เตรียมพร้อมรับมือ 20 โรคหน้าร้อนในเด็ก 2020
นอกจากไข้หวัดทั่วไปแล้ว ด้วยความที่ช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยจะอากาศอบอ้าวเป็นพิเศษ ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด อาจเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โรคหน้าร้อนในเด็ก 2020 มีโรคไหนที่ต้องระวังบ้าง พ่อแม่ควรรู้ไว้ก่อน เพื่อดูแลครอบครัว โดยเฉพาะลูกน้อย ให้ปลอดภัยจากโรคเหล่านั้น
โรคอุจจาระร่วง
โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการทานอาหาร หรือน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าไป เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ
อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด อาจจะมีอาเจียนร่วมด้วย โดยอาการมีตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรง จากภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
โรคอาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการทานอาหารหรือน้ำ ที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า เชื้อรา เห็ด มักพบในอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ จากเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่
รวมถึงอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ ไม่ได้อุ่นก่อนทาน
อาการคือ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งหากถ่ายอุจจาระมาก จะเกิดอาการขาดน้ำและเกลื่อแร่ได้ บางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
โรคบิด
โรคบิด เกิดจากเชื้อบิด เป็นเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ติดต่อโดยการทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเหล่านี้ปนเปื้อน อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูกเลือดปน ปวดเบ่งคล้ายอุจจาระไม่สุด มีไข้ บางรายอาจมีอาการเรื้อรังแบบนี้ได้
อหิวาตกโรค
อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อโดยตรงจากการทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำครั้งละมาก ๆ หรือถ่ายอุจจาระเหลว สีคล้ายน้ำซาวข้าว มักไม่มีอาการปวดท้อง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย
มีอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ได้แก่ กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ผิวหนังเหี่ยวย่น ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่มีปัสสาวะออกเลย หายใจลึกผิดปกติ ชีพจรเต้นเบาเร็ว ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ เนื่องจากเสียน้ำมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
โรคไข้ไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจมีอาการท้องเสียได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เรื้อรัง หรือพาหะนำโรคจะเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราว ถ้ามีสุขนิสัยไม่ถูกต้อง เมื่อไปประกอบอาหาร จะสามารถแพร่เชื้อไทฟอยด์ไปสู่ผู้อื่นได้
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ
อาการที่พบบ่อย ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีจุดแดงที่ผิวหนัง ตับโต กดเจ็บบริเวณโครงด้านขวา อาจมีภาวะเลือดออก ภาวะช็อก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง จะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก
วิธีป้องกัน คือให้เก็บบ้านให้สะอาด เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ ปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันการวางไข่ของยุงลาย รวมไปถึงป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ด้วยการนอนมุ้ง จุดหรือทายากันยุง
การช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ห้ามใช้แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟนเด็ดขาด ดื่มน้ำและเกลือแร่มาก ๆ หากปวดท้อง ซึมลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ไข้ลดเฉียบพลัน ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยโรคนี้ที่พบเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Rabies สามารถรับเชื้อไวรัสได้จากน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น แมว หนู ลิง ค้างคาว และที่พบบ่อยสุดคือ สุนัข ส่วนใหญ่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางแผลที่โดนกัดหรือข่วน ระยะฟักตัวเฉลี่ย 2-8 สัปดาห์
อาการโรคพิษสุนัขบ้าในคน ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คันบริเวณรอยกัด ต่อมาจะมีอาการหงุดหงิด ไวต่อสิ่งเร้า ม่านตาขยาย น้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอเกร็งกระตุกเวลากลืนอาหาร หรือสำลักน้ำเวลาดื่มน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการกลัวน้ำ เพ้อคลั่ง
ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะเป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรง กรณีไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะอยู่ได้ 2-6 วัน และเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจอัมพาต ถึงแม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว แต่ก็ไม่ควรไปแหย่สัตว์ให้มันข่วนหรือกัด อย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคย ลดความเสี่ยงให้มากที่สุด
โรคลมแดด
โรคลมแดด หรือเรียกว่าโรคฮีทสโตรก เกิดจากการที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หรืออากาศร้อนเกินไป จนร่างกายปรับสมดุลอุณหภูมิไม่ทัน
อาการ คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ตัวร้อน ผิวมีสีแดงผิดปกติ เด็กบางคน ถ้าหากเป็นรุนแรง อาจหมดสติ และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ควรป้องกันด้วยการไม่อยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยโรคนี้จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ถือเป็นโรคตามฤดูกาล มักจะแพร่ระบาดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
อาการ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางครั้งในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วงร่วมด้วย ถ้าหากสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรนำส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาต่อไป
โรคผดร้อน
โรคผดร้อน ถือเป็นโรคผิวหนัง ที่พบมากที่ช่วงหน้าร้อน เกิดจากการที่รูขุมขนอุดตัน ไม่สามารถขับเหงื่อได้ ทำให้เป็นตุ่มแดงที่ผิวหนัง
อาการ คือ คันตามผิวหนัง ไม่สบายตัว สามารถป้องกันได้ ด้วยการให้สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ไม่หนามาก ระบายอากาศได้ โดยปกติ ผื่นจะสามารถหายได้เองภายใน 2 วัน แต่ถ้าหากเด็กเป็นผดร้อน แล้วไม่หายสักที ควรไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษา
บาดเจ็บจากทางน้ำ
ในช่วงหน้าร้อน เป็นธรรมดาที่เด็กจะต้องไปเล่นน้ำบ้าง ซึ่งถือเป็นอีกเรื่อง ที่ผู้ปกครองต้องดูแล เพราะช่วงหน้าร้อนเนี่ยแหละ เป็นช่วงที่มีอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการจมน้ำเยอะ
สำหรับเด็กเล็กนั้น ให้เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา และเฝ้าดูตลอดเวลา ระวังพวกอ่างน้ำที่เด็กอาจตกลงไปได้ ยิ่งบ้านใครอยู่ริมน้ำ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ถ้าเป็นไปได้ ให้สอนว่ายน้ำ สอนการลอยตัว เผื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเอง และควรมีเสื้อชูชีพให้เด็กใส่เวลาเล่นน้ำ
โรคหูดข้าวสุก
หูดข้าวสุก ถือเป็นไวรัส ที่พบบ่อยในสถานที่ร้อนชื้นแบบประเทศไทย มักพบในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนังจากคนสู่คน ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ สามารถเข้าทางผิวหนังที่เป็นแผล และแพร่กระจายจากบริเวณหนึ่ง ไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้จากการสัมผัส
อาการที่พบในเด็ก คือ มีลักษณะเป็นตุ่มใสขนาดเล็ก มีสีเนื้อรูปโดม เป็นหลุมตรงกลางบริเวณใบหน้า มักพบในบริเวณที่สัมผัสหรือเสียดสีกัน หากมีการแกะ เกา จะมีอาการบวม แดง ผิวหนังอักเสบ และเป็นหนองได้
โรคไข้หวัดแดด
โรคไข้หวัดแดด ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ว่าน่าจะเกิดจากแดด ซึ่งหน้าร้อนเมืองไทยนั้นแดดแรงจริง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดนาน ๆ ใส่หมวก กางร่ม ใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย ระบายอากาศได้ดี
อาการของไข้หวัดแดด คือ มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย อาจจะมีน้ำมูกบ้าง แต่ไม่มีเหมือนกับพวกไข้หวัดทั่วไป โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายสะสมความร้อนไว้เยอะ จนระบายความร้อนไม่ทัน
โรคเฮอร์แปงไจนา
โรคเฮอร์แปงไจนา เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในฤดูร้อน จะคล้าย ๆ กับโรค มือ เท้า ปาก ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลเรื่องสุขอนามัย และความสะอาดของลูกน้อย ให้ดีเป็นพิเศษในช่วงหน้าร้อน
อาการของโรคนี้ คือ มีไข้ มีตุ่มใสขึ้นในปาก ทำให้ทานข้าวลำบาก เด็กอาจจะทานข้าวได้น้อยลง ทานแล้วไม่อร่อย หรืออาจจะไม่ยอมทานเลย
ผิวไหม้แดด
อาการผิวไหม้แดด สามารถเกิดขึ้นได้ เวลาเด็กออกไปในที่แดดจัดนาน ๆ แล้วไม่ได้ทาครีมกันแดดป้องกัน รวมไปถึงไม่ได้กางร่ม
ถ้าเกิดลูกผิวไหม้แดด ให้ผู้ปกครองนำผ้าชุมน้ำเย็นมาประคบ จนอาการแสบร้อนหายไป หากเป็นเยอะ ให้อาบน้ำ ทำให้ตัวเย็น แต่ถ้าหาก 2-3 วันแล้วยังไม่หาย หรือผิวไหม้จนเป็นตุ่มน้ำ แนะนำให้ไปหาหมอค่ะ
โรคเชื้อราที่ผิวหนัง
ในช่วงหน้าร้อน เหงื่อจะออกเยอะเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการอับชื้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย โดยเชื้อราที่พบบ่อย ได้แก่ กลาก เกลื้อน ผื่นแดงตามข้อพับ แนะนำว่าอย่าปล่อยไว้จนลามไปทั่ว ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ผิวหนัง
โรคหูชั้นนอกอักเสบ
โรคหูชั้นนอกอักเสบ เกิดจากน้ำเข้าหู และขังอยู่ในหู มักจะเป็นหลังจากที่เด็กไปว่ายน้ำ ทำให้รูหูชุ่มชื้น จนเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต
อาการคือ หูบวม คัน และอาจรู้สึกเจ็บปวด บางคนจะหูหนวกชั่วคราว ป้องกันได้โดยระวังอย่าให้น้ำเข้าไปขังในหู เช็ดหูให้แห้งเสมอ ถ้าหากอาการหนัก ให้พบแพทย์
โรคไอกรน
โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เด็กจะมีอาการไอที่มีเสียงหายใจลำบากตามมา เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
หากเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอจนหยุดหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ ควรนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกัน และรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ
โรคไวรัสตับอักเสบเอ
โรคไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบเอ เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุก และล้างมือก่อนกินข้าวเสมอ
อาการของโรคนี้ มักเริ่มจากมีไข้ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เมื่อไข้ลดจะมีอาการตัวเหลือง และตาเหลือง ในเด็กเล็กมักมีอาการเพียงเล็กน้อย บางรายมีอาการไม่กี่วัน แต่ถ้าเป็นในเด็กโต จะมีอาการเป็นสัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
โรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบ โดยมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสที่พบบ่อย คือ RSV และ Inuenze หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ โรคนี้แพร่กระจายด้วยการ ไอ จาม หายใจรดกัน และแพร่กระจายตามกระแสเลือด
อาการโรคนี้ มักจะมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ซึม กระสับกระส่าย ในเด็กโตจะมีอาการเจ็บหน้าอกตลอดเวลาหายใจเข้าออก
ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข bumrungrad gedgoodlife โรงพยาบาลราชวิถี siphhospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาหารเป็นพิษในเด็ก โรคฮิตช่วงหน้าร้อน เกิดจากอะไร รักษายังไง
เด็กเกิดมาก็ติด Covid-19 เลย เกิดอะไรขึ้นโรคไวรัสติดมาที่เด็กได้หรอ?
วิธีป้องกันเด็กติดเชื้อ วิธีป้องกันเชื้อโรค หากจำเป็นต้องเดินทางช่วงที่มีโรคระบาด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!