“มารยาทที่ดี” นั้นเป็นเหมือนเครื่องประดับร่างกายที่จะช่วยให้บุคคลดูงดงาม ทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำให้เราเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การปลูกฝังมารยาทที่ดีให้กับลูกไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าประทับใจ แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตอีกด้วย ในบทความนี้ เราจะชวนมา ปักหมุด! 10 มารยาทที่พ่อแม่ต้องสอนลูก รวมถึงเทคนิคการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าภูมิใจ สร้างนิสัยที่ดีในการเข้าสังคม ด้วยมารยาทที่ถูกต้องค่ะ
ทำไม? ต้องสอนเรื่อง “มารยาทที่ดี” ให้ลูก
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมค่ะ และการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น นอกจากกฎกติกาในรูปแบบของกฎหมายหรือข้อบังคับแล้ว “มารยาท” นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เป็นหลักการสากลในการกำหนดให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ดังนั้น สำหรับลูกน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจะต้องก้าวไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น นอกเหนือไปจากรั้วของคำว่าครอบครัว การมีมารยาทที่ดีจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถสร้างความประทับใจ และสานความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างราบรื่น อีกทั้งการสอนเรื่องมารยาทที่ดีให้ลูกยังมีประโยชน์ต่างๆ ดังนี้
|
ผลดีที่เกิดกับลูก เมื่อถูกสอนเรื่องมารยาท
|
ได้รับการยอมรับ |
เด็กที่มีมารยาทดี มักจะได้รับความรักและความเอ็นดูจากผู้อื่น ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม |
พัฒนาบุคลิกภาพ |
มารยาทที่ดี จะช่วยหล่อหลอมให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพดี มีความรับผิดชอบ และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น |
เพิ่มความนับถือตนเอง |
เด็กที่มีมารยาทดีมักได้รับความรู้สึกเชิงบวกกลับมาเมื่ออยู่ในสังคม เพราะมารยาทที่ดีทำให้คนรอบตัวรู้สึกดีไปด้วย สร้างบรรยากาศดีๆ มีแต่คนอยากอยู่ใกล้ มีแต่คำชม รอยยิ้ม ความเป็นมิตร ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกดีกับตัวเอง ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง |
ดึงดูดคนที่ดีเข้ามา |
เด็กที่ปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างมีมารยาท ย่อมดึงดูดมิตรภาพดีๆ เข้ามา นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีตามมาด้วย |
เปิดโอกาสในอนาคต |
นอกเหนือจากทัศนคติและความสามารถด้านอื่นๆ แล้ว มารยาทที่ดีเป็นเหมือนบัตรผ่านสู่โอกาสที่ดีต่างๆ ในชีวิต ทั้งการเรียน การทำงาน หรือการสร้างครอบครัว เพราะการมีมารยาทดี วางตัวถูกกาลเทศะ ไม่สร้างปัญหาให้ส่วนรวม มีแต่คนอยากอยู่ใกล้และมอบโอกาสดีๆ ให้ |
เกิดวงจรแห่งความสุข |
เมื่อลูกน้อยได้รับความรู้สึกเชิงบวกจากผู้คนรอบตัว ความรู้สึกดีและมีความสุขก็จะเกิดขึ้นในหัวใจ ยิ่งทำให้ลูกอยากทำพฤติกรรมดีๆ นั้นซ้ำต่อไป เกิดเป็นวงจรแห่งความสุขที่สร้างได้ง่ายๆ |
สร้างสังคมที่ดี |
เด็กที่มีมารยาทดีจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกดีต่อสังคม และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่ดีขึ้น น่าอยู่มากขึ้น |
ปักหมุด! 10 มารยาทที่พ่อแม่ต้องสอนลูก มีอะไรบ้าง
เมื่อรู้ข้อดีของการปลูกฝังเรื่องมารยาทที่ควรมีให้กับลูกน้อยแล้ว มาดูกันค่ะว่า มารยาทที่พ่อแม่ต้องสอนลูก มีอะไรบ้าง ซึ่งวันนี้เราชวนมาปักหมุด มารยาทมาตรฐาน 10 ข้อด้วยกัน ดังนี้
-
รู้จักกล่าวคำทักทายผู้อื่น มีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่
การสอนให้ลูกรู้จักกล่าวคำทักทายผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ด้วยความสุภาพ เช่น สวัสดีครับ/ค่ะ สวัสดีคุณลุง/คุณป้า พร้อมกับการยกมือไหว้อันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในทุกครั้งที่พบเจอกัน ถือเป็นมารยาทพื้นฐานที่เด็กๆ ควรมีติดตัว เพราะจะสร้างความน่ารักน่าเอ็นดูให้ลูกได้ รวมถึงเป็นเด็กที่มีระเบียบเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ รู้กาลเทศะ ในสายตาคนอื่นๆ อีกด้วยค่ะ
-
รู้จักขออนุญาต ขอโทษ และขอบคุณ
การ “ขออนุญาต” และสามารถเอ่ยคำ “ขอโทษ” และกล่าว “ขอบคุณ” ได้อย่างจริงใจ เป็นหนึ่งในมารยาทพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมค่ะ เช่น เมื่อใช้พื้นที่หรือของใช้ของคนอื่นควรขออนุญาตก่อนเสมอ เมื่อทำสิ่งที่ผิด สิ่งที่ส่งผลด้านลบต่อตัวเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ควรกล่าวคำขอโทษทันที และเมื่อได้รับสิ่งของหรือสิ่งดีๆ จากใคร ก็ควรเอ่ยคำขอบคุณทุกครั้ง ทำได้ทั้ง 3 อย่างนี้ ลูกน้อยจะสามาถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ทุกสังคมและทุกวัฒนธรรมค่ะ
-
รอคอยเป็น
หนึ่งในทักษะทางสังคมที่สำคัญคือ “การรอคอย” ค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเป็นคนที่สามารถรอคอยได้ ทั้งการต่อคิวซื้อของ รอฟังได้ในวงสนทนา ไม่ขัดจังหวะ ไม่พูดแทรก โดยอาจเริ่มจากการให้ลูกได้ “เบื่อ” บ้าง ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกทันทีไปเสียทุกครั้ง แต่ให้ลูกน้อยรู้จักคิดจัดการและรับมือกับความเบื่อหน่ายด้วยตัวเองจะช่วยปลูกฝังความสามารถและทักษะการอดทนรอคอยให้ลูกได้ค่ะ
-
ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น
ต้องยอมรับค่ะว่าเด็กๆ กับเสียงดังมักมาพร้อมกันเป็นแพ็กคู่ โดยเฉพาะช่วงวัยที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้มากนัก ร้องไห้งอแงบ่อย ส่งเสียงดังโวยวายเก่ง ทำให้อาจสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่นได้เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าเมื่ออยู่นอกบ้าน ในพื้นที่ที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย ควรรู้จักควบคุมตัวเอง ปรับเสียงให้เบาลง ไม่ส่งเสียงดังเกินไป หากลูกร้องไห้ควรพาเดินออกไปจากบริเวณนั้นก่อน
-
ใช้คำพูดได้เหมาะสม ไม่พูดคำหยาบ
เด็กที่ใช้คำพูดที่เหมาะสม รู้กาลเทศะ พูดจามีหางเสียง หลีกเลี่ยงการใช้คำหยาบ ทั้งกับคนในวัยเดียวกัน หรือกับผู้ใหญ่ จะเป็นเด็กที่ดูน่ารักขึ้นค่ะ
-
เป็นผู้ฟังที่ดี
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่อง การเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อคู่สนทนากำลังพูด ไม่พูดแทรกเด็ดขาด เพราะจะทำให้อีกฝ่ายสมาธิหลุดจากการสนทนานั้นๆ และอาจจะทำให้เขารำคาญได้ หากลูกฝึกมารยาทการเป็นผู้ฟังที่ดีได้ ลูกจะพัฒนาการไปสู่การคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนพูด เมื่อโตไปจะสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีได้ด้วยค่ะ
-
เรียนรู้การแบ่งปันและความมีน้ำใจ
เพราะลูกน้อยต้องเติบโตไปพบและใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คนมากมายบนโลกใบนี้ ซึ่งการมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นสิ่งสวยงามที่ควรเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสังคม ดังนั้น ควรเริ่มจากการสอนให้ลูกรู้จักแบ่งขนม ของเล่น ให้กับพี่น้อง หรือเพื่อนที่โรงเรียน ช่วยคุณพ่อคุณแม่ถือของที่มีน้ำหนักเท่าที่ความสามารถลูกจะถือได้ เพื่อสร้างทักษะการแบ่งปันให้ลูกนะคะ
-
รู้จักเคารพผู้อื่น
การสอนให้ลูกน้อยเคารพความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้อื่น เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละคนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการทำกิจกรรมร่วมกันในบ้าน ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ หรือให้ช่วยแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้ลูกมีทักษะการคิดแก้ปัญหาที่ดี รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็น และมองเห็นข้อแตกต่างของแต่ละคน เมื่อโตขึ้นลูกจะเริ่มเข้าใจโลกได้มากขึ้น เป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตนด้วยค่ะ
-
รักษาความสะอาดให้เป็น
ความสะอาดเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวสุขภาพของลูกน้อยอยู่แล้วค่ะ แต่จะยิ่งดีมากๆ หากลูกรู้จักรักษาความสะอาดเมื่ออยู่ในที่สาธารณะได้ด้วย เพราะเป็นมารยาทที่ดีและสำคัญมากโดยเฉพาะช่วงที่โลกของเรามีโรคติดต่อใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรย้ำเตือนลูกว่าการไอ จาม สามารถแพร่เชื้อโรคได้ ควรปิดปากเสมอ รวมทั้งพกผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเช็ดหน้าติดตัวไว้ เวลาเคี้ยวอาหารให้ปิดปาก ไม่พูดคุยไปด้วย ต้องทิ้งขยะลงถัง รับผิดชอบขยะที่เราสร้างขึ้น และช่วยรักษาพื้นที่ส่วนรวมให้สะอาดด้วย
-
รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง
การมีมารยาทดี ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นในชีวิตเสมอ แต่ผู้ที่มีมารยาทดีจะแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองอย่างจริงใจ ไม่หลบหนีต่อความรับผิดชอบ ซึ่ง การยอมรับผิด และมีความารับผิดชอบนี้สามารถสอนลูกได้ตั้งแต่เด็ก เช่น เมื่อกินอาหารเสร็จต้องช่วยกันเก็บและทำความสะอาดโต๊ะ ล้างจานของตัวเองเมื่อทำได้ เก็บที่นอนทุกครั้งหลังตื่นนอน เก็บกวาดเช็ดถูเมื่อทำเลอะเทอะ เป็นต้น
สอนมารยาทลูกอย่างไรให้ได้ผล
ไม่ใช่แค่เอ่ยปากสอน แต่พ่อแม่ควรทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเรียนรู้ของลูกน้อยเริ่มต้นจากการมองเห็น และการได้ยิน แล้วเลียนแบบพฤติกรรม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างผู้มีมารยาทดี ทั้งการใช้คำพูดที่ไพเราะต่อกัน ไม่พูดคำหยาบใส่กัน มีคำขอบคุณ และคำขอโทษติดปากอยู่เสมอ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นผู้ฟังที่ดี รวมถึงให้ข้อมูลทั้งเชิงบวกและเชิงลบกับลูก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งไหนถูก แบบไหนผิด โดยค่อยๆ บ่มเพาะไปตามพัฒนาการตามวัย ลูกน้อยจะสามารถซึมซับมารยาทดีๆ เหล่านี้ได้เองค่ะ
-
มีกติกาของบ้าน วางรากฐานความเข้าใจกฎของเมือง
การอยู่ร่วมกันในครอบครัวควรมีกติกาที่ทุกคนในบ้านยึดถือเป็นหลักปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกันอย่างเคร่งครัด เป็นการปลูกฝังประชาธิปไตยให้แก่ลูกได้ในรูปแบบหนึ่ง ยิ่งหากเป็นกติกาที่ทุกคนในบ้านช่วยกันออกไอเดีย จะเป็นการช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การแสดงความคิดเห็น รู้จักการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และที่สำคัญ คือได้เรียนรู้การปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วย
-
ชวนกันเข้าสังคมทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นบ้าง
การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งภายในครอบครัว รวมทั้งการให้ลูกน้อยได้ออกไปเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ นอกจากจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์อันดีของครอบครัวแล้ว ยังสามารถพัฒนาทักษะทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงทักษะทางสังคมให้ลูกได้ด้วย ซึ่งลูกจะได้เรียนรู้และเข้าใจการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยสอนและแนะนำวิธีการเล่นกับเพื่อนๆ อย่างราบรื่น มีมารยาท เช่น ไม่รังแกกัน ไม่แย่งพื้นที่ รู้จักแบ่งปันของเล่นและพื้นที่กับเพื่อน ขอบคุณเมื่อเพื่อนมีน้ำใจ และขอโทษเมื่อทำผิด
มารยาทที่พ่อแม่ต้องสอนลูก ไม่ได้มีเพียง 10 เรื่องเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีอีกมากมายหลายอย่าง ทั้งมารยาทบนโต๊ะอาหาร มารยาทในการร้องขอความช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งเราเพียงปักหมุดไว้เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปเป็นแนวทางสำหรับปรับใช้ตามวิธีการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้คำนึงถึงคือ ควรยอมรับให้ได้ว่าเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา การฝึกทักษะบางอย่างให้ลูกอาจต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะตามพัฒนาการ อาจมีช่วงเวลาที่ลูกงอแงไร้เหตุผลบ้าง เราก็ต้องรับมืออย่างมีสติให้ได้ เข้าใจและให้อภัย แต่ก็ไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมต่างๆ ของลูก ปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพื่อสร้างเด็กที่มีคุณภาพของสังคมนะคะ
ที่มา : hhcthailand.com , www.istrong.co , www.sosthailand.org
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ข้อเสียของการ ตามใจลูก พ่อแม่สายสปอยล์ ระวัง! ลูกเสี่ยง “ฮ่องเต้ซินโดรม”
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น
7 วิธี สอนลูกให้มี Logical Thinking รู้ถูกผิด รู้หน้าที่ อยู่เป็น คิดได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!