โรคฉี่หนู กว่าจะรู้ว่าลูกเป็น เรื่องจริงที่คุณแม่อยากบอกต่อ
โรคฉี่หนู เรื่องจริงที่คุณแม่อยากบอกต่อ
คุณแม่ Ame Kuan ได้ติดต่อกับทางทีมงานของดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ เพื่อขอแชร์ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับ โรคฉี่หนู ที่ลูกชายคนเล็กต้องป่วยนอนโรงพยาบาลนานนับสัปดาห์ แต่นี่ ยังไม่รวมถึงอาการก่อนหน้าที่สามารถรวมกันแล้วน้องป่วยนานเกือบ 20 วัน
เหตุการเกิดขึ้นได้อย่างไร??
น้องอาบี๋ ลูกชายคนเล็กวัยสองขวบกว่า เป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส ซุกซนสมตามวัยในวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดจะเกิดขึ้น แม่ได้พาลูกไปสวนจตุจักร อาบี๋ไปเล่นกับหนู นอน ในร้านหนูร้านหนึ่ง สองวันต่อมาอาบี๋คือวันที่ 15 มีนาคม อาบี๋ตื่นนอนด้วยการมีไข้อ่อน ๆ และไอ แต่ยังคงทานอาหารเช้าได้ และร่าเริงตามปกติ ตกบ่ายไข้เริ่มมา 38 องศา แม่จึงให้ยาแก้ตัวร้อน Tempra Drop ไปและรอให้ไข้ลด ด้วยอาบี๋เป็นเด็กแข็งแรง ปกติเวลาที่น้องเป็นไข้ทานยาเพียงครั้งเดียว ก็ลดลงและไม่กลับมาอีก แต่ไม่ใช่กับครั้งนี้ แม่ต้องคอยให้ยาลดไข้กับน้องทุก ๆ 4 ชั่วโมงแล้ว เพราะไข้เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ วัดได้ 38.0 – 38.5 องศา เวลาเอามือกุมที่ตาและหูก็จะร้องเจ็บ!!
โรคฉี่หนู ที่ลูกชายคนเล็กต้องป่วยนอนโรงพยาบาลนานนับสัปดาห์
อาหารหลังจากเข้าพบแพทย์ เป็นยังไงบ้าง??
16 มีนาคม น้องอาการไม่ดีขึ้น วัดไข้ได้ 38.5 – 38.6 องศา และยังคงร้องเจ็บที่หูและตาเหมือนเดิม แม่รู้ทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกและคิดว่าน้องคงได้รับเชื้อไวรัสหรืออะไรสักอย่างเป็นแน่ จึงรีบพาลูกไปตรวจที่โรงพยาบาลดังย่านวิภาวดีเพื่อหาสาเหตุ หมอคนแรกตรวจคอและฟังปอด บอกปกติดีทุกอย่าง แม่ย้ำรอบแรกว่าไม่ตรวจหาสาเหตุอื่นหรือ ว่าไข้นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร หมอแจ้งว่าให้ดูหูก่อนถ้ามีความผิดปกติที่หูก็สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุของไข้ได้เลย แม่ทำตามที่หมอบอก ผลตรวจบอกว่าน้องปกติและให้ยากลุ่ม Augmentin กลับบ้านมาทาน ตกกลางคืนของวันเดียวกันน้องมีไข้สูงขึ้นอีกครั้งวัดได้ 38.6-38.7 องศา แม่ให้ยาลดไข้สูง Nurofen สลับกับ Tempra Drop ควบคู่กันไป
17 มีนาคม น้องยังมีไอและมีไข้คงที่ ร้องเจ็บตามร่างกายโดยเฉพาะที่ “น่อง” พอให้ทานยาลดไข้ก็ทานอาหารและเล่นได้ตามปกติ
18 มีนาคม อาการดีขึ้น ไข้ลดลดลงและห่างมากขึ้น แม่เริ่มวางใจและคิดว่ายาปฏิชีวานะน่าจะได้ผลแล้ว
19 มีนาคม น้องอาการดีขึ้นเยอะมากแต่ยังคงร้องเจ็บตามร่างกายอยู่ ไข้ลดลง วันนี้เป็นวันที่แม่แทบไม่ได้ให้ยาอะไรน้องเลย ทุกอย่างเหมือนคนเป็นไข้หวัดปกติ ทานยาไข้ก็ลด แต่แล้วมันก็เกิดขึ้น!!
20 มีนาคม อาบี๋ทรุดหนักด้วยการมีไข้อีกครั้ง วัดได้ถึง 38.8 – 39.0 เริ่มซึม ร้องไห้งอแงบ่งบอกถึงความไม่สบายอย่างรุนแรง แม่จึงรีบนำน้องไปโรงพยาบาลอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหมอเก่ง ๆ ส่วนใหญ่จะหยุดวันอาทิตย์ แต่แม่ไม่สามารถรออะไรได้อีกแล้ว หมอคนที่สามที่เข้าตรวจน้องได้ตรวจคอและปอด และส่งตรวจไข้หวัดใหญ่ตามปกติ ผลวินิจฉัยบอกว่า น้องเป็นหลอดลมอักเสบ ให้ฉีดยา Ceftraix 500 mg และยากลุ่ม Augmentin ตัวเดิมกลับมาทานที่บ้าน ตกกลางคืน อาบี๋ร้องเจ็บปวดตามร่างกาย แม่ก็ให้ยาลดไข้ต่ำกับไข้สูงสลับกันไปตลอดทั้งคืน
ตลอดคืนที่แม่เฝ้าดูอาการของน้อง แม่เครียดและสับสนมาก แม่พยายามนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ว่าได้พาน้องไปไหนที่เป็นสถานที่เสี่ยงมาบ้าง และแม่ก็นึกออก !!! ใช่วันนั้นน้องไปจตุจักรและเล่นกับหนูและหนอนมา ทันใดนั้นแม่นึกถึงโรค ๆ หนึ่งนั่นก็คือ “โรคฉี่หนู” แม่เริ่มค้นหาอาการของโรค และพบว่าน้องมีอาการใกล้เคียงทั้งหมดนั่นคือ “ปวดตา ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง”
21 มีนาคม อาการของอาบี๋ไม่ดีขึ้น แม่จึงรีบโทรหาหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญโรคที่ดูแลพี่เจี๋ย ลูกชายอีกคน ครั้งนี้คือการพบกับหมอคนที่สี่ โดยแม่เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดให้หมอฟัง หมอตรวจคอและฟังปอด พบว่าคอไม่แดง แต่มีการติดเชื้อในปอด!!! จากนั้นหมออธิบายว่า เป็นไปได้น้อยที่น้องอาจจะเป็นโรคฉี่หนู เพราะเชื้อมีระยะฟักตัวนานเป็นสิบวัน และตัวโรคจะทำลายตับและไตเป็นส่วนใหญ่ แต่น้องกลับติดเชื้อที่ปอด จึงสันนิษฐานว่าน้องน่าจะมีไข้เนื่องจากการติดเชื้อที่ปอดมากกว่า แต่เพื่อความมั่นใจจึงขอเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาความผิดปกติ และส่ง X-ray เพื่อหาความรุนแรงของการติดเชื้อในปอดต่อไป
ผลปัสสาวะปกติ แต่มีการติดเชื้อที่ปอดด้านขวา หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวม หมอถามว่าจะแค่ฉีดยาแล้วกลับบ้านหรือว่าจะนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากประสบการณ์การป่วยโรคปอดบวมของพี่เจี๋ย ทำให้แม่มั่นใจว่าจะรับมือกับมันได้ จึงให้หมอฉีดยาปฏิชีวนะ Certraix 1000 mg และฉีดยากล้ามเนื้อร่วมด้วย แล้วกลับบ้าน หมอบอกว่าไข้จะลดลงใน 24 ชั่วโมง แม่ไม่ต้องตกใจ ตกกลางคืนอาบี๋มีไข้สูงอีกครั้ง คราวนี้ 38.8 – 38.9 องศา แม่ก็ยังคงให้ทานยาไข้ต่ำกับไข้สูงควบคู่กันไป
และแล้ววันนี้ก็มาถึง ในวันที่ 22 มีนาคม น้องท่าทางไม่ดี ไข้สูงและควบคุมได้ยากขึ้น ซึม อาเจียน และร้องงอแงมากกว่าเดิม ตอนนั้นหัวใจของแม่มันจะขาด อยากรู้ให้ได้ว่าสรุปแล้วอาบี๋เป็นโรคอะไรกันแน่ จึงกลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง หมอจึงแนะนำให้น้องแอทมิท เพราะดูเหนื่อยมาก จะได้ให้ยากลุ่ม Cefepime ที่คุมได้หลายเชื้อ และเก็บเลือดไปตรวจได้ ซึ่งเชื้อที่หมอจะนำส่งตรวจนั้นคือ ฉี่หนู ไข้เลือดออก ไวรัส 18 สายพันธุ์ ค่าเม็ดเลือด ค่าการติดเชื้อในเลือดเป็นต้น ทั้งนี้หมอได้ให้ยาพ่นขยายหลอดลมทุก ๆ 4 ชั่วโมง ร่วมกับยาแก้ไขละลายเสมหะ และยาฆ่าเชื้อ เย็นวันนั้น หมอเข้ามาแจ้งผลบอกไม่เจอโรคอะไรที่ผิดปกติเลย แต่โรคฉี่หนูนั้นต้องส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลรามา ตกกลางคืนน้องมีไข้และหายใจแรง พยาบาลยังบอกเลยว่า น้องดูเหนื่อยผิดปกติ แต่ก็แจ้งว่าค่าออกซิเจนและค่าหัวใจเต้นปกติ
23 มีนาคม อาบี๋ยังคงมีไข้ ทานอาหารได้น้อย ไข้ห่าง ซึ่งมันดูเหมือนจะโอเคขึ้นในตลอดทั้งวัน แต่พอตกดึกคืนนั้นเอง!! ผู้ช่วยเข้ามาวัดไข้พร้อมวัดออกซิเจนและหัวใจ ไม่นานผู้ช่วยก็รีบต่อสายถึงพยาบาลทันที “น้องค่า OX SAT ตกอยู่ที่ 94%” พยาบาลอีกสองคนรีบวิ่งเข้ามาด้วยท่าทีที่รีบร้อน “ไปเอาออกซิเจนมา แม่คะ พยาบาลตามหมอเวรให้แล้วนะคะแม่”
อะไรคือค่า OX SAT???!!!! เกิดอะไรขึ้นทำไมพยาบาลถึงดูตกใจมากขนาดนี้ อาบี๋เป็นอะไร!!
พยาบาลรีบต่อท่อออกซิเจนและให้แม่ช่วยจับไว้ที่จมูกของน้อง พยาบาลไปเอากล่องมาต่อท่อออกซิเจนให้ดม และให้น้องนอนในกล่อง แต่อาบี๋ต่อต้านมาก ไม่นานหมอเวรก็เข้ามา และนี่คือหมอคนที่ห้าของการรักษาในครั้งนี้ หมอฟังปอด แล้วบอกว่าปอดดี และไม่มีน้ำในปอดมาก และให้อาบี๋ดมออกซิเจนในกล่องต่อไป แต่การตรวจของหมอในครั้งนี้ แม่รู้สึกเลยว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ในเมื่อปอดดี แล้วทำไมค่า OX SAT ถึงตกสุดท้ายก็ปล่อยให้เป็นการดูแลของพยาบาลต่อไป
บอกตรง ๆ ตอนนี้แม่ต้องรีบทำความเข้าใจกับพยาบาลถึงค่าดังกล่าวให้เร็วที่สุด ซึ่งได้ความว่า มันคือค่าออกซิเจนในเลือด โดยปกติจะต้องอยู่ที่ 100% ถ้าต่ำว่า 95% ถือว่าผิดปกติ อาจส่งผลให้คนไข้มึนงง ชัก หมดสติ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ชีพจนนั้นเต้นผิดปกติ ต่อมาหัวใจจะบีบตัวช้าลง โดยระบบให้ใจก็จะหายใจไม่สะดวกมีเสียงดัง ปีกจมูกบาน หายใจเร็วหรือช้ากว่าปกติ ผิวหนังระยะแรกนั้นจะเย็นซีด ต่อมาจะเขียวคล้ำ และเสียชีวิตในที่สุด
เช้าวันต่อมา 24 มีนาคม หัวหน้าพยาบาลเข้ามาถามไถ่อาการ และแนะนำว่าควรเคาะปอดดูดเสมหะ แต่แม่ดูแล้วอาบี๋ไม่มีน้ำมูก หรือไอแบบมีเสมหะมากนัก แต่ลองทำดูก็ไม่เสียหาย และอาบี๋ก็กลับมามีไข้สูงอีกครั้ง 38.2 องศาหลังจากที่มีไข้ต่ำทั้งคืน หมอแนะนำว่าควรเคาะปอดดูดเสมหะ เหมือนที่พยาบาลบอก พยาบาลมารับตัวน้องไปเคาะปอดและดูดเสมหะ แต่น้องกลับต่อต้าน พยาบาลบอกกับอาบี๋ว่า “บี๋ต้องดูดนะลูก ไม่งั้นต้องอยู่ ICU นะ” พอกลับมาพยาบาลบอกว่า ดูดได้ไม่มาก เพราะเสมหะของน้องเหนียวข้น ตกบ่ายน้องดูหมดแรง ยอมนอนในกล่องแต่โดยดี หมอเข้ามาประเมินอาการอีกครั้ง และแจ้งว่าไม่พบเชื้อในไวรัส 18 สายพันธุ์เลย ยาที่หมอให้ดูจะไม่ตอบสนองต่อการรักษา หมอจึงแจ้งว่า จะลองให้ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Doxycycline ซึ่งเป็นยากลุ่มที่ตอบสนองต่อเชื้อโรคที่ติดจากสัตว์
แม่ไม่รู้หรอกว่ามันผิดหรือถูก รู้เพียงอย่างเดียวว่าหมอคือความหวังเดียวที่เรามี ใจตอนนั้นแม่เจ็บปวดมาก เกิดอะไรขึ้นกันแน่
ตกเย็นน้องไข้เริ่มดีขึ้น ค่าออกซิเจนคงที่ ไม่ดีขึ้นและไม่แย่ลง ตกดึกน้องหายใจดังและแรงผิดปกติ หน้าอกกระพืออย่างน่าตกใจ แม่เรียกผู้ช่วยมาวัดค่าออกซิเจนทันที วัดได้ 92% ผู้ช่วยพยาบาลแจ้งว่าน้องหอบ พยาบาลแจ้งหมอเวรอีกครั้ง และขอพ่นยาและดูดเสมหะทันที หลังจากพ่นยาและดูดเสมหะ ค่าออกซิเจนขอน้องดีขึ้นนิดหน่อย คราวนี้หมอเวรที่จัดได้ว่าเป็นหมอคนที่หก ก็เข้ามาบอกปอดโอเค และเดินจากห้องไป ไม่มีแม้แต่จะให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาใด ๆ
ตอนเช้าค่าออกซิเจนของน้องดีขึ้น แต่ยังคงหอบและต้องดมออกซิเจนในกล่องอยู่ ตกสายอาจารย์หมอผู้ดูแลผู้ป่วยวิกฤตเข้ามาดู และอธิบายถึงการรักษาในห้อง ICU คือหมอบอกว่าไม่รู้จริง ๆ ว่าน้องจะทรุดอีกทีเมื่อไหร่ เราต้องเตรียมพร้อมรับมือตลอด และนี่คือหมอคนที่เจ็ด!! หมอถามว่า ตอนนี้แม่มีอะไรที่กังวลมาก แม่จีงรีบตอบทันทีเลยว่า “แม่อยากรู้ว่าน้องติดเชื้ออะไรกันแน่ เราจะได้ให้ยาที่มันตอบสนองต่อโรค ไม่อยากให้รักษาแบบคุมเชื้อที่มันรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่แบบนี้”
หมอบอกว่า การรักษานั้นต้องรักษาโดยดูอาการของคนไข้เป็นหลัก ตกบ่ายหมอมาแจ้งว่า น้องตรวจพบโรคฉี่หนู!!! หมอให้ยารักษาตามอาการเป็นหลักจนน้องอาการค่อย ๆ ดีขึ้น สรุปน้องไม่ได้ย้ายไปอยู่ห้อง ICU
โรคนี้แม่ได้มีการถามความเห็นจากอาจารย์หมอโรงพยาบาลอื่นด้วย หมอบอกว่า โรคฉี่หนูนั้นหายากมากในกรุงเทพ อาการที่จะไปทำลายระบบทางเดินหายใจก็เป็นไปได้ยาก ส่วนมากแล้วจะมุ่งเน้นไปที่ตับและไต และในที่สุดอาบี๋ก็ได้ออกจากโรงพยาบาล
และมีการนัดตรวจเลือดอีกครั้ง ผลปรากฎว่าค่าเลือดของน้องนั้นเกล็ดเลือดสูงถึง 1,090,000 เลยทีเดียว ซึ่งปกติต้องอยู่ที่ 400,000 เท่านั้น หมอแนะนำแต่เพียงว่า ให้ระวังลูกอาจจะมีตัวแดง ปลายมือและเท้าอาจจะเขียวคล้ำเท่านั้น หมอไม่ได้มีการทำนัดหรือแนะนำอะไรมากไปกว่านี้ แต่ด้วยอาบี๋ดูสดใสแข็งแรง แม่จึงเฝ้าดูอาการ แต่คิดว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แม่คงต้องขอหมอตรวจโดยละเอียดอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้
“อยากฝากถึงครอบครัวที่มีลูกเล็ก บางครั้งเรามองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เพราะคิดว่ามันคงไม่เกิดขึ้นกับเรา ตอบตรง ๆ เลย แม่ไม่รู้จะฝากอะไรได้มากไปกว่านี้ เพราะครั้งนี้รู้สึกตัวเลยว่าตัวเองพลาดไม่น้อย คิดมาตลอดว่าลูกของเราแข็งแรง” และนี่คือข้อความที่แม่อยากฝากถึงคุณแม่ทุก ๆ คน
อย่างไรทีมงานขอขอบคุณคุณแม่มากนะคะ ที่แชร์เรื่องราวทั้งหมดให้กับทีมงาน และอยากที่จะแบ่งปันเรื่องราวกับคุณแม่คนอื่น ๆ อย่างไรขอให้น้องหายดี ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติไว ๆ นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
9 โรคฮิตหน้าร้อนที่ต้องระวัง
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบมากที่สุดในเด็ก
โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มากับหน้าฝน (โรงพยาบาลมหาราช)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!