อีกหนึ่งปัญหาน่ากังวลใจสำหรับทาสแมวมือใหม่ กับการ อาบน้ำให้แมว เพราะน้องแมวนั้นเป็นสัตว์ที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ชอบน้ำเอาเสียเลย แถมยังไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ เวลาต้องอาบน้ำอีก ทำให้ทาสหลาย ๆ คนต้องได้บาดแผล เจ็บปวดกันไปทุกราย ในวันนี้ เราจะมานำเสนอเทคนิคในการอาบน้ำให้น้องแมว รวมถึงวิธีการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับอาบน้ำให้น้องแมวด้วย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!
เริ่มต้นอาบน้ำน้องแมว ได้ตอนอายุเท่าไร
ในการอาบน้ำให้น้องแมว เราสามารถเริ่มอาบน้ำให้น้องแมวได้เมื่อน้องแมวมีอายุ 8 สัปดาห์หรือ 2 เดือนขึ้นไป โดยการที่เราฝึกให้น้องแมวอาบน้ำตั้งแต่เด็ก ๆ จะทำให้น้องแมวกลัวการอาบน้ำน้อยลงเมื่อโตขึ้น และยังช่วยให้กลัวน้ำน้อยลงอีกด้วย โดยช่วงแรกควรเริ่มต้นอาบน้ำให้น้องแมวจากการใช้น้ำอุ่น ค่อย ๆ นำอุ้งเท้าของน้องแมวจุ่มน้ำ และค่อย ๆ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นให้น้องแมว จนกว่าจะปรับตัวได้ค่ะ
อาบน้ำให้แมว จำเป็นไหม?
อย่างที่เหล่าทาสแมวทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าแมวเป็นสัตว์ที่มีนิสัยรักความสะอาด ที่มักจะคอยเลียขนเป็นประจำ เพื่อทำความสะอาดร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่า การเลียขนนั้น ไม่ได้ทำให้แมวสะอาดอย่างแท้จริง และยังอาจทำให้เกิดขนพันกันได้ง่าย และมีขนที่ติดเศษฝุ่นสกปรกมากมาย ด้วยเหตุนี้ การอาบน้ำให้น้องแมว จึงเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน โดยความถี่ที่แนะนำในการอาบน้ำให้น้องแมว จะอยู่ที่ 1-3 เดือนต่อครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อรา สิ่งสกปรกและกลิ่นเหม็นสำหรับน้องแมว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากน้องแมวเป็น แมวที่มีอายุมากและเป็นโรคภูมิแพ้ ควรอาบน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดขนร่วงและป้องกันอาการคันบนผิวหนังได้ด้วย!
ส่วนแมวขนสั้นและขนยาวนั้น มีวิธีการอาบน้ำที่แตกต่างกันเล็กน้อย เพราะแมวขนสั้นจะมีผิวหนังที่มันได้ง่ายกว่าแมวขนยาว ดังนั้น จึงควรเลือกใช้แชมพูสำหรับแมวขนสั้นโดยเฉพาะ ส่วนในแมวขนยาว ให้เน้นไปที่การแปรงขนให้น้องแมว เพราะมีขนพันกันได้ง่าย และเพื่อเป็นการปรับเซลล์ผิวหนังของน้องแมวด้วย และอย่าลืมทำความสะอาดตาและหูของน้องแมวด้วย! เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตู้เป่าขนแมว นวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่ช่วยให้การเป่าขนน้องแมวเป็นเรื่องง่าย!
จะอาบน้ำให้แมว ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
ก่อนที่เราจะเริ่มอาบน้ำให้น้องแมว เราควรเตรียมอุปกรณ์ในการอาบน้ำให้พร้อม เพราะการอาบน้ำแมวควรจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้น้องแมวเกิดความเครียด ซึ่งอุปกรณ์ที่จะใช้อาบน้ำแมวมี ดังนี้
- อ่างอาบน้ำสำหรับแมว
- แปรงหวีขนแมว
- แชมพูสำหรับแมว
- ผ้าขนหนู
- ไดร์เป่าสำหรับเป่าขน หรือเครื่องเป่าขนแมว
ก่อนอาบน้ำให้แมว ต้องทำอะไรก่อน
การทำให้น้องแมวเกิดความคุ้นชิน และไม่สั่นกลัว เป็นเรื่องสำคัญในการจะอาบน้ำให้น้องแมว โดยเรามีวิธีในการทำให้น้องแมวเกิดความผ่อนคลายมากขึ้น ดังนี้
- แปรงขนให้แมว เราควรแปรงขนให้น้องแมวก่อนที่จะเริ่มอาบน้ำ เพื่อให้ขนไม่พันกันในขณะอาบน้ำให้แมว และทำให้แชมพูไม่อุดตันในร่องขน จนทำให้ทำความสะอาดยาก และถ้าทำความสะอาดไม่หมดก็อาจเกิดเชื้อราได้ง่ายอีกด้วย
- ทำความสะอาดหูแมว ควรใช้สำลีชุบน้ำในการทำความสะอาดหูน้องแมวให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบในตอนที่อาบน้ำ
- ทำความสะอาดใบหน้า เช็ดขี้ตาให้น้องแมว เพราะควรจะเช็ดแบบแห้งด้วยทิชชู่หรือผ้าสะอาด เพื่อไม่ให้เกิดความระคายเคืองเมื่อโดนน้ำ
- ตัดเล็บแมว เพื่อป้องกันไม่ให้แมวข่วนระหว่างอาบน้ำ เมื่อน้องแมวดิ้น โดยควรตัดเฉพาะส่วนปลายเท่านั้น
- เตรียมน้ำอุ่น เตรียมน้ำอุ่นใส่อ่างให้เรียบร้อย และใส่ให้สูงในระดับท้องแมว เพื่อให้อาบน้ำได้ง่าย
- เตรียมของเล่นแมว เพื่อให้น้องแมวผ่อนคลายมากขึ้นในขณะอาบน้ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เชื้อราแมว ป้องกันอย่างไร รักษาได้ไหม ? โรคผิวหนังที่ทาสแมวต้องอ่าน !
วิธีการ อาบน้ำให้แมว
สำคัญมาก เพราะถ้าหากเราอาบน้ำแมวไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้ขนแมวไม่สะอาด ผิวหนังของแมวระคายเคือง จนอาจนำไปสู่ปัญหาเชื้อราได้ โดยวิธีอาบน้ำแมวมี 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- ใช้น้ำอุ่น คอยลูบทำความสะอาดตั้งแต่หัว ลำตัว และหาง โดยต้องคอยระวังไม่ให้น้ำโดนหน้าน้องแมว ไม่งั้นจะเกิดการระคายเคืองได้
- ใช้แชมพูสำหรับน้องแมว เริ่มอาบที่บริเวณขนรอบลำตัวของน้องแมวเท่านั้น ส่วนตั้งแต่หัวไม่จำเป็นมากเท่าไรค่ะ โดยเราควรระวังบริเวณหู หน้า จมูกและดวงตาของแมวให้ดี
- ล้างทำความสะอาดแชมพูออกด้วยน้ำอุ่นอีกครั้ง จนกว่าฟองจะออกทั้งหมด
- ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด เช็ดทำความสะอาดที่หัวแมว หน้าแมว ใบหูแมว ใต้รักแร้ ขาทั้ง 4 ข้างและหาง เพื่อทำความสะอาดให้หมดจด
- ใช้ผ้าขนหนูคลุมน้องแมวออกจากห้องน้ำ จากนั้นนำไดร์มาเป่าแบบอุ่น ไม่ร้อนมาก ไปที่ตัวแมว จนกว่าขนจะแห้ง และระหว่างไดร์ควรปิดหูทั้ง 2 ข้างของแมว เพื่อป้องกันไม่ให้แมวตกใจจนวิ่งหนีไปทั่วบ้านได้ค่ะ
ข้อควรระวังของการอาบน้ำแมว
- ไม่ควรใช้น้ำฉีดที่ตัวแมว ให้ใช้น้ำลูบทำความสะอาดแทน จะช่วยทำให้แมวไม่ตกใจกลัวได้ดี
- ไม่ควรเป่าไดร์ร้อน อุณหภูมิที่ร้อนเกินไป จะทำให้น้องแมวตกใจ และอาจเกิดอันตรายได้
- ไม่ควรใช้แชมพูอาบน้ำของคน เพราะผิวน้องแมวก็มีความบอบบางไม่เหมือนกับคน ซึ่งการใช้แชมพูของคนอาจทำให้แมวระคายเคืองผิวได้
- ไม่ควรเหลือฟองแชมพูติดตัวแมว เพราะแมวอาจแอบเลียเข้าปากได้ และยังทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายอีกด้วย
หลังอาบน้ำแมวเสร็จแล้ว ต้องทำอย่างไร
ควรทำให้แมวตัวแห้งเร็วที่สุด เพราะถ้าตัวเปียกนาน ๆ อาจจะทำให้น้องแมวป่วยได้ และยังอาจเป็นเชื้อราได้ง่ายอีกด้วย โดยอาจใช้ผ้าขนหนูขนนุ่มเช็ดตัวแมว หรือการเป่าไดร์ขนแมว และอย่าลืมแปรงขนให้น้องแมวหลังจากเป่าขนน้องแมวให้แห้งแล้วด้วยนะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้ขนพันกัน และทำให้ขนน้องแมวสวยงามอีกด้วย
ถูกน้องแมวกัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล ระหว่างอาบน้ำ ทำยังไงดี
หลาย ๆ คนก็อาจจะพลาดจนบาดเจ็บระหว่างอาบน้ำให้น้องแมวได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ควรปฐมพยาบาลตนเองให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ โดยมีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้
- ล้างแผลและส่วนที่สัมผัสกับน้ำลายของแมว ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยการถูเบา ๆ เพื่อไม่ให้แผลบาดเจ็บมากขึ้น แต่ถ้าหากแผลใหญ่แบบเป็นรูลึก ให้ใช้สำลีพันปลายไม้หมุนเข้าไปล้างก้นแผลด้วยก็จะดี เพื่อให้ล้างเชื้อออกจากแผลให้ได้มากที่สุด
- เช็ดแผลให้แห้งด้วยผ้าก๊อซ ผ้าที่สะอาด จากนั้นทายาด้วยยารักษาบาดแผลสด เช่น ยาแดง หรือแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดแผล แต่ถ้าเป็นแผลใหญ่มาก ให้ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาด
- ทางที่ดีที่สุด ควรพบแพทย์เพื่อรักษา และฉีดยาป้องกันบาดทะยักด้วย นอกจากนี้ยังสามารถรับยาไปกินเพื่อลดอาการปวด รักษาการติดเชื้อ รวมทั้งการเย็บแผลได้ด้วยค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ กับบทความเรื่องการอาบน้ำแมว ที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ กันในวันนี้ แน่นอนว่า การอาบน้ำน้องแมวจะช่วยทำให้คราบสกปรกของน้องแมวที่ไปเล่นซนมา กลับมาตัวขาวสะอาด หอมสดชื่นอีกครั้ง และยังเป็นการบำรุงขนที่ดีด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรอาบบ่อย ๆ เพราะน้องแมวจะเกิดความเครียดหรืออาจป่วยได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ซื้อดีไหม? ห้องน้ำแมวแบบอัตโนมัติ ดีอย่างไร คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายหรือเปล่า
ป้ายยา 10 เป้ใส่แมว สายสะพายนุ่ม พกพาง่าย สะดวกต่อการใช้งาน
ทำไมต้อง ตัดเล็บแมว เราควรตัดเล็บให้น้องแมวไหม มาหาคำตอบกัน
ที่มา : hdmall
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!