ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือโรคPCOS คืออะไร มีสาเหตุเกิดมาจากอะไร มีวิธีรักษาหรือไม่ มีอาการอย่างไร แล้วเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ บทความนี้มีคำตอบ
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย นพ. วรณัฐ ปกรณ์รัตน์ (แพทย์จาก Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน) | ตุลาคม 2565
Polycystic ovary syndrome (PCOS) หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนที่พบได้บ่อยที่สุดในวัยสตรีเจริญพันธุ์ ผู้หญิงที่เป็น PCOS อาจจะมีประจำเดือนมาไม่บ่อย หรือมีระดับฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) มากเกินไป รังไข่อาจมีการสะสมของของเหลวขนาดเล็กจำนวนมาก และไม่สามารถปล่อยไข่ได้อย่างสม่ำเสมอ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของ PCOS การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ควบคู่ไปกับการลดน้ำหนักอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ
ขอขอบคุณวิดีโอจาก : https://www.youtube.com, siriraj channel
โรคPCOS หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คืออะไร
PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล จนเกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจจะเกิดเพียงข้างเดียวหรือเกิดทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดที่โตขึ้น และอาจจะส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขนดก สิวขึ้น หรือว่ามีบุตรยาก โดยมักที่จะพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นหลัก
อาการของโรคPCOS หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
อาการของผู้ที่ป่วยเป็น PCOS มักจะมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนมาครั้งแรก ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลัก ๆ ดังนี้
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานกว่าปกติมากหรือน้อยผิดปกติ
- การตกไข่ผิดปกติ การตกไข่ผิดปกติจะส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และทำให้มีบุตรยาก
- มีบุตรยาก เนื่องจากการตั้งครรภ์ต้องอาศัยการตกไข่ ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็น PCOS บางราย อาจจะมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือน หรือบางรายอาจจะไม่ตกไข่เลย จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยาก
- ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อลักษณะทางกายของผู้ป่วย เช่น มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ผมร่วงและผมบาง
- อาการอื่น ๆ ผู้ป่วย PCOS อาจมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจนผิดปกติ หรือเกิดความรู้สึกหดหู่ จากอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้ทัน! วัยทองก่อนวัย ก่อนรังไข่เสื่อม ท้องยาก!
สาเหตุของโรคPCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
สาเหตุของโรคPCOS ยังไม่สามารถที่จะสรุปถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิด PCOS มีดังต่อไปนี้
1. ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล
ทางการแพทย์ยังไม่สามารถที่จะยืนยันถึงสาเหตุ ที่ส่งผลให้เกิดฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หรือสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน รวมไปถึงภาวะดื้ออินซูลิน ที่ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณที่เปลี่ยนไป ความผิดปกติของฮอร์โมนที่มักพบในผู้ป่วย PCOS คือ
- ฮอร์โมนลูทิไนซิง หรือแอลเอชมีปริมาณสูงกว่าปกติ
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีปริมาณสูงกว่าปกติ
- Sex Hormone Binding Globulin หรือ SHBG มีปริมาณต่ำกว่าปกติ
- ฮอร์โมนโพรแลกตินมีปริมาณสูงกว่าปกติ
2. ภาวะดื้ออินซูลิน
อินซูลินคือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นภายในตับอ่อน นอกจากจะมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลินยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เทสโทสเตอโรน ผู้หญิงที่มีภาวะดื้ออินซูลินหรือภาวะที่เซลล์ในร่างกายนั้นไม่ตอบสนองกับปริมาณอินซูลินปกติ จะทำให้ตับอ่อนนั้นผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
โดยปริมาณอินซูลินและเทสโทสเตอโรนที่มากผิดปกติ จะกระทบต่อการสร้างถุงน้ำในรังไข่ การตกไข่ ลักษณะทางกายภาพ และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ดังนั้น ภาวะดื้ออินซูลิน จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิด PCOS
ภาวะแทรกซ้อนโรคPCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ภาวะแทรกซ้อนของ PCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ภาวะมีบุตรยาก
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์
- การแท้งบุตร หรือการคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะไขมันพอกตับอักเสบที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการอักเสบของตับอย่างรุนแรงที่เกิดจากการสะสมของไขมันในตับ
- Metabolic syndrome กลุ่มอาการต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และระดับคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ผิดปกติที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดอย่างมีนัยสำคัญ
- เบาหวานชนิดที่ 2 หรือ prediabetes
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และความผิดปกติของการกิน
- เลือดออกในมดลูกผิดปกติ
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก)
การรักษาโรคPCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
การรักษาโรคPCOS จะแตกต่างกันออกไปตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ โรคอ้วน หรือภาวะมีบุตรยาก ซึ่งวิธีหลัก ๆ มีดังนี้
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากคำนวณค่าดัชนีมวลกาย แล้วผลลัพธ์มีค่ามากกว่า 24.9 ซึ่งได้บ่งชี้ว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ควรหันมาออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันและแป้ง เนื่องจากการลดน้ำหนักได้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะสามารถที่จะช่วยบรรเทาอาการป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้นั้นเอง
- ผู้ป่วยที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทางแพทย์อาจจะแนะนำให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (ซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบด้วย) หรือยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว (มีเพียงฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเป็นส่วนประกอบ) โดยตัวยานั้นจะช่วยทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดของมะเร็งเยื่อโพรงมดลูกอีกด้วย
- การรับประทานยา ชนิดของยาที่จะต้องรับประทานจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการที่ปรากฏในผู้ป่วยแต่ละราย
- ผู้ป่วยที่มีการตกไข่ผิดปกติ การตกไข่ที่ผิดปกติ เช่น ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่ ส่งผลให้มีบุตรยาก แพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยนั้นรับประทานโคลมีฟีน ซึ่งเป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และยังช่วยให้การตกไข่เป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ แพทย์จะให้ยาเมทฟอร์มินเสริมหากผู้ป่วยรับประทานยาโคลมีฟีนแล้วการตกไข่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตามคุณควรได้รับคำปรึกษาจากทางแพทย์ก่อนเสมอ ก่อนที่จะรับประทานยาแบบใด หรือถ้ามีอาการเหล่านี้ควรให้ไปปรึกษาทางแพทย์ทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ประจำเดือนมาน้อย เรื่องอันตรายใกล้ตัวที่ห้ามปล่อยผ่าน
ช็อกโกแลตซีสต์ ถุงน้ำในรังไข่ที่ผู้หญิงอย่างเราต้องระวังให้มาก!
วิจัยเผย การให้นมลูก ช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ ข้อดีการให้นมลูก!
ที่มา : mayoclinic, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!