พ่อแม่มือใหม่ อาจจะรู้สึกว่ามีอะไรต้องทำมากมายไปหมดในแต่ละวัน ซึ่งการทำความสะอาดหูลูกน้อย ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำ การใส่ใจกับความสะอาดของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญ หากเราละเลยไป อาจทำให้เด็กป่วยหรือรู้สึกไม่สบายตัวได้ในระยะยาว วันนี้ เราจะมาแชร์เทคนิค ทำความสะอาด หู เด็ก ให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันค่ะ
ขี้หูคืออะไร
ขี้หูคือของเหลวที่อยู่ในหูของคนเรา ประกอบไปด้วยเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ถูกปล่อยออกมาจากต่อมที่อยู่ในเยื่อบุหู แม้ว่าขี้หูจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในบางครั้ง แต่ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า สุขภาพหูของเรายังปกติดีอยู่ โดยขี้หูนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหรือเชื้อโรคเข้าสู่ในร่างกายเราได้ง่ายนั่นเอง
เด็กมีขี้หูขนาดไหน จึงถือว่าปกติ
แม้เด็ก ๆ จะอายุยังน้อย แต่การที่เด็กมีขี้หู ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ขี้หูของเด็ก อาจมีไม่เท่ากันในแต่ละข้าง หูข้างซ้ายอาจมีขี้หูเยอะกว่าหูข้างขวาได้ ไม่ใช่ผิดเรื่องปกติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าหูของน้อง ๆ อุดตันไปด้วยขี้หูที่แข็งหรือมีสีเหลืองอยู่เต็มไปหมด นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติก็เป็นได้
เด็กเจ็บหู เป็นเพราะขี้หู หรือหูติดเชื้อหรือเปล่า
หากลูก ๆ รู้สึกไม่สบายหู เขาจะเอามือดึงหู ถูหูของตัวเอง หรืออาจถึงขั้นเอามือจิ้มหูของตัวเองและพยายามเกาด้วย เพื่อบรรเทาความไม่สบายหูหรือเคืองหู ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นพฤติกรรมทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเด็กมีขี้หูสะสมเยอะจนเกินไป และโดยส่วนใหญ่ ขี้หูไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออันตรายต่อสุขภาพเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรดูแลลูก ๆ ไม่ให้เขามีขี้หูสะสมเยอะจนเกินไป วิธีสังเกตว่าลูกขี้หูเยอะหรือไม่ทำได้ง่าย ๆ โดยการมองเข้าไปในหูของลูก ว่าลูกมีขี้หูอุดตันแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง เด็กก็อาจติดเชื้อที่หูได้เนื่องจากสาเหตุบางประการ หากลูก ๆ ปวดหู มีไข้สูง และมีน้ำหนองไหลออกมาจากหู ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกกำลังติดเชื้อที่หู หากลูก ๆ มีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาโดยเร็วจะดีที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำเข้าหูลูก ตอนอาบน้ำสระผม อาจนำสู่ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
หู เด็ก เป็นสิ่งที่บอบบาง และควรดูแลอยู่เสมอ (ภาพจาก shutterstock.com)
วิธีทำความสะอาดหูเด็ก
เนื่องจากว่าเด็ก ๆ ยังอายุน้อยอยู่ วิธีทำความสะอาดหูที่ใช้กับผู้ใหญ่จึงอาจใช้ไม่ได้กับเด็ก ๆ หากเด็กเริ่มมีขี้หูสะสมเยอะ และคุณแม่อยากจะทำความสะอาดหูให้น้อง ๆ สามารถทำได้ ดังนี้
1. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด
ให้หาผ้านุ่ม ๆ ชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ จากนั้นใช้ผ้าเช็ดบริเวณรอบ ๆ หูเด็ก และเช็ดขี้หูที่ไหลออกมาหรือยื่นออกมานอกหูของลูกเบา ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ขี้หูมักจะหลุดออกมาง่าย ๆ หลังจากโดนน้ำ ทั้งนี้ ไม่ควรดันผ้าหรือดันทุรังยัดผ้าเข้าไปในหูของเด็ก เพื่อเช็ดขี้หูที่อุดอยู่ในหูลูก เพราะอาจทำให้ขี้หูอุดตันหูลูกมากขึ้นกว่าเดิม หากต้องการแคะขี้หูเด็กที่อุดตันออก ให้พาเด็กไปพบแพทย์ เพราะแพทย์จะมีเครื่องมือที่ช่วยแคะขี้หูเด็กออก คุณแม่ไม่ควรทำเอง
2. ใช้ยาหยอดหูเด็ก
หากขี้หูเด็กอยู่ลึกมาก อาจต้องใช้ยาหยอดหู เพื่อให้ขี้หูไหลออกมา แต่คุณแม่ควรเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ที่จะให้ลูกใช้ยาหยอดหูหรือรับประทานยาชนิดต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับเด็ก และเพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการใช้ที่เหมาะสม วิธีหยอดคือให้เด็กทารกนอนบนตัก โดยหันหูข้างที่มีขี้หูอุดตันเข้าหาตัวคุณแม่ จากนั้นให้คุณแม่ดึงความสนใจเด็กด้วยกิจกรรมอะไรก็ได้ และค่อย ๆ หยอดยาลงหูลูก ทั้งนี้ ถ้าจะให้ดี ควรทำในขณะที่เด็กง่วงนอน เพราะเด็กจะอยู่นิ่งมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคุณพ่อคุณแม่ที่คิดจะใช้คอตตอนบัด หรือสำลีก้าน เพื่อแคะหูเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ขี้หูเด็กอุดตันมากขึ้นกว่าเดิม นาน ๆ ไป อาจส่งผลเสียต่อเเก้วหูของเด็ก จนอาจทำให้แก้วหูของเด็กแตกได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อย่าใช้คอตตอนบัดปั่นหูลูก ถ้าไม่อยากเสียใจภายหลัง
ห้ามใช้ก้านสำลี แหย่หูของเด็กโดยเด็ดขาด (ภาพโดย devmaryna จาก freepik.com)
ข้อควรระวังในขณะทำความสะอาดหูลูกน้อย
การทำความสะอาดหูของเด็กไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเท่าไหร่ เพราะเด็กอายุยังน้อย ร่างกายบอบบาง หากทำรุนแรงไปเด็กอาจเจ็บได้ หากต้องทำความสะอาดหูเด็ก เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
สิ่งที่ควรทำ
- ก่อนทำความสะอาดหู หรือหยอดยาที่หูเด็ก ดูให้แน่ใจว่าลูกอยู่ในอาการสงบ ไม่ดิ้นไปดิ้นมา
- ใช้ผ้าสะอาดและขนนุ่มเช็ดหูเด็กเท่านั้น
- หากเด็กมีขี้หูอุดตันเยอะ ให้เข้าปรึกษาแพทย์
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- อย่าใช้ของแหลม ของมีคม ไม้ปั่นหู หรือสำลีก้านแคะขี้หูให้เด็ก
- อย่าใช้น้ำเย็นเช็ดขี้หูเด็ก
- อย่าฉีดน้ำหรือเทน้ำเข้าหูของเด็กโดยเด็ดขาด
- อย่าเช็ดหูเด็กแรงหรือยัดผ้าเข้าไปในหูเด็กลึกเกินไป
แม้ว่าการที่ลูก ๆ มีขี้หูนั้น จะเป็นเรื่องปกติของร่างกายคนเรา แต่คุณแม่ก็ยังคงต้องหมั่นสังเกตหูของลูกอยู่เสมอ ว่าเกิดความผิดปกติขึ้น หรือลูกมีบาดแผลหรือไม่ หากว่าลูกกำลังป่วยหรือไม่สบาย ก็จะได้พาเขาเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
แม่จ๋า! อ่านก่อนนะอย่าเพิ่งแคะหูลูกเพราะขี้หูมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
อะไรคือต้นเหตุของ “โรคหูติดเชื้อในเด็ก” และวิธีป้องกัน?
ลูกไม่ได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา จากโรคหวัดที่พ่อแม่คิดว่าจะหาย ลูกกลับเป็นโรคร้ายแรงกว่านั้น หูลูกติดเชื้อ
ที่มา : parenting.firstcry
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!