คุณแม่อารมณ์ดี กลายเป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าจะเกี่ยวข้องถึงลูกน้อยมั้ย หากมีความเครียดระหว่างหรือหลังการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำลังปรับเปลี่ยนขึ้นลงกะทันหัน สงสัยให้การควบคุมอารมณ์อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นเพื่อการดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ และเพื่อเป็นการเข้าใจการดูแลตัวเองเพื่อเลี้ยงลูกน้อย วันนี้ theAsianparent มีวิธีเข้าใจในอารมณ์ของคุณแม่ โดยคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน Good Doctor ที่มาให้ความรู้ผ่านรายการ TAP Ambassador กันค่ะ
การปรึกษากับนักจิตวิทยาในปัจจุบัน มีคุณแม่ทั้งที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ และหลังการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ส่วนใหญ่มักต้องเจอกับปัญหาการจัดการหรือการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง จนกลายเป็นความเครียดสะสม ซึ่งบางครั้งเรื่องนี้ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว
ในทางกลับกันหากคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วงที่อารมณ์ดีไม่มีภาวะหงุดหงิดหรือมีความเครียดแทรกซ้อนก็จะส่งผลดีต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ในเรื่องของการพัฒนาการสมองพัฒนาการทางด้านร่างกายรวมไปถึงอารมณ์ของทารกในครรภ์
ในส่วนของความเชื่อที่ว่าการหัวเราะบ่อย ๆ จะทำให้อายุยืนจริงมั้ย ต้องบอกเลยว่าข้อนี้มีส่วนเกี่ยวข้องค่ะ เพราะเมื่อไรที่เราหัวเราะจะช่วยลดความตึงของเส้นประสาทในร่างกาย อย่างเช่น ช่องปาก คอ เส้นประสาทหน้าอก หรือแม้กระทั่งท้อง อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยในการลดความเครียดลงไปได้เช่นกัน
ทางจิตวิทยาระบุไว้ว่า เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีความเครียดระดับที่สูง และมีการหัวเราะบ่อย ๆ แปลว่าคนนั้นสามารถรับมือกับความเครียดได้ดี ทำให้โอกาสที่จะอายุยืนสูงกว่าคนที่มีความเครียดมาก เพราะความเครียดเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาทิ ระบบไหลเวียนเลือด โรคหัวใจ ความดัน รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความเครียดกับผู้หญิง เพราะผู้หญิงอย่างเราเป็นทุกอย่างก็เครียดนะ
แม่ตั้งครรภ์ที่มีความเครียด ส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่
อารมณ์ของแม่ตั้งครรภ์ ส่งผลต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก เพราะในระหว่างที่เผชิญกับความเครียดนั้น อาจทำให้คุณแม่มีอาการเบื่ออาหาร หรือไม่อยากอาหารได้ ซึ่งพฤติกรรมนั้นส่งผลให้สารอาหารอาจจะไปเลี้ยงลูกน้อยได้ไม่เพียงพอ หรือแม่บางคนอาจจะมีอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ซึ่งก็ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์โดยตรง กรณีร้ายแรงที่สุดคุณแม่บางคนอาจจะมีอาการแท้งได้ค่ะ
วิธีป้องกันความเครียดระหว่างการตั้งครรภ์
ขั้นแรกของการป้องกันความเครียดของคุณแม่ก็คือการดูแลตัวเองค่ะ อาจจะเป็นวิธีที่ฝืนความเครียด แต่ก็ต้องพยายามทำค่ะ เพราะการไม่ไหลตามความเครียด และสร้างพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพของตัวเอง ย่อมเป็นข้อดีที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากนั้นการพยายามขอความช่วยเหลือ หรือระบายความเครียดออกมาเป็นคำพูด ให้คนรอบข้างเข้าใจ ก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้
นอกจากนั้นการพาตัวเองออกจากสถานการณ์ความเครียด หรือหนีจากสิ่งเร้าที่จะก่อให้เกิดความเครียด ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำแล้วได้ผลดี อาจจะดูเหมือนกับเป็นการหนีปัญหา แต่ในทางกลับกันการเลือกที่จะไม่เผชิญหน้าความเครียด ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาในระยะเวลาหนึ่งได้เช่นเดียวกันค่ะ
หากคุณแม่บางท่านที่กำลังเผชิญกับความเครียดระหว่างที่ตั้งครรภ์ การปรึกษาแพทย์หรือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นอีกทางเลือกที่เหมาะค่ะ เพราะความเครียดในบางครั้งอาจจะต้องพึ่งการกินยา แต่การจะกินยาชนิดใดก็ตาม ควรต้องมีการปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพราะยาบางชนิดอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและทารกในครรภ์ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางใจหรือทางร่างกาย การต้องกินยาเพื่อรักษาต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญค่ะ
คุณแม่ที่มีภาวะเครียดหลังคลอด ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
ต้องเข้าใจก่อนว่าหลังจากการคลอดลูก นับเป็นภาวะที่น่าห่วงที่สุดสำหรับคุณแม่มือใหม่ค่ะ เพราะหลังจากการคลอดลูกแล้วชีวิตหลังจากนั้น แทบจะเปลี่ยนจากหน้ามือไปเป็นหลังมือเลยค่ะ กิจวัตรประจำวันจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่บางท่านมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณแม่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้านี้
- สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
- มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว เป็นต้น
- ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแลหรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
- แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
- ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
- ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคยอดฮิตหน้าฝน ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง อย่าให้ลูกน้อยติด!
วิธีที่ทำให้เป็น คุณแม่อารมณ์ดี
อาจจะยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนอย่างเป็นกลางค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่คนไหนที่กำลังอยู่ในภาวะเครียด ลองเช็กอารมณ์ตัวเองดูค่ะ ว่าในวันนี้จาก 1-10 เราให้ระดับอารมณ์ของเราที่เท่าไร แต่เมื่อทำเรื่อย ๆ จนกลายเป็นนิสัย จะทำให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในแต่ละวันอารมณ์เป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นคนอารมณ์ดี คือการที่สามารถรับมือและควบคุมกับอารมณ์ของตัวเองได้
วิธีคลายเครียดขณะตั้งครรภ์
1. ทำกิจกรรมที่ชอบ
เช่น ฟังเพลง ดูหนังหรือละคร ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่อยากลอง เช่น งานศิลปะ จัดดอกไม้ วาดรูป เล่นโยคะ
2. หาคนพูดคุยด้วย
เช่น สามี หรือ คนในครอบครัว เพื่อน ๆ หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เหมือนกัน เพื่อระบายสิ่งที่กังวล และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
3. นึกถึงลูกในครรภ์
เมื่อเครียดการนึกถึงลูกน้อยจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายได้ ลูบและสัมผัสท้อง พูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายได้มาก
4. สร้างความสุขให้ตัวเอง
เช่น ออกไปข้างนอก นัดกินข้าวกับเพื่อน ชวนคุณพ่อไปเที่ยวต่างจังหวัด จะช่วยให้ผ่อนคลายได้
5. คิดบวก
มองโลกในแง่บวกกับทุก ๆ เรื่องที่ทำให้เครียด จะช่วยให้ผ่อนคลายลงได้
6. นั่งสมาธิ
การนั่งสมาธิ ส่งผลดีต่อแม่และลูกในครรภ์ เมื่อนั่งสมาธิลูกน้อยในครรภ์จะได้รับความสงบ จะส่งผลถึงพัฒนาการที่ดีทั้งสมองและจิตใจ
แม่เครียดเพราะลูกกรีดร้อง ทำอย่างไรดี
สำหรับลูกน้อยที่ยังอยู่ในช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง การกรีดร้องนับได้อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ดีหรือเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กที่ควรทำ เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางอารมณ์ อาการแบบนี้มักเกิดแค่เฉพาะตอนที่เด็กรู้สึกโดนขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ ผิดหวัง ซึ่งอาการเหล่านี้นับเป็นอาการเลียนแบบก็ว่าได้ พ่อแม่อาจต้องลองสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดนิสัยแบบนั้น
ในขณะเดียวกันเมื่อครอบครัวมีการอบรมด้วยการตี หรือการดุ ใช้เสียงดังใส่ เด็กจะมีการเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงความหวาดกลัว ซึ่งในระยะยาวอาจจะมีการเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมโกหกได้ ดังนั้นเมื่อลูกมีพฤติกรรมกรีดร้องเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ทางแก้ที่ดีคือการพาเด็กออกมาจากความรู้สึกดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการชวนทำกิจกรรมอื่น การพูดคุย การปลอบ ก็ล้วนแต่เป็นการรับมือที่ดีกว่าการดุหรือบังคับแน่นอนค่ะ
ความอารมณ์ดีไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์จากพ่อหรือแม่ หากลูกน้อยได้รับอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็จะได้รับพลังงานในด้านดี ๆ ตามไปด้วย เพราะในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนอย่างมาก การอยู่ไกลกันแต่พูดคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล ก็สามารถทำให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะอารมณ์ดีแบบพ่อแม่ได้เช่นกัน สำหรับบ้านไหนที่ต้องการฟังคำตอบเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณเจ สามารถเข้าไปรับฟังคำแนะนำเพิ่มเติมต่อได้ที่ Facebook : theAsianparent Thailand ต่อได้เลยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผื่นคัน ภัยใกล้ตัวที่พ่อแม่มองข้าม แต่เป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้พัฒนาการลูกสะดุด!
คราบฟันเหลือง ปัญหาเริ่มต้นสำหรับสุขภาพช่องปาก พร้อมวิธีดูแลฟันลูกน้อย
ลูกแพ้นมวัว ทำอย่างไรดี พร้อมไขข้อข้องใจวิธีรับมือ สำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย!
ที่มา : Facebook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!