หากจะบอกว่าการเลี้ยงลูกสมัยนี้ยากกว่าสมัยก่อนมากก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกด้วยสาเหตุของสื่อและสิ่งเร้าต่างๆ ที่มากระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงแบนไปจากที่ควรจะเป็น รวมไปถึงวิธีการเลี้ยงลูกของเด็กแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกันไป ยิ่ง พัฒนาการเด็ก 8 ขวบ ด้วยแล้วอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เองก็อาจรับมือไม่ทันเด็กในวัยนี้จึงมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะ ที่เห็นเด่นชัดคือ เรื่องอารมณ์ และการค้นหาตัวตนของตัวเอง ในด้านอารมณ์ เด็กจะเริ่มแสดงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เริ่มเถียง ไม่ฟัง มีคิดต่างจากพ่อแม่บ้าง ไม่ชอบถูกสั่งให้ทำ เพราะรู้สึกเสียความเป็นตัวเอง ฉะนั้นแนวทางการเลี้ยงลูกวัยนี้คือ พ่อแม่จะพูดอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องเปิดใจฟังลูกเยอะๆ เพื่อให้รู้จักตัวตนเขามากๆ
พัฒนาการเด็ก 8 ขวบ มีอะไรบ้าง
การเลี้ยงลูกแต่ละวัยความมีความแตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยและความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอ หากคุณพ่อคุณแม่ มีความรู้และประสบการณ์ก็จะสามารถรับมือและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เสมือนเป็นเกาะป้องกันให้ลูกเติบโตอย่างเหมาะสมและสมวัยได้ไม่ยาก เด็ก 8 ปีคือ ขวบวัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มค้นหาตัวเองและหาจุดยึดโยงกับโลกใบใหญ่ ทำให้เด็กในวัยนี้มีพัฒนาการเปลี่ยนไปหลายด้าน เริ่มทดลองและเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง และนี่คือบางส่วนของ พัฒนาการเด็ก 8 ขวบ
พัฒนาการด้านสติปัญญา
เด็กวัย 8 ขวบเป็นช่วงวัยที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นช่วงที่สมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เด็กๆ ในวัยนี้เริ่มมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างน่าทึ่งพัฒนาการทางสมองที่สำคัญ เช่น
- เด็กเริ่มมีความเข้าใจแนวคิดซับซ้อนมากขึ้น
- มีพัฒนาการด้านความจำ สามารถจำข้อมูลและนำมาใช้ได้
- ทักษะการแก้ปัญหา สามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้หลากหลายวิธี
- มีความสนใจในเรื่องรอบตัว เริ่มสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ หรือสังคม
พัฒนาการด้านร่างกาย
เด็กวัยนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งส่วนสูงและน้ำหนัก แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตจะช้าลงเมื่อเทียบกับวัยเด็กปฐมวัย พัฒนาการของกล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และมัดเล็กของเด็กพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้คล่องแคล่ว เช่น วิ่ง จับลูกบอล หรือเขียนหนังสือ รวมถึงความแข็งแรงของกระดูกที่มีความยืดหยุ่น ทำให้เด็กสามารถออกกำลังกายและทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ การประสานงานระหว่างสายตาและมือ ทักษะนี้พัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมที่ละเอียดอ่อนได้มากขึ้น เช่น การวาดรูป การต่อเลโก้ หรือการเล่นดนตรี เด็กบางคนอาจเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น เด็กหญิงอาจเริ่มมีหน้าอกโตขึ้น หรือเด็กชายอาจมีเสียงแตก
พัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์
เด็กวัย 8 ขวบเป็นช่วงวัยที่น่าสนใจ เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ เริ่มเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น และเริ่มเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น
- เริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับเพื่อนๆ มากขึ้น มีการแบ่งกลุ่มเพื่อน และเรียนรู้ที่จะร่วมมือกับผู้อื่น
- เริ่มเรียนรู้ทักษะทางสังคมต่างๆ เช่น การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการแก้ไขปัญหา
- เริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น การช่วยเหลือทำงานบ้าน หรือการดูแลของเล่นของตนเอง
- เริ่มเข้าใจกฎระเบียบของสังคมและโรงเรียนมากขึ้น และสามารถปฏิบัติตามได้
- เริ่มมีอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ได้มีแค่อารมณ์ดีหรืออารมณ์เสีย แต่สามารถรู้สึกทั้งดีและเสียในเวลาเดียวกันได้
- เริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีช่วงที่อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย
- เริ่มมีความต้องการที่จะเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนๆ และต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
- เด็กจะรู้สึกภูมิใจเมื่อทำอะไรได้สำเร็จ และต้องการคำชมเชยจากผู้ใหญ่
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังและปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กวัย 8 ขวบ
1. ปัญหาพฤติกรรม
ดื้อรั้นและขัดคำสั่งเพราะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น อาจทำให้เกิดการขัดแย้งกับผู้ใหญ่ได้บ่อย อารมณ์แปรปรวนยังไม่คงที่ อาจมีช่วงที่อารมณ์ดีและอารมณ์เสียสลับกันไป ขาดสมาธิอาจทำให้มีปัญหาในการตั้งใจเรียนหรือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นเวลานาน และกลัวที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้
2. ปัญหาทางสังคม
เรื่องการเข้าสังคมบางครั้งเด็กอาจมีปัญหาในการเข้ากับเพื่อนๆ หรือรู้สึกโดดเดี่ยว รวมถึงการที่เด็กอาจถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง อีกทั้งเด็กอาจมีการเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ และรู้สึกด้อยกว่า
3. ปัญหาสุขภาพ
เด็กวัยนี้มักมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ฝุ่น หรือแพ้ละอองเกสร อีกทั้งยังมีปัญหาในการนอนหลับ หรือหลับไม่สนิท รวมถึงบางครั้งเด็กอาจมีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
6 สิ่งที่ควรส่งเสริมลูกวัย 8 ขวบ
พัฒนาการเด็กวัย 8 ขวบ เป็นวัยที่ต้องมีการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมจากที่เคยอยู่กับบ้าน มีพ่อแม่คอยดูแลและทำอะไรให้ตลอด พอเข้าโรงเรียนประถมต้องมาเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษมากขึ้น โดยให้ลองสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกดูนะคะ เพราะด้วยวัยที่โตขึ้น พัฒนาการต่างๆก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ซึ่งพ่อแม่ก็ควรช่วยส่งเสริมลูกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
1. ส่งเสริมความรู้
ด้วยการส่งเสริมให้ลูกรักอ่าน เพราะลูกกำลังเข้าสู่วัยเรียน การอ่านหนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหนังสือคลังความรู้ที่สามารถพัฒนาลูกให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัย และควรมีหนังสือที่มีเรื่องเกี่ยวกับโลกภายนอก เพราะวัยนี้เป็นช่วงที่เขาเริ่มเข้าสู่สังคม
2. ส่งเสริมกิจกรรม
เพราะลูกวัยนี้เป็นวัยที่พัฒนาการทางด้านร่างกาย พ่อแม่จึงควรส่งเสริมด้วยการให้เขาได้ทำกิจกรรมที่ต้องมีการใช้กล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือช่วยงานบ้านบ้าง เพื่อให้เขาได้รู้สึกกระฉับกระเฉงคล่องตัวอยู่ตลอดเวลา
3. ส่งเสริมการเข้าสังคม
เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเริ่มเข้าสังคม ได้เจอเพื่อนใหม่ ครูใหม่ โรงเรียนใหม่ ย่อมทำให้เขารู้สึกกลัว พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้พบเจอคนอื่นบ้าง ด้วยการ พาไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ พาเป็นเล่นสนามกีฬาหมู่บ้าน พาไปซื้อของที่ตลาด พาไปเล่นกับเพื่อนบ้าน ก็จะทำให้เขาได้คุ้นเคยกับผู้คนและเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ง่ายเวลาไปโรงเรียน
4. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนของลูก
ครอบครัวควรเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ พ่อแม่ควรจัดมุมสำหรับการทำบ้านให้ลูก มีที่นั่งสบายให้พอดีกับร่างกายของเขาจะได้ไม่ปวดหลัง มีแสงสว่างที่เพียงพอเพื่อให้ลูกปวดตา อาจจะมีการจัดแจกันดอกไม้ หรือภาพวาดศิลปะ จัดชั้นวางหนังสือให้เป็นระเบียบ สบายตา ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกอยากทำการบ้านมากขึ้น และมีสมาธิในการทำการบ้านมากขึ้นด้วย
5. ส่งเสริมให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด
เพราะบ่อยครั้งที่พ่อแม่คอยขีดเส้นให้ลูก เช่น ได้เรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จนลูกไม่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่กล้าดื้อกับพ่อแม่เท่าไหร่ จึงไม่กล้าพูดความจริง ดังนั้นพ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าลูกเก่งหรือถนัดเรื่องอะไร ก็ควรจะส่งเสริมเขา เพื่อให้เขาได้ดึงศักยภาพออกมา ไม่ใช่เก็บกดไว้เพราะพ่อแม่ห้าม
6. ปลูกฝังความเป็นไทย
เพราะในยุคสมัยที่สามารถสื่อการกันข้ามโลกภายในเสี้ยววินาที จึงทำให้เด็กหลายมองว่าความเป็นไทยคือเรื่องเก่าโบราณน่าเบื่อ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าไทยมีวัฒนธรรมที่งดงามสืบต่อกันมาช้านานแม้ต่างประเทศยังชื่นชม ด้วยให้ลูกได้ทำสิ่งง่าย ๆ ที่เขาทำได้ เช่น การยกมือไหว้ การพูดขอบคุณ การพูดครับ/ค่ะ กับผู้ใหญ่ พูดคำขอโทษเมื่อทำผิด ก็จะเป็นการปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทยให้ลูกตั้งแต่ยังเด็ก
คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของลูก ให้เขาค่อย ๆ ซึมซับและปฏิบัติตัว เพราะเด็กวัยนี้ยังต้องการให้พ่อแม่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำและเป็นเกราะกำบัง จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องส่งเสริมเขาให้มีพัฒนาการที่ดีสมวัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
8 เคล็ดลับเด็ด ในการเลี้ยงลูกวัย 8 ขวบ
- สื่อสารอย่างเปิดใจ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างให้ลูกกล้าพูดคุยและแสดงความคิดเห็นฟังลูกอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ตั้งคำถามเปิด เพื่อกระตุ้นให้ลูกคิดและแสดงความคิดเห็น สอนให้ลูกแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ
- ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก รวมถึงเข้าใจและเห็นอกเห็นใจความรู้สึกของลูก ยอมรับความรู้สึกของลูก แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม สอนให้ลูกจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
- ส่งเสริมความเป็นอิสระให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกมีส่วนร่วมในการวางแผนกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง
- สร้างกฎระเบียบที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ อธิบายเหตุผลของกฎระเบียบให้ลูกฟัง ให้รางวัลเมื่อลูกทำตามกฎ
- เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ ดังนั้นพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆ ด้าน แสดงความรักและความเคารพต่อผู้อื่น แก้ปัญหาด้วยความสงบ
- ส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมที่สนใจ จะช่วยให้ลูกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และพัฒนาความสามารถพิเศษ สนับสนุนให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น กีฬา ดนตรี หรือศิลปะ ช่วยลูกค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบและมีความสุข
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกโดยใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เล่นเกม เล่าเรื่อง หรือทำกิจกรรมที่ลูกสนใจร่วมกัน แสดงความรักและความห่วงใยต่อลูก
- สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือตัวเองและแบ่งเบาภาระในครอบครัว มอบหมายงานบ้านให้ลูกทำตามความเหมาะสม สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อสิ่งของของตนเอง
พอทราบกันแล้วไช่ไหมคะว่า พัฒนาการเด็ก 8 ขวบ นั้นจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านสังคมเป็นส่วนใหญ่ เพราะช่วงนี้เป็นวัยที่ลูกได้สนุกกับการเรียนรู้ที่โรงเรียน ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ๆ ได้มีเพื่อนสนิท แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระวังปัญหาเกี่ยวกับ ลูกร้องให้ไม่อยากโปโรงเรียน นั่นเพราะอาจจะเกิดจากการที่ลูกมีปัญหา ลูกโดนบุลลี่ หรือมีปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ แต่ไม่กล้าปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นอย่าลืมหมั่นสังเกตุพฤติกรรมของลูกด้วยนะคะ
ที่มา : ryt9.com , mappalearning , nst-inter
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการเด็ก 9 ขวบ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่พ่อแม่ควรรู้ !
10 อันดับ โรงเรียนมัธยมต้นในกทม. ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ปี 2567
มารยาททางสังคมที่ควรสอนลูก ปลูกฝังลูกให้เป็นเด็กดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!