วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ สำคัญแค่ไหน?

ถ้าให้จะพูดถึง วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ คุณคิดว่าสำคัญแค่ไหน แล้วจำเป็นจะต้องฉีดทุกครั้งในการตั้งครรภ์หรือไม่ เรามีคำตอบให้กับคุณค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เราควรจะให้ความใส่ใจในเรื่องของวัคซีนมากเป็นพิเศษ โดยมากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มักจะได้รับวัคซีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ก็ยังมีคุณแม่หลายราย ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ จึงเป็นต้นเหตุการณ์เสี่ยงให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ทั้งตัวคุณแม่เอง และตัวของลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาด้วยเช่นกัน และวัคซีนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ควรมองข้ามก็คือ วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ที่นอกจากจะช่วยป้องกันเรื่องของการติดเชื้อต่าง ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยป้องกันเหตุติดเชื้อที่เกิดจากการคลอดบุตรอีกด้วย

วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก นับว่าเป็นวัคซีนที่จำเป็นมากสำหรับคุณแม่ที่มีครรภ์ ถึงแม้ว่าคุณจะได้รับการฉีดวัคซีนเหล่านี้มาก่อนที่จะตั้งครรภ์แล้วก็ตาม แต่เมื่อคุณมีอายุครรภ์ในช่วย 27 – 36 สัปดาห์ คุณจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

โดยวัคซีนนี้ จะเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้ทั้ง 3 ชนิดในเข็มเดียว จึงนับว่าเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันที่สร้างความปลอดภัย และสะดวกสบายให้กับคุณแม่ และบุตรในครรภ์ได้เป็นอย่างดี

โดยมากการได้รับการฉีดวัคซีน จะมีการกำหนดอย่างชัดเจน หากคุณแม่ มีการฝากครรภ์ และได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้ดูแล เพราะวัคซีนชนิดนี้ มักจะถูกกำหนดอยู่ในแพ็คเกจหลักอยู่แล้ว และทางคุณหมอ จะทำการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อการรับวัคซีนดังกล่าว

ในขณะที่คุณแม่บางคน เลือกที่จะฝากครรภ์ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด ทำให้เกิดความเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง จึงอยากแนะนำให้คุณแม่ที่รู้ตัวว่าตนเองตั้งครรภ์นั้น รีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เมื่อตนเองทราบ เพื่อการเฝ้าระวัง และติดตามผลการเจริญเติบโตของเด็ก และเพื่อการเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คอตีบคืออะไร โรคคอตีบมีอาการเป็นอย่างไร มีสาเหตุเกิดมาจากอะไร มีวิธีรักษาหรือไม่

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ลักษณะของ 3 โรคติดต่อ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โรคคอตีบ

โรคคอตีบเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งเชื้อมักจะพบอยู่ในน้ำลาย เสมหะ หรือน้ำมูก และสามารถติดต่อได้ง่ายทางลมหายใจ การไอ หรือการจามรดกัน รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นช้อนส้อม เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ก็สามารถทำให้ติดเชื้อกันได้เช่นกัน

เชื้อคอตีบนี้ จะมีระยะการฟักตัวอยู่ที่ 1 – 7 วัน หากติดเชื้อนี้เข้าไป จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน จนส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเส้นประสาทอักเสบได้

หากมีการติดเชื้อนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว มักจะมีอาการอ่อนเพลีย และอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบของกล่องเสียง มีเสียงแหบ หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว เป็นอัมพาต และถึงแก่ชีวิตได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โรคไอกรน

โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อทางระบบการหายใจเช่นเดียวกันกับโรคคอตีบ โดยมากเชื้อโรคไอกรน จะเกิด และฟักตัวอยู่ในบริเวณลำคอของผู้ป่วย โดยมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 7 – 14 วัน สามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรงจากผู้ป่วย

อาการที่จะสังเกตได้จะใกล้เคียงกับอาการไข้หวัดทั่วไป คือ มีน้ำมูก จาม ไอเล็กน้อย มีไข้ต่ำ แต่อาการไอจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และต่อเนื่อง จนส่งผลถึงการรับประทานอาหาร การดื่ม และการหายใจ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อเข้าสู่ปอด จนทำให้ระบบหายใจมีปัญหา เมื่อเชื้อสะสมไปเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลให้เชื้อสามารถเข้าไปทำลายตามเซลล์สมองได้ในที่สุด

 

โรคบาดทะยัก

เป็นเชื้อที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน พื้นหญ้า มูลสัตว์ และมักจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่ไม่มีออกซิเจน เรามักจะพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโรคบาดทะยักนั้น มักจะเกิดจากบาดแผลตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นตะปูตำ หนามตำ หรือสัตว์กัด เป็นต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ผู้ที่ติดเชื้อบาดทะยัก โดยมากจะมีระยะเวลาการฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 3 – 21 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละบุคคล แต่โดยเฉลี่ยมักจะพบเจออาการในช่วง 10 – 14 วัน โดยเชื้อบาดทะยักนี้ จะเป็นเชื้อที่สามารถทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดอาการกระตุก ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ชักกระตุก หายใจติดขัด หากเป็นมาก ๆ ก็ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้เช่นกัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : วัคซีนป้องกันโรคไอกรน คล้ายหวัดควรระวัง 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ

 

 

การฉีดวัคซีนสำคัญอย่างไร กับหญิงตั้งครรภ์

1. การฉีดวัคซีนนั้น ไม่ได้เป็นการป้องกันเพียงแค่ตัวของคุณแม่เอง แต่ยังสามารถปกป้องไปถึงบุตรที่อยู่ในครรภ์ด้วยเช่นกัน เพราะในระยะที่บุตรยังอยู่ในครรภ์นั้น เขาจะยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ด้วยตัวเอง แต่การได้รับภูมิคุ้มกันผ่านมารดาสู่ทารก จึงทำให้สุขภาพของลูก ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี

2. การฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ มีงานวิจัยรับรองแล้วว่า ปลอดภัยทั้งตัวแม่ และทารกในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่สามารถไว้วางใจได้เต็มที่

3. โรคไอกรน อาจจะแสดงอาการในผู้ใหญ่ไม่มาก แต่เป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี การที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ จะรับวัคซีนชนิดนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกในครรภ์ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

4. ระยะเวลาในการรับวัคซีน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน แบบไร้เซลล์ Tdap คุณหมอมักจะแนะนำให้ในหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่อายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ เพราะจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกัน ช่วยปกป้องทารกหลังคลอดจากโรคได้ดีที่สุด

5. หญิงตั้งครรภ์ จะมีภาวะอ่อนแอกว่าปกติเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงเสี่ยงกับการป่วย และเกิดอาการแทรกซ้อน ดังนั้น การได้รับวัคซีน จึงมีความสำคัญอย่างมาก ตลอดช่วงอายุครรภ์

6. นอกจากหญิงตั้งครรภ์แล้ว ผู้คนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ พี่ น้อง หรือคนสนิท ที่จะต้องใกล้ชิดกับตัวของคุณแม่ ก็ควรที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เช่นกัน เพราะเขาเหล่านั้น อาจจะเป็นพาหะที่นำเชื้อที่ไม่ปรารถนามาให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรือทารกที่พึ่งคลอดออกมาก็เป็นได้

7. แม้ว่าตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไปแล้ว แต่หากตัวคุณแม่ ได้มีการตั้งครรภ์ใหม่อีกครั้ง ก็จำเป็นจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนนี้ซ้ำใหม่อีกครั้ง เพราะภูมิคุ้มกันนั้น ๆ จะลดลงไปตามระยะเวลา

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : บาดทะยัก อาการ สาเหตุ รวมทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับบาดทะยัก

 

ผลข้างเคียงหลังรับวัคซีน

หลังรับวัคซีนสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ แม้จะพบไม่บ่อย แต่ก็ไม่ควรละเลย โดยอาจจะมีอาการปวด บวม แดง ในบริเวณที่ฉีดวัคซีน ให้รีบประคบเย็น โดยทันที ผู้รับวัคซีนอาจมีไข้อ่อน ๆ อาเจียน ปวดเมื่อย หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก หรือหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายเองภายใน 1 – 2 วัน แต่หากมีอาการผิดปกติอื่น หรืออาการไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

 

วัคซีนที่ห้ามฉีดระหว่างตั้งครรภ์

แม้ว่าจะมีวัคซีนจำนวนมากที่ผู้ตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องได้รับการฉีด แต่ก็ยังคงมีวัคซีนที่ผู้ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน ซึ่งวัคซีนที่ไม่ควรฉีดขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ งูสวัด (Zoster) วัคซีนคางทูม หัด หัดเยอรมัน ( Measles, mumps, rubella ) และวัคซีนป้องกันโรคสุกใส (Varicella)

เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น อาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ และเกิดความพิการที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น หู ตา หัวใจ แขน ขา และสมอง ดังนั้นหากต้องการวางแผนที่จะมีบุตรก็ควรฉีดวัคซีนตัวนี้ก่อนตั้งครรภ์ โดยหากต้องการฉีดวัคซีน หัดเยอรมัน (Rubella vaccine) นั้น แนะนำให้ฉีดก่อนตั้งครรภ์มากกว่า 1 เดือนหรือฉีดหลังคลอดทันที 1 เข็ม และฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรกหนึ่งเดือน เป็นต้น

ดังนั้นการวางแผนการตั้งครรภ์ จึงมีความสำคัญอย่างมาก >>>สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

 

วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก มีกี่ชนิด

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก เป็นการผลิตจากเชื้อ และพิษของเชื้อที่ผ่านกระบวนการทําให้หมดความสามารถในการเกิดโรค และไม่มีเชื้อโรคที่มีชีวิตผสมอยู่ จึงมีความปลอดภัย และสามารถนำไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบัน วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก มีหลายชนิด แยกออกไปได้ดังนี้

1. วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ

เป็นวัคซีนที่จำเป็นจะต้องฉีดให้กับเด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ชุดแรก 3 ครั้ง มีระยะห่าง 0, 1 และ 6 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นซ้ำทุก ๆ 10 ปี รวมถึงตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ที่มีความเสี่ยงในการมีบาดแผลสกปรก ที่อาจจะมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อบาดทะยักระหว่างคลอด

2. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดทั้งเซลล์

เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหน้าทั้งสิ้น 5 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ ครั้งที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4 -6 ปี นอกจากนี้ยังมีวัคซีนชนิดรวมกับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี โปลิโอ และฮิบในเข็มเดียวกัน อย่างไรก็ตามวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดทั้งเซลล์ ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปี และผู้ใหญ่ แต่ควรแทนด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (ไม่มีไอกรน)

3. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดไร้เซลล์ (รวมอยู่ใน 1 เข็ม)

ทําจากพิษของเชื้อคอตีบ และบาดทะยักที่ผ่านขั้นตอนทําให้ไม่ก่อโรคในคน มีส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อไอกรนที่แยกบริสุทธิ์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 5 ครั้ง ตามอายุเช่นเดียวกับชนิดทั้งเซลล์ อีกทั้งยังสามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนชนิดทั้งเซลล์ เช่น มีไข้สูง ชัก ควรพิจารณาใช้วัคซีนชนิดไร้เซลล์ในการฉีดครั้งต่อไป เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดไร้เซลล์มีผลข้างเคียงต่ำกว่า

4. วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดไร้เซลล์ สูตรสำหรับเด็กโต และผู้ใหญ่ (รวมอยู่ใน 1 เข็ม)

การนําวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยักชนิดไร้เซลล์ชนิดสูตรสําหรับเด็กโต และผู้ใหญ่มาใช้ทดแทน โดยดัดแปลงวัคซีนไอกรนให้มีความบริสุทธิ์ และมีปริมาณเชื้อไอกรนลดลง นอกจากนี้ยังสามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ได้ในวันเดียวกัน แต่ต้องแยกเข็มฉีด

 

วัคซีนอะไรบ้าง ที่คนท้องควรฉีด?

ณ ปัจจุบัน วัคซีนหลัก ๆ ที่คนตั้งครรภ์ จำเป็นจะต้องฉีด มีอยู่ด้วยกันประมาณ 3 ชนิด ได้แก่

1. วัคซีนป้องกัน Covid-19

2. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

3. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก

วัคซีนเหล่านี้ จะทำหน้าที่ป้องกันโรคเสริมสร้างให้ตัวคุณแม่แข็งแรง และสามารถส่งภูมิคุ้มกันไปให้กับบุตรในครรภ์ได้ด้วย ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดนั้น จะต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ของตัวคุณแม่ด้วย ดังนั้น จำเป็นจะต้องวางแผนการฉีดวัคซีนเป็นอย่างดี และควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ที่มา : phyathai , chulalongkornhospital , samitivejhospitals , vichaiyut

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับแม่ตั้งครรภ์ วัคซีนสำคัญกับเหตุผลที่ว่าทำไมจึงควรฉีด

วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีหญิงตั้งครรภ์ ฉีดก่อนลูกน้อยในครรภ์ติดเชื้อ

วัคซีนพิษสุนัขบ้า จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ต้องฉีดอย่างไร แม้ท้องฉีดได้หรือเปล่า!?

บทความโดย

Arunsri Karnmana