คุณแม่ท้องหลายคนมักจะให้ความสำคัญกับสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหาร และการดูแลครรภ์ เป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป คือ สุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ และบางคนอาจกังวลว่า ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้หรือเปล่า คนท้องปวดฟัน ฟันผุ หรืออาการเหงือกอักเสบ อาจนำไปสู่ภาวะคลอดก่อนกำหนดได้หรือไม่? วันนี้ เราจะมาไขข้อข้องใจ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมและปลอดภัยกันค่ะ
ทำไมแม่ตั้งครรภ์ถึงมีปัญหาสุขภาพช่องปากง่าย ?
การตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงสุขภาพช่องปาก เช่น ปัญหาโรคเหงือกอักเสบ คนท้องปวดฟัน ฟันผุ ซึ่งอาการเหล่านี้มีปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดขึ้น ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเหงือกและเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้เหงือกบวมง่ายและเกิดการอักเสบได้มากขึ้น หากดูแลอนามัยของช่องปากได้ไม่ดีอาจส่งผลให้แม่ท้องเกิดโรคฟันผุได้
- อาการแพ้ท้อง การอาเจียนบ่อยครั้งจากอาการแพ้ท้อง ทำให้กรดในกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาทำลายเคลือบฟันและทำให้ช่องปากเป็นกรด แบคทีเรียในช่องปากจึงเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบ นอกจากนี้ การที่รู้สึกอยากอาเจียนทุกครั้งที่แปรงฟัน ทำให้การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นไปอย่างยากลำบาก
- พฤติกรรมการกิน คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะกินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูงบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นอาหารที่เชื้อแบคทีเรียในช่องปากชอบมาก ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียและทำให้ฟันผุได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ คุณแม่ที่แพ้ท้องและอาเจียนบ่อยครั้ง จะทำให้กรดจากกระเพาะอาหารและเศษอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นมาติดตามซอกฟัน ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ฟันผุได้ง่ายขึ้น
- การดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เพียงพอ นอกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้าและเกิดอาการไม่สบายตัวต่างๆแล้ว ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า ก็มีส่วนทำให้คุณแม่ละเลยการดูแลสุขภาพช่องปาก ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ บางครั้งคุณแม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกอ่อนเพลีย หรือกลัวผลกระทบของยาในการรักษาฟัน จึงละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากได้เช่นกัน
คนท้องปวดฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดจริงไหม ?
สุขภาพช่องปากของแม่ตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุในช่องปากของแม่ สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ ถึงแม้จะยังไม่ได้มีการวิจัยที่แน่ชัด แต่ก็มีกรณีคุณแม่ตั้งครรภ์หลายรายที่มีโรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ ส่งผลทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
ดังนั้น คนท้องปวดฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ หากไม่ดูแลหรือทำการรักษาก็ส่งผลต่อลูกในท้องได้เช่นกัน การดูแลสุขภาพช่องปาก สุขภาพเหงือก และฟัน อย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งแม่และลูกค่ะ
คนท้องทำฟันได้ไหม ?
คุณแม่ตั้งท้องหลายคนมักกังวลว่าการดูแลสุขภาพช่องปากในช่วงตั้งครรภ์จะทำได้ไหม คำตอบคือ คุณแม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้ตามปกติ เช่น อุดฟัน หรือขูดหินปูน แต่อาจจะเว้นระยะให้เหมาะสม เนื่องจากว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องการกินมากขึ้น ทำให้มีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน จนทำให้เกิดฟันผุขึ้นได้ และก็จะส่งผลอื่นๆ ตามมา คนท้องปวดฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ ซึ่งโรคเหงือกบางชนิด หรือเชื้อโรคจากฟันผุ สามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดและส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ การที่คุณแม่ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ แพทย์จะมีคำแนะนำว่าระยะตั้งครรภ์เวลาไหนควรทำฟันหรือไม่ควรทำฟัน เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย
ตั้งครรภ์ทำฟันได้ตอนไหน ?
ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์มีผลต่อการทำฟันอย่างมาก เพราะแต่ละไตรมาสมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำฟัน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากทันตแพทย์
- ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สำคัญต่อการพัฒนาอวัยวะของลูกน้อย จึงไม่เหมาะกับการทำฟัน เนื่องจากคุณแม่มักมีอาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย การทำฟันอาจกระตุ้นให้อาการแย่ลง และกรดจากกระเพาะอาจทำลายฟันได้ นอกจากนี้ การทำฟันอาจทำให้คุณแม่เกิดความเครียด ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์
- ช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ (ประมาณ 4-6 เดือน) มักเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำฟัน คนท้องปวดฟัน ฟันผุ หรือเหงือกอักเสบก็สามารถรักษาได้ ไม่ว่าจะเป็น อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษาฟันอื่นๆ เพราะร่างกายของแม่แข็งแรงขึ้น อาการแพ้ท้องลดลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการทำฟันและยาชาที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจทำฟัน ควรปรึกษาแพทย์และทันตแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกายและวางแผนการรักษาทุกครั้ง
- ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ก็ไม่เหมาะสมกับการทำฟันเช่นกัน เนื่องจากขนาดท้องที่โตขึ้นทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวในการนั่งบนเก้าอี้ทำฟันเป็นเวลานาน นอกจากนี้ อาการปวดหลัง ปวดขา และอาการบวมที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงนี้ อาจทำให้การทำฟันเป็นไปได้ยากขึ้น
ทำฟันแบบไหน ที่แม่ท้องไม่ควรทำ ?
แม้ว่าคุณแม่ท้องจะสามารถทำฟันได้ แต่ก็ใช่ว่าการทำฟันทุกอย่างจะเหมาะสมเสมอไป บางครั้ง การเลื่อนการรักษาหรือการทำฟันบางอย่างออกไปอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่ได้เริ่มจัดฟัน การเลื่อนจัดฟันไปหลังคลอดจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากการจัดฟันอาจเกี่ยวข้องกับการเอกซเรย์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
ควรรอทำหลังคลอดค่ะ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลวิจัยรองรับที่แน่ชัดและครอบคลุมเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ในการฟอกสีฟันต่อลูกน้อยในครรภ์ การเลื่อนการฟอกสีฟันออกไปเพียงระยะเวลาไม่นาน จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
ทำไมการตรวจสุขภาพช่องปากในทุกไตรมาสจึงสำคัญ ?
เนื่องจากสภาพช่องปากของคุณแม่ตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละไตรมาส การมาพบทันตแพทย์เป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญค่ะ
- ติดตามการเปลี่ยนแปลงของช่องปาก ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละไตรมาสส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของคุณแม่โดยตรง การตรวจเป็นประจำจะช่วยให้ทันตแพทย์สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และให้คำแนะนำที่เหมาะสม
- วางแผนการรักษา หากพบปัญหาสุขภาพช่องปาก ทันตแพทย์จะสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
- ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งแม่และลูก เช่น การติดเชื้อในช่องปากที่อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย
วิธีการดูแลช่องปากของแม่ตั้งครรภ์
การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อลดการเกิดโรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ หรือโรคอื่นๆ ในช่องปากเพื่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
-
แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ แปรงฟันให้ทั่วถึงทุกซี่ โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างฟันและเหงือก และควรแปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที
ช่วยขจัดคราบแบคทีเรียและเศษอาหารที่ตกค้างตามซอกฟัน ซึ่งแปรงสีฟันเข้าไม่ถึงเพื่อลดโอกาสการเสียฟันเพิ่มขึ้น
เลือกน้ำยาบ้วนปากที่อ่อนโยนและปราศจากแอลกอฮอล์ เพื่อลดการระคายเคืองในช่องปาก และควรบ้วนปากหลังแปรงฟันและก่อนนอนทุกครั้ง
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
ลดการรับกินอาหารหวานและแป้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ควรเพิ่มการกินผักและผลไม้และหลีกเลี่ยงการทานอาหารว่างบ่อยครั้ง และไม่กินอาหารหรือเครื่องดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง
หลังที่คุณแม่อาเจียน ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่า หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่เป็นกลาง ให้หลีกเลี่ยงการแปรงฟันทันที เพราะอาจทำให้เคลือบฟันสึกกร่อนได้ และควรรอประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยแปรงฟัน
-
ตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ
ควรไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและรับคำแนะนำในการดูแล
ดังนั้นปัญหา คนท้องปวดฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ สุขภาพของช่องปากจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและพฤติกรรมการกินอาหารในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ได้ง่ายขึ้น และหากคุณแม่ท้องมีการติดเชื้อในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีในช่วงตั้งครรภ์ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังเป็นการดูแลสุขภาพโดยรวม และเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งแม่และลูกอีกด้วย
ที่มา : MedPark Hospital , โรงพยาบาลนครธน , โรงพยาบาลบางประกอก 3
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เส้นดำกลางท้อง บอกเพศลูก จริงไหม? ไขข้อข้องใจพร้อมวิธีดูแลผิวแม่ท้อง
สังเกตอาการ ! เรื่องฉี่แม่ท้อง ปัสสาวะเล็ดตอนท้อง ปกติไหม ?
ผื่นคนท้อง! แบบไหนอันตราย ? ทำไมแม่ท้องชอบคันยุบยิบตามตัว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!