เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนต่างก็เป็นกังวล และเครียดกันตาม ๆ กัน เมื่อลูกมีอาการเซี่องซึมผิดปกติ บ้างก็เกิดผื่น และเป็นไข้ตามมา ยิ่งถ้าเป็นช่วงค่ำคืนแล้วล่ะก็ ความเครียดยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเลยค่ะ ดังนั้นเรามาดูวิธีการปฐมพยายามเบื้องต้นเมื่อ ลูกป่วยกระทันหัน มีผื่น ตัวร้อนมาก กันดีกว่า ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
ลูกป่วยกระทันหัน มีผื่น ตัวร้อนมาก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนไม่อยากที่จะให้เกิดกับลูก กับหลานของตัวเองเลยใช่ไหมคะ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องค่ะ เพราะหากเราปล่อยเอาไว้ กว่าจะถึงมือคุณหมอ ลูกอาจจะเกิดอาการช็อค หรืออาการไข้ต่าง ๆ เหล่านั้น อาจจะส่งผลถึงระบบการเจริญเติบโตของเด็กได้ระยะยาวได้เช่นกัน
เด็กมักเป็นไข้ตัวร้อนจากสาเหตุอะไร?
อาการไข้ตัวร้อนนั้น เป็นภาวะที่ร่างกายมีการต่อต้านกับเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยร่างกายจะหลั่งสารเคมีบางตัวออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาว แล้วเกิดการกระตุ้นของเซลล์สมองให้มีการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อผลิตความร้อนขึ้นมาเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จนส่งผลเด็กมีอาการตัวร้อน หน้าแดง ตัวแดง บางคนอาจจะมีผดผื่นเกิดขึ้น เพื่อระบายความร้อนภายในร่างกาย
แต่ในขณะเดียวกัน ในบางรายร่างกายอาจจะมีการตอบสนองในทางตรงกันข้าม คือมีอาการมือเท้าเย็น และตัวซีด ลักษณะนี้มักจะทำให้ตัวผู้เลี้ยงสังเกตได้ยาก เพราะไม่สามารถจับตัวเด็กแล้วรู้ได้ว่ามีไข้หรือไม่ จนกว่าจะวัดอุณหภูมิโดยตรง แต่ก็ยังสามารถสังเกตได้จากอาการที่เซื่องซึมของเด็กได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลูกฉันเป็นไข้เลือดออก หรือชิคุนกุนยา?
วิธีการป้อนยาให้กับเด็กเล็ก
ระวังไข้สูงในเด็ก
แค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่ามีไข้สูง? หลายคนคงตั้งข้อสงสัย หากเมื่อไหร่ที่ปรอทวัดได้อุณหภูมิสูงกว่า 39 – 40 องศาเซลเซียส นั่นแสดงว่า ลูกของคุณมีภาวะไข้สูง โดยเฉพาะเด็กมีพื้นที่ร่างกายที่เล็ก ดังนั้นการระบายความร้อนภายในร่างกายของเด็ก ก็จะสามารถทำได้ช้าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ หรือเด็กโต
หากพบว่าตัวเด็กมีไข้สูงมาก ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบประสาทส่วนกลางยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ อาการไข้สูงนี้ จะส่งผลให้เกิดอาการชัก หากปล่อยให้มีอาการชักบ่อย ๆ ก็จะส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลาย จนทำให้มีผลกระทบต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กในระยะยาวได้
เมื่อมีไข้กลางดึก
การดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน และจะต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษสำหรับผู้ปกครองค่ะ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่สามารถบอกอาการไม่สบายกับเราได้โดยตรง เราจึงจำเป็นจะต้องใช้การสังเกตเป็นหลัก และมักพบบ่อยว่าเด็กเล็กมักจะมีอาการไข้อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากตัวเด็กกำลังปรับสภาพร่างกายเพื่อสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่จะต้องเผชิญ จะให้พาไปพบแพทย์บ่อย ๆ ก็ดูจะเป็นภาระ แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง
การปฐมพยาบาลเด็กเล็กเบื้องต้นเมื่อมีไข้
การเช็ดตัวเด็กเพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของเด็กเป็นทางเลือกแรก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่พึงกระทำ แต่การเช็ดตัวนั้น ให้ใช้เพียงน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาก็เพียงพอค่ะ เพราะเราต้องการให้น้ำที่เราเช็ดไปนั้น ทำหน้าที่คล้ายเหงื่อเพื่อระเหยพาความร้อนออกไป และช่วยให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนมาสู่บริเวณผิวได้ดียิ่งขึ้น
ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำตัวนี้ จะมีผลข้างเคียงที่น้อย จึงเหมาะที่จะใช้ในการดูแลอาการไข้เบื้องต้นได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยให้การดูแลรักษาลูกน้อยได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นั่นคือการสังเกตค่ะ เพราะเด็กแต่ละคน จะถูกกับยาแต่ละยี่ห้อ แต่ละแบรนด์ที่แตกต่างกัน เช่น ลูกน้อยทานยาแบรนด์ A มักจะหายไข้ได้ไวกว่า แบรนด์ B คุณแม่ก็ควรซื้อยาแบรนด์ A เก็บเอาไว้เป็นยาสามัญประจำตัวลูก ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระได้เยอะค่ะ
เพื่อเป็นการระบายความร้อนอีกทางหนึ่ง เราควรให้เด็กดื่มน้ำให้มากขึ้น และน้ำที่ดื่มควรจะเป็นน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้องค่ะ เพื่อให้เกิดการชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป และตัวน้ำที่ดื่มไปนั้น จะเป็นตัวช่วยระบายความร้อนภายในร่างกายให้ดีมากยิ่งขึ้น และขับความร้อนออกมาในรูปแบบของเหงื่อ หรือปัสสาวะนั่นเอง
เมื่อเด็กมีอาการไข้ตัวร้อน ควรจับให้เด็กใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้าโปร่งสบาย ไม่อึดอัด ไม่คับแน่น ไม่ควรจับเด็กใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้ามิดชิด เพื่อหวังให้เหงื่อของเด็กออก ซึ่งการกระทำเช่นนั้น นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวแล้ว ยังเป็นการกักความร้อนในตัวเด็ก ทำให้เด็กมีไข้สูงยิ่งขึ้น เพราะร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้
ในกรณีที่เด็กเป็นไข้จนเกิดอาการผื่นคันอันเนื่องมาจากเชื้อไวรัส หรือเกิดจากการระบายความร้อนภายในร่างกาย หลังจากทำความสะอาดร่างกายเรียบร้อย สามารถทาครีมกันผื่นคัน เพื่อบรรเทาอาการคัน และอักเสบของผื่น หรือแผลที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อเด็กมีอาการที่ไม่สบายตัว ส่งผลให้เด็กมักจะร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถพักผ่อนได้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมร่างกายให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการทำให้เด็กรู้สึกสบายตัวได้รวดเร็วมากเท่าไหร่ เด็กก็จะสามารถพักผ่อนได้เร็วขึ้นเท่านั้น และจะทำให้ร่างกายสามารถปรับตัว และซ่อมแซมร่างกายได้ตามลำดับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 4 วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้ หายป่วยได้ไวขึ้น คุณแม่ไม่ต้องกังวล
อาการไข้แบบไหนทำให้เด็กเป็นผื่น
ในขณะที่เด็กเป็นไข้ตัวร้อนทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลแล้ว อาการไข้ที่แสดงออกทางผื่นผิวหนังตามร่างกาย ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ทำให้ตัวคุณพ่อคุณแม่เครียดได้ไม่แพ้กัน แล้วเราจะสามารถดูแลลูกน้อยของเราจากอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง
สามารถทาครีมกันผื่น เพื่อช่วยลดอาการคันจากผื่น ที่เกิดขึ้นจากไวรัส หรืออาการไข้ที่เกิดขึ้นได้
1. ผื่นที่เกิดจากโรคหัด (Measles)
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสมีเซิลส์ เข้าสู่ร่างกาย และจะกระจายตัวไปยังต่อมน้ำเหลือง ลงสู่กระแสเลือด โดยอาการมักจะเกิดหลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตัวนี้ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์
โดยลักษณะอาการที่จะสังเกตได้คือ เด็กจะมีไข้สูง ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล มีอาการไอ และดวงตามักจะไม่สามารถสู้กับแสงได้ในบางเคส โดยเริ่มต้นของเด็กที่เป็นโรคหัดนี้ มักจะมีผื่นบริเวณปาก ตามกระพุ้งแก้ม ทำให้ทานนม ทานน้ำ ทานอาหารได้น้อยลง และจะเริ่มปรากฎผื่นเป็นจุดสีแดงตามผิวหนัง โดยมากมักจะเริ่มจากบริเวณไรผม หน้าผาก และหลังหู แล้วจึงค่อยกระจายไปบริเวณคอ ลำตัว แขน และขา ตามลำดับ
การดูแลรักษาโรคหัดในเด็ก
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรงสำหรับโรคหัด การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น และทางแพทย์มักจะให้วิตามินเอเสริมในเด็ก เนื่องจากมีการค้นพบว่า วิตามินเอนั้น สามารถช่วยลดอัตราการตายในผู้ป่วยโรคหัดได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบันจะพบว่า มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัดน้อยลง เนื่องจากเมื่อคุณแม่ฝากครรภ์ ทางโรงพยาบาลมักจะมีการตรวจภาวะเสี่ยงของการเป็นโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) เอาไว้ก่อนแล้ว และในประเทศไทย ได้กำหนดให้มีการฉีดวัคซีมรวมของโรคชนิดนี้ให้กับเด็กไทยทุกคน โดยกำหนดฉีดเข็มแรกในเด็กอายุ 9 – 12 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่ออายุครบ 2 – 6 ปี ในขณะที่ผู้ใหญ่ท่านใดที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนนี้มาก่อน ก็จะยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัดอยู่เช่นกันค่ะ
2. ผื่นที่เกิดจากโรคอีสุกอีใส (Chickenpox / Varicella)
ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้มักจะติดต่อกันได้ทางละอองน้ำลาย หรือการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส และมักจะพบมากในเด็กเล็ก โดยอาการเริ่มต้น มักจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร แต่สำหรับในเด็กเล็กนั้น เรามักจะรับรู้ได้จากการไม่สบายตัวของเด็ก ที่มักจะร้องไห้อย่างต่อเนื่องผิดจากปกติ
หลังจากอาการไข้ได้เพียง 1 – 2 วัน ก็มักจะเกิดตุ่มนูนแดงเกิดขึ้นตามผิวหนัง และตุ่มนั้นก็จะเริ่มมีน้ำใส เป็นตุ่นหนอง และหากเกา หรือตัวร้อนมากขึ้นจนทำให้ตุ่มหนองนั้นแตกออก ก็เป็นแผลสะเก็ดตามตัว และใบหน้า ดังนั้นไม่ควรเกาลงบนผิวโดยตรง อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำคอยลูบเพื่อลดอาการคันบริเวณนั้น ๆ โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสนี้ มักจะไม่รุนแรงมาก และสามารถหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรละเลยเช่นกัน เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การดูแลโรคอีสุกอีใสในเด็ก
- สิ่งแรกที่ต้องระวังคือ ยาที่ใช้รักษานั้น ไม่ควรมียาจำพวกแอสไพรินค่ะ เพราะจะทำให้เกิดการกระตุ้นอาการให้เป็นมากยิ่งขึ้น แต่สามารถทานยาแก้ไข้หวัด เพื่อลดอาการไข้ได้
- ใช้ยาทาเพื่อลดอาการคัน
- อาบน้ำด้วยสบู่วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
- พยายามไม่เกา ไม่แกะแผล เพราะการเกาเป็นเสมือนการกระจายเชื้อไวรัสให้ไปติดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ณ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ และได้ผลดีเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรให้ลูกน้อยได้รับวัคซีนป้องกันตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยของคุณค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลูกไม่สบายทำไงดี? เป็นไข้ น้ำมูกไหล ทำยังไงดี ลูกร้องไห้ไม่หยุด
3. ผื่นที่เกิดจากโรคมือ เท้า ปาก (Hand – Foot – Mount)
ผื่นที่เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรจะต้องระมัดระวังในเด็ก
เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก และมักจะพบการระบาดจากสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามโรงเรียนอนุบาล เพราะเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อได้ค่อนข้างง่าย และค้นพบว่า มักจะมีการติดต่อผ่านของเล่น และอุปกรณ์ต่าง ๆ และเรามักจะเห็นการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีอากาศชื้นจัด
เรามักจะพบว่าเด็กที่ติดได้รับเชื้อนี้ มักจะมีอาการเบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่สบายตัว เจ็บคอ เริ่มต้น หลังจากนั้น ก็เริ่มมีแผลร้อนในภายในปาก โดยมีลักษณะเป็นเม็ดพองใส จุดแดง และกลายเป็นแผล หลังจากนั้น ผิวหนังจะเริ่มมีผื่นเป็นจุดสีแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย โดยตุ่มมีน้ำใสและขอบสีแดง แต่จะไม่มีอาการคัน และมักจะพบว่าผื่นจะขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าเป็นหลัก หากทิ้งไว้นาน จะมีอาการไข้สูง น้ำลายยืด ตามมาด้วย
การดูแลโรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก
เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาไปตามอาการ แต่โรคนี้ก็จะสามารถหายได้เองเมื่ออาการไข้ลดลง โดยเบื้องต้น สามารถรักษาอาการได้ด้วยการกินยาแก้ไข้หวัดปกติ และทานน้ำมาก ๆ รักษาความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเริ่มมีอาการไข้สูง อาเจียนบ่อย ไม่สามารถกลืนอาหารได้ ควรจะรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อได้หากพบว่าลูกของตนเกิดอาการป่วยเป็นโรคนี้ โดยการให้เด็กหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น ควรพาเด็กไปรับวัคซีนอย่างครบถ้วนตั้งแต่ทารก เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น
ที่มา : paolohospital , gedgoodlife
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!