ผมร่วงเยอะมาก หลายคนกังวลใจและกลัว ว่านี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพ ผมร่วงเยอะ อันตรายจริงหรือเปล่า วันนี้เราจะมาหาคำตอบ เรื่อง ผมร่วงเยอะมากเกิดจากอะไร กัน
ผมร่วงคืออะไร
ผมร่วง เป็นภาวะที่ผมร่วงจากหนังศีรษะ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเเค่ชั่วคราวหรือถาวร โดยทุกคนนั้น ผมร่วงกันได้ เพื่อให้ผมเส้นอื่นเกิดขึ้นมาทดแทน ผู้ชายมักจะผมร่วงมากกว่าผู้หญิง หรือบางคน ก็อาจผมร่วงเยอะจนศีรษะล้าน ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงนั้น ก็มีมากมายแตกต่างกันออกไป ซึ่งปกติแล้ว ผมคนเราจะร่วงประมาณ 50-100 เส้นต่อวัน และในวันที่สระผม ผมอาจร่วงได้มากถึง 200 เส้นเลยทีเดียว โดยอาการผมร่วง แบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
- ผมร่วงที่ศีรษะด้านหน้าเล็กน้อย พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่มีอายุมากขึ้น
- ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ บางคนมีอาการผมร่วงเป็นจุด ๆ หรือเป็นหย่อม ๆ บนหนังศีรษะ โดยอาจรู้สึกคันก่อนที่ผมจะร่วง
- ผมร่วงแบบฉับพลัน อาการนี้มักเกิดเวลาที่รู้สึกตกใจอย่างสุดขีด หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยผมจะร่วงออกมาตอนที่หวีผม หรือใช้มือดึงเบา ๆ โดยอาการผมร่วงประเภทนี้ มักเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น
- ผมร่วงจากโรคกลาก อาการผมร่วงประเภทนี้ มีสาเหตุมาจากโรคกลาก โดยจะมีแผ่นเกล็ดข้ึนตามหนังศีรษะ และไม่มีผมบริเวณที่เกล็ดขึ้น และในบางครั้ง บริเวณนั้นก็อาจบวม แดง และมีของเหลวไหลออกมาด้วย
- ขนร่วงทั้งตัว อาการผมร่วงชนิดนี้ ไม่เพียงแค่ทำให้ผมร่วง แต่ยังทำให้ขนตามร่างกายร่วง มักเกิดจากการรักษาโรคทางการแพทย์อย่างการทำเคมีบำบัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : อย่ารอให้หัวล้าน 10 อาหารแก้ผมร่วง ผมบาง ช่วยให้รากผมแข็งแรง ผมไม่หลุดง่าย
สาเหตุที่ทำให้ผมร่วงเยอะ ผมร่วงเยอะมากเกิดจากอะไร
บางคนผมร่วงเยอะผิดปกติ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป บางคนผมร่วงจนหัวล้าน หรือผมแหว่ง ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ เช่น
1. พันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีอายุเพิ่มขึ้น และเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยผู้ชายจะผมร่วงบริเวณศีรษะด้านหน้า ส่วนผู้หญิงจะผมร่วงบริเวณลูกผม
2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บางครั้ง อาการผมร่วงก็เกิดจากการที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร โดยมักเกิดกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพิ่งคลอดลูก ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ซึ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ อาจผมร่วงได้มากถึง 400 เส้นต่อวันเลยทีเดียว
3. การรับประทานยาบางชนิด หากรับประทานยา หรืออาหารเสริมบางชนิดอยู่ อาจทำให้ผมร่วงได้ ซึ่งยาดังกล่าวอาจจะเป็นยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคไขข้ออักเสบ ยาบรรเทาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคเกาต์ หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
4. การฉายสี อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้น ว่าบางคนที่เป็นมะเร็งและต้องเข้ารับการทำคีโม มักจะผมร่วง ซึ่งโดยทั่วไป ผมจะร่วงทั้งศีรษะ และจะไม่งอกขึ้นมาใหม่
5. ความเครียดและอาการตกใจ หลายคนที่มีอาการเครียดมักผมบาง และหากรู้สึกตกใจ หรือเกิดอาการช็อกโดยฉับพลัน ก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ผมจะร่วงแค่เพียงชั่วคราวและงอกกลับขึ้นมาใหม่ จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องเป็นกังวล
6. ผลิตภัณฑ์บำรุงผม คนที่ชอบดัดผม ย้อมผม หรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผม อาจผมร่วงได้มากกว่าปกติ บางราย อาจมีแผลบนหนังศีรษะ และผมร่วงโดยถาวร
7. ภาวะโลหิตจาง ผมร่วงอาจเป็นสัญญาณของการขาดธาตุเหล็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องด้วยสาเหตุจากเมื่อรูขุมขนที่ไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ทำให้เส้นผมหลุดร่วง และจะทำให้ไม่มีผมงอกขึ้นมาใหม่ จนกว่าได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอ
8. ทรงผมและการดูแลเส้นผม ทรงผมบางทรงที่มัดแน่นมากจนเกินไป เช่น การม้วนด้วยที่ม้วนผม การมัดผมหางม้า และการถักผมเปียติดหนังศีรษะ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมขาด และหลุดร่วงได้
นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผมร่วงได้อีก เช่น น้ำหนักตัวลดอย่างมาก ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคภูมิแพ้ตนเอง เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผมร่วง 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 87
วิธีรักษาอาการผมร่วง
หากผมร่วงผิดปกติ หรือผมร่วงเพราะปัญหาสุขภาพบางอย่าง อาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. รับประทานยา
หากผมร่วงเพราะรับประทานยาชนิดใดชนิดหนึ่ง แพทย์อาจสั่งให้หยุดรับประทานยานั้นเป็นเวลา 2-3 เดือน และอาจแนะนำให้ใช้ยาอื่นรักษาอาการผมร่วง เช่น
- ยาปลูกผมที่มีไมน็อกซิดิล ซึ่งจะช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ และช่วยชะลออาการผมร่วง แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการใช้ยาชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ใช้ยา อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีอาการระคายเคืองหนังศีรษะ หรือมีผมเกิดที่บริเวณใบหน้าและมือ เป็นต้น
- ยาฟีนาสเตอไรด์ ผู้ชายหลาย ๆ คนที่รับประทานยาฟินาสเตอไรด์ พบว่า ตัวเองผมร่วงช้าลง แถมบางคนยังมีผมงอกขึ้นมาใหม่ด้วย โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเห็นผล อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ อาจใช้ไม่ได้ผลกับคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และที่สำคัญ จะต้องให้แพทย์เป็นคนจ่ายยาชนิดนี้ให้ และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนรับประทานยาเท่านั้น รวมทั้งยาชนิดนี้ ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างสมรรถภาพทางเพศลดลง หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และผู้หญิงที่คาดว่าจะตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ไม่ควรสัมผัสยาชนิดนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
2. ปลูกถ่ายผม
ผู้ที่มีศีรษะด้านหน้าล้าน อาจทำการปลูกถ่ายผม เพื่อทดแทนผมที่เสียไปได้ โดยเมื่อเข้ารับการรักษา แพทย์จะดึงผมบริเวณใดบริเวณหนึ่งออกมา เพื่อทำการปลูกถ่ายเข้าไปในบริเวณที่ไม่มีผม ซึ่งหากคนไข้รู้สึกปวดบริเวณที่ปลูกถ่าย แพทย์จะให้ยากลับไปรับประทานต่อ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปลูกถ่าย คือ อาการบวมช้ำ ติดเชื้อ หรือมีเลือดออก
3. รักษาด้วยเลเซอร์
การทำเลเซอร์ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ช่วยรักษาอาการผมร่วงได้ โดยมีการศึกษาวิจัย และพบว่า การเลเซอร์ อาจช่วยทำให้ผมหนาขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาผมร่วงหลังคลอดกวนใจแม่ๆ อยู่ใช่ไหม
จะป้องกันผมร่วงยังไงดี
วิธีที่อาจช่วยลดความเสี่ยง หรือช่วยให้ผมร่วงน้อยลง มีดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมหรือยาสระผม ที่อ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ
- สระผมให้ถูกวิธี โดยไม่ควรสระผมเกินวันละ 1 ครั้ง และก่อนการสระผมด้วยแชมพู ควรล้างผมด้วยน้ำเปล่าก่อน และไม่ควรขยี้ผมหรือเกาหนังศีรษะแรง ๆ
- ไม่ดึงผมหรือออกแรงหวีผมมากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตอนนั้นผมเปียกอยู่
- เลือกใช้หวีซี่กว้างแทนการใช้หวีซี่ถี่ และมัดผมให้หลวม ๆ
- พยายามเลี่ยงการดัดผม ยืดผม และกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้ผมได้รับความร้อน
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การสูบบุหรี่ทำให้ผมร่วงได้
- หากต้องเข้ารับเคมีบำบัด ลองขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียผม โดยอาจจะขอแพทย์สวมหมวกระบายความร้อน ในขณะที่เข้ารับการบำบัดก็ได้
- หากกำลังทานอาหารเสริมบางชนิดอยู่ ให้ลองสอบถามแพทย์ ว่าอาหารเสริมชนิดนั้น ทำให้ผมร่วงได้หรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : เผยเคล็ดลับ 10 วิธี เร่งผมยาว แม่หลังคลอดผมร่วง สาวผมสั้น ทำยังไงให้ผมยาวเร็ว
ผมร่วงเยอะแบบไหน ที่ถือว่าเป็นอันตราย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนเราจะผมร่วง ซึ่งบางคนนั้น ก็ผมร่วงเยอะกว่าคนทั่วไปหากมีปัญหาสุขภาพ กำลังกินยาบางชนิด หรือมีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะสามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาได้ และหากรู้สึกไม่มั่นใจที่ผมร่วง อาจซื้อวิกมาใส่ เพื่อปกปิดบริเวณที่ผมร่วง หรืออาจต่อผม เพื่อช่วยเพิ่มความหนาผมได้
อย่างไรก็ตาม หากคนไหนที่ผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน พร้อมทั้งมีอาการอื่น ๆ เช่น มีผื่นขึ้น อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ขนตาและขนคิ้วร่วง เล็บหักง่าย เป็นต้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ซึ่งเมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาหารการกิน ปัญหาสุขภาพ หรือประวัติครอบครัวคนไข้ หลังจากนั้น แพทย์อาจตรวจเลือด ทดสอบการดึงผม นำชิ้นเนื้อที่ศีรษะไปตรวจ หรือส่องกล้องเพื่อตรวจหาสาเหตุของผมร่วงเป็นลำดับต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : นักวิจัยแนะ! อาหาร 7 อย่างที่ช่วยหยุด ปัญหาผมร่วงหลังคลอด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 สูตรแก้ผมร่วงด้วยวิธีธรรมชาติ ให้ผมหนา แข็งแรง สุขภาพดี
8 สูตรแก้ผมร่วงด้วยวิธีธรรมชาติ ให้ผมหนา แข็งแรง สุขภาพดี
เปิดไอเดีย ทรงผมคุณแม่หลังคลอด ผมร่วง ผมบาง ทำผมทรงไหนได้บ้าง
ที่มา : mayoclinic.org, vedix.com , insider.com,thaihealth.or.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!