สำหรับรายการ TAP Ambassador ของเราในสัปดาห์นี้ มาพร้อมกับประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านให้ความสนใจ โดยหัวข้อในวันนี้คือ “ โรค RSV และ โรคมือเท้าปากในเด็ก โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว ” ซึ่งในวันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กันกับคุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
โรค RSV และ โรคมือเท้าปากในเด็ก ทำไมทั้งสองโรคนี้จึงเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กเล็ก
โรคมือเท้าปากมักจะพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 – 5 ขวบ โดยส่วนใหญ่จะพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้ติดโรคพวกนี้ได้ง่าย โดยเมื่อโตขึ้น ภูมิคุ้มกันจะเริ่มแข็งแรง ทำให้โรคมือเท้าปากในเด็กโต ไม่ค่อยมีความน่ากลัว หรือรุนแรงเท่าในเด็กเล็ก หากเป็นโรค RSV จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ โดยกลุ่มแรกจะเป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 – 5 ขวบ ส่วนกลุ่มถัดมา เป็นกลุ่มที่หลายคนมองข้าม คือ กลุ่มของผู้สูงอายุ โดยโรคนี้สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม และการสัมผัส หากเป็นโรคมือเท้าปาก ก็สามารถติดผ่านทางตุ่มน้ำใสที่บริเวณมือได้ด้วยเช่นกัน
บทความที่น่าสนใจ : จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกน้อยสายตาสั้นและหูหนวก หรือลูกพัฒนาการช้า กันแน่
โรค RSV และโรคมือเท้าปากในเด็ก มีสาเหตุมาจากอะไร
ทั้งโรค RSV และ โรคมือเท้าปาก มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสทั้งคู่ แต่จะเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน โดยเชื้อของโรค RSV ก็คือ ไวรัส RSV เหมือนกับชื่อโรค ส่วนโรคมือเท้าปากจะมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71)
อาการของทั้งสองโรคนี้ เป็นยังไงบ้าง
อาการของทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยโรค RSV นั้น เป็นเหมือนโรคหวัดโรคหนึ่ง เพียงแต่ว่าเมื่อกับเด็กเล็ก ที่ยังมีทางเดินหายใจขนาดเล็ก หรือภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่แข็งแรง ก็จะส่งผลต่อหลอดลมของเด็ก ทำให้เกิดน้ำมูก เสมหะ ทำให้หายใจติดขัด และทำให้หอบเหนื่อยได้ ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรค RSV ที่ค่อนข้างน้อย แต่ก็จะทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้ต้องมีอาการที่ค่อนข้างทรมาน และทำให้หายใจไม่สะดวก
สำหรับโรคมือเท้าปากนั้น เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อได้ง่ายมาก เพียงแค่เด็กเล่นของเล่นด้วยกันก็สามารถติดต่อกันได้ และที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่เชื้อโรคชนิดนี้ไม่สามารถที่จะฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์ โดยเชื้อโรคชนิดนี้ก็สามารถที่จะแฝงตัวอยู่ตามของเล่นเด็ก หรือสิ่งแวดล้อมได้ บ่อยครั้งที่เมื่อพบการระบาดของโรคชนิดนี้ มักจะทำให้เนอสเซอรี่ที่อยู่ในพื้นที่ของการระบาดต้องปิดตัวลงชั่วคราว โดยอาการของโรคมือเท้าปากนั้นคือ จะมีตุ่มใสบริเวณที่มือ เท้า และปาก โดยความทรมานของเด็กที่เป็นโรคนี้คือ จะมีอาการเจ็บที่บริเวณปาก และในช่องปากเป็นอย่างมาก
เมื่อทั้งสองโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสทั้งคู่ จะสามารถที่จะวัคซีนป้องกันได้ไหม
เป็นที่น่าเสียดายว่า ณ ปัจจุบัน ทั้ง 2 โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค และด้วยความที่ทั้ง 2 โรคนี้มักจะเป็นในกลุ่มเล็ก ๆ และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่ไม่สูง ทำให้เป็นเหตุผลที่ว่าทางผู้ผลิตวัคซีนไม่ได้สนใจที่จะผลิตวัคซีนป้องกันโรค 2 ชนิดนี้ขึ้นมา
บทความที่น่าสนใจ : กลัวลูกติดโควิด จน ไม่กล้าพาลูกไปฉีดวัคซีน มีผลเสียอย่างไร
ทำไมทั้ง 2 โรคนี้ ถึงมักเกิดขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาว
ส่วนใหญ่ทั้ง 2 โรคนี้มักจะพบในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือในช่วงเปิดเทอม เพราะเป็นช่วงที่อากาศเริ่มเย็นทำให้เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และประกอบกับช่วงเปิดเทอม ที่จะมีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ได้อย่างง่าย
จะมีวิธีการป้องกันสำหรับโรคทั้งสองชนิดนี้ได้อย่างไรบ้าง
สำหรับโรค RSV มีวิธีการป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เหมือนกับโควิด เพราะ สามารถติดได้จากน้ำมูก น้ำลาย การไอ การจาม หรือจะใช้เป็นผ้าคลุมสำหรับรถเข็นเด็กอ่อนสำหรับเด็กเล็กก็ได้เช่นกัน และต้องพยายามล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ สำหรับในส่วนวิธีป้องกันโรคมือเท้าปากนั้น ต้องพยายามให้ลูกล้างด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ หรือจะเป็นการใช้น้ำยาฟอกขาว ในการทำความสะอาดของเล่นก็ได้เช่นกัน เพราะในน้ำยาฟอกขาวจะมีส่วนผสมที่ช่วยฆ่าเชื้อมือเท้าปากได้
และสำหรับหัวข้อ ” โรค RSV และโรคมือเท้าปากในเด็ก โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว ” นั้น โดยทั้ง 2 โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสทั้งคู่ และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันทั้ง 2 โรคนี้ โดยวิธีที่จะช่วยป้องกันได้ดีที่สุดคือการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกัน และนอกจากการป้องกันเด็กแล้วนั้น ก็อยากให้ระวังในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เพราะโรค RSV ก็สามารถติดต่อได้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเช่นกัน
คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
บทความที่น่าสนใจ :
สอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่เคารพตนเอง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก และผลกระทบของโรคต่อพัฒนาการของลูก
10 อาการ RSV ในทารก และเด็กเล็ก สัญญาณเตือนที่พ่อแม่ควรรู้
ที่มา : คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ
เจ้าของเพจ เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!