เนื่องจากวิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของคุณแม่จะเปลี่ยนไปเมื่อตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง ซึ่งแม่ท้องหลายคนอาจสงสัยว่า การเดินทางที่เต็มไปด้วยข้อกำหนดมากมายอย่างการโดยสารเครื่องบินนั้น มีความเป็นไปได้ไหมที่จะให้ คนท้องขึ้นเครื่องบิน ท้องกี่เดือนห้ามบิน! แล้วการขึ้นเครื่องบินขณะตั้งครรภ์จะส่งผลอันตรายต่อทารกหรือเปล่า วันนี้เรารวบรวมความเป็นไปได้ในการเดินทางโดยเครื่องบินของแม่ท้องมาให้ พร้อมคำแนะนำในการเตรียมตัว เพื่อให้การเดินทางด้วยเครื่องบินของแม่ท้อง ปลอดภัย สะดวกสบาย และราบรื่นที่สุดค่ะ

คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ? กี่เดือนห้ามบิน!
โดยปกติการขึ้นเครื่องบินในช่วงตั้งครรภ์ไม่ถือว่ามีปัญหาหรือข้อห้ามเฉพาะค่ะ แต่ก็มีคำแนะนำจากแพทย์ที่ควรพิจารณา นอกจากนี้ สายการบินส่วนใหญ่ยังมีข้อกำหนดเรื่อง “อายุครรภ์” สำหรับคุณแม่ที่ต้องการเดินทางโดยเครื่องบินไว้ด้วย ดังนี้
|
คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ท้องกี่เดือนห้ามบิน!
|
ไตรมาสแรก (1-12 สัปดาห์) |
- สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้
- เดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะได้ ไม่ส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ไตรมาสนี้คุณแม่มักมีอาการแพ้ท้อง (morning sickness) จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเดินทาง
- แพทย์อาจจ่ายยาต้านการอาเจียนหรือเวียนศีรษะติดตัวไปด้วย
- หากมีภาวะแท้งคุกคาม ควรหยุดการเดินทางไว้ก่อน
|
ไตรมาส 2 (13-27 สัปดาห์) |
- เป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดในการเดินทาง แต่ควรมีใบรับรองแพทย์ติดตัวไปด้วย
- ควรระวังเรื่องร่างกายขาดน้ำระหว่างเดินทาง
- แม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ควรงดการเดินทางในช่วงนี้ เพราะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน
|
ไตรมาส 3 (28 สัปดาห์ขึ้นไป) |
โดยทั่วไปจะเริ่มมีข้อจำกัดในการเดินทาง เช่น
- อายุครรภ์ระหว่าง 28-36 สัปดาห์ ไม่มีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ หรือรกเกาะต่ำ เดินทางได้แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ติดตัวไปด้วย
- 36 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนใหญ่สายการบินจะไม่อนุญาตให้เดินทาง
- ในกรณีครรภ์แฝด หรือมีภาวะแทรกซ้อน ข้อกำหนดอาจเข้มงวดกว่านี้
|
คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ถึงกี่เดือน ? จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาในการบินที่ปลอดภัย ส่วนใหญ่สายการบินจะไม่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เดินทางโดยเครื่องบินหลังจากสัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกเจริญเติบโตเต็มที่ และแม่อาจมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด อีกทั้ง ด้วยขนาดครรภ์อาจจะทำให้ไม่สะดวกหรือสบายตัวขณะเดินทางได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 14-28 เพราะอาการแพ้ท้องต่างๆ มักจะหายไปแล้ว และร่างกายของแม่ท้องก็มีความแข็งแรงมากพอที่จะรับมือกับการเดินทางได้

คนท้องขึ้นเครื่องบิน วิธีเตรียมพร้อมให้แม่ท้องเดินทางปลอดภัย
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยค่ะ มาดูกันหน่อยว่า ก่อนเดินทางและระหว่างเดินทางมีเรื่องอะไรที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้และปฏิบัติตามอย่างถูกต้องบ้าง
-
ก่อนเดินทางด้วยเครื่องบิน
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูตินารีแพทย์ เพื่อขอใบอนุญาตให้เดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูง โดยควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
- การใช้ถุงน่องทางการแพทย์ หรือถุงน่องประคองหลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดขณะอยู่บนเครื่องบิน
- ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ หรือเมารถ เมาเรือ
- วิธีป้องกันอาการท้องอืดและท้องเสีย เมื่อเครื่องบินปรับระดับการบิน แก๊สในลำไส้อาจขยายตัว มีอาการปวดท้อง จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีแก๊สก่อนขึ้นเครื่อง โดยเฉพาะกรณีเดินทางไปต่างประเทศ อาจทำให้สัมผัสกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย จึงควรพกยาแก้ท้องเสียไปด้วย
- อาจขอคำแนะนำเรื่องแพทย์และโรงพยาบาลในจังหวัดหรือประเทศปลายทางไว้ด้วยหากเป็นไปได้
- ควรซื้อประกันการเดินทาง และตรวจสอบว่าความคุ้มครองครอบคลุมกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนการเดินทางฉุกเฉินเนื่องจากภาวะต่างๆ หรือไม่ เช่น เลือดออก ปวดท้อง หรือทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง
- แจ้งสายการบินให้ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยควรตรวจสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับ คนท้องขึ้นเครื่องบิน ของสายการบินที่ต้องการก่อนการจองตั๋ว เพื่อการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และเจ้าหน้าที่จะได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ได้ตามความจำเป็น ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
|
เอกสารที่แม่ท้องต้องเตรียมก่อนขึ้นเครื่อง
|
1. เอกสาร Fit to Flight |
คือ ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ที่ฝากครรภ์ ที่มีการระบุวันเวลากำหนดคลอด และระบุว่าครรภ์มีสภาวะปกติ ซึ่งต้องมีอายุไม่เกิน 7 วันก่อนวันเดินทาง |
2. ใบฝากครรภ์ตัวจริง หรือสำเนา |
เป็นเอกสารที่มีประวัติของการฝากครรภ์ทั้งหมด |
3. Emergency Contact |
เป็นเอกสารที่รวบรวมข้อมูลติดต่อสำคัญของคนไข้เอาไว้ทั้งหมด เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลติดต่อแพทย์ที่มีการฝากครรภ์ ทั้งแพทย์ประจำตัว และแพทย์ในประเทศปลายทาง เพราะเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินก็จะสามารถติดต่อได้ทันที |

-
การปฏิบัติตัวขณะที่ คนท้องขึ้นเครื่องบิน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย เลือกเสื้อผ้าที่หลวม และสวมสบาย เพื่อให้ร่างกายไม่รู้สึกอึดอัดระหว่างการเดินทาง หรือสวมถุงน่องตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา เพราะเครื่องบินอาจตกหลุมอากาศได้เสมอโดยควรปรับให้พอดีกับตัว ให้เข็มขัดอยู่เหนือท้องและข้างใต้กระดูกเชิงกราน เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบาย
- ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เนื่องจากอากาศในเครื่องบินมีความชื้นต่ำ ทำให้ร่างกายคุณแม่ท้องขาดน้ำได้ง่าย ทำให้เลือดข้น ไหลเวียนไปยังมดลูกน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- งดกินถั่ว กะหล่ำปลี บร็อกโคลี และเครื่องดื่มอัดแก๊ส เพราะอาจทำให้ท้องอืด มีลมในท้อง
- ควรลุกเดินทุกๆ 30-45 นาที เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด รวมถึงขณะนั่งควรงอและเหยียดข้อเท้าและยกเท้าให้สูงเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการบวมและเส้นเลือดขอด
- เลือกที่นั่งริมทางเดิน จะได้ลุกไปห้องน้ำหรือลุกเดินได้ง่าย หรือเลือกที่นั่งแถวหน้าสุดของแต่ละโซนเพราะมีที่วางขากว้าง หรือนั่งบริเวณปีกเครื่องบินซึ่งมีการสั่นสะเทือนน้อย
- ติดของว่างที่มีประโยชน์ขึ้นเครื่องไปด้วย เช่น ถั่วผสมผลไม้อบแห้ง แครกเกอร์แป้งไม่ขัดสี ผลไม้ หรือเนยถั่ว
- พกแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือแผ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อแบคทีเรียติดตัว เพื่อทำความสะอาดถาดวางอาหาร รีโมท และที่วางแขน หรือล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ เท่าที่ทำได้ หากเป็นไปได้ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะเดินทาง
- ถ้ารู้สึกไม่สบายให้ขอความช่วยเหลือทันที การเปลี่ยนแปลงความดันในอากาศอาจทำให้แม่ท้องรู้สึกไม่สบายได้ ซึ่งกรณีนี้ควรแจ้งแอร์โฮสเตสเพื่อขอความช่วยเหลือทันที
แม่ท้องที่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่นโลหิตจางรุนแรงโรคหัวใจ
- ตั้งครรภ์แฝด ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
- มีประวัติหรือมีภาวะรกมีความผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือเสี่ยงแท้ง
- เคยมีประวัติแท้ง แท้งนอกมดลูก คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- มีประวัติความดันโลหิตสูงครรภ์เป็นพิษลิ่มเลือดอุดตัน
- ปากมดลูกหลวม มดลูกบีบตัวบ่อย ต้องกินยาคลายมดลูก
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วแพทย์จะไม่แนะนำให้แม่ท้องเดินทางไปยังประเทศหรือบริเวณที่มีอัลทิจูด (Altitude) สูงกว่า 12,000 ฟุตเหนือพื้นผิวโลกนะคะ รวมถึงบริเวณที่มีโรคระบาดรุนแรง หรือจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแบบเชื้อเป็นก่อนเดินทาง

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้นะคะ เพียงแต่คุณแม่ควรเตรียมตัวและมีความระมัดระวังอย่างเหมาะสม ซึ่งหากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงระหว่าง 14-28 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการเดินทางโดยเครื่องบิน ที่สำคัญคือต้องตรวจสุขภาพและการปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนการเดินทาง เพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยสำหรับทั้งแม่และทารกในครรภ์ค่ะ
ที่มา : www.medparkhospital.com , www.paolohospital.com , th.traveligo.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นิด้าโพล เผย คนไทยไม่อยากมีลูก กังวลค่าใช้จ่าย ห่วงสภาพสังคม
ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ ประกันสังคม เบิกได้เท่าไหร่ ต้องจ่ายเพิ่มมั้ย เช็กเลย!
คำถามที่แม่ท้องควรรู้! ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!