อีกหนึ่งโรคที่คุณผู้ชายส่วนใหญ่หนักใจก็คือ โรคไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิด และมักถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของหน้าท้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การยกของหนัก รวมไปจนถึงปัญหาการขับถ่าย นอกจากนี้ ยังพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เองก็มีความเสี่ยงโรคนี้ด้วยเช่นเดียวกัน หากปล่อยทิ้งไว้เสี่ยงไส้เน่าได้เลยค่ะ หรืออาจจะทำให้ลำไส้อุดตันได้ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคไส้เลื่อนขาหนีบ เกิดจากอะไร ?
ไส้เลื่อนขาหนีบส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเกิดจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องมีความอ่อนแอ และสามารถเกิดขึ้นมาได้ตั้งแต่เกิดเลยค่ะ โดยรูที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงลูกอัณฑะยังคงเปิดเอาไว้อยู่ ทั้ง ๆ ที่ปกติจะถูกปิดเอาไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่แล้ว จึงส่งผลทำให้เกิดไส้เลื่อนผ่านรูนี้แล้วเลื่อนไปยังขาหนีบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงด้วย ได้แก่
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ยกของที่มีน้ำหนักเยอะเกินไป การเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเวลานาน การออกกำลังกายที่มีผลต่อบริเวณหน้าท้อง
- เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น อาการท้องผูก ต่อมลูกหมากโต ไอเรื้อรัง มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การทำงานผิดปกติของตับ เป็นต้น
ไส้เลื่อนขาหนีบมีกี่ชนิด
1. ไส้เลื่อนขาหนีบที่เกิดจากรูเปิดบริเวณขาหนีบ ซึ่งมีมาตั้งแต่กำเนิดทำให้ไส้เลื่อนสามารถเลื่อนผ่านมาจนถึงถุงอัณฑะได้ง่าย
2. ไส้เลื่อนขาหนีบบริเวณขาหนีบ มาจากการหย่อนของผนังหน้าท้องบริเวณส่วนล่าง จึงส่งผลให้หัวหน่าวมีลำไส้ยื่นนูนออกมานั่นเองค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคไส้เลื่อน อันตรายอย่างไร ประเภทและการรักษาไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนขาหนีบ เกิดขึ้นกับผู้หญิงได้ไหม ?
แม้ว่าโรคไส้เลื่อนมักจะเกิดขึ้นบ่อยกับผู้ชายจนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงกับผู้หญิงก็สามารถเป็นโรคไส้เลื่อนได้เช่นเดียวกัน ทั้งไส้เลื่อนขาหนีบที่มีความเสี่ยงต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือไส้เลื่อนในช่องเชิงกรานที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะสรีระร่างกายของผู้หญิงเอื้ออำนวยกว่าผู้ชาย
อาการของไส้เลื่อนขาหนีบ
การเช็กอาการหลัก ๆ ของโรคไส้เลื่อนส่วนใหญ่ทำได้ด้วยการคลำพบก้อนนูนในบริเวณที่เกิดโรค เช่น ถ้าเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบก็จะมีก้อนนูน ๆ ด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกเชิงกรานหรือขาหนีบ เมื่อนอนลงสามารถดันให้กลับเข้าไปในช่องท้องได้ และกับบางรายจะรู้สึกปวดบริเวณท้องโดยเฉพาะเวลาก้มตัว หรือยกของหนัก ๆ รวมไปจนถึงการจามด้วย
วิธีการวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน
การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรคด้วย เช่น โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ และไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด ก็จะวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีก้อนนูน ๆ ที่สามารถคลำแล้วพบเจอได้โดยเฉพาะตอนยืน ยกของหนัก หรือไอจามแรง ๆ ซึ่งจะคลำเจอก้อนเนื้อได้ง่ายมาก
ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ ที่มองเห็น มองไม่ชัด หรือคลำจากภายนอกแล้วไม่พบ อาจต้องใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น โรคไส้เลื่อนกะบังลม แพทย์จะใช้วิธีส่องกล้องผ่านลำคอลงไปยังหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร เพื่อจะได้เห็นภาพอวัยวะภายในได้ชัดขึ้น หรือไม่ก็ใช้วิธีการตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์ผ่านคอมพิวเตอร์ และ MRI ในกรณีของไส้เลื่อนที่เกิดบริเวณช่องท้องและช่องเชิงกรานค่ะ
ภาวะแทรกซ้อนจากไส้เลื่อนขาหนีบอันตรายไหม ?
ภาวะแทรกซ้อนจากไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบอันตรายกว่าที่คิด เพราะทำให้ลำไส้เน่าจากการเคลื่อนและบิดตัวของลำไส้ จนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ และทำให้มีอาการปวดท้องตามมา ลักษณะเหมือนโดนบิดแรง ๆ อาเจียน และความดันโลหิตต่ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไส้เลื่อนขาหนีบ ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะลำไส้อุดตันในกรณีอุจจาระหรืออาหารไม่สามารถไหลผ่านลำไส้ได้ จึงทำให้เกิดอาการผายลม คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการท้องอืดปวดแบบมวนท้องร่วมด้วยค่ะ
การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ
อาการไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ หาไม่รีบรักษาจะทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย แต่ในผู้ป่วยบางรายก็ไม่แสดงอาการ หรือขนาดไส้เลื่อนยังไม่ใหญ่ จึงยังไม่ต้องรีบผ่าตัดก็ได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเองก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อพิจารณาอาการและขั้นตอนการรักษาให้ถูกต้อง โดยการรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมส่วนที่เป็นรู หรือเพื่อเสริมความแข็งให้กับผนังหน้าท้องด้วยการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องค่ะ
ไส้เลื่อนขาหนีบแบบไหนควรพบแพทย์
- โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะดันย้อนกลับเข้าไปได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงจะไม่สามารถดันได้
- มีอาการปวดเจ็บบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบจนไม่สามารถใช้ชีวิตในประจำวันได้สะดวก
- ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไส้เลื่อนขาหนีบ
- ถ้ายังไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัด ต้องเลี่ยงการเบ่งปัสสาวะ หรืออุจจาระหนัก ที่สำคัญของหนักก็ไม่ควรยกบ่อย ๆ นะคะ
- หากผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบมาแล้ว ไม่ควรยกของหนัก และถ้ามีน้ำหนักเกินมาตรฐานให้ลดน้ำหนัก ทานอาหารที่มีกากใยช่วยในการขับถ่ายมากขึ้น ทั้งนี้หากรักษาไปแล้วพบอาการผิดปกติ เช่น บริเวณแผลผ่าตัดมีเลือดออก บวมแดง และปวดควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
ไส้เลื่อนที่ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิดสามารถป้องกันได้ ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเสมอ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช และต้องไม่ผ่านการขัดสีมาแล้ว เพื่อป้องกันท้องผูกและการเบ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะยากขึ้น
- ให้หลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังการยกของที่มีน้ำหนักมาก หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ หากต้องยกให้ย่อเข่าแล้วยกขึ้น ไม่ก้มตัวยก
- ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง ต้องรักษาให้หายขาดไม่ปล่อยไว้
- ไม่สูบบุหรี่
โรคไส้เลื่อนขาหนีบยากต่อการป้องกันเพราะเกิดได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กว่าจะแสดงอาการก็ในตอนที่โตแล้ว ดังนั้น หากรักษาแล้วควรระมัดระวังและดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ระวัง!! ไส้เลื่อนในทารกเป็นได้ทั้งชายและหญิง
อัณฑะค้าง อัณฑะคาช่องท้อง ภาวะผิดปกติในทารกแรกเกิด ควรรักษาก่อน 1 ขวบ
ลูกขวบเดียว ชอบร้องตอนอาบน้ำ มีก้อนนูนตรงขาหนีบ ไม่น่าเชื่อ! โรคนี้เด็กก็เป็นได้
ที่มา : petcharavejhospital.com, bumrungrad.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!