วิธีทำให้ลูก โตตามเกณฑ์ เคล็ด (ไม่) ลับที่บ้านไหนก็สามารถทำตามได้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังเป็นกังวลว่าลูกจะโตตามเกณฑ์หรือไม่ เราลองมาดูเคล็ดลับที่ช่วยให้เด็ก ๆ โตตามเกณฑ์กันดีกว่าค่ะ
โตตามเกณฑ์ คืออะไร
ข้อสงสัยที่ถูกตั้งขึ้นเป็นคำถามยอดฮิตสำหรับคุณแม่ที่มีลูกคนแรก หรือคุณแม่ที่ไม่มีประสบการณ์มากนัก เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ โดยการโตตามเกณฑ์ของเด็ก ๆ นั้นก็คือการที่ลูกของคุณได้มีการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย และจิตใจไปตามเกณฑ์ หรือตามหลักพื้นฐานที่ควรจะเป็นนั่นเอง ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเจริญเติบโตของเด็กในช่วงวัยแรกเกิดจนอายุถึง 5 ปีเป็นอย่างมาก
เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลกที่ส่งผลทำให้มีเด็กจำนวนกว่า 47 ล้านคนเสียชีวิตลงด้วยภาวะทุพโภชนาการ หรือการที่ร่างกายของเด็ก ๆ ได้รับสารอาหาร หรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม และมีเด็กกว่า 38.3 ล้านคนเป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวัดความเจริญเติบโตของเด็กทารก และเด็กในวัยเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ในการเฝ้าระวังสุขภาพ และการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ไม่มาก หรือน้อยจนเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เช็กพัฒนาการลูกยังไง? ติดตามพัฒนาการลูก ง่ายๆได้ด้วยตัวเอง!
วิธีทำให้ลูกโตตามเกณฑ์ บ้านไหนก็ทำตามได้
สำหรับคนเป็นพ่อ เป็นแม่อย่างเรา ๆ ก็มักจะกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกของเราเป็นธรรมดา แต่ถ้าหากเราสามารถทำบางอย่างเพื่อที่ให้แน่ใจว่าลูกของเรานั้นสามารถเจริญเติบโตตามเกณฑ์ หรือมีพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจเป็นไปตามปกติแล้ว เราก็คงต้องขอลองดูสักตั้ง มาดูกันดีกว่ามีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้ลูกโตตามเกณฑ์
1. อาหารที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต
ฮอร์โมนทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของมนุษย์ หรือที่เรามักจะเคยได้ยินว่า โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เป็นฮอร์โมนหลักที่ถูกผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมอง ซึ่งการได้รับประทานอาหารที่เหมาะสมก็จะมีส่วนช่วยเรื่องของการกระตุ้นให้สมองมีการผลิตโกรทฮอร์โมนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคุณควรให้เด็ก ๆ ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี อาทิ แคลเซียม วิตามิน แร่ธาตุ และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ร่างกายของเด็ก ๆ ต้องการคือ โปรตีน นั่นเอง
มีการวิจัยหนึ่งได้รายงานออกมาว่า อาร์จินีน (arginine) ที่เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องของการกระตุ้นการผลิตโกรทฮอร์โมน โดยอาร์จินีน 15-20 กรัมของปริมาณที่บริโภคต่อวันนั้นสามารถช่วยเพิ่มการผลิตโกรทฮอร์โมนขณะที่เรานอนหลับในเวลากลางคืนได้มากถึง 60% ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยอาร์จินีน ได้แก่ เนื้อแดง ไก่ ข้าวกล้อง และพืชตระกูลถั่ว
2. สภาพแวดล้อมที่ดี
สำหรับเด็กในช่วงวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบนั้นถือว่าเป็นวัยที่อยู่ในช่วงของการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ หากทารกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีแล้วนั้นก็สามารถทำให้เขามีพัฒนาการโตตามเกณฑ์ได้ สภาพแวดล้อมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งของ หรือสถานที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือแม้แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ และตัวของเด็กเอง ซึ่งยิ่งมีการตอบโต้ หรือสื่อสารระหว่างกันมากก็จะส่งผลทำให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเพิ่มความสูงให้ลูก ด้วยการออกกำลัง โดยไม่ต้องผ่าตัด
3. ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายพัฒนาเติบโตตามเกณฑ์
กิจกรรม หรือการออกกำลังกายของเด็กในวัยเจริญเติบโตก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้เด็ก ๆ มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ โดยการออกกำลังนั้นสามารถช่วยในเรื่องของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกที่อยู่ในช่วงพัฒนา ซึ่งจะเป็นการที่ให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การโหนบาร์ วิ่งเล่น เต้นรำ วิ่ง เป็นต้น หรือจะเป็นการเล่นกีฬาที่สามารถช่วยเพิ่มความสูงของพวกเขาได้ด้วย เช่น ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ฟุตบอล เป็นต้น
4. การนอนหลับที่ดี
การนอนสำหรับเด็กเล็กแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงของการนอน หรือรูปแบบของการนอนสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ ได้ โดยช่วงของการนอนที่ดีและเหมาะสมสำหรับเด็กที่สุดคือช่วงระหว่าง 4 ทุ่ม (22.00 น.) ถึง ตี 4 (04.00 น.) โดยการนอนหลับที่ดีนั้นมีส่วนช่วยในเรื่องของการกระตุ้นฮอร์โมนทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของมนุษย์ (Growth Hormone) และทำให้เด็ก ๆ มีไม่งอแงระหว่างวันอีกด้วย จากการทดลองของ National Sleep Foundation ปี 2015 มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับของเด็ก ๆ ไว้ดังนี้
- เด็กในกลุ่มช่วงอายุ 3-5 ปี ต้องการการนอนหลับประมาณ 10-13 ชั่วโมง
- เด็กที่อยู่ในวัยเข้าเรียน หรืออายุ 6-13 ปี ควรนอนให้ได้ประมาณ 9-11 ชั่วโมง
- เด็กที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรืออายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ควรได้รับการนอนหลับอย่างเหมาะสม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง
5. ปัจจัยอื่น ๆ
การเจริญเติบโตของทั้งเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชายจะเริ่มหยุดการเจริญเติบโตเฉลี่ยอายุประมาณ 20 ปี (แล้วแต่การเจริญเติบโตของแต่ละบุคคล) ซึ่งเรียกว่าอยู่ในช่วงของวัยรุ่น แต่มีรายงานออกมาว่าเด็ก ๆ ที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรืออายุ 13 ปีขึ้นไปมักมีปัจจัย หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่อาจส่งผลให้การเจริญเติบโตตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นนั้นผิดเพี้ยนไป โดยส่วนใหญ่มักมีปัญหามาจากการติดยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพวกเขาโดยตรง
นอกจากนี้ความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ นั้นมีพัฒนาการการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยความเครียดนั้นอาจเกิดจากการกดดันภายในครอบครัว หรือการถูกรังแกจากสังคมภายนอก รวมถึงการที่พวกเขาเสพโซเชียลมีเดีย หรือติดมือถือมากจนเกินไป ทำให้กระทบต่อสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พวกเขามีพัฒนาการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ และหมั่นให้พวกเขาได้เคลื่อนไหว ขยับร่างกายบ้าง นอกจากนี้ผู้ปกครองไม่ควรที่จะกดดัน หรือบังคับพวกเขามากเกินไปจนเกิดความเครียด และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้
อย่างไรก็ตามการที่ให้เด็ก ๆ ได้มีพัฒนาการเจริญเติบโตตามเกณฑ์นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากคุณได้ลองปฏิบัติตามแล้วพวกเขาดูเหมือนว่าจะมีพัฒนาการที่ล่าช้า หรือมีพัฒนาการที่ไม่ได้เหมาะสมไปตามวัย (เด็กแต่ละคนมีช่วงพัฒนาการแตกต่างการออกไป ไม่สามารถนำเด็กในช่วงวัยเดียวกันมาเทียบกันได้) จนคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยว่าเป็นเพราะปัจจัยใด หรือเป็นเพราะลูก ๆ ของคุณอาจเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตก็เป็นได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารเพิ่มความสูง สำหรับเด็ก ๆ ให้มีความสูงตามเกณฑ์
ลูกโตช้า ตัวเล็กกว่าเพื่อน ผิดปกติไหม พ่อแม่สังเกตได้อย่างไร?
10 ลักษณะที่ทำให้ลูกโตช้า ตัวไม่โต ขาดโปรตีน พ่อแม่ควรทำอย่างไร?
ที่มา : lifehack, kidshealth, who.int, matichon
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!