รับลมหนาวด้วย 5 เมนูต้านหวัด อร่อยได้ทุกวัย
แน่นอนว่าอากาศหนาวเย็นอย่างนี้ก็คงหนีไม่พ้นหวัด ฮัดชิ่ว ๆ กัน แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อย และง่าย มาทำความรู้จักและเข้าใจกว่าโรคหวัดนั้นแท้ที่จริงเป็นอย่างไรกันแน่
รู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคหวัด
โรคหวัด จัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection URI) โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส (Coryza viruses) เป็นสำคัญ และอาจมีเชื้อโรคชนิดอื่นปะปน เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่จมูกและคอ ส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวมแดง และมีการหลั่งสารที่เป็นเมือกออกมา โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัดปีละ 6 – 12 ครั้ง/ปี ส่วนผู้ใหญ่อาจจะ 2 – 4 ครั้ง/ปี
อาการของไข้หวัด
อาการที่เด่นชัด คือ อาการจาม น้ำมูกไหลนำมาก่อน บางรายมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย ตามปกติแล้วหวัดธรรมดามักจะหายขาดในระยะเวลา 2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดแก้วหูเนื่องจากสั่งน้ำมูกแรง เยื่อแก้วหูมีเลือดคั่ง หรือบางรายอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วย
การติดต่อ
1. ติดต่อทางน้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ปลิวมาจากการไอหรือจามผ่านทางลมหายใจ
2. เชื้อสามารถผ่านจากทางปากจากมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
3. ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ 1 – 2 วันก่อนการเกิดอาการและ 1 – 2 วันหลังจากเกิดอาการ
4. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อหวัดได้ง่าย คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี รวมถึงเด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพแออัด เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
การรักษา
1. ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ หากมีอาการไข้ก็ให้รับประทานยาลดไข้ พาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาจำพวก ยาแอสไพริน
2. ควรนอนพักผ่อนและดื่มน้ำให้มาก ๆ
3. ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
วิธีการป้องกันโรคหวัด
1.หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ในช่วงที่มีระบาดของไข้หวัด
2.ขณะที่ไอหรือจาม ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก
3.ควรล้างมือบ่อย ๆ
4.ไม่เอามือเข้าปากหรือขยี้ตา เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
5.อย่าอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัด
ข้อแตกต่างระหว่างไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดธรรมดา มักจะมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย คัดจมูกและจาม รวมถึงเจ็บคอ ซึ่งพบได้บ่อย ไอไม่มาก มีลักษณะไอแห้ง ๆ อาจมีโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วย
ไข้หวัดใหญ่ ไข้สูง 38 – 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 – 4 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อตามเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอ บางครั้งมีแน่นหน้าอก อาจมีโรคแทรกซ้อน คือ หลอดลมอักเสบหรือปอดบวม
ไขหวัดหากเป็นในผู้ใหญ่ก็ดูแลรักษากันไปตามอาการ หากเป็นในเด็กแล้ว แน่นอนว่าต้องมีร้องโยเย หงุดหงิดเพราะไม่สบายเนื้อสบายตัว ยิ่งอากาศเริ่มเย็นเช่นนี้ คงลีกเลี่ยงได้ยาก หากลูกน้อยเป็นหวัดแล้วมีวิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นหวัดมาฝากกันค่ะ
อ่านการดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นหวัด คลิกหน้าถัดไป
การดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นหวัด
1.ยาที่เด็กสามารถกินได้เมื่อเป็นหวัด ได้แก่
– ยาลดน้ำมูก ยาประเภทนี้มักจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรให้ลูกรับประทานยาเป็นเวลานานเพราะอาจเกิดผลเสียกับลูกได้
– ยาแก้ไอ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยา เพราะยาแก้ไอบางตัวมีอยู่ในกลุ่มยาขยายหลอดลม อาจทำให้รู้สึกใจสั่นและเหนื่อยได้
– ยาแก้แพ้ ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยาบางตัวมีส่วนผสมของสเตรียรอยด์ อาจมีผลข้างเคียงได้
– ยาลดไข้ หากไม่มีอาการไข้สูงมาก อาจใช้วิธีการเช็ดตัวเพื่อลดไข้จะดีกว่า หากจำเป็นต้องกินยาควรกินในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ฉลากยาแจ้งไว้ และปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยา
2.ในช่วงที่เป็นหวัดโดยเฉพาะทารกและเด็กเล็กจะสูญเสียความร้อนจากร่างกายได้ง่าย ดังนั้นเมื่อมีอาการหวัดและไอ ควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ลมโกรกหรืออยู่ในที่เย็นเกินไป
3.หากเด็กเป็นหวัด มีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ต่ำ ๆ แต่ยังหายใจเป็นปกติ คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องให้เด็กกินยาลดไข้ เพียงแต่เช็ดตัว สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น หากมีความจำเป็นต้องกินยาลดไข้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อน
4.หากลูกมีน้ำมูกใส ๆ หรือเริ่มเขียวข้นแล้ว การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีการที่ดีที่จะช่วยให้โพรงจมูกสะอาดและหายใจได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถเอาน้ำอุ่นใส่ชามให้เด็กสูดไอน้ำเข้าโพรงจมูกช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยไม่ควรให้เด็กทำด้วยตนเองอาจเกิดอันตรายได้
5.ในช่วงที่เด็กป่วยอาจไม่อยากดื่มนม ควรกระตุ้นให้เด็กกินอาหารอ่อนและดื่มน้ำทีละน้อย ๆ แต่ดื่มบ่อยครั้ง เมื่อเด็กหายป่วยแล้วควรเสริมอาหารเป้นพิเศาอีก 1 มื้อ อย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อชดเชยในส่วนที่ขาดไปในช่วงที่ป่วย
6.หวัดสามารถติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้น หากเด็กไอ จามหรือสั่งน้ำมูก ควรดูแลด้วยการให้เด็กปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง หากใช้มือป้องปาก ควรไปล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหากเด็กที่ไปโรงเรียนแล้วควรให้หยุดพักผ่อน 1 – 2 วัน อาการจะดีขึ้นและไม่ไปแพร่เชื้อโรคให้เพื่อน ๆ อีกด้วย
ได้ทราบกันแล้วถึงวิธีการดูแลลูกน้อยในยามป่วยด้วยโรคหวัด อย่างไรก็ดีการดูแลลูกอย่างถูกต้อง เป็นการช่วยป้องกันโรคหวัดหรือช่วยให้บรรเทาเบาบางจนหายดี แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ อาหารที่จะช่วยป้องกันโรคหวัดได้ เพราะอาหารบางชนิดมีส่วนประกอบจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต้านโรคหวัด เช่น ขิง หอมแดง เป็นต้น แต่อาหารสำหรับเด็ก ๆ คุณแม่คงต้องใช้วิธีการปรุงที่รสชาติไม่จัดจ้านเพราะไม่เช่นนั้นลูกน้อยคงไม่สามารถกินได้แน่ ๆ มาดูกันค่ะว่า อากาศหนาว ๆ เช่นนี้ จะทำอะไรเพื่อให้ลูกห่างไกลหวัดกันดี
อ่านเมนูต้านหวัดหน้าหนาว คลิกหน้าถัดไป
เมนูต้านหวัดหน้าหนาว
1.ซุปปลาสมุนไพร
อาหารจานนี้มีทั้งปลาและสมุนไพร ได้แก่ ตะไคร้ ขับเหงื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย มะกรูดช่วยขับเสมหะ แก้ไอ ข่า นอกจากจะช่วยขับลมแก้ท้องอืดแล้ว ยังช่วยขับเสมหะได้ดีอีกด้วย หมอแดง มีน้ำมันหอมระเหย ที่ทำให้หายใจคล่องขึ้น แก้อาการคัดจมูก ใบสะระแหน่ ช่วยรักษาอาการหวัดลมร้อนในได้
2.เบอร์เกอร์หมูกระเทียม
อาหารฝรั่งจานนี้ ช่วยหลีกหนีความจำเป็นหรือเบื่ออาหรให้กับลูกน้อยได้ อีกทั้งส่วนผสมที่ประกอบด้วยหอมแดง กระเทียม ซึ่งเป็นสุมนไพรอย่างดี ช่วยให้หายใจสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่เป็นหวัดคัดจมูกอยู่ เพราะน้ำมันหอมระเหยในหอมแดงและกระเทียม นอกจากจะช่วยให้หายใจคล่องแล้วยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อหวัดอีกด้วย
3.มันบดซอสส้ม
มีส่วนประกอบของมันเทศ ฟักทอง น้ำส้มคั้น ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ บี ซี และฟอสฟอรัส ช่วยในการย่อยและลดอาการอักเสบ อีกทั้งยังมีส่วนประกอบของขิงที่นำไปต้มในน้ำก่อนที่จะใส่มันเทศและฟักทองลงไป ขิงช่วยในการขับเสมหะได้อย่างดี
4.ปลากะพงอบวุ้นเส้น
นอกจากจะได้รับโปรตีนจากเนื้อหาปลาเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายแล้ว ส่วนประกอบของการอบวุ้นเส้นที่มีขิง กระเทียม รากผักชี ขึ้นฉ่าย ล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แก้ไอ ขับเสมหะ วุ้นเส้นยังเป็นอาหารจานโปรดที่เด็ก ๆ ชอบรับประทาน ความหอม อร่อย คงถูกปาก ถูกใจลูกน้อยอย่างแน่นอน
5.ต้มยำปลาทู
ต้มยำอาจเป็นเมนูของผู้ใหญ่แต่คุรแม่สามารถดัดแปลงมาทำให้ลูกกินได้ โดยไม่ต้องใช้พริกเป็นส่วนประกอบ แต่ยังคงใช้ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด น้ำมะนาว ช่วยปรุงแต่งรสชาติให้น่ารับประทาน คงความเป็นเอกลักษณ์ของต้มยำเช่นเดิม อาหารจานี้เรียกเหงื่อได้ดี ช่วยขับไอร้อนจากร่างกาย แก้อาการไอ ขับเสมหะ หายใจโล่งสะดวก แถมยังมีรสชาติเปรี้ยวของน้ำมะนาว ได้วิตามินซีอีกเต็ม ๆ คำ รับรองห่างไกลหวัดแน่นอนค่ะ
จะเห็นได้ว่า การป้องกันโรคหวัด การดูแลลูกน้อยในขณะป่วยเป็นไข้หวัด หรือแม้แต่การทำเมนูอาหารต้านหวัด ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากทำตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว รับรองได้ผลดีแน่ ๆ ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
ทำไมผู้หญิงจึงมีแนวโน้มเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนปกติ
https://www.bonappetit.com/recipes/slideshow/sick-recipes
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!