ถ้าพูดถึงเรื่องความฉลาดของเด็ก เราก็มักจะนึกถึงคำว่า “ไอคิว – IQ” ซึ่งถือเป็นความฉลาดด้านสติปัญญา และตามด้วย “อีคิว – EQ” ซึ่งเป็นความฉลาดทางอารมณ์ แต่ว่าในปัจจุบัน พ่อแม่หลาย ๆ คนก็พยายามปลูกฝังลูกฉลาดในหลาย ๆ ด้านมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของคำว่า ความฉลาดของเด็กยุคใหม่ ที่ต้องมีไว้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม วันนี้เราจะเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังเกี่ยวกับ 11Q ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ ความฉลาดของเด็ก ๆ มาอ่านกันเลยค่ะ
ความฉลาดของเด็กยุคใหม่ทั้ง 11 Q ที่พ่อแม่ควรเสริมสร้างให้ลูก มีอะไรบ้าง
11Q ที่เรากล่าวถึงในตอนแรก คือ 11 Quotients หรือ ความฉลาดของเด็ก ๆ ทั้ง 11 ด้านนั่นเอง ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าทักษะเหล่านี้ ค่อนข้างสำคัญสำหรับเด็ก และจะดีมาก ๆ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังลูกได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ซึ่ง Q ที่พ่อแม่อาจคุ้นหูกันหน่อยก็จะมี IQ กับ EQ แต่วันนี้ยังมีอีก 9Q ที่น่าสนใจ ที่พ่อแม่ควรปลูกฝังเติมเต็มให้ความฉลาดของเด็ก มาดูกันนะคะว่ามีอะไรบ้าง
ความฉลาดทางสติปัญญา IQ
IQ คืออะไร … ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับคำว่า IQ กันก่อน IQ หรือ เรียกสั้น ๆ ว่าอายุสมอง คือ สิ่งที่บ่งบอกได้ว่าสมองเรา มีการทำงานดีมากแค่ไหน โดยระดับของ IQ นั้น จะได้มาจากการทดสอบเชาวน์ปัญญา และนำไปเปรียบเทียบกับคนทั่ว ๆ ไปที่ทำแบบทดสอบ หากค่าสมองที่ได้มีค่าเท่ากับอายุจริงของเรา เราจะได้ค่าเฉลี่ยออกมาที่ 100 นั่นเองค่ะ ส่วนใหญ่แล้ว คนปกติก็จะมี IQ กันอยู่ที่ประมาณ 90-110 แต่ถ้าพ่อแม่คนไหนทำแบบทดสอบกันแล้วมี IQ ที่สูงกว่านี้ ก็คาดว่าน่าจะมีสติปัญญาที่โดดเด่น และสามารถส่งผลไปถึงลูก ๆ ได้อีกด้วย ระดับคะแนน จะแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
- คะแนน 130 + เท่ากับ ฉลาดมาก
- คะแนน 120-129 เท่ากับ ฉลาด
- คะแนน 110-119 เท่ากับ สูงกว่าปกติ
- คะแนน 90-99 เท่ากับ ปกติ
- คะแนน 80-89 เท่ากับ ต่ำกว่าปกติ
- คะแนน 70-79 เท่ากับ คาบเส้น
- คะแนนต่ำกว่า 70 เท่ากับ ปัญญาอ่อน
อย่างไรก็ตาม ความฉลาดทางสติปัญญาของเด็กนั้น จะสามารถแบ่งออกได้หลายด้าน ไม่ใช่แค่ความเก่งในส่วนของวิชาการ แต่ยังมีทักษะทางด้านดนตรี กีฬา และจิตวิทยาด้วย หน้าที่ของพ่อแม่ คือคอยสังเกตว่า ลูกมีทักษะทางใด และคอยสนับสนุนให้เขาไปให้สุดทาง เพื่อให้เก่งในด้านนั้น ๆ ไปเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 วิธีเพิ่ม EQ ให้ลูก เพราะสมัยนี้ แค่ฉลาดอย่างเดียวไม่พอ
ความฉลาดทางด้านอารมณ์ EQ
ความฉลาดของเด็กทางด้านอารมณ์ EQ หรือ Emotional Quotient มักจะมาคู่กับ IQ ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้ทางด้านสติปัญญา ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ คือ การที่เรามีความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของตนเองได้ดี รู้จักควบคุมอารมณ์ และแสดงออกทางอารมณ์ได้ถูกกาลเทศะ ซึ่งในปัจจุบัน จะพบว่าคนที่มี EQ สูง มักจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่มี IQ สูง นั่นหมายความว่า ถึงเด็กจะเรียนเก่งแค่ไหน แต่หากเด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ จะใช้ชีวิตในสังคมลำบาก
ความฉลาดของเด็กทางคุณธรรม หรือ MQ
MQ หรือ Moral Quotient คือ ความฉลาดทางคุณธรรม ซึ่งมีจิตแพทย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ระบุไว้ว่า MQ ไม่สามารถฝึกกันได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ดังนั้น พ่อแม่จึงจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งทำได้โดยการปลูกฝังศีลธรรมโดยตรงให้เด็ก การเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็ก และการให้ความรักและการสอนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ค่ะ
ความฉลาดของเด็กทางสังคม SQ
คนเราไม่สามารถอยู่หรือดำรงชีวิตคนเดียวได้ ดังนั้น SQ หรือ Social Quotient จึงเป็นความฉลาดทางสังคมที่เด็กควรมี SQ จะเป็นสิ่งที่อธิบายเกี่ยวกับการปรับตัวของเด็ก ๆ ในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของพวกเขา ซึ่งในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นตลอดเวลา พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักเคารพผู้อื่น แม้จะไม่รู้จักหรือสนิทด้วยก็ตาม เช่น การขอบคุณพนักงานทำความสะอาด หรือพนักงานที่ช่วยถูพื้นหรือเก็บของให้เรา เป็นต้น
ความฉลาดของเด็กในการริเริ่มสร้างสรรค์ CQ
ความฉลาดของเด็กอีกหนึ่งประเภทที่น่าสนใจ คือ CQ หรือ Creative Quotient เป็นความฉลาดในด้านความสร้างสรรค์ หรือ การสร้างจินตนาการ ปัจจุบันมีแนวคิดแบบใหม่ออกมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากงานศิลปะ การประดิษฐ์ และการละเล่น ซึ่งการที่เด็กมีจินตนาการนั้น เป็นเรื่องดี เพราะบางทีจินตนาการก็สำคัญกว่าความรู้
ความฉลาดของเด็กในการเล่น PQ
PQ หรือ Play Quotient คือ ความฉลาดของเด็กในการเล่น เด็กบางคน ถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม แต่เด็กอีกหลาย ๆ คนก็เล่นเกมแล้วฉลาด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ต้องส่งเสริมให้ลูก ๆ เล่นเกมทุกชนิดนะคะ เพียงแต่การเล่นนั้น ถือเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการและความสามารถของเด็กได้ในหลาย ๆ ด้านได้ เช่น พัฒนาการด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ และสังคม เป็นต้น ดังนั้น PQ จึงเน้นให้พ่อแม่เป็นเล่นกับลูกบ่อย ๆ หรือร่วมเล่นเกมกับพวกเขาไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกมกีฬา เกมฝึกสมองต่าง ๆ หรือบอร์ดเกมสำหรับเด็ก ที่สำคัญการเล่นเกมยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย ด้วย PQ ผ่านการเล่นของลูกน้อย
ความฉลาดของเด็กในการแก้ปัญหา AQ
AQ หรือ Adversity Quotient คือ ความฉลาดของเด็กในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตัวเอง สอนให้เขารู้จักความยืดหยุ่น โดยอาจเริ่มจากภายในครอบครัวก่อน เช่น หากตุ๊กตาของลูกเลอะเทอะ ลองให้หัดให้เขารู้จักเก็บของให้เป็นที่ เป็นต้น เพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ความฉลาดของเด็กในการดูแลสุขภาพ HQ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดูแลสุขภาพลูกนั้น สำคัญสำหรับพ่อแม่มากที่สุด HQ หรือ Health Quotient คือ ความฉลาดในการดูแลสุขภาพ ซึ่งทำได้โดยการเสริมสร้างทักษะหรือปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักรักสุขภาพตนเอง เป็นสิ่งที่ควรเริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ เช่น หากลูกรู้สึกเป็นไข้ ก็ควรบอกเขาว่าอย่าไปตากแดด อย่ารับประทานอาหารรสชาติเผ็ดมากไปจะปวดท้อง หรืออย่ากินเค็มเกินไปจะทำให้ร่างกายบวมน้ำ เป็นต้น
ความฉลาดของเด็กในการมองโลกในแง่ดี OQ
OQ หรือ Optimist Quotient เป็นความฉลาดในการมองโลกในแง่ดี คิดบวก ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องปลูกฝังลูกให้เป็นคนที่มีความคิดดี รู้จักการพูดดี ทำดี มองโลกในแง่บวก เช่น รู้จักการแบ่งปัน มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ส่งเสริมให้ลูกกล้าคิด กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นต้น รวมถึงการสอนให้ลูกรู้จักการช่วยเหลือตัวเองในด้านต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้
ความสามารถในการคิด TQ
TQ หรือ Thinking Quotient คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องเป็นความคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำแนวความคิดนั้น ๆ ไปใช้ให้เกิดคุณค่าได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้เด็กรู้จักมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดประยุกต์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยอาจเชื่อมโยงการเรียนวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย ว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ ถึงเกิดข้ึน เกิดจากอะไร และจะจัดการยังไง เวลาเด็ก ๆ เจอสิ่งใหม่ ๆ ก็จะเกิดความสนุกในการค้นหาคำตอบ รู้จักแก้ปัญหาค่ะ
ความฉลาดของเด็กที่เข้าใจชีวิต NQ
NQ หรือ Natural Quotient คือการเลี้ยงลูกให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ใส่ใจกับความเป็นไปของลูก เข้าใจธรรมชาติ พฤติกรรม และนิสัยของลูก ซึ่งถือเป็นการเลี้ยงลูกแบบไม่กดดันให้พวกเขาโตกว่าวัย หรือห้ามทุกสิ่งอย่าง เช่น ห้ามวิ่ง เดี๋ยวหกล้ม ห้ามอ่านการ์ตูนเพราะกลัวลูกไม่อ่านหนังสือเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ พ่อแม่ไม่ควรกดดันหรือบังคับให้ลูกมีพัฒนาการที่เกินตัว เช่น ให้ลูกกินโชว์ลงยูทูป ให้ลูกแต่งหน้าเพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย เป็นต้น พ่อแม่ควรให้ลูกเจริญเติบโตสนุกไปตามวัย รู้จักเลี้ยงสัตว์ และเมตตาเอ็นดูสัตว์เลี้ยงด้วย
บทความที่น่าสนใจ : ฝึกจำให้เป็นภาพ เคล็ดลับห้ามพลาด พลัสความฉลาดลูกด้วยการมองเห็น
ความฉลาดของเด็ก พ่อแม่สร้างได้ง่าย ๆ จาก 10 วิธีนี้
ตอนนี้ หลายคนอาจกำลังสงสัย ว่าเราจะสามารถสร้างความฉลาดทั้ง 11 อย่างได้อย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วทำได้ไม่ยาก ดังนี้ค่ะ
1. พ่อแม่ต้องให้ความรักให้ลูกเสมอ
การให้ความรักกับลูก สามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด ทางอารมณ์ หรือทางการกระทำ คุณพ่อคุณแม่ สามารถแสดงออกได้ด้วยการกอด การยิ้มให้ การสัมผัส และการโอบไหล่ลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายที่บ่งบอกถึงความรักเป็นอย่างดี
2. พ่อแม่ต้องรู้จักสร้างครอบครัวให้มีความสุข
ความสุข คือการที่ลูกได้เห็นว่าพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีทัศนคติที่ดี และแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเลี้ยงลูกที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แม้อาจจะมีขัดแย้งกันบ้าง แต่ต้องหาตรงกลางที่ลงตัวโดยไม่ทำร้ายลูกทางอ้อม
3. พ่อแม่ต้องเข้าใจในพัฒนาการของลูก
ความฉลาดของเด็ก จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการที่พ่อแม่ปล่อยให้เขารู้จักเติบโตอย่างธรรมชาติ เพราะในแต่ละวัยจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนไป อย่ากดดันเด็กเกินไปจนทำให้เกิดความเครียดทั้งครอบครัวนะคะ
4. เวลาในการเลี้ยงลูก
เวลาคือ คำสั้น ๆ แต่คือสิ่งที่ลูก ๆ โหยหามากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่นั้น คุณพ่อจะทำงานนอกบ้าน ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก แต่ควรแบ่งเวลาและหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าเขาขาดความรักจากคนใดคนหนึ่งไป
5. สอนให้ลูกรักตัวเอง
เราควรสอนให้ลูกรู้จักเคารพตัวเอง รู้จักคุณค่าของตัวเอง และรักตัวเอง เพราะจะทำให้เขารู้จักสร้างสิ่งดี ๆ ให้ตัวเอง รวมถึงให้คนรอบ ๆ ตัว แต่ไม่ใช่ว่าสอนให้ลูกเห็นแก่ตัวนะคะ พ่อแม่ต้องชื่นชมลูกตามสมควรหากลูกทำดี หรือประสบความสำเร็จในสิ่งที่ลูกพยายามทำ รวมถึงการให้กำลังใจเมื่อลูกผิดหวังหรือท้อแท้
6. พ่อแม่ต้องให้อิสระกับลูกในการตัดสินใจ
วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ และกล้าลอง ในขั้นแรก อาจจะไม่ต้องชี้นำทางความคิดให้ลูก แต่ให้ลองแนะนำ ว่าสิ่งที่ลูกต้องการทำนั้นว่าอันตรายหรือไม่ และควรให้อิสระกับลูกในการตัดสินใจ
7. สอนให้ลูกช่วยเหลือผู้อื่น
พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสอนให้พวกเขารู้จักช่วยเหลือผู้อื่นตามสมควร ไม่รังแกคนที่อ่อนแอกว่า รู้จักพูดขอบคุณแม้แต่กับคนที่ไม่รู้จัก
8. พ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักวิเคราะห์ด้วยหลักของเหตุผล
พ่อแม่ควรเริ่มสอนให้ลูกรู้จักคิดตั้งแต่ยังเด็ก เช่น หากลูกต้องการของเล่นที่แพงมาก แต่เขามีอยู่แล้ว พ่อแม่ควรพูดกับเขาด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ถามถึงเหตุผลว่าจำเป็นมากแค่ไหนต้องมี หากลูกต้องเก็บเงินซื้อของที่มีอยู่แล้ว ลูกคิดว่ามันสำคัญมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
9. สอนให้ลูกมีความสุข
สอนให้ลูกรู้จักมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว คือ การสร้างความฉลาดของเด็กอีกทางหนึ่ง เราอาจสอนให้ลูกอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูการ์ตูน หรือทำงานอดิเรก เช่น หาของสะสม ปลูกต้นไม้ง่าย ๆ ทำอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้มีมุมแห่งความสุขที่เป็นของตัวเอง
10. พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก
แม้ว่าพ่อแม่จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกได้ เช่น การมีความรับผิดชอบ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เป็นคนขยันและตรงต่อเวลา หรือมีความชำนาญในงานที่ตนเองทำ
บทความที่น่าสนใจ :
วิธีกระตุ้นสมองทารกแรกเกิด เคล็ดลับความฉลาดของเด็กที่พ่อแม่ช่วยได้!
คนไอคิวสูงมองโลกอย่างไร
นมแม่ช่วยเพิ่มไอคิว (IQ) ให้ลูกได้
ที่มา : momandbaby ,kruachieve , praram9
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!