การดูรักษาสุขภาพฟันของเด็กนั้น เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรทำ หากเด็กมีฟันที่ไม่สะอาด หรือเป็นโรคเกี่ยวกับฟัน อาจทำให้เขารับประทานอาหาร หรือใช้ชีวิตได้ลำบากมากขึ้น เหงือกอักเสบ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ หากเด็กเหงือกอักเสบ คุณแม่จะช่วยลูกยังไงได้บ้าง ติดตามได้จากบทความนี้
เหงือกอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เหงือกอักเสบ เป็นภาวะที่เหงือกเกิดการอักเสบ และบวมแดง ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ที่อาจเกิดจากเศษอาหาร และน้ำตาลที่ติดอยู่ที่ฟัน จนเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ โดยคนที่เหงือกอักเสบ อาจมีเลือดออกตามเหงือกหรือฟัน หากอาการรุนแรงมาก อาจทำให้เหงือกร่น จนเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ฟันถูกทำลายและฟันหลุดได้ในที่สุด ซึ่งภาวะเหงือกอักเสบนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท คือ เหงือกอักเสบชนิดไม่รุนแรง และโรคปริทันต์
อาการโดยทั่วไปของคนที่เหงือกอักเสบ ได้แก่ มีเหงือกบวมแดง รู้สึกเจ็บบริเวณที่เหงือกอักเสบ กินอาหารได้ลำบาก มีเลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือกร่น มีแผลหนอง มีกลิ่นปาก ฟันห่างหรือฟันหลุด ซึ่งสองอาการแรก เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด หากอาการอักเสบไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบได้ อาจมีดังนี้
- ปากและเหงือกแห้ง ซึ่งอาจเกิดจากการที่ดื่มน้ำน้อย หรือการหายใจทางปากแทนจมูก ทำให้แบคทีเรียเติบโตในช่องปากได้ไวมากยิ่งขึ้น
- มีอาการบาดเจ็บในช่องปาก ที่อาจเกิดขึ้นขณะแปรงฟัน หรือรับประทานอาหาร
- มีภาวะขาดสารอาหาร ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- กำลังรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อเหงือก
- ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง
- อาหารติดอยู่ที่ซอกเหงือกและฟัน
- ยีนบางชนิดในร่างกายทำให้เหงือกอักเสบ
- เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคเบาหวาน
- สูบบุหรี่ หรือยาสูบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ตัวช่วยบรรเทาอาการปวดฟันของลูก
เหงือกอักเสบทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ไหม
หากปล่อยไว้ และไม่ยอมรักษาอาการอักเสบ เด็กอาจเสี่ยงเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
1. ปวดโดยเฉียบพลันที่ปากหรือขากรรไกร
แบคทีเรียที่เกิดจากการอักเสบของเหงือก อาจลามไปยังบริเวณฟันคุด และทำให้เด็กรู้สึกปวดกราม โดยฟันบริเวณนั้น อาจจะโดนแบคทีเรีย แทรกซึมเข้าไปทำทำลายเนื้อเยื่อและเส้นประสาทโดยรอบได้ หากเด็ก ๆ เหงือกอักเสบและปวดกราม คุณแม่ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน
2. เหงือกบวมหรือมีเลือดออก
โดยปกติ เหงือกของเด็กจะมีสีชมพู แต่เมื่อมีภาวะเหงือกอักเสบรุนแรงมากขึ้น เด็กจะมีเลือดออกตามไรฟันและเหงือก รวมทั้งมีเหงือกบวมโตและเปลี่ยนเป็นสีแดง โดยเลือดมักจะออกขณะที่เด็กแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งนี่ ถือเป็นสัญญาณที่อันตราย
3. มีกลิ่นปากเรื้อรัง
อีกหนึ่งอาการที่ไม่น่าพึงประสงค์ของเหงือกอักเสบ คือ กลิ่นปาก ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีแบคทีเรียในปากเยอะเกินไป และไม่ว่าจะพยายามแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปากแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยดับกลิ่นปากได้ จนเกิดเป็นกลิ่นปากเรื้อรัง
4. ฟันหลุด
เมื่อเหงือกอักเสบและรุนแรงขึ้น แบคทีเรียจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ฟันจนเหงือกร่น ซึ่งอาจจะทำให้เด็กฟันหลุดออกจากเหงือกได้ในทันที
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังอาจมีเหงือกร่น เป็นหนองที่ฟันและเหงือก หรือมีวิธีการสบฟันที่เปลี่ยนไป โดยคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการที่เกิดกับน้อง ๆ หากน้อง ๆ มีอาการของโรคปริทันต์เหล่านี้ ควรรีบพาเขาเข้ารับการรักษากับแพทย์ทันที เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมา
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ยาสีฟันสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เริ่มต้นสุขภาพฟันที่ดีด้วยยาสีฟันที่ปลอดภัย
ควรสอนให้ลูก ๆ แปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ
วิธีรักษาเหงือกอักเสบในเด็กเบื้องต้น
ในเบื้องต้น คุณแม่สามารถบรรเทาอาการเหงือกอักเสบของน้อง ๆ ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- บ้วนปากด้วยน้ำที่ผสมเกลือ เพราะเกลือจะช่วยกำจัดแบคทีเรียในช่องปากได้ โดยอาจทำ 3-4 ครั้งต่อวัน เพื่อให้อาการดีขึ้น
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพราะหากปากแห้ง อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้มากยิ่งขึ้น
- ซื้อแปรงที่มีขนนุ่ม เด็กจับได้ถนัด และมีขนาดหัวเล็ก เพื่อไม่ให้บาดเหงือก จนอาจเกิดแผลในช่องปากได้
- ซื้อแปรงสีฟันใหม่ให้ลูกทุก ๆ 3 เดือน เพราะแปรงสีฟันที่เก่าแล้วอาจเสื่อมสภาพ
- ให้เด็กแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ขนาดเท่าเม็ดถั่ว
- ควรให้เด็กแปรงฟันครั้งละ 3-5 นาที และคุณแม่ควรดูแลเด็ก ๆ ขณะแปรงฟัน เพื่อไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟัน
- อาจให้เด็กแปรงฟันด้วยว่านหางจระเข้ด้วยก็ได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ว่านหางจระเข้นั้น มีคุณสมบัติช่วยลดคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก
- เก็บแปรงสีฟันไว้ในที่ ๆ สะอาด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าถึงได้
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อให้ช่องปากและฟันสะอาดอยู่เสมอ
- ให้เด็กเข้ารับการตรวจฟันกับทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน
- ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและแร่ธาตุ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันและกระดูก เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อปลาแซลมอน อัลมอนด์ คะน้า บล็อคโคลี่ หรือผักใบเขียว เป็นต้น
- หากเด็กโตพอที่จะดื่มชาได้แล้ว ควรให้เขาดื่มชาที่มีโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คราบจุลินทรีย์เกาะติดฟันเด็ก
- ใช้ช้อนหรือไม้ไอติมขูดลิ้นเด็ก เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ลิ้นออก โดยขูดจากด้านในออกมาด้านนอก 10-15 ครั้ง
- กินผักสดเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของเหงือกและฟัน และช่วยทำความสะอาดช่องปาก
- ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี เพื่อช่วยลดการอักเสบ
- ให้เด็กรับประทานวิตามินซี เพื่อรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน
- ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลน้อย
- ให้เด็กแปรงลิ้นทุกครั้งที่แปรงฟัน เพื่อช่วยลดปัญหากลิ่นปาก
- ช่วยเด็กประคบร้อนบริเวณที่เหงือกอักเสบ
- ให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ และไม่ทำให้เด็กเกิดอาการเครียด
หากเด็ก ๆ ไม่ได้เหงือกอักเสบรุนแรง ก็อาจจะยังสามารถบรรเทาอาการด้วยวิธีเหล่านี้ได้ แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณแม่รู้สึกกังวลใจ หรือหากน้อง ๆ มีอาการน่าเป็นห่วง เหงือกอักเสบรุนแรง และปวดจนทนไม่ไหว ก็ควรพาน้อง ๆ เข้าพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ แม้ว่าจะรักษาจนหายดีแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพฟันของเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เขากลับมาเหงือกอักเสบได้อีกนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ยาสีฟันสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เริ่มต้นสุขภาพฟันที่ดีด้วยยาสีฟันที่ปลอดภัย
ที่มา : 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!