ในยุคปัจจุบัน นมเปรี้ยวกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่เด็กๆ หลายคนชื่นชอบ ด้วยรสชาติที่อร่อย สดชื่น หาซื้อง่าย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ทราบหรือไม่ว่า นมเปรี้ยวที่ดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพนั้น แท้จริงแล้ว อาจแฝงอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพฟันของลูกน้อย โดยเฉพาะปัญหา ฟันผุ
ไขข้อสงสัย นมเปรี้ยวเสี่ยงทำลูก ฟันผุ จริงหรือไม่?
นมเปรี้ยว หลายชนิดมีปริมาณน้ำตาลสูง มากถึง 22 กรัม ซึ่งมากกว่า นมจืด ที่มีน้ำตาลประมาณ 7 กรัม น้ำตาลเหล่านี้เปรียบเสมือนอาหารชั้นดีสำหรับ แบคทีเรียในช่องปาก เพราะแบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็น กรด ส่งผลต่อการกัดเซาะผิวฟันและทำให้เกิดเป็น ฟันผุ ได้ง่าย
โดยปกติแล้ว น้ำลาย จะทำหน้าที่ปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องปากให้เป็นกลาง ที่ค่า pH 7 แต่เมื่อเรารับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเข้าไป เชื้อแบคทีเรีย ในช่องปากจะนำอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ และ ผลิตกรดออกมา ส่งผลให้สภาวะความเป็นกรดด่างในช่องปากต่ำกว่าค่าวิกฤติของชั้นเคลือบฟัน ที่ pH 5.2 – 5.5 ซึ่งจะทำให้เกิด การสูญเสียแร่ธาตุ จากผิวเคลือบฟันและทำให้เกิดฟันผุขึ้นได้ ดังนั้นการให้ลูกดื่มนมเปรี้ยวโดยเฉพาะช่วงก่อนนอน โดยไม่แปรงฟันเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้อย่างมากค่ะ
อย่างไรก็ตามนมเปรี้ยวก็ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายเด็กอยู่บ้าง ผู้ปกครองจึงควรจำกัดปริมาณการดื่มนมเปรี้ยวของเด็ก เลือกนมเปรี้ยวที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ และ ให้เด็กแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอหลังดื่มนมเปรี้ยวทุกครั้ง
นมเปรี้ยว หรือ นมหวาน เลือกดื่มแบบไหนให้ลูกสุขภาพฟันดี?
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน อาจมีความเชื่อที่ว่า นมหวาน สามารถเป็นนมทางเลือก แทนนมเปรี้ยวได้ เพราะคิดว่านมเปรี้ยวมีปริมาณน้ำตาลสูง แต่ความจริงแล้ว นมทุกชนิด ล้วนมีน้ำตาล ซึ่ง นมหวาน ทั่วไปในท้องตลาดก็มีน้ำตาลสูงถึง 12-20 กรัม ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดการละลายแร่ธาตุของผิวฟันเกิดเป็นฟันผุ ได้เช่นเดียวกับนมเปรี้ยว
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติ ของนมที่ส่งผลต่อสุขภาพฟัน พฤติกรรมการรับประทานอาหารก็มีผลเช่นกัน การกินนมบ่อย ๆ หรือกินจุบจิบ เช่น เด็กที่ดูดนมหลับคาขวดนม ไม่ว่าจะเป็นนมจืดหรือนมหวานก็มีโอกาสเกิดฟันผุได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ปกครองควร เลือกนมให้เหมาะสมกับเด็กและสอนให้เด็กมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดี เพื่อสุขภาพฟันที่แข็งแรง
ถึงแม้ว่านมทุกชนิดจะมีน้ำตาล อย่างไรก็ตามทางทันตแพทย์แนะนำให้เด็กดื่มนมจืดแทนนมรสชาติอื่น ๆ เพราะมีน้ำตาลน้อยกว่าส่งผลดีต่อสุขภาพฟันมากกว่า
หากลูกมีปัญหาเรื่องการ ถ่ายยาก หรือ ท้องผูก อาจเสริมด้วยโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไม่เติมน้ำตาลหรือผลไม้สดเป็นชิ้น ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำลาย ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น
ทั้งนี้ ควรเลือกนมจืดที่ไม่มีไขมันหรือไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลหรือนมข้นหวานเพิ่มเติม สอนให้เด็กแปรงฟันหลังดื่มนมทุกครั้ง เพื่อสุขภาพฟันที่แข็งแรง
วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก ๆ ป้องกัน ฟันผุ พร้อมรับมือกับอาหารและเครื่องดื่มเสี่ยง
การดูแลช่องปากของลูกหลาน นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพโดยรวมของพวกเขา ฟันผุเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการเรียนรู้ เพื่อป้องกันฟันผุ เรามีวิธีแนะนำ ดังนี้ค่ะ
1) ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล
- จำกัดการทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลระหว่างมื้ออาหาร ไม่ควรเกินวันละ 2 ครั้ง
- เลือกทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลในมื้ออาหารหลัก
- หลีกเลี่ยงการทานขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน และอาหารแปรรูป
2) ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
- แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน
- เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน
- แปรงฟันอย่างน้อย 2 นาที ครอบคลุมทุกซี่
- ใช้ไหมขัดฟันทุกวันก่อนนอน เพื่อกำจัดคราบแบคทีเรียตามซอกฟันและร่องเหงือก เด็ก ๆ สามารถให้ผู้เชี่ยวชาญทำความสะอาดเท่านั้น
- บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหลังทานอาหารทุกครั้ง
- พบทันตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและรับคำแนะนำ ทุก ๆ 6 เดือน
บทความที่เกี่ยวข้อง: กลิ่นปากเด็ก บอกอะไรได้บ้าง
3) เลือกนมที่เหมาะสม
- เด็กเล็กควรดื่มนมจืด ไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน
- หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลหรือนมข้นหวานในนม
- สอนให้เด็กดื่มนมจากแก้ว แทนการดูดจากขวด
รอยยิ้มสดใส ของลูกน้อยบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดี การดูแลช่องปากอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยป้องกัน ฟันผุ เสริมสร้างพัฒนาการ ควบคุมอาหาร แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอและเลือกนมที่เหมาะสม ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปากของลูกน้อยในระยะยาว
ที่มา: BrightTV, Colgate
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
แปรงลิ้น ตอนแปรงฟันดีอย่างไร? สอนลูกแปรงลิ้น จำเป็นหรือไม่
โรคอัณฑะบิดหมุน อย่ามองข้าม! ภัยเงียบสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกชาย
ฟันลูกเปลี่ยนเป็นสีเทาอันตรายไหม ฟันตายในเด็ก ต้องทำอย่างไรบ้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!