เจาะน้ำคร่ำ เป็นวิธีหนึ่งในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ซึ่งคุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปในวันกำหนดคลอด ตรวจเพื่อหาความเสี่ยงของโรคที่จะเกิดขึ้นกับทารกเนื่องจากคุณแม่ตั้งท้องตอนอายุมาก
เนื่องจากหากคุณแม่ตั้งท้องตอนอายุมาก ลูกในท้องจะมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมเพิ่มขึ้น โดยเว็บไซต์ haamor.com ได้แบ่งเกณฑ์อายุไว้ดังนี้
ความเสี่ยงต่อการเกิดดาวน์ซินโดรม ในคุณแม่แต่ละช่วงอายุ
- แม่ที่อายุ 25 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 1,250 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.08%)
- แม่ที่อายุ 30 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 1,000 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.1%)
- แม่ที่อายุ 35 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 400 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.25%)
- แม่ที่อายุ 40 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 100 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (1%)
- แม่ที่อายุ 45 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 30 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (3.3%)
คุณแม่จะเห็นว่า ความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นเด็กดาวน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อคุณแม่ตั้งท้องตอนอายุ 35 ปีขึ้นไป จึงเป็นเหตุผลที่คุณแม่ควรได้รับการตรวจคัดกรองดาวน์ซิมโดรมขณะตั้งครรภ์
เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร?
การเจาะน้ำคร่ำ คือ การเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ส่งไปห้องแล็บเพื่อตรวจหาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทารก เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม ความผิดปกติทางโครโมโซม ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำ แม้จะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา ได้แก่
- ความแม่นยำ : การตรวจน้ำคร่ำมีความแม่นยำประมาณ 99.4%
- การแท้ง : การเจาะน้ำคร่ำมีโอกาสทำให้แท้งบุตร ประมาณ 1:200 ถึง 400
- การติดเชื้อ : การเจาะน้ำคร่ำมีโอกาสติดเชื้อ เกิดแผลที่ตัวเด็กหรือตัวคุณแม่ หรืออาจทำให้คลอดก่อนกำหนด แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
จากความเสี่ยงดังกล่าว คุณแม่ที่ตัดสินใจเจาะน้ำคร่ำจึงมีความกังวลว่าลูกในท้องจะปลอดภัยหรือไม่ คุณหมอจะเจาะพลาดไปโดนตัวเด็ก ทำให้แท้งลูกหรือไม่ theAsianparent ได้ขอให้คุณแม่ผู้ติดตามเพจของเรารีวิวประสบการณ์การเจาะน้ำคร่ำ ว่าการเจาะน้ำคร่ำน่ากลัวจริงไหม? เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคุณแม่ๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเจาะน้ำคร่ำดีหรือไม่
นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกับคุณแม่บิว วัลลียา พุทธิกานนท์ ที่เพิ่งผ่านประสบการณ์เจาะน้ำคร่ำไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณแม่ได้แชร์ให้เราฟังว่า การเจาะน้ำคร่ำ นั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
คุณแม่รีวิวประสบการณ์ เจาะน้ำคร่ำ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
เหตุผลที่คุณแม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ?
คุณแม่บิวเล่าว่า คุณแม่ตั้งท้องตอนอายุ 37 ปี ทางโรงพยาบาลจึงแนะนำให้คุณแม่เจาะน้ำคร่ำ เพราะมีความเสี่ยงที่น้องจะเป็นดาวน์ซินโดรมเนื่องจากอายุของแม่ที่เยอะ โดยท้องนี้เป็นท้องที่ 3 ค่ะ สองท้องแรกคุณแม่ไม่ได้เจาะน้ำคร่ำเนื่องจากตอนนั้นอายุคุณแม่ยังไม่เยอะ
ขั้นตอนการเตรียมตัว เจาะน้ำคร่ำ
กำหนดเจาะน้ำคร่ำวันที่ 19 มีนาคม ตอนนั้นอายุครรภ์ 18+1 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนกับ 2 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่สามารถทำได้คือ ในอยู่ช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ โดยก่อนที่เราจะเจาะ คุณหมอให้เอกสารในการเตรียมตัวว่า เราต้องปฎิบัติตัวอย่างไรก่อนเจาะและหลังเจาะ พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนเจาะกินข้าวดื่มน้ำทานยาปกติ ดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้เป็นหวัด ไอ หรือไม่สบาย ถ้าในวันเจาะเราไม่สบายก็จะไม่สามารถเจาะได้ค่ะ
คุณหมอได้แจ้งว่า การเจาะน้ำคร่ำมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน
- ข้อดี คือ เราจะได้รู้ว่าลูกเราจะเป็นเด็กดาวน์ไหม? รวมถึงโรคเกี่ยวกับการเป็นดาวน์ เราจะได้รู้เพศของลูกจากผลของการเจาะน้ำคร่ำด้วย
- ข้อเสีย คือ การเจาะอาจะมีโอกาสเสี่ยงให้เราแท้งลูกได้ ทำให้คุณแม่ค่อนข้างเครียดและก็กังวลพอสมควรค่ะ กลัวว่าจะแท้งไหม? จะเจ็บมากไหม? จะไปทำงานได้ไหม? กังวลหลายอย่างเลยค่ะ
รีวิว ประสบการณ์เจาะน้ำคร่ำ มีขั้นตอนอะไรบ้าง บรรยากาศในห้องเป็นยังไง?
ในวันนัดเจาะน้ำคร่ำ เมื่อคุณแม่ไปถึงโรงพยาบาล คุณพยาบาลจะให้เราไปชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ซักประวัติเบื้องต้น จากนั้นให้เราไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และก็รอพบหมอ จากนั้นคุณหมอก็ให้คุณแม่และคุณพ่อเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจในการเจาะน้ำคร่ำ อธิบายให้เราฟังถึงข้อดีข้อเสียในการเจาะรวมไปถึงผลที่จะตามมาและตัดสินใจอีกครั้งว่าเราจะเจาะน้ำคร่ำไหม?
เมื่อเข้าไปในห้องก็จะมีเครื่องอัลตราซาวด์ มีคุณหมอและคุณพยาบาลอีก 2 คน คุณหมอก็ให้เราขึ้นไปนอนบนเตียง และทำการอัลตราซาวด์ดูลูกในท้องอย่างละเอียด เพื่อหาตำแหน่งทารก และตำแหน่งที่จะเจาะ เมื่อได้ตำแหน่งที่จะเจาะแล้วคุณหมอและพยาบาลเตรียมเข็ม ยาฆ่าเชื้อ หลอดแก้วที่ไว้เก็บน้ำคร่ำน่าจะ 3 หลอดนะคะ ก่อนเจาะคุณหมอก็จะทำการทายาฆ่าเชื้อบริเวณหน้าท้องเราให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นก็ใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อดูทารกว่าอยู่ตำแหน่งไหน เพื่อว่าเวลาเจาะลงไปจะได้ไม่โดนทารกในครรภ์ค่ะ
ระหว่างเจาะเค้าจะมีจอให้เราดูตลอด เราจะเห็นเด็กในครรภ์รวมถึงเข็มในการเจาะเข้าไปเพื่อดูดน้ำคร่ำออกมา เราจะเห็นทุกขั้นตอนในการเจาะเลยค่ะ
ความรู้สึกตอนทำ เจ็บไหมกลัวไหม ก็เจ็บนะคะ ความรู้สึกเหมือนเวลาโดนเจาะเลือดค่ะ พอเข็มแทงเข้าไปเราก็จะรู้สึกหน่วงๆ หน่อยค่ะ ก่อนเจาะก็กลัวเหมือนกัน ใช้เวลาไม่นานเท่าไหร่นะคะ เจาะไม่เกิน 5-10 นาทีค่ะ
การปฏิบัติตัวหลังเจาะน้ำคร่ำ
คุณหมอแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนเยอะๆ นอนเยอะๆ ไม่ให้ยกของหนัก ไม่ให้กระแทกหรือมีเซ็กส์ 7 วัน และให้เราพักผ่อนหยุดงาน 3 วัน โดยช่วงที่เจาะแรกๆ ก็จะมีอาการหน่วงท้องน้อยหรือปวดหน่วงๆ อยู่ 2-3 วันแรกค่ะ
ฟังผลหลังจากเจาะนานแค่ไหน?
ทางโรงพยาบาลโทรมาแจ้งผลเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาค่ะ ผลปกติ ลูกไม่เป็นดาวน์ซินโดรม พร้อมแจ้งเพศของลูกให้ทราบ คุณแม่ตื่นเต้นและโล่งมากเลยค่ะ
ฝากถึงแม่ๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมหรือไม่
แม่ๆ คนไหนที่กำลังตัดสินใจในการเจาะน้ำคร่ำนะคะ คุณแม่ตัดสินใจที่จะเจาะเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้วค่ะ เราจะได้รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น เป็นผลที่ชัวร์ คุณแม่ที่กังวลและกลัวอยู่ ขอให้แม่อย่ากลัวเลยค่ะ เพราะคุณหมอดูแลดีและเราได้เห็นทุกขั้นตอนในการเจาะ เจ็บนิดเดียว เพื่อความสบายใจด้วยค่ะ
ขอขอบคุณคุณแม่บิว วัลลียา พุทธิกานนท์ ที่มารีวิวขั้นตอนการเจาะน้ำคร่ำอย่างละเอียด ให้แม่ๆ ได้เห็นว่าขั้นตอนการเจาะน้ำคร่ำมีอะไรบ้าง และบรรยากาศในห้องนั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณแม่คลายกังวลเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำลงได้ไม่มากก็น้อยนะคะ นอกจากนี้คุณแม่ในโซเชียลมีเดียยังแนะนำว่าให้ดูที่จอมอนิเตอร์เอาไว้ เราจะเห็นว่าเข็มเจาะลงไปบริเวณไหน เมื่อได้เห็นว่าเข็มไม่โดนตัวลูกน้อย คุณแม่ก็จะสบายใจยิ่งขึ้นค่ะ
ที่มา : webmd.com , haamor.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
น้ำคร่ำแห้ง ระวังลูกตายไม่ก็พิการ จะป้องกันอย่างไรไม่ให้น้ำคร่ำแห้ง
ตารางน้ำหนักและขนาดของทารกในครรภ์ ที่จะบอกว่าลูกในท้องแข็งแรงดีแค่ไหน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!