อาการแสบ คัน ที่เท้า เป็นอาการของ เชื้อราที่เท้า หรือ ที่รู้จักกันว่า ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า เป็นโรคที่มักพบได้ในผู้ชายมากกว่า แม้การติดเชื้อจะไม่เป็นอันตราย และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ควรป้องกันเอาไว้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และอาการลุกลามรุนแรง บทความนี้จะนำเสนอสาระ เกี่ยวกับ เชื้อราที่เท้า ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร วิธีการรักษา และป้องกันได้อย่างไร
เชื้อราที่เท้า คืออะไร?
โรคเชื้อราที่เท้า หรือ ที่รู้จักกันว่า “ฮ่องกงฟุต” หรือ “น้ำกัดเท้า” เป็นโรคที่มีอาการคันที่เกิดจากเชื้อราที่เท้า มักเกิดเมื่อมีอากาศร้อน และเท้าเกิดความชื้น ประกอบกับเหงื่อที่ไหลออกมา จึงเป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรก และทำให้เกิดเชื้อราที่มีชื้อว่า Dermatophytes ซึ่งเชื้อเกิดการเจริญเติบโต และการแพร่พันธุ์ได้ดีในอากาศที่ร้อน และชื้น
เชื้อราที่เท้าเกิดจากอะไร?
เชื้อราที่เท้า มีสาเหตุมาจากการเกิดเชื้อราบนผิวหนัง และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อราเหล่านี้ จะสามารถเติบโตและแพร่กระจายได้ดี ในบริเวณที่สภาพแวดล้อม อับ ชื้น และเชื้อราสามารถแพร่กระจาย ผ่านการสัมผัสที่ผิวหนังโดยตรง หรือ สิ่งปนเปื้อนที่มีเชื้อแฝงอยู่
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อราที่เท้า
- มีประวัติการเป็นเชื้อราที่เท้า
- มีเหงื่อออกที่เท้ามาก
- เท้าเปียก อับ ชื้น อยู่บ่อย ๆ
- ไม่รักษาความสะอาด ปล่อยให้เท้าสกปรก
- ใส่รองเท้า หรือ ถุงเท้า ที่มีความอับชื้น
- ใส่รองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี ทำให้มีเหงื่อออกเวลาสวมใส่
- การเดินเท้าเปล่าในพื้นที่อับชื้น และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา
- การใช้ผ้าเช็ดตัว ถุงเถ้า รองเท้า ร่วมกับผู้อื่น
- มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ภายในร่างกาย
อาการของเชื้อราที่เท้า
การติดเชื้อที่เท้า สามารถเกิดขึ้นได้กับเท้าทั้ง 2 ข้าง หรือ อาจเกิดในข้างใดข้างหนึ่ง อาการที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
- มีอาการคันที่เท้า
- มีผื่นแดงบริเวณเท้า และเป็นขุยที่ง่ามเท้า โดยมักมีอาการคันหลังจากถอดรองเท้า หรือถุงเท้าออก
- เกิดตุ่มน้ำเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้า หรือง่ามนิ้วเท้า
- ฝ่าเท้า และด้านข้างของเท้า มีอาการแห้งและตกสะเก็ด
- มีแผล หรือ มีของเหลว ที่มีกลิ่นเหม็นไหลออกจากแผล
การวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เท้า
แพทย์จะทำการสังเกตการติดเชื้อ ที่อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น คันเท้า โดยเฉพาะง่ามเท้า แต่ในกรณีที่ไม่แน่ชัด แพทย์อาจตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การเก็บผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติ เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ ด้วยการส่องกล้อง หรือ เพาะเชื้อ
การรักษาเชื้อราที่เท้า
การรักษาเชื้อราที่เท้ามีหลากหลายวิธี อาจใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา และอาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ซึ่งยาจะช่วยยับยังการเจริญเติบโต ของเชื้อรา และจะช่วยกำจัดเชื้อราในบริเวณที่ติดเชื้อ
การรักษาเชื้อราที่เท้าด้วยตัวเอง สามารถทำได้ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด ก่อนการทายา
- ทำความสะอาดบริเวณผิวหนัง ที่มีอาการคันก่อนการทายา
- ทายาบริเวณแผล และรอบ ๆ แผลที่มีอาการ
- ล้างมือให้สะอาด หลังการทายา
- ควรใช้ยาอย่างต่อเนื้อง ตามคำแนะนำบนเอกสารกำกับยา และคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร แม้อาการจะหายแล้ว แต่ต้องทำตามเพื่อให้มั่นใจว่า เชื้อราถูกกำจัดอย่างหมดจด
ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรดูแลความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้แผลที่เป็นอยู่ สามารถหายได้เร็วขึ้น และป้องกันไม่ให้กลับไปติดเชื้อซ้ำ หากทำการรักษาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แล้วอาการยังไม่หาย และไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด เพราะหากมีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยา เป็นยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือ จ่ายยาต้านเชื้อรา ที่มีฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น
การป้องกันเชื้อราที่เท้า
- ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นในทุก ๆ วัน และเช็ดให้แห้งเสมอ โดยเฉพาะบริเวณนิ้วเท้า
- สวมถุงเท้า และ รองเท้า ที่สามารถระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นจนเกิดไป
- ควรปล่อยให้เท้าได้ระบายอากาศบ้าง เพื่อลดโอกาสการเกิดความอับชื้น
- ไม่ควรสวมใส่รองเท้าคู่เดิมเป็นเวลาหลายวัน เพราะอาจทำให้เกิดการอับชื้น
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า ในสถานที่สาธารณะ
- ไม่ใช้ถุงเท้า ผ้าเช็ดเท้า หรือรองเท้า ร่วมกับผู้อื่น
- เช็ดทำความสะอาดรองเท้าของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าเปียก อับชื้น
- ทำความสะอาดห้องน้ำภายในบ้านบ่อย ๆ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
เชื้อราที่เท้า อาจไม่ใช่โรคที่สร้างความอันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ป่วยได้ไม่น้อย ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ทุก ๆ คนจึงควรป้องกันตนเอง ด้วยการรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ๆ เพื่อให้ห่างไกลโรค
ที่มาข้อมูล : pobpad bumrungrad
บทความที่น่าสนใจ :
เชื้อราที่เล็บคืออะไร? อาการเชื้อราที่เล็บเป็นอย่างไร? พร้อมวิธีรักษา
อากาศร้อน ระวังโรคผิวหนังจากเชื้อราในเด็ก
เชื้อราหน้าฝน มหันตภัยร้ายอันตรายต่อลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!