คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจมองว่า “ยุง” หรือ “มด” เป็นเพียงแมลงตัวเล็กๆ ที่ไม่น่าเป็นอันตราย แต่สำหรับลูกน้อยที่มีผิวบอบบางแล้ว สัตว์ตัวกระจิริดเหล่านี้กลับเป็นภัยร้ายที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงมากกว่าที่คิดค่ะ เมื่อโดนยุงหรือมดกัด ลูกอาจมีอาการแพ้ เกิดผื่น หรือมีแผลได้ ดังนั้น มาทำความเข้าใจวิธีดูแลรวมถึงหาแนวทางป้องกันกรณี ลูกแพ้ยุง แพ้มด เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัยจากพิษร้ายที่มาจากเจ้าสัตว์ตัวกระจิริดนี้กันค่ะ

ทำไม? ลูกแพ้ยุง แพ้มด
ผิวของเด็กเล็กนั้นบอบบางกว่าผู้ใหญ่และระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอค่ะ ทำให้ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในน้ำลายของยุง พิษของมด หรือแมลงบางประเภท เมื่อถูกกัดหรือต่อย ระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยจะตอบสนองต่อสารที่สัตว์เหล่านี้ปล่อยออกมามากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ที่หลากหลายขึ้น
- ยุง เมื่อยุงกัดโดยใช้ปากแหลมๆ เจาะเข้าสู่ผิวหนัง และปล่อยน้ำลายยุงหรือโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำลายยุงเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการคัน บวม หรือผื่นแดงบนผิวหนังของลูก
- มด มดบางชนิดมีพิษที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น มดแดง มดไฟที่มีพิษในน้ำลาย
- สัตว์และแมลงอื่นๆ แมลงบางประเภท เช่น เห็บ ไร หรือแมลงวัน อาจทำให้เกิดอาการคันและแผลพุพองจากพิษที่สัตว์เหล่านี้ปล่อยออกมา
อาการลูกแพ้ยุง ที่พ่อแม่ต้องสังเกต
อาการโดยทั่วไปเมื่อถูกยุงกัดมักมีอาการไม่รุนแรง เช่น คัน มีตุ่มแดงขึ้นบริเวณที่ถูกยุงกัด ซึ่งสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกน้อยโดนยุงหรือมดกัด จนน่าสงสัยว่า ลูกแพ้ยุง หรือแพ้มด คุณแม่อาจสังเกตได้จากอาการต่างๆ ต่อไปนี้ค่ะ
- ผื่นแดงและตุ่มนูน บริเวณที่ถูกกัดจะเกิดผื่นแดง บวม ร้อน มีอาการคัน และตุ่มนูนขึ้นมาหรือเป็นก้อนแข็งนาดใหญ่กว่าปกติ
- อาการบวม ในเด็กบางรายอาจมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัด หรือบวมบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย
- มีอาการคันรุนแรง เด็กจะเกาบริเวณที่ถูกกัดอย่างต่อเนื่อง รอยยุงกัดหรือผื่นแดงนานกว่า 1-2 สัปดาห์ มีตุ่มน้ำใส หรือผิวหนังอักเสบ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ค่ะ
- มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หรือมีไข้ ปวดข้อ
- หายใจลำบาก ในกรณีที่แพ้รุนแรง อาจมีอาการหายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หรือมีอาการบวมที่ใบหน้าและลำคอ หรืออาจเป็นลมหมดสติ

วิธีดูแลผิว ลูกแพ้ยุง แพ้มด ทำไง?
การดูแลผิวลูกน้อยเมื่อถูกยุงกัด เพื่อบรรเทาอาการคันอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลข้างเคียง คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
- ทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ลูกน้อยถูกยุงหรือมดกัด ด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนๆ
- การประคบเย็น เพื่อช่วยลดอาการบวมและอาการคัน
- ทายาบรรเทาอาการ ทายาแก้คันหรือยาสเตียรอยด์อ่อน ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ หรือบรรเทาอาการแมลงกัดต่อยด้วยโลชั่น และสารจากธรรมชาติ เช่น
- กระเทียม ทาบริเวณที่ยุงกัด จะเป็นเหมือนยาหม่องจากธรรมชาติ ที่จะช่วยลดอาการคันและบวมหลังจากถูกกัดได้ค่ะ
- มะนาว มีคุณสมบัติต้านการอักเสบค่ะ สามารถทาบนผิวหนังลูกน้อยหลังจากถูกยุงกัดเพื่อบรรเทาอาการได้
- ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) คือน้ำยาฆ่าเชื้อธรรมชาติ ช่วยลดอาการคันบวมและปวด คุณแม่ควรนำเนื้อว่านหางจระเข้แช่ตู้เย็น 2-3 นาที จากนั้นทาให้ทั่วบริเวณที่ลูกโดนยุงกัด ช่วยได้ค่ะ
- น้ำผึ้ง มีสารต้านแบคทีเรียและต้านการอักเสบ จึงช่วยบรรเทายุงกัดและช่วยควบคุมการอักเสบค่ะ
- ป้องกันการเกา ตัดเล็บลูกให้สั้น หรือสวมถุงมือเพื่อป้องกันการเกา
- สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ปกป้องลูกน้อยยังไง? ให้ห่างจากพิษยุงและมด
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
จัดห้องและบริเวณบ้านให้โล่งโปร่งไม่มีกองสัมภาระรกรุงรังจะได้ไม่มียุงมาหลบอยู่ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงโดยเฉพาะบริเวณบ้าน เช่น กระถางต้นไม้ ภาชนะรองขาตู้ โอ่งน้ำควรปิดฝาทุกครั้งที่ไม่ใช้ แหล่งน้ำขังต่างๆ หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่ผลิตจากธรรมชาติ อ่อนโยนและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
ให้ลูกน้อยสวมเสื้อผ้าที่ครอบคลุมร่างกาย เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงหรือมดกัด
การใช้มุ้งกันยุงในตอนกลางคืน หรือใช้ม่านกันยุงในบริเวณที่ลูกน้อยนั่งหรือนอน จะช่วยป้องกันยุงและแมลงไม่ให้มากัดลูก
- ใช้ยาทากันยุงหรือสเปรย์กันยุงที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
เลือกผลิตภัณฑ์กันยุงที่เหมาะสมกับผิวของลูกน้อย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเคมีรุนแรงและผ่านการทดสอบความปลอดภัยสำหรับเด็ก

ทั้งนี้ ในกรณีลูกแพ้ยุง แพ้มด หรือแมลงอื่นๆ ด้วยอาการที่รุนแรง เช่น บวมมาก คันมาก อาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลเบื้องต้น หรือมีอาการลมพิษ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมนะคะ
แม้ว่าลูกน้อยอาจไม่สามารถบอกอาการที่เกิดจากการแพ้ยุง แพ้มดได้เอง แต่การสังเกตอาการและการป้องกันที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับลูกน้อยได้อย่างมาก อย่าลืมว่าผิวหนังของลูกน้อยมีความบอบบางและไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ดังนั้นการดูแลอย่างใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด สังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด และรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงนะคะ
ที่มา : www.thaichildcare.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกปากคล้ำ เป็นไรไหม? ภาวะปกติ หรือสัญญาณอันตราย!?
ทำไม ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย สัญญาณเตือนอะไร? วิธีดูแลและป้องกัน
เช็กสัญญาณเสี่ยง! ออทิสติกเทียม รีบแก้ไข ก่อนเป็นภัยคุกคามพัฒนาการลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!