ฟันถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเด็ก ๆ เพราะช่วยให้เขาได้ลิ้มรสอาหารอร่อย ๆ หรือขบเคี้ยวขนมโปรดได้ตามใจหวัง อย่างไรก็ตาม ฝันร้ายอาจมาเยือนเด็ก ๆ หากเด็กฟันผุ อาหารที่เด็กกินแล้วเสี่ยงฟันผุ จะมีอะไรบ้าง เราจะมาเฉลยให้ฟังในบทความนี้
ฟันผุคืออะไร
ฟันผุ คือ ภาวะที่ฟันถูกทำลาย ซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์ในปาก ที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรด และกัดกร่อนฟันจนเกิดความเสียหาย ซึ่งเกิดจากน้ำตาลเหล่านั้น มักมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มที่รับประทานเข้าไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารที่ทำให้เด็กฟันผุ มักจะเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลในอาหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ น้ำตาลที่เติมลงในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ และน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารอยู่แล้วมาตั้งแต่ต้น โดยจะพบได้ในผลไม้ น้ำผึ้ง และนมสด ซึ่งน้ำตาลที่อยู่ในผลไม้บางชนิดก็ ทำให้เราฟันผุได้เช่นเดียวกัน
โดยปกติ เด็กที่ฟันผุอาจจะรู้สึกเสียวฟัน เมื่อกินอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด รวมทั้ง อาจมีจุดสีดำหรือน้ำตาลอยู่ที่ฟัน ทำให้ฟันดูไม่สวยงาม และยังอาจมีกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย ซึ่งหากคุณแม่สังเกตเห็นว่าน้อง ๆ มีอาการหรือภาวะเหล่านี้ รวมถึงหากน้อง ๆ รู้สึกปวดฟันตอนที่รับประทานของแข็ง หรือเจ็บปาก ควรพาน้อง ๆ ไปพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เพราะถ้าหากปล่อยไว้นาน เด็กอาจมีฟันแตกหักหรือเสียหาย มีปัญหาด้านการเคี้ยวอาหาร ฟันเคลื่อน ทานอาหารลำบาก เป็นฝีหรือหนองในปาก และอาจติดเชื้ออย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีป้องกันฟันน้ำนมผุ ทารกฟันผุง่าย ไม่อยากให้ลูกฟันผุ ต้องทำอย่างไร ทำไมทารกถึงฟันน้ำนมผุได้ง่าย?
การรับประทานขนม อาหารหวาน ทำให้ฟันผุได้ (ภาพโดย jcomp จาก freepik.com)
อาหารที่เด็กกินแล้วเสี่ยงฟันผุ
อาหารที่มักทำให้เด็กฟันผุส่วนใหญ่นั้น เป็นอาหารที่มีน้ำตาลเยอะ เคี้ยวยาก ซึ่งอาหารเหล่านี้ อาจไปติดอยู่ตามซอกฟัน จนทำให้เด็กแปรงฟันได้ไม่ทั่วถึง แถมผลไม้บางชนิดก็ยังทำให้ฟันผุได้ด้วย โดยอาหารที่ทำให้เด็กฟันผุได้ง่าย มีดังนี้
- ซอสปรุงรสอาหาร เช่น ซอสพาสต้า ซอสหมัก และซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
- อาหารที่รสเปรี้ยว วิตามินซีสูง เช่น ผักกาดดอง มะนาว สตรอเบอรี่ เกรปฟรุต เป็นต้น
- น้ำผลไม้ ผลไม้กระป๋องผสมน้ำเชื่อม หรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำเชื่อม
- ลูกอมทั่ว ๆ ไป ลูกอมคาราเมล ท็อฟฟี่
- น้ำอัดลม โซดา
- เค้ก และบิสกิต
- ขนมรสหวานต่าง ๆ
- ช็อคโกแลต
- นมและโยเกิร์ตปรุงรส
- ซีเรียลกล่อง ซีเรียลบาร์
- ผลไม้อบแห้ง
- ขนมมันฝรั่ง
- ขนมปังแผ่น
- ป๊อบคอร์น
- แยม
- กาแฟ
- อาหารอื่น ๆ ที่เติมน้ำตาล
ซึ่งหากคุณแม่กำลังหาอาหารอย่างอื่น มาทดแทนอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ แนะนำให้สอนน้อง ๆ ให้รับประทานผลไม้หรือผักสดอย่างกล้วย แตงกวา แครอท หรือจะให้กินเค้กข้าว และข้าวโพดคั่วแบบไม่ปรุงรสก็ได้ แต่ถ้าหากน้อง ๆ ยังอยากรับประทานอาหารที่เสี่ยงทำให้ฟันผุเหล่านี้อยู่ ก็ไม่ควรให้เขากินเยอะ และควรกำชับให้เขาแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีเศษอาหารเคลือบน้ำตาลติดค้างอยู่ที่ซอกฟัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : จริงเหรอ คนท้องฟันผุ ฟันกร่อน เลือดออกตามไรฟัน เพราะลูกในท้องแย่งแคลเซียม
อาหารช่วยป้องกันฟันผุ
หากคุณแม่กำลังหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการรับประทานอาหารให้น้อง ๆ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ ควรให้น้อง ๆ ทานอาหารดังต่อไปนี้
อาหารที่มีแคลเซียม แคลเซียมมีส่วนสำคัญในการป้องกันฟันผุ และเป็นสารอาหารจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งแคลเซียมมักอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โยเกิร์ต ชีส นอกจากนี้ ยังมีในผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี่ ปลากระป๋อง อัลมอนด์ หรือถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
ผลไม้และผักที่มีไฟเบอร์ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ จะช่วยให้ปากมีน้ำลายมากขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ โดยผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ได้แก่ อินทผาลัม ลูกเกด มะเดื่อ กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม ถั่วบรัสเซลส์ ถั่วงอก ถั่วลิสง อัลมอนด์ และรำ
ธัญพืช เมล็ดธัญพืชมีวิตามินบีและธาตุเหล็ก ซึ่งทำให้เหงือกแข็งแรง และมีแมกนีเซียม ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน นอกจากนี้ เมล็ดธัญพืชก็ยังมีไฟเบอร์สูงอีกด้วย หากต้องการให้เด็ก ๆ รับประทานเมล็ดธัญพืช ลองให้เขาทานข้าวกล้องธัญพืชที่ไม่ขัดสีหรือเส้นพาสต้าได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีให้ลูกเลิกขวด ลูกติดขวด ระวังฟันผุ แม่จะจับลูกเลิกนมมื้อดึกอย่างไร ให้ได้ผล!
การแปรงฟัน ช่วยป้องกันฟันผุได้ (ภาพโดย jcomp จาก freepik.com)
การรักษาฟันที่ถูกวิธี
นอกจากเรื่องของการรับประทานอาหารแล้ว คุณแม่ยังควรดูแลรักษาความสะอาดฟันของน้อง ๆ อยู่เสมอ เพราะการไม่ดูแลรักษาความสะอาดฟัน หรือการดูแลรักษาฟันที่ผิดวิธีนั้น อาจทำให้ฟันเด็กเกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีดูแลฟันเด็ก ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- สร้างนิสัยการกินที่ดีให้เด็ก โดยไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเยอะเกินไป และควรให้เด็กรับประทานเป็นเวลา
- พาเด็กเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันตั้งแต่อายุยังน้อย
- สอนให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกวิธี โดยควรแปรงฟันครั้งละ 3-5 นาที วันละ 2 ครั้ง คือในตอนเช้าและก่อนเข้านอน และให้บีบยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว
- ให้เด็กใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ขณะที่แปรงฟัน
- ไม่ปล่อยให้เด็กวิ่งไปมาขณะที่แปรงฟัน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ควรให้เด็กเข้ารับการตรวจฟันปีละ 2 ครั้ง หรืออย่างน้อยปีละครั้ง
- ไม่ให้เด็กดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำหวานจากขวดนม เพราะบางครั้ง เด็กอาจเผลอหลับในขณะที่อมจุกขวดนมอยู่ ทำให้น้ำผลไม้หรือน้ำหวานยังคงอยู่ในปากเด็ก
- ไม่ให้เด็กทานอาหารหรือขนมที่เหนียว ติดฟันได้ง่าย เพราะอาจทำให้บ้วนปากหรือแปรงฟันออกได้ไม่หมด
ทั้งนี้ อีกหนึ่งวิธีที่เป็นเกราะป้องกันฟัน และช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ฟันผุได้ง่าย คือการเคลือบฟลูออไรด์ ฟลูออไรด์ถือว่าเป็นแร่ธาตุที่เคลือบอยู่บริเวณฟัน ช่วยทำให้ฟันเราแข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แถมยังป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์เข้าทำลายฟันได้อีกด้วย โดยเด็ก ๆ สามารถเข้ารับการเคลือบฟันกับคุณหมอได้ เมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป หากคุณแม่กลัวว่าน้อง ๆ จะแปรงฟันไม่สะอาด หรืออาจดูแลฟันได้ไม่ดีพอ แนะนำให้พาน้อง ๆ ไปเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อช่วยน้อง ๆ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ ซึ่งหลังจากที่เคลือบฟลูออไรด์เสร็จ ก็ยังต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน และช่วยน้อง ๆ รักษาความสะอาดฟันอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยปละละเลย
และเนื่องจากว่าเด็ก ๆ ที่อายุยังน้อย อาจจะไม่รู้จักวิธีดูแลรักษาช่องปากและควบคุมอาหารการกินของตนเอง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณแม่ที่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยน้อง ๆ ซึ่งการสอนให้เด็ก ๆ มีวินัยในการรับประทานอาหารและดูแลช่องปากตั้งแต่ยังอายุยังน้อยนั้น จะช่วยสร้างเสริมนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก จวบจนเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ ฟันถือเป็นอวัยวะชิ้นที่สำคัญชิ้นหนึ่งของร่างกายคนเรา เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบดอาหารก่อนที่เราจะกลืนอาหารลงไปในกระเพาะ หากฟันของเด็กทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอหรือเกิดความเสียหาย ก็อาจส่งผลต่อการรับประทานอาหารของเด็ก รวมถึงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กได้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ฟันผุในเด็ก ฝันร้ายของเด็ก ๆ ที่ไม่อยากไปหาหมอฟันอีกเลย
หนูน้อย 5 ขวบฟันผุ 14 ซี่ หมอต้องวางยาสลบ ถอน-ครอบฟัน เย็บอีก 9 เข็ม
เหงือกเป็นหนอง ฟันผุมาก พรุนทั้งปาก เพราะลูกงอแงแม่ไม่อยากแปรงฟัน
ที่มา : 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!