รู้ตัวหรือไม่ว่า ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ นั่นเท่ากับคุณแม่กำลังอุ้มท้องทารกได้ราว 2 เดือนครึ่งแล้ว ในช่วงเวลานี้ ความสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์อาจจะคลายกังวลลงไปบ้าง ที่สำคัญรูปร่างก็ดูเหมือนคนท้องแล้วจริง ๆ นี่คือเหตุผลที่สัปดาห์นี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการซื้อของใช้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสื้อผ้าหลวม ๆ ตัวใหม่เอาไว้ และอาจเป็นครั้งแรกสำหรับเสื้อผ้าสำหรับคนท้องด้วย
ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ มีสัญญาณบอกอย่างไร ?
คุณแม่ลองสังเกตดูว่า เข้าสัปดาห์ที่ 10 นี้ ร่างกายของเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ขณะที่ลูกน้อยกำลังเติบโตในครรภ์นั้น เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อของคุณแม่ก็กำลังยืดออกตามอายุครรภ์เช่นกัน หน้าอกจะขยายขึ้นและจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้น อาการทั่วไปที่เจอเมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์มีดังต่อไปนี้
1. มีเลือดออก
อาการเลือดออกจากช่องคลอด ตอนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายเสมอไป และอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นเพราะเส้นเลือดมีการพัฒนา และ ขยายตัวในช่วงบริเวณช่องคลอดเลยทำให้เกิดเลือดไหลออกมาได้ อีกทั้งมดลูกขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนช่วงท้องก็เริ่มรู้สึกว่าเริ่มป่องพองขึ้นมาบ้างแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลือดออกตอนท้องเป็นอะไรไหม เลือดออกแบบไหนต้องไปหาหมอด่วน
2. ปวดหัว ปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ทั่วไป ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงรู้สึกปวดท้องนั้น ก็เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั่นเอง เช่นเดียวกันกับอาการปวดหัว ที่มักจะเกิดขึ้นเพราะความเครียด หรือ ได้รับการพักผ่อนน้อย ก็เป็นได้ แต่ถ้าหากคุณแม่ เรื่องมีอาการปวดหัว ปวดท้องหนักจนทนไม่ไหว ให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
3. แพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ แต่ในช่วงไตรมาสแรกอาการแพ้ท้องจะหนักที่สุด คุณแม่จะรู้สึก คลื่นไส้ ปวดหัว อยากอาเจียน ส่วนวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่ มีอาการเบาลงนั้นก็มีหลายวิธีเช่น พยายามไม่เครียด ดื่มน้ำ เยอะ ๆ หรือ กินผลไม้ ก็จะสามารถลดการแพ้ท้องได้
วิดีโอจาก : DrNoon Channel
4. หน้าอกขยาย
ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกได้ว่า หน้าอกของจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากมีการเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างน้ำนมมาหลายสัปดาห์แล้ว และหน้าอกจะค่อย ๆ ขยายต่อไปเรื่อย ๆ จนเข้าไตรมาสที่สองและสาม อาการจะกลับมาปกติ
5. อารมณ์แปรปรวน
ยังอยู่ในช่วงไตรมาสแรก เพียง 2 เดือนกว่า ๆ อารมณ์ของคุณแม่ยังถูกเร้าด้วยฮอร์โมนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ฉะนั้น คุณพ่อควรเข้าใจว่า อาการเช่นนี้ คืออาการปกติของคนท้อง ไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพกายใจแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ คุณแม่ก็ต้องการการเอาใจใส่ดูแลมาก ๆ
6. รู้สึกอ่อนเพลียทั้งวัน
ช่วงแรก ๆ นี้ คุณแม่จะรู้สึกหมดแรง อ่อนเพลีย ไม่อยากทำอะไร ยิ่งแพ้ท้องด้วยแล้ว ไม่ใช่แค่ร่างกายของคุณแม่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงทารกให้เติบโตในครรภ์ แต่คุณแม่อาจจะนอนได้ไม่ดี จำไว้ว่าตอนตั้งครรภ์การพักผ่อนสำคัญที่สุด
7. ตกขาว
ถ้ายังมีตกขาวอยู่ ไม่ต้องกังวลไป เพราะมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศมากขึ้น ประกอบกับการผลิตเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีตกขาวลักษณะใสและไม่มีกลิ่นออกมามากกว่าเดิม แต่อย่าลืมว่า แท้จริงการตกขาวคือการกำจัดแบคทีเรียแบบธรรมชาติ หากตกขาวมีสี มีเลือดปน มีกลิ่นไม่ดี หรือทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบาย ควรรีบไปพบแพทย์
8. เห็นเส้นเลือดที่ชัดขึ้น
ระวังเรื่องเส้นเลือดขอดเมื่อท้องเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เส้นเลือดสีเข้มเป็นการเตือนที่ชัดเจนว่า มีการไหลเวียนเลือดที่มากขึ้นในร่างกายคุณแม่เพื่อลูกน้อยที่กำลังโต คุณแม่ต้องเริ่มหารองเท้าสำหรับคนท้องมาใส่แล้ว
9. ระบบการทำงานภายในแปรปรวน
เข้าสัปดาห์ที่ 10 หัวใจของคุณแม่ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะหัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังต่อไปหล่อเลี้ยงมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ระบบกระเพาะทำให้คุณแม่เหมือนกับว่าในร่างกายมีลมเยอะมาก มักจะเรอและผายลมอยู่บ่อย ๆ ในคนท้องส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเอง คุณแม่อย่าเป็นกังวลไป พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนนั้นสำคัญกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มากที่สุด
พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 10
- ในสัปดาห์นี้ถ้าเปรียบเทียบกับขนาดของผลไม้ ทารกในท้องแม่มีขนาดเท่าลูกพรุนหรือส้มจี๊ด ส่วนสมองของทารกในครรภ์สามารถสร้างเซลล์ประสาทได้เกือบ 250,000 เซลล์ต่อนาทีเลยทีเดียว
- ทารกมีความยาวประมาณ 1.2 นิ้ว น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.14 ออนซ์ และจะตัวยาวขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ 10 สัปดาห์
- เริ่มได้ยินเสียงหัวใจของทารกในครรภ์เต้นถี่ ๆ ผ่านทางเครื่องช่วยฟังของคุณหมอ คุณพ่อคุณแม่จะตื่นเต้นน่าดู
- ในส่วนของไต ไตของทารกเริ่มมีระบบกรองเลือดและผลิตปัสสาวะตั้งแต่สัปดาห์นี้ มีการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารแล้ว และเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำคร่ำในอีกไม่ช้า ตับและลำไส้ ก็เริ่มทำงานด้วยตนเองแล้ว
- มือและเท้า ที่ก่อนหน้านี้มีลักษณะเป็นพังผืด เริ่มแยกตัวออกมาเป็นนิ้ว ทารกอาจงอข้อศอกและข้อมือได้แล้วด้วย
- ในส่วนของศีรษะของทารก ยังคงโตผิดสัดส่วน แต่หลังจาก 10 สัปดาห์ไปแล้ว เขาจะมีคอและสร้างกระดูกทั้งหมดบนใบหน้า คุณแม่จะมองเห็นหน้าของลูกน้อยชัดเจนขึ้นถ้าทำอัลตราซาวนด์ในช่วงเวลานี้
- กระดูกเริ่มมีความแข็งแรงมากขึ้น หน่อฟันของทารกจะเริ่มปรากฏ เริ่มมีเส้นขนชุดแรก เรียกว่า Lanugo เป็นขนเส้นเล็ก ๆ ทั่วตัวลูกน้อย อวัยวะหลายส่วนพัฒนาเต็มที่แล้ว ทั้งหูชั้นในและหูชั้นนอก หน่อฟัน และดวงตา
- เล็บเริ่มงอกขึ้นมาบนนิ้วมือ และนิ้วเท้าแล้ว และเส้นผมบาง ๆ รวมทั้งขนอ่อน ๆ ก็เริ่มขึ้นแล้วเช่นกัน แขนเริ่มงอเตรียมพร้อมสำหรับข้อมือในอนาคต
- สำหรับทารกเพศชาย ลูกอัณฑะจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ต้องทำอะไรบ้าง ?
1. อาหารมีประโยชน์
รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เน้นอาหารที่มีโฟเลต ผลไม้ที่มีวิตามินและไฟเบอร์ และดื่มนมเพื่อเสริมแคลเซียมให้กับร่างกายและสร้างกระดูกและฟันให้ทารกในครรภ์ ทั้งนี้ลองดื่มชาสมุนไพรแทนการดื่มชาและกาแฟที่ดื่มเป็นประจำ เพื่อลดปริมาณคาเฟอีนที่อันตรายต่อเด็กทารก ชาสมุนไพรจะดีต่อสุขภาพและเหมาะกับคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องมากกว่า
2. อาหารไม่ควรรับประทาน
ไม่รับประทานอาหารดิบอย่างเช่น ซาชิมิ หรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น เนื้อกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไข่ลวกที่ยังไม่สุก อย่ารับประทานอาหารรสจัดเกินไป ไม่ว่าจะเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด
3. เสริมแคลเซียม
ช่วงสัปดาห์นี้ควรดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมากขึ้น เพราะลูกน้อยในครรภ์เริ่มมีหน่อฟันแล้ว คุณแม่ต้องพยายามรักษาสุขภาพอย่าให้เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะอุณหภูมิสูงในร่างกายคุณแม่จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งกระทบต่อพัฒนาการฟันของลูกน้อยในครรภ์ เรียกว่า คุณแม่ต้องดูแลตัวเองพร้อมกับดูแลลูกเลยทีเดียว
4. เตรียมของว่าง
แน่นอนว่า เวลาคุณแม่รู้สึกเวียนหัวต้องอยากกินอะไรสักอย่าง เตรียมของว่างไว้ใกล้มือเผื่อขบเคี้ยวเนื่องจากอาการแพ้ท้องทำให้กินอะไรไม่ได้มาก
5. อย่ายกของหนัก
ช่วงนี้จะมีอาการหน้ามืดบ่อย ๆ เนื่องจากร่างกายคุณแม่มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ พยายามอย่าลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป ลุกขึ้นยืนช้า ๆ ให้เวลาร่างกายปรับความดันโลหิตก่อนนะคะ อย่ายกของหนัก เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
6. เปลี่ยนไลฟ์สไตล์
แนะนำให้คุณแม่ใส่ชุดหรือกางเกงที่เอวหลวม ๆ หน่อย จะได้ไม่อึดอัดท้อง เวลานั่ง เดิน หรือขยับตัวก็จะได้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น และหาเวลาไปออกไปเดินออกกำลังกายเบา ๆ รับอากาศบริสุทธิ์เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยให้คุณมีอารมณ์ที่แจ่มใสมากขึ้นด้วย
7. ฝากครรภ์
หากไปฝากครรภ์ครั้งแรกมาแล้ว แต่ถ้าสามีของคุณไม่ได้ไปฝากครรภ์ครั้งแรกด้วย ก็ถือโอกาสชวนคุณสามีไปหาหมอด้วยกันในครั้งหน้า เขาจะได้มีไอเดียว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต้องเตรียมรับมืออย่างไร อย่าลืมปรึกษาแพทย์เรื่องออกกำลังกายและการเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับคนท้องระยะนี้
การอัลตราซาวนด์ในช่วง ท้อง 10 สัปดาห์
ในช่วงนี้คุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์ได้แล้ว เพื่อตรวจพบความผิดปกติของยีนในช่วงไตรมาสแรก และตรวจความเสี่ยงในการเป็นดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติของโครโมโซม เพื่อหาทางป้องกันหรือแก้ไขกันต่อไป อัลตราซาวนด์ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะทารกไม่ใช่แค่เอ็มบริโออีกต่อไป เป็นตัวอ่อนที่มีระยะพัฒนาการที่ต่างกัน ระยะเอ็มบริโอคือการสร้างอวัยวะสำคัญ ทั้งสมอง หัวใจ และปอด รวมถึงแขนและขาด้วย แต่เมื่อลูกเป็นตัวอ่อน อวัยวะเหล่านั้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว กำลังพัฒนาและเติบโต ซึ่งทารกกำลังสร้างข้อต่อแขน กระดูกอ่อน และกระดูก ส่วนของเล็บและเส้นผมก็เริ่มปรากฏขึ้นมาในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเจาะน้ำคร่ำ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติเพิ่มเติม
สัปดาห์ที่ 10 ถือ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่คุณแม่ตัดสินใจว่าจะตรวจความผิดปกติของดีเอ็นเอในยีนหรือไม่ การตรวจนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องทำเสมอไป แต่หากคุณแม่พร้อมก็ควรมีที่ปรึกษาด้านพันธุศาสตร์สามารถช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้ว่าจะตรวจหรือไม่โดยดูจากประวัติครอบครัวและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้ลูกออกมาแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์11 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ที่มา :whattoexpect , mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!