ตัวล่วงละเมิดลูกสาว ภัยร้ายของสังคมที่ต้องระวังให้ดี
พ่อแม่ “ต้องรู้” สิ่งที่เปลี่ยนไป เมื่อลูกถูกล่วงละเมิด
5 คำถามที่ช่วยให้รู้ว่า “ลูกโดนล่วงละเมิดทางเพศหรือเปล่า”
ที่มา multimedia.anamai.moph.go.th , thairath.co.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!