ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เต็มไปด้วยความอันตราย หากไม่มีการเตรียมพร้อม ไม่รู้การเอาตัวรอดมาก่อน จะยิ่งทำให้เสี่ยงมากขึ้น บทความนี้จะพาผู้ปกครอง หรือเจ้าตัวน้อยมาเรียนรู้เกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อย และอันตรายสูง รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ คืออะไร
เป็นเหตุการณ์ หรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จนก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งชีวิต และความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในจุดที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งที่มาสามารถมาจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเอง หรืออาจเกิดจากผลกระทบของกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่มักจะค่อย ๆ สะสมจนเกิดผลกระทบในที่สุด ซึ่งมาได้ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นอากาศ ผืนดิน หรือผืนน้ำ ประกอบไปด้วยภัยพิบัติหลัก ๆ ได้แก่ วาตภัย, อุทกภัย, ภัยความแห้งแล้ง, พายุ, แผ่นดินไหว, ไฟป่า และสึนามิ เป็นต้น
โดยในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่ละรูปแบบ จะไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดได้ จะไม่รู้เวลาการเกิดที่แน่นอน มนุษย์จึงทำได้เพียงเตรียมการรับมือที่ได้ผลมากที่สุด เพื่อรักษาชีวิต และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และด้วยความอันตรายเหล่านี้เอง น้อง ๆ หนู ๆ จึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ และการเอาตัวรอดที่จำเป็นเบื้องต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สวยงามดั่งเทพนิยาย หนูน้อยต้องชอบแน่
วิดีโอจาก : LUPAS
5 ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อย พร้อมการเอาตัวรอดฉบับเจ้าตัวเล็ก
เมื่ออันตรายจากธรรมชาติมีความรุนแรง และมนุษย์เอาชนะไม่ได้ การให้ลูกเรียนรู้การเอาตัวรอดเบื้องต้นจึงสำคัญมาก โดยเราจะยกภัยทางธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้น มีความรุนแรง และคนไทยมักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
1.วาตภัย (Windstorm)
วาตภัย หรือก็คือ ภัยพิบัติที่เกิดจากลม หรือที่เราเรียกว่าการเกิดพายุนั่นเอง ซึ่งพายุแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พายุฤดูร้อน มีลูกเห็บตกในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนเกิดจะสังเกตว่าอากาศจะร้อนมากต่อเนื่องกันหลายวัน ไม่มีลมพัด และความชื้นในอากาศสูง ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ส่วนพายุแบบที่ 2 คือ พายุหมุนเขตร้อน ที่เกิดขึ้นในฤดูฝน สามารถสร้างความเสียหายได้มาก ก่อนจะมีพายุหมุนเขตร้อนอากาศจะดี เมฆจะก่อตัวกันมากขึ้น และฝนตกเป็นระยะ ๆ
เจอพายุเด็ก ๆ ควรทำอย่างไร ?
- คอยฟังเสียงประกาศ หรือสัญญาณแจ้งเตือนเพื่ออพยพ
- นำของที่มีความจำเป็นเท่านั้นติดตัวไปด้วย เช่น ยา, น้ำ, อาหาร
- หากอพยพไม่ทัน ให้อยู่ในตัวอาคารที่แข็งแรง เลี่ยงตำแหน่งใกล้ประตู และหน้าต่าง
- หากหลบภัยอยู่ ห้ามออกจากที่หลบภัย จนกว่าจะมีประกาศ เพราะพายุอาจยังไม่พ้นผ่านไป
2.อุทกภัย (Flood)
เป็นภัยอันตรายที่เกิดจาก “น้ำ” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลัก คือ ฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ตามที่เราเห็นในข่าว มักมาในรูปแบบน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมในเขตพื้นที่เมือง ที่ไม่สามารถระบายได้ทัน สามารถสร้างความเสียหายได้หลายรูปแบบ ทั้งที่พักอาศัยที่ถูกทำลาย ผู้คนเสียชีวิตจากการไหลของน้ำป่า หรือปริมาณน้ำที่ท่วมสูงขึ้น จนทำให้ต้องอพยพหนีขึ้นที่สูง
เกิดน้ำท่วม เด็ก ๆ ควรทำอย่างไร ?
- เตรียมความพร้อมอพยพ และของที่จำเป็น เช่น ไฟฉาย และอาหาร เมื่อมีข่าวน้ำท่วมบริเวณใกล้เคียง
- หากไม่สามารถอพยพได้ทัน ควรขึ้นที่สูง เพื่อรอการช่วยเหลือ
- ระหว่างรอห้ามลงไปว่ายน้ำเล่นอย่างเด็ดขาด
- ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ คอยสังเกตพื้นที่ของตนเอง เพราะอาจมีสัตว์พิษหนีน้ำมา
3.แผ่นดินไหว (Earthquake)
การเกิดแผ่นดินไหวสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะจุดที่เปลือกโลกยังไม่อยู่ตัว มาจากการเกิดการเคลื่อนไหวของแผ่นโลก หรือการสั่นสะเทือนจากการระเบิดของภูเขาไฟ นอกจากนี้ยังเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ด้วย เช่น การระเบิดจากการทำเหมือง หรือการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่บางประเภท เป็นต้น โดยมากแล้วประเทศไทยมักรับแรงสั่นสะเทือนมาจากประเทศใกล้เคือง ส่วนพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการเคลื่อนไชตัวของเปลือกโลก คือ ภาคเหนือ และพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เด็ก ๆ ควรทำอย่างไร ?
- หลบใต้วัตถุที่มีความแข็งแรง สามารถบดบังร่างกายได้เต็มที่ จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ
- ห้ามอยู่ใกล้กับวัตถุใด ๆ ที่สามารถเคลื่อนไหว หรือตกลงมาใส่เราได้
- หากเกิดแผ่นดินไหวระหว่างอยู่ในลิฟต์ หรือใช้บันไดเลื่อน ควรรีบออกจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด
- กรณีใกล้กับชายหาด หรือทะเล ต้องอพยพตามคำสั่งโดยด่วน เพราะอาจเกิดสึนามิตามมาได้
- ไม่ควรออกมาดูข้างนอก โดยเฉพาะหากอยู่ในพื้นที่อาคารสูง ควรให้ความสำคัญกับที่หลบภัยของตนเอง
4.สึนามิ (Tsunami Wave)
คลื่นสึนามิ เป็นคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ กินระยะทางพื้นที่หลายกิโลเมตร เกิดได้จากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใต้ท้องทะเล เป็นที่มาว่าทำไมจึงต้องอพยพหนีออกจากชายหาด หรือพื้นที่ติดทะเลนั่นเอง คลื่นจะกระจายไปทุกทิศทางของจุดศูนย์กลาง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากใกล้เข้าฝั่ง มีเหตุการณ์เกิดสึนามิที่มีความรุนแรงหลายครั้ง และยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับระบบเตือนภัย และการอพยพให้ทันก่อนเกิดขึ้นจริง
มีสัญญาณของสึนามิ เด็ก ๆ ต้องทำอย่างไร ?
- เมื่อมีสัญญาณเตือนให้อพยพขึ้นที่สูงกับบุคคลอื่นที่ไว้ใจได้ ไม่ควรรอเวลาเด็ดขาด
- สิ่งของจำเป็นยังสำคัญอยู่ แต่ไม่ควรใช้เวลานาน ให้ความสำคัญกับการออกพื้นที่ให้เร็วที่สุด
- หากหนีไม่ทันให้หาสิ่งของ หรือพื้นที่แข็งแรงในการยึดเหนี่ยวตนเองไว้
- ถึงแม้จะไม่ปรากฏสึนามิก็ไม่ควรชะล่าใจ ให้รอในที่สูงจนกว่าจะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ
5.ไฟป่า (Wildfire)
เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เราอาจเห็นกันบ่อย เนื่องจากมักเป็นผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เช่น การเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย หรือการสุมไฟเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ด้วยสภาพอากาศที่แห้ง จึงทำให้ไฟลุกลาม การเกิดไฟป่าตามธรรมชาติพบเจอได้น้อย เพราะต้องเกิดจากการเสียดสีกันของต้นไม้แห้ง ด้วยเหตุนี้ไฟป่าจึงเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนที่สังเกตได้ชัดเจน ทำให้สามารถเกิดอันตรายต่อพื้นที่ และสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นอย่างไม่ทันตั้งตัว
เด็ก ๆ ทำอย่างไรดี เมื่อต้องเผชิญกับไฟป่า
- หากอยู่ในช่วงที่แห้งแล้งควรเตรียมพร้อมอยู่แล้ว เช่น เตรียมของที่จำเป็นแยกไว้เสมอ
- ลดโอกาสเกิดไฟไหม้ลุกลามด้วยการช่วยกันทำความสะอาดบริเวณบ้าน ไม่ให้มีวัตถุติดไฟง่าย
- เมื่อมีการแจ้งว่าเกิดไฟป่าให้นำสิ่งของจำเป็นหนีออกมาให้เร็วที่สุด จำไว้เสมอว่ายิ่งหนีเร็ว ก็มีโอกาสพ้นจากรัศมีไฟป่ามากขึ้นด้วย
อะไรที่เรียกว่าสิ่งของจำเป็น
เมื่อเกิด ภัยพิบัติตามธรรมชาติ สิ่งที่เหมือนกันเสมอ คือ การเตรียมสิ่งของที่มีความจำเป็นต่อการเอาชีวิตรอด ติดตัวไปด้วยเสมอ แต่สิ่งของจำเป็นมีอะไรบ้าง แค่น้ำ หรืออาหารเท่านั้นหรือไม่ ? สิ่งของเหล่านี้ควรถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าจึงจะเป็นการดีที่สุด เพื่อไม่ให้เสียเวลาเมื่อต้องใช้จริง และมีความสำคัญต่อเด็ก ได้แก่ น้ำ, อาหาร, ไฟฉาย, มือถือสำรอง, ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และหน้ากากกันฝุ่น
นอกจากการเตรียมตัวเพื่อป้องกันแล้ว หลายชุมชนอาจมีการซ้อมอพยพตามโอกาสที่สมควร เพื่อให้ลูกน้อยรู้ขั้นตอน ควรให้ลูกได้เข้าร่วมการซ้อมด้วย เพราะภัยธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยไม่สนใจว่าลูกน้อยของเราจะพร้อมหรือไม่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
จันทรุปราคา คืออะไร? เกิดขึ้นได้บ่อยแค่ไหน มีลักษณะพิเศษอย่างไร มาค้นหาคำตอบกัน
ระบบสุริยะ คืออะไร? เรียนรู้เรื่องราวของดาวเคราะห์ เสริมพัฒนาการเด็ก
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดาบ 2 คม ที่มีทั้งโทษ และประโยชน์ต่อเรา
ที่มาข้อมูล : thaiware , thaiware
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!