พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดค่ะ แต่การเลี้ยงลูกน้อยให้เติบโตอย่างคุณภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแนวทางการเลี้ยงลูกของแต่ละบ้านที่แตกต่างกันย่อมปลูกฝังตัวตนของเด็กให้ต่างกันด้วย โดยหลายบ้านตั้งต้นการเลี้ยงดูลูกจากความคิดที่ว่า “ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเอง” ซึ่งอาจนำไปสู่การเลี้ยงลูกแบบ “ตามใจ” ที่อาจส่งผลเสียที่ไม่คาดคิดต่อลูกน้อยได้ เนื่องจากอาจทำให้ลูกเสี่ยงเป็น “ฮ่องเต้ซินโดรม” ข้อเสียของการ ตามใจลูก มีอะไรบ้าง พ่อแม่สายสปอยล์ ควรปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู หรือแก้ไขภาวะฮ่องเต้ซินโดรมยังไง เรามีคำตอบค่ะ
เลี้ยงลูกแบบตามใจคืออะไร? ข้อเสียของการ ตามใจลูก
ก่อนอื่นมาลองสังเกตการเลี้ยงลูกของบ้านเรากันก่อนค่ะว่าเป็นการเลี้ยงลูกแบบตามใจลูกหรือเปล่า ซึ่งการเลี้ยงแบบตามใจ คือ การเลี้ยงดูแบบที่ให้ทุกอย่างกับลูก “ง่ายเกินไป” เอาใจลูกเกินพอดี ไม่เคยปล่อยให้ลูกรอคอยอะไรเลย หยิบยื่นทุกอย่างให้ทันทีทันใด รวมถึงปล่อยให้ลูกทำตามใจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องหรือกาลเทศะ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ละเลยที่จะมีการลงโทษเมื่อลูกทำผิด ซึ่ง ข้อเสียของการ ตามใจลูก ก็คือ
- ส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ทำอะไรเองไม่เป็น เพราะคุณพ่อคุณแม่ทำให้ทุกอย่าง
- ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผล อดทนรอไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้
- ลูกน้อยจะมีนิสัยของคนที่ปรับตัวยาก ไม่มีทักษะในการรับมือกับความผิดหวัง ควบคุมความต้องการของตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จักการแบ่งปันและการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นในสังคม
- มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดภาวะ ฮ่องเต้ซินโดรม กับลูกน้อย
ภาวะ ฮ่องเต้ซินโดรม คืออะไร?
“ฮ่องเต้ซินโดรม” (Little Emperor Syndrome) คือ ภาวะที่ลูกน้อยมีพฤติกรรม “เอาแต่ใจตัวเอง” เห็นแก่ตัว ไม่ยอมรับความผิด และต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจของตนเอง มักเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูลูกแบบปกป้อง ตามใจลูก มากเกินไป ไม่เคยขัดใจ ไม่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะอดทน หรือเผชิญกับความผิดหวัง และพร้อมให้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูในลักษณะนี้จึงมักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
|
อาการของเด็กที่มีภาวะ ฮ่องเต้ซินโดรม
|
- มีลักษณะนิสัยเอาแต่ใจ ต้องการสิ่งใดต้องได้สิ่งนั้น โดยไม่ได้เรียนการทำตามกฎเกณฑ์และกติกาสังคม
- ขาดความอดทน ไม่สามารถรอคอยสิ่งใดได้นาน
- ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้
- ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นไม่ได้
- ขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้
|
สัญญาณที่บอกว่ากำลังเลี้ยงลูกแบบ ตามใจลูก มากเกินไป
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นค่ะว่า พ่อแม่หลายบ้านมีธงการเลี้ยงลูกจากความคิดที่ว่า “กลัวลูกลำบาก หรือ ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเอง” ถือว่าเป็นการตั้งธงจากเจตนาที่ดีนะคะ ซึ่งหากเด็กถูกเลี้ยงดูด้วยวิธีการที่ดีและถูกต้อง ผลลัพธ์การเลี้ยงดูของคุณแม่จะส่งผลที่สร้างความเบิกบานในหัวใจได้ค่ะ แต่หากการเลี้ยงดูมีการตามใจมากเกินไป ก็อาจเป็นการหล่อหลอมบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่ไม่น่ารัก ส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตในสังคมของลูกน้อยในอนาคตได้ด้วย ดังนั้น มาเช็กสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังเลี้ยงลูกแบบตามใจลูกมากเกินไปหรือไม่ ดังนี้ค่ะ
ลูกอยากได้อะไรก็ได้ มีแต่คำว่า “ได้” ไม่เคยประสบพบเจอกับคำว่า “ไม่” จากปากของพ่อแม่เลย บางบ้านนั้นกลับกลายเป็นคำว่า “ไม่” ออกจากปากลูกเสมอ และพ่อแม่ก็โอนอ่อนผ่อนตามเป็นปกติ
มีการเลี้ยงดูลูกในแบบที่ลูกมักเป็นฝ่ายได้รับและไม่ได้ถูกสอนเรื่องการแบ่งปัน จนเกิดเป็นการเรียนรู้แบบผิดๆ ว่า “ทุกคนต้องให้ฉัน หรือทุกคนต้องยอมฉัน” เป็นภาวะปกติ ทำให้เมื่อได้รับอะไรก็ตามจากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนอื่นๆ จึงไม่มีการกล่าวขอบคุณ ที่ร้ายยิ่งกว่าคือในใจของเด็กไม่เคยมีความรู้สึกซาบซึ้ง ไม่รู้สึกว่าต้องขอบคุณ หรือหากต้องการให้คนอื่นช่วยอะไรก็จะพูดในเชิงสั่ง มากกว่าจะขอร้องด้วยความสุภาพ
-
เมื่อลูกอยากได้ ต้องได้ และได้ทันที
พ่อแม่ที่รีบให้ลูกทุกอย่าง ลูกอยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนั้น ส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการแบบ “ASAP” (As soon as possible) เมื่อลูกต้องการอะไรก็จะทำให้เลยทันที ทำให้ลูกขาดทักษะในการรอคอย มีความเข้าใจผิดว่าคนอื่นว่างตลอดเวลาเพื่อทำสิ่งที่ลูกต้องการ หากไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันที ลูกจะมีอารมณ์หงุดหงิด โมโห และเชื่อว่าสมเหตุสมผลแล้วที่จะแสดงอาการเกรี้ยวกราดแบบนั้นใส่คนอื่น
-
ลูกเป็นเด็กที่คิดถึงแต่ตัวเอง
การที่คิดถึงแต่ตัวเองเป็นเพราะลูกได้รับการเลี้ยงดูแบบที่ พ่อแม่สายสปอยล์ ทำให้เชื่อว่า ตัวเองเป็นคนพิเศษและมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ไม่สนใจหรือใส่ใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ว่าใครก็ไม่สำคัญเท่ากับตัวเอง
-
กลายเป็นเด็ก “ไม่รู้จักพอ”
ลูกจะไม่รู้สึกพอใจสักทีแม้จะมีทุกอย่าง เช่น ของเล่น ขนม ฯลฯ ต่างๆ มากมาย เรียกได้ว่า ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ต่อให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อของเล่นให้เต็มบ้าน ก็ยังรู้สึกว่ามีน้อยเกินไป และพยายามจะร้องขอมากขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ข้อเสียของการ ตามใจลูก ผลกระทบของ ฮ่องเต้ซินโดรม
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่คือตัวแปรสำคัญที่สร้างภาวะ ฮ่องเต้ซินโดรม ให้ลูกน้อย เป็น ข้อเสียของการ ตามใจลูก มากเกินไป ให้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการโดยไม่เคยปฏิเสธคำขอของลูก รวมถึงการไม่เคยสอนให้ลูกเคารพกฎเกณฑ์ หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นจนลูกรู้สึกว่าตนเองต้องดีที่สุดเสมอ นอกจากนี้ พ่อแม่หลายบ้านเลยค่ะที่แสดงความรักต่อลูกผ่านการให้ของขวัญ ทำให้ลูกเชื่อมโยงความรักกับวัตถุเท่านั้น
|
ผลกระทบจากภาวะฮ่องเต้ซินโดรม
|
ลูกขาดความนับถือในตนเอง(Low Self-Esteem) |
เพราะได้สิ่งที่ตนเองต้องการมาได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามอะไร จึงไม่มีความภูมิใจในตนเอง |
ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง |
อาจส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนรู้กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะสนใจแต่ความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง |
ไม่รู้จักจัดการอารมณ์ตนเอง / ก้าวร้าว |
เพราะไม่เคยได้รับคำปฏิเสธ ไม่เคยเผชิญกับความผิดหวัง มีแต่แสดงความโกรธ หงุดหงิด ร้องไห้ แล้วได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการเสมอ |
ไม่มีเหตุผล |
ขาดความเข้าใจการใช้เหตุผล ขาดตรรกะในวิธีคิดที่ถูกต้องเหมาะสม และไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ |
มีความอดทนต่ำ |
ไม่ชอบการรอนาน เพราะชินกับการได้รับตอบสนองอย่างรวดเร็วจากพ่อแม่ |
เลี้ยงลูกแบบไม่ตามใจ ป้องกันและแก้ไขภาวะ ฮ่องเต้ซินโดรม
การป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลภาวะฮ่องเต้ซินโดรมนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การเลี้ยงดูค่ะ เมื่อต้นเหตุคือการ ตามใจลูก มากเกินไป ก็ต้องแก้ไขที่คุณพ่อคุณแม่ก่อน เริ่มจากการเป็น Role Model ที่มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจแบ่งปัน จากนั้นมาลองวิธีการปรับพฤติกรรมต่อไปนี้กันค่ะ
คือ ตั้งกติกาง่ายๆ ในบ้านกับลูก เพื่อสอนให้ลูกรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคม อะไรทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ เช่น กำหนดเวลานอน กิน เล่น ให้ตรงต่อเวลา มีวาจาขอบคุณและมีคำขอโทษ เมื่อลูกทำผิดต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมทันที ตามที่ตกลงกันไว้ อย่ากังวลว่าลูกจะไม่รักจนละเลยการลงโทษ เพราะจะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกและผิด ยิ่งทำให้คิดว่าตัวเองมีความสำคัญเหนือกว่ากฎเกณฑ์
คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาคุณภาพกับลูกมากกว่าให้ลูกอยู่กับของเล่น เช่น ออกกำลังกายด้วยกัน ช่วยกันทำงานบ้าน พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องต่างๆ เพื่อฝึกให้ลูกเคารพความคิดเห็นและความต้องการของผู้อื่น
หากมีการร้องขอที่ไม่สมเหตุสมผล คุณพ่อคุณแม่ต้องกล้าปฏิเสธลูก อย่ายอมให้น้ำตาหรือท่าทางซึมเซาด้วยความผิดหวังของลูกฉุดพ่อแม่ให้ตามใจทุกอย่าง สิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล หรือการเรียกร้องที่มากเกินไปจำเป้นต้องได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุและผล เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ได้สัมผัสกับความผิดหวัง และยอมรับความจริงได้
คือพยายามรั้งเวลาการตอบสนองความต้องการของลูกที่ต้องเดี๋ยวนั้น ขณะนั้น ออกไปก่อนอย่างมีเหตุผล เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย หรือเรียนรู้ว่าพ่อแม่มีสิ่งสำคัญอื่นๆ ที่ต้องทำเช่นกัน และความต้องการของลูกอาจไม่ใช่ priority แรกที่พ่อแม่จะตอบสนองเสมอไป
-
ปลูกฝังการเป็นให้ และซาบซึ้งใจในการได้รับ
สอนให้ลูกแบ่งปันได้ โดยไม่คิดว่าตัวเองต้องเป็นผู้รับฝ่ายเดียว โดยอาจเริ่มจากการกระทำเล็กๆ ในวันเกิด ตั้งแต่ การตัดแบ่งเค้กให้คุณพ่อคุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อนๆ หรือพาลูกทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการแบ่งปัน เช่น บริจาคของเล่น เป็นต้น นอกจากนี้ควรปลูกฝังให้ลูกมีความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี รู้สึกขอบคุณที่มีสิ่งนั้น สิ่งนี้ และสามารถส่งต่อสิ่งที่มีให้คนอื่นๆ ได้ จะช่วยให้ลูกมีความสุขจากการให้ และมีจิตใจอ่อนโยนมากขึ้น
-
“ของขวัญ” ไม่ได้มีแค่ “วัตถุ”
ควรสอนให้ลูกรู้ว่า “คำชม” อันเกิดจากความจริงใจและความรัก คือของขวัญที่ล้ำค่ามากกว่าวัตถุ การชื่นชมพฤติกรรมที่ลูกทำได้ดี หรือทำถูกต้อง เช่น “แม่รู้สึกดีมากที่ลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อน” สามารถสร้างการเรียนรู้เชิงบวกให้ลูกได้มากกว่าการชมว่า ลูกเก่ง ลูกสวย หรือการให้ของขวัญของเล่นตอบแทนนะคะ
การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายค่ะ ซึ่งจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี มีคุณภาพ ต้องอาศัยความสมดุลระหว่างความรัก การสร้างทักษะการใช้ชีวิตในสังคม การมีระเบียบวินัย และการอบรมสั่งสอนที่ถูกต้อง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมที่น่ากังวล อย่ารอช้าค่ะ ควรปรึกษากุมารแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อวางแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรักษาให้เหมาะสมต่อไปค่ะ
ที่มา : bangkokmentalhealthhospital.com , www.istrong.co , สารพันปัญหาการเลี้ยงลูก
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สังเกตอาการ เด็กที่ถูกเร่งรัด The Hurried Child Syndrome
อย่าเพิ่งตื่นตูม! ลูกพูดคำหยาบ กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!