ทารกฟันบิ่น จากการล้ม ตกจากเตียง หรือเผลอไปกัดของแข็ง ไม่ว่าจะปัจจัยไหนอาจทำให้ฟันตาย จนเกิดการติดเชื้อได้ หากเป็นฟันน้ำนมอาจต้องถอนออก หากเป็นฟันแท้ต้องรักษาตามความเหมาะสม ไม่ควรปล่อยไว้จนเกิดอันตราย เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก และการใช้ชีวิตประจำวันของลูกน้อยต่อไปได้
ฟันบิ่น คืออะไร อันตรายต่อลูกน้อยหรือเปล่า ?
ฟันบิ่น (Chipped Teeth) คือ การที่ฟันมีรอยย่นเกิดขึ้นบนผิวของฟัน ส่งผลให้ฟันมีลักษณะที่ผิดรูปไปจากเดิม เช่น ฟันไม่เรียบ, ฟันแหลมคม เป็นต้น นอกจากนี้หากไม่ทำการรักษาอย่างถูกวิธี ในอนาคตจะทำให้ลูกน้อยมีอาการเสียวฟันเมื่อต้องรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำได้ ถึงแม้ฟันของทารกจะเป็นฟันน้ำนม ซึ่งต่อไปฟันแท้จะขึ้นมาทดแทน แต่การเกิดฟันบิ่นอาจเป็นสัญญาณของประสาทฟันที่เสียหายได้
ทำไมลูกน้อยจึงมีฟันบิ่น ?
สาเหตุเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุในผู้ใหญ่ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ฟันเสื่อมสภาพ เป็นต้น แต่สำหรับเด็กทารก จะเหลือเพียงไม่กี่ปัจจัยเท่านั้น ที่จะทำให้ฟันของทารกตัวน้อยเกิดการบิ่น หรือแตกได้ ดังนี้
- การเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ สำหรับในเด็กส่วนมากจะเป็นการหกล้ม จากการเดิน , วิ่ง หรือตกเตียง เป็นต้น
- ผลกระทบจากภาวะกรดไหลย้อน อาการแสบร้อนบริเวณกลางอก
- มีการสะสมของแบคทีเรียจากการทานอาหารรสหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาล
- ทารกเผลอไปกัดวัตถุที่มีความแข็งมากเกินไป
สำหรับทารกความเสี่ยงส่วนมากจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุเป็นหลัก เนื่องจากปัจจัยด้านอาหารมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เพราะในวัยนี้จะทานอาหารตามโภชนาการอยู่แล้ว การระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ และวัตถุที่เป็นอันตรายต่อทารกจึงเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฟันลูกเก เกิดจากอะไร ฟันน้ำนมเกส่งผลต่อฟันแท้มากแค่ไหน ?
วิดีโอจาก : ช่วยกันเลี้ยงลูก
ภาวะแทรกซ้อนต้องระวังเมื่อฟันน้ำนมบิ่น
จากที่กล่าวไปว่าหากฟันน้ำนมของทารกน้อยบิ่น อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้ จึงควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เพราะอาจมีความเสี่ยงรากฟันติดเชื้อ ทำให้เกิดกลิ่นปากที่เหม็น หรือมีกลิ่นเปรี้ยวได้ , มีอาการเสียวฟันเมื่อทานของร้อน หรือของเย็น , เสี่ยงเป็นไข้ และมีปัญหาต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นต้น
ฟันบิ่นในเด็กรักษาได้ไหม
นพ.เศกสันต์ ศรีมหาราชา กลุ่มงานศัลยศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อฟันของทารกบิ่น หรือแตก หากเป็นฟันน้ำนม แนะนำให้ทำการถอนออกทันที กรณีที่เป็นเด็กที่โตมากขึ้นและมีฟันแท้ พบว่าฟันแท้มีลักษณะบิ่น หากเกิดจากอุบัติเหตุ ฟันบริเวณนั้นอาจเป็นฟันตายได้ ซึ่งมีอันตราย เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นหนองบริเวณโพรงประสาท ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องรักษารากฟัน หรือหากพบว่าฟันมีคม แพทย์จะทำให้คมหาย เพื่อป้องกันการบาดจนเป็นแผลในช่องปาก
หากปัญหาเกิดกับฟันแท้ จากการกระแทกหรืออุบัติเหตุ ควรรีบพาลูกน้อยมารักษาให้เร็วที่สุด โดยแพทย์แนะนำภายใน 1 – 2 ชั่วโมง หลังจากเกิดเหตุ เนื่องจากจะมีโอกาสซ่อมแซมฟันได้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น หากมาพบแพทย์ช้า จะทำให้เสี่ยงต่อฟันต่ำกว่าระดับ หรือฟันยึดเชื่อมกระดูกเป็นชิ้นเดียวกันได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : พาลูกหาหมอฟันครั้งแรก พาลูกไปหาหมอ แม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ห้ามให้ฟันแห้งระหว่างมาพบแพทย์ จะเสี่ยงมากขึ้น
ขณะที่กำลังเดินทางมาพบแพทย์หลังจากที่ฟันบิ่นจนแตก หรือหัก ผู้ปกครองอาจต้องการทำความสะอาดซี่ฟันด้วยการเช็ดจนสะอาด เพราะเมื่อฟันซี่ที่เสียหายแห้ง จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ตายไปด้วย ส่งผลให้การรักษาอาจไม่ได้ผลที่ดีมากนัก หรืออาจเกิดปัญหาตามมาหลังจากการรักษาผ่านพ้นไปแล้ว เช่น การละลายตัวของเนื้อเยื่อรอบ ๆ รากฟัน จนรากฟันเกิดการละลายตัวได้
การเก็บรักษาฟันที่บิ่นจนหักนั้นให้ผู้ปกครองนำฟันไปแกว่งในน้ำเพียงนิดหน่อยเท่านั้น และคอยดูแลไม่ให้แห้ง นพ.เศกสันต์ ศรีมหาราชา กล่าวว่าอาจรักษาความชุ่มชื้นด้วยการใส่ในน้ำนมจืดธรรมดาก็ได้ หรือหากสามารถใส่กลับคืนที่เบ้าฟันแล้วให้เด็กอมไว้ห้ามกลืนก็เป็นวิธีที่สามารถทำได้ แต่แพทย์ไม่แนะนำในเด็กที่เล็กมากเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายได้
ป้องกันลูกน้อยให้พ้นจากฟันบิ่น ทำอย่างไร ?
เนื่องจากสาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุของเด็กเล็ก เนื่องจากอยู่ในช่วงหัดเดิน หรือเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ก็กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ อาจชอบวิ่งเล่น หรือปีนป่าย จึงควรป้องกันการเกิดอุบัติเหตุให้มากที่สุด และดูแลเรื่องการทานอาหารร่วมด้วย ได้แก่
- คอยดูไม่ให้ทารกกัด หรือเคี้ยวของแข็ง ด้วยการเก็บสิ่งของที่มีความเสี่ยงให้พ้นจากมือเด็กอย่างเป็นระเบียบมากที่สุด พยายามไม่ให้ทารกพ้นจากระยะสายตา
- ระวังเรื่องการเลือกมื้ออาหาร เน้นอาหารที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของทารก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน ซึ่งเกิดจากการใช้น้ำตาล และไม่ควรให้ทารกลองทานอาหารที่มีรสจัด
- จัดพื้นที่ของทารกให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ควรดูพื้นที่ไม่ให้เด็กสามารถปีนป่ายที่สูงจนเกิดความเสี่ยง หรือคลุมพื้นแข็งให้ดี เนื่องจากเมื่อลูกหัดเดิน อาจเกิดการล้มได้
- คอยสังเกตฟันของลูกอยู่เรื่อย ๆ เพราะเด็กอาจล้มโดยที่เราไม่รู้ หรืออาจมีอาการฟันบิ่นมาจากสาเหตุอื่นได้ หากพบฟันผิดปกติ ต่อให้เป็นเพียงฟันน้ำนม ให้พาลูกไปพบแพทย์ได้เลย
ทารกฟันบิ่น หรือเด็กเล็กฟันบิ่น สามารถส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟันบิ่น ฟันหัก หรือฟันห่าง ควรให้ความสำคัญกับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวลูกน้อยเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกฟันขึ้น งอแง ร้องไห้ มีไข้ มีวิธีลดอาการปวดของลูกอย่างไร
ฟันของลูกจะขึ้นตอนไหน ฟันน้ำนม ฟันกระต่าย ฟันกราม ซี่ไหนขึ้นเมื่อไหร่
ดูแลฟันลูกทำยังไง ? ผู้ปกครองควรจะดูแลสุขภาพฟันเจ้าตัวน้อยอย่างไรบ้าง ?
ที่มาข้อมูล : 1 , nakornthon , mgronline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!