ทุกการเติบโตของลูกน้อย ได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่และการเลี้ยงดูเสมอ ลูกเปรียบเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนทุกการกระทำ คำพูด หรือแม้แต่วิธีการรับมือกับปัญหาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนซึมซับและอาจปรากฏในพฤติกรรมของลูกอย่างตรงไปตรงมา ดังคำกล่าวที่ว่า ลูกคือกระจกสะท้อนพ่อแม่ บทความนี้จะอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมของพ่อแม่และลูก พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการเลี้ยงลูกเชิงบวก เพื่อสะท้อนพฤติกรรมที่ดีจากพ่อแม่ไปยังลูกน้อยค่ะ
พฤติกรรมลูกน้อย…ภาพสะท้อนพ่อแม่ที่ชัดเจน
ลูกคือกระจกสะท้อนพ่อแม่ พฤติกรรมของเด็กเล็กนั้นเปรียบเสมือนภาพสะท้อนที่ชัดเจนของพ่อแม่ เนื่องจากสมองส่วนที่ควบคุมความคิดและเหตุผลของพวกเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้การแสดงออกเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เด็กมักจะเลียนแบบคำพูด วิธีการจัดการสิ่งต่างๆ และการแสดงอารมณ์ของพ่อแม่อย่างน่าตกใจ จนบางครั้งเราเองยังต้องประหลาดใจเมื่อได้ยินหรือเห็นพฤติกรรมที่คุ้นเคยเหล่านี้จากลูกน้อย
ตัวอย่างสถานการณ์
- เมื่อลูกทำของเล่นตกแตก แล้วพูดด้วยน้ำเสียงหงุดหงงว่า “โอ๊ย! ซุ่มซ่ามจริงๆ เลย!” อาจสะท้อนว่าพ่อแม่เคยพูดแบบนี้กับตัวเองหรือกับลูกเมื่อทำอะไรผิดพลาด
- ลูกช่วยเก็บจานหลังทานอาหารเสร็จ โดยที่ไม่ต้องมีใครบอก อาจสะท้อนว่าพ่อแม่สอนและปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบมาโดยตลอด
- เมื่อเพื่อนร่วมชั้นทำดินสอตก ลูกรีบเข้าไปช่วยเก็บและถามว่า “เป็นอะไรไหม?” อาจสะท้อนว่าพ่อแม่เป็นคนใจดีและสอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น
- เมื่อพ่อแม่บอกว่าร้อนจังเลยลูก ช่วยเปิดพัดลมให้หน่อยได้ไหม จากนั้นลูกก็เดินไปเปิดพัดลมโดยใช้นิ้วเท้ากดที่ปุ่ม อาจสะท้อนว่าลูกเคยเห็นพ่อแม่ใช้เท้าเปิดพัดลมมาก่อนนั่นเอง
สมการพฤติกรรม: อิทธิพลหลักในวัยเยาว์
พฤติกรรมของคนเรานั้นมาจากหลายปัจจัยรวมกัน โดยมี “ตัวตน” ของเด็กแต่ละคนเป็นพื้นฐาน ผนวกกับ “การเลี้ยงดู” ที่ได้รับ “ประสบการณ์” ที่ผ่านมา และอิทธิพลจาก “ผู้คนรอบตัว”
อย่างไรก็ตาม ในวัยเด็กนั้น ปัจจัยเรื่อง “การเลี้ยงดู” และ “พ่อแม่” จะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการกำหนดพฤติกรรมเบื้องต้นของลูก เมื่อลูกโตขึ้น อิทธิพลจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น เพื่อน สังคม และสื่อต่างๆ จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทำให้สมการพฤติกรรมมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ในช่วงปฐมวัย พ่อแม่คือผู้ที่มีอิทธิพลหลักอย่างแท้จริงต่อการสร้างรากฐานพฤติกรรมของลูก
หากเด็กแสดงปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรงหรือน่ากังวล การพิจารณาถึงบทบาทของพ่อแม่และการเลี้ยงดู เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ เพราะเป็นอิทธิพลหลักในช่วงวัยเด็ก
ตัวอย่างข่าว เด็ก 11 ขวบโมโหพี่ทำของเล่นหาย เอามีดชี้หน้าขู่แม่ อาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่ขาดการสื่อสารที่ดี ทำให้เด็กไม่สามารถแสดงความรู้สึกหรือความต้องการได้อย่างเหมาะสม เด็กอาจเคยเห็นหรือประสบความรุนแรงในครอบครัว จึงทำให้เลียนแบบพฤติกรรมนั้น หรืออาจเคยเผชิญกับความเครียด ความกดดัน หรือเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหลายด้าน รวมถึงวิธีการเลี้ยงดูและการสื่อสารในครอบครัวโดยด่วน
รูปแบบการเลี้ยงดูที่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมลูก
รูปแบบการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูก ดังนี้
-
การเลี้ยงดูแบบไม่เลี้ยง/ปล่อยปละละเลย
คือการที่พ่อแม่ไม่ใส่ใจ ไม่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การขาดการดูแลเอาใจใส่และความผูกพันที่มั่นคงนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกไม่ปลอดภัย และอาจมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคม
-
การเลี้ยงดูด้วยความรุนแรง ทั้งทางวาจาและร่างกาย
การใช้คำพูดที่รุนแรง ตะคอกลูก ด่าทอ หรือการลงโทษทางร่างกาย เช่น ตี ทำร้าย จะบั่นทอนความกล้าแสดงออกของลูก ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกที่แท้จริง เด็กกลุ่มนี้ยังมีปัญหาในการจัดการอารมณ์ของตนเอง อาจแสดงออกด้วยความก้าวร้าวหรือเก็บกด ขาดความนับถือตนเอง รู้สึกด้อยค่า และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจกัน
-
การเลี้ยงดูแบบตามใจ/สปอยล์
การเลี้ยงดูที่ให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการโดยไม่มีขอบเขตหรือกฎเกณฑ์ จะทำให้ลูกขาดความอดทน ไม่สามารถรอคอยหรือรับมือกับความผิดหวังได้ พวกเขายังขาดความรับผิดชอบ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง และมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม เพราะไม่เคยเรียนรู้การเสียสละ การแบ่งปัน หรือการเคารพกฎกติกา
-
การปล่อยปละละเลยในโลกดิจิทัล
ในยุคปัจจุบัน การปล่อยให้ลูกใช้สื่อออนไลน์โดยไม่มีการดูแลหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสม ถือเป็นการปล่อยปละละเลยรูปแบบใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภัยออนไลน์ เช่น การถูกหลอกลวง การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การเข้าถึงสื่อลามกอนาจาร การถูกชักจูงไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนัน และได้รับอิทธิพลจากคนแปลกหน้าที่มีเจตนาร้าย
-
การรับมือกับพฤติกรรมลูกด้วยความรุนแรง
การใช้ความรุนแรงในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูก มักจะสร้างวงจรปัญหา ที่ลูกจะเรียนรู้ว่าความรุนแรงคือวิธีแก้ปัญหา พวกเขาอาจจะต่อต้าน ดื้อดึงมากขึ้น หรือในที่สุดอาจจะหนีออกจากครอบครัว เมื่อรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ได้รับการเข้าใจ

5 ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงลูกเชิงบวก
การเลี้ยงดูที่ดี ไม่ได้หมายถึง การประเคนวัตถุหรือของราคาแพงให้ลูก แต่หัวใจสำคัญคือการมอบ “เวลาที่ดี” ที่มีคุณภาพร่วมกัน สร้างประสบการณ์ที่มีความหมายและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยการเลี้ยงลูกเชิงบวกมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
|
5 ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงลูกเชิงบวก
|
- การอยู่เคียงข้างและสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางร่างกายและอารมณ์
|
การที่พ่อแม่อยู่ตรงนั้นเพื่อดูแล ปกป้อง และทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทั้งทางกายภาพและจิตใจ เป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตที่มีสุขภาพดี ลูกจะกล้าสำรวจโลกและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่เมื่อรู้ว่ามีฐานที่มั่นคงคอยสนับสนุน |
- การรับฟังและเข้าใจความรู้สึกของลูก
|
การใส่ใจรับฟังสิ่งที่ลูกพูด ทั้งคำพูดและอารมณ์ที่แสดงออก พยายามทำความเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของเขา แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม การยอมรับความรู้สึกของลูกจะช่วยให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับและเข้าใจ |
- ความหนักแน่นในการกำหนดขอบเขตและกฎระเบียบ
|
การมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ ช่วยให้ลูกเรียนรู้ถึงความคาดหวังของสังคม รู้ว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ การบังคับใช้กฎอย่างหนักแน่นแต่ด้วยความเข้าใจ จะช่วยให้ลูกพัฒนาวินัยในตนเองและความรับผิดชอบ |
- การสื่อสารด้วยเหตุผลและเมตตา
|
การพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล อธิบายถึงผลของการกระทำต่างๆ อย่างใจเย็นและด้วยความเมตตา จะช่วยให้ลูกเข้าใจและยอมรับกฎเกณฑ์ได้ดีกว่าการใช้อำนาจหรือความรุนแรง การสื่อสารที่ดีจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เปิดเผยและไว้วางใจกัน |
- การแสดงความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข
|
การแสดงความรัก ความอบอุ่น และการยอมรับลูกในสิ่งที่เขาเป็น โดยไม่ผูกติดกับเงื่อนไขของความสำเร็จหรือความประพฤติ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและความรู้สึกมีคุณค่าในตัวลูก |
5 ข้อดีของการเลี้ยงลูกเชิงบวก
ครอบครัวที่เลี้ยงลูกเชิงบวกจะเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งสำหรับลูกน้อยในทุกช่วงวัย
- ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความก้าวร้าว การต่อต้าน หรือการติดยาเสพติด
- ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ดี ทำให้ลูกสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ดี มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีทักษะทางสังคมที่ดี
- เสริมสร้างความนับถือตนเองและความมั่นใจในตนเอง ทำให้ลูกกล้าเผชิญกับความท้าทายและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
- สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและอบอุ่นในครอบครัว ทำให้เกิดความไว้วางใจและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน
- ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ เพราะลูกที่รู้สึกปลอดภัยและได้รับการสนับสนุน จะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และสำรวจสิ่งใหม่ๆ
ลูกคือกระจกสะท้อนพ่อแม่ ดังนั้น การสร้างลูกให้เติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพนั้น จึงเริ่มต้นจากการที่พ่อแม่หันกลับมาสำรวจ ปรับปรุง และพัฒนาตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ และการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นเกราะป้องกันและสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และมีความสุขในทุกช่วงวัย
ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 สัญญาณที่บ่งบอกว่า พ่อแม่เลี้ยงลูกถูกทาง รู้แบบนี้สบายใจได้เลย!
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น
เลี้ยงลูกต้องมีสติ: 8 วิธีเลี้ยงลูก ที่พ่อแม่ยุคใหม่ ต้องเข้าใจให้ไวและให้ทัน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!