ช่วงนี้ก็ยังคงเป็นเดือนของชาวสีรุ้ง หรือ pride month กันอยู่ ปัจจุบัน โลกเราเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ที่เหล่าคุณพ่อคุณแม่จะเปิดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ และช่วยให้ลูก ๆ วัยกำลังโต ได้ค้นหา อัตลักษณ์ ทางเพศ หรือสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น วันนี้เราจะมาดูวิธีที่ช่วยให้เด็ก ๆ ค้นหาตัวเองได้ง่ายขึ้นค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับเด็ก ๆ ที่บ้านได้
5 วิธีช่วยเหลือลูก ให้ค้นหาตัวตนด้านเพศให้เจอ
พ่อแม่และครอบครัว นับว่าเป็นกลุ่มคนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยดูแลและสนับสนุนในสิ่งที่เด็ก ๆ เป็น เมื่อเด็ก ๆ รู้ว่ามีพ่อแม่และครอบครัวที่คอยสนับสนุนอยู่ข้าง ๆ เขาก็จะรู้สึกสบายใจ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และจะสามารถเติบโตไปเป็นคนที่เข้มแข็ง และมีความสุขได้ ซึ่งการช่วยให้เด็ก ๆ รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรนั้น ทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. เชื่อใจลูก ๆ และให้พื้นที่กับเขา
สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำ คือ การเชื่อใจเด็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ เดินเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับอัตลักษณ์เรื่องเพศหรือสิ่งที่เขากังวล คุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวไม่ควรตัดสินเด็ก หรือพูดอะไรที่ไม่ดีใส่เด็ก ๆ หากว่าเด็ก ๆ เห็นว่าเรามีปฏิกิริยาตอบกลับที่ไม่ดี หรือเป็นไปในเชิงลบ เด็กอาจรู้สึกเครียดและเสียใจ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็ก และอาจทำให้เขาไม่กล้าเข้ามาปรึกษาพ่อแม่อีก ทั้งนี้ เด็กอาจไปปรึกษาคนอื่นแทน และเผลอ ๆ คนเหล่านั้น ก็อาจให้คำแนะนำเด็กแบบผิด ๆ ได้
ซึ่งจากงานวิจัยของ Family Acceptance Project พบว่า การที่พ่อแม่และครอบครัวของเด็ก ยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศและสนับสนุนสิ่งที่เด็ก ๆ เป็น จะทำให้เด็กใช้ชีวิตในสังคมได้ดี และช่วยป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจตามมาในอนาคตได้ ซึ่งเจนนิเฟอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโปรเจค GenderCool ก็ได้เล่าให้ฟังว่า เธอมีลูกสาวที่เป็นทรานส์เจนเดอร์หนึ่งคน และลูกสาวของเธอก็รู้ว่าตัวเองเป็นใครตั้งแต่อายุยังน้อย และเจนนิเฟอร์ก็ได้สอนให้ลูกของเธอค้นหาในสิ่งที่เป็นมาตลอด ทำให้ลูกเธอใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป
ช่วยเด็กค้นหา อัตลักษณ์ ทางเพศตัวเอง (ภาพโดย tirachardz จาก freepik.com)
2. ทำบ้านให้เป็นพื้นที่ที่เด็กอยู่แล้วสบายใจ
อีกสิ่งที่ต้องทำ เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กกล้าพูดและแสดงออกในสิ่งที่เป็น คือ สภาพแวดล้อมภายในบ้าน บ้านถือเป็นสถานที่ที่เด็กใช้เวลาอยู่เป็นส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพยายามหล่อหลอมหรือบังคับให้น้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการให้เขาเล่นของเล่นเฉพาะเพศ แต่งกายตามคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือใช้สิ่งของที่คนกลุ่มหนึ่งนิยมใช้ แต่ควรให้เด็กได้มีสิทธิเลือกด้วยตัวเอง ว่าเขาอยากจะแต่งตัวยังไง เล่นของเล่นแบบไหน หรือใช้สิ่งของอะไร เราควรเปิดใจ และเปิดกว้าง ให้อิสระกับเด็ก ๆ จะดีที่สุด เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นนั้นแปลกแยก หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดีในสายตาของคนในบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ชาวต่างประเทศ ได้แชร์วิธีเลี้ยงลูกง่าย ๆ ว่าพวกเขามักจะให้ลูกเลือกของเล่นหรือของใช้ด้วยตนเอง และจะไม่สอนให้ลูกแบ่งแยก ว่าของเล่นชิ้นไหน ควรเป็นของผู้หญิง หรือของผู้ชาย แม้จะเป็นเด็กผู้ชาย ก็เล่นตุ๊กตาได้ และเด็กผู้หญิง ก็เล่นหุ่นยนต์ได้เหมือนกัน ของเล่นทุกชิ้น มีไว้เพื่อคนทุกเพศ ซึ่งวิธีนี้ จะช่วยให้เด็กสบายใจ และกล้าเปิดเผยตัวตนหรือสิ่งที่เด็ก ๆ เป็นอย่างไม่เขินอาย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ครอบครัว LGBTQ คนดัง อบอวลด้วยความรักของเจ้าตัวน้อย
3. ชวนลูกเสพสื่อหลาย ๆ ชนิด
ในขณะที่ลูกเติบโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็ก ๆ ดูและเสพสื่อหลาย ๆ รูปแบบ ให้เขาได้ดูวิดีโอ หรือคลิปที่มีเนื้อหาหรือตัวละครเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ไม่ควรเจาะจงแค่เพศใดเพศหนึ่งเป็นพิเศษ หรือว่าให้เด็กดูแค่ละครที่พูดถึงครอบครัวในอุดมคติของสังคมไทยเพียงอย่างเดียว การที่เราให้เด็กได้เห็นครอบครัว หรือคนหลาย ๆ กลุ่มแตกต่างกันออกไป จะทำให้เด็กเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่แต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องที่แย่
4. ให้เด็ก ๆ คบเพื่อนหลาย ๆ แบบ
อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เด็กได้คุ้นเคยกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางด้านเพศ คือ การให้เด็ก ๆ คบเพื่อนหลาย ๆ แบบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และการพาเด็ก ๆ ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง จะช่วยให้เขาค้นหาตัวตนของตัวเองได้ง่ายขึ้นมาก เพราะเด็ก ๆ อาจได้พบกับเพื่อน ๆ ที่มีความคล้ายกับตัวเอง และทำให้เขารู้ว่าเขาคือใคร ชอบอะไร แต่ถ้าหากเด็ก ๆ ยังไม่มีเพื่อนก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป ลองพาเด็ก ๆ ไปเข้าค่ายดูได้ เพราะปัจจุบันมีค่ายสำหรับเด็กมากมายที่เปิดในช่วงปิดเทอม แถมบางค่าย ยังเข้าร่วมได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าสมัครใด ๆ
ช่วยเด็กค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศตัวเอง (ภาพจาก shutterstock.com)
5. หากต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อลูก ๆ ของเราแสดงออกถึงอัตลักษณ์ หรือสิ่งที่เขาเป็น ขณะที่อยู่นอกบ้าน อาจทำให้เขาถูกคุกคาม หรือถูกปฏิบัติไม่ดีในบางครั้งได้ เพราะอาจจะยังมีใครบางคน ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางด้านเพศ หากเด็ก ๆ ถูกเพื่อนรังแก หรือพูดจาไม่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าปรึกษากับคุณครู เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ หากเจอปัญหาที่ร้ายแรง ยากเกินกว่าจะเเก้ไขด้วยตัวเอง ก็สามารถเข้ารับคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกลุ่มคนที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศจะดีที่สุด
เด็ก ๆ แต่ละคนมีความพิเศษในแบบของตัวเอง ลูกของเราไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนลูกของคนอื่น การที่เราอนุญาตให้เด็ก ๆ ได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็นนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ซึ่งในยุคนี้ ไม่ควรมีใครโดนจำกัด หรือถูกกีดกันไม่ให้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น สุดท้ายนี้แล้ว ไม่ว่าเด็ก ๆ จะเป็นคนแบบไหน มีอัตลักษณ์ยังไง หรือชอบทำอะไร เด็ก ๆ ก็สามารถเติบโตมาเป็นคนที่สร้างประโยชน์ให้สังคมและมีความสุขได้ เพียงแค่พ่อแม่เข้าใจ และสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาทำ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
พ่อแม่เป็น LGBTQ แล้วลูกจะเป็นไหม ? เลี้ยงลูกฉบับ LGBT
LGBT คือ อะไร การเปิดใจและตอบคำถามเกี่ยวกับ LGBT กับลูกของคุณ
เปิดบทสัมภาษณ์จาก ครอบครัวสีรุ้ง คุณเจี๊ยบ มัจฉา และ น้องหงส์ ศิริวรรณ
ที่มา : parents
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!