เมื่อเห็นผิวของลูกน้อยแรกเกิดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเกิดคำถามมากมายในใจ ว่าลูกเป็นอะไร ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะรักษาได้ไหม และอีกข้อสงสัย หนึ่งในนั้นคือ ลูกตัวเหลือง ตากแดด ช่วยได้จริงไหม อาการของลูกจะดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า บทความนี้จะไขข้อข้องใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด รวมถึงวิธีการดูแลที่ถูกต้องกันค่ะ
ภาวะตัวเหลืองในทารกเกิดจากอะไร ?
ก่อนจะไปถึงคำตอบว่า ลูกตัวเหลือง ตากแดด ช่วยได้จริงไหม มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารกก่อน ภาวะตัวเหลืองเกิดจากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูง บิลิรูบินเป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดง เมื่อตับของทารกยังทำงานไม่สมบูรณ์ในการกำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกาย ทำให้บิลิรูบินสะสมและทำให้ผิวหนังและตาขาวของทารกมีสีเหลือง โดยอาการตัวเหลืองส่วนใหญ่มักแสดงอาการประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นและจางหายไปเอง ผ่านการทำงานของตับ และจะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระในที่สุด
ลูกตัวเหลือง ตากแดด ช่วยได้จริงไหม ?
คำถามที่ว่า การตากแดดช่วยลดภาวะตัวเหลืองได้จริงหรือไม่ ? หลายคนอาจมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่าการตากแดดจะช่วยให้ลูกน้อยที่ตัวเหลืองดีขึ้น แต่ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงค่ะ ดังนั้นการนำลูกน้อยมาตากแดด ไม่สามารถช่วยให้ลูกหายจากตัวเหลืองได้นะคะ
แต่ทั้งนี้คุณแม่สามารถนำลูกน้อยมาตากแดดอ่อนๆ ยามเช้า เพื่อรับวิตามินดี ออกมาปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ให้คุณแม่ได้ออกกำลังกาย เดินเล่น ดูธรรมชาติในช่วงเช้าก็ดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยได้ค่ะ แต่ไม่ควรเกินแสงแดดช่วง 8-9 โมงนะคะ เพราะแสงแดดบ้านเราค่อนข้างร้อนแรง ผิวหนังของลูกน้อยยังบอบบางมาก การสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงอาจทำให้ลูกได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ได้ และต้องสังเกตสภาพอากาศเรื่องฝุ่น เรื่องละอองก่อนที่จะพาลูกน้อยออกมาด้วยนะคะ เพราะหากมลภาวะไม่เหมาะสมก็ไม่ควรพาลูกออกมา
ลูกตัวเหลืองผิดปกติเกิดจากอะไร ?
โดยทั่วไปแล้วอาการภาวะตัวเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้กับลูกในวัยทารกแรกเกิด ซึ่งภาวะนี้จะแสดงอาการประมาณ 3-5 วัน และจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายไปเอง แต่หากลูกน้อยมีอาการตัวเหลืองนานกว่านั้นหรือผิดปกติ อาจเกิดได้จากสาเหตุเหล่านี้
- เด็กทารกที่เกิดจากคุณแม่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะเม็ดเลือดแดงมากเกินไปค่ะ เมื่อเม็ดเลือดแดงเหล่านี้แตกตัว จะทำให้เกิดสารบิลิรูบินสะสมในร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการตัวเหลืองได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไปค่ะ
- กรุ๊ปเลือดของแม่และลูกไม่เข้ากัน อาจทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงของทารกมากขึ้น ส่งผลให้มีบิลิรูบินสะสมในร่างกาย พบบ่อยในแม่ที่มีหมู่เลือด O กับลูกที่มีหมู่เลือด A หรือ B
- ภาวะขาดเอนไซม์บางชนิด เช่น G6PD อาจทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายง่ายขึ้น
- โรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับตับ หรือความผิดปกติของท่อน้ำดี อาจทำให้ตับไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทารกคลอดก่อนกำหนดมีตับที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะตัวเหลืองสูง
- ทารกที่มีขนาดตัวเล็กเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะตัวเหลืองสูง
- เด็กทารกได้รับนมน้อยหรือมีปัญหาที่ลำไส้ ทำให้การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้สารบิลิรูบินที่ควรจะถูกขับออกไปตามอุจจาระกลับถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ระดับบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้นและทำให้ทารกตัวเหลืองค่ะ
ลูกตัวเหลืองแบบไหน ที่น่าเป็นห่วง !
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกน้อยมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้แสดงถึงสารสีเหลืองในร่างกายลูกน้อยมีมากเกินไป หากปล่อยไว้ สารนี้อาจซึมเข้าสู่สมองทำให้เกิดอาการผิดปกติทางสมองได้
- มีภาวะตัวเหลืองเร็ว คือตัวเหลืองให้เห็นภายในอายุ 1-2 วันแรกหลังคลอด
- ตัวมีสีเหลืองเข้ม ตั้งแต่ศีรษะ รวมถึงฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีสีเหลืองอย่างชัดเจน
- แม้ลูกน้อยจะมีอายุเกิน 7 วันแล้ว แต่ยังมีอาการตัวเหลืองอยู่
- อุจจาระมีสีซีด หรือปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ
- มีภาวะตัวเหลืองร่วมกับอาการเจ็บป่วยอย่างอื่น เช่น มีไข้ ซึม อาเจียน ถ่ายเหลว
การรักษาอาการ เมื่อลูกตัวเหลือง
การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกมีหลายวิธี เด็กทารกจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาค่าของสารสีเหลืองในร่างกาย ซึ่งวิธีการรักษาจะถูกเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะพิจารณาจากผลการตรวจเลือดและสภาพร่างกายของทารก โดยแบ่งการรักษาได้ดังนี้
- การให้ลูกกินนมแม่บ่อยๆ ประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน เป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยลดอาการตัวเหลืองในทารกได้ เนื่องจากการดูดนมจะกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานและขับถ่ายอุจจาระ ซึ่งจะช่วยกำจัดสารสีเหลืองออกจากร่างกายได้มากขึ้น วิธีนี้เหมาะสำหรับทารกที่มีระดับสารสีเหลืองไม่สูงมาก
- การให้ยา หากทารกที่ได้รับนมแม่แล้ว อาการตัวเหลืองยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อช่วยลดระดับสารสีเหลือง ตัวอย่างเช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งเป็นยาชีวภาพที่ช่วยในการกำจัดสารสีเหลืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การส่องด้วยไฟ เมื่อทารกมีระดับสารสีเหลืองสูงผิดปกติ แพทย์จะใช้วิธีการส่องไฟในการรักษา โดยใช้หลอดไฟพิเศษที่ปล่อยแสงสีฟ้า ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารสีเหลือง ทำให้สารสีเหลืองละลายน้ำได้และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระได้ง่ายขึ้น โดยการส่องไฟนั้น เด็กจะถูกนำไปวางไว้ใต้หลอดไฟพิเศษ โดยปิดตาและถอดเสื้อผ้า เพื่อให้แสงสามารถส่องถึงผิวหนังได้ทั่วถึง การส่องไฟจะใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง หรือจนกว่าระดับสารสีเหลืองจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นทางเลือกวิธีรักษาสุดท้ายที่ใช้ เมื่อภาวะตัวเหลืองในทารกรุนแรงมาก หากการรักษาด้วยการส่องไฟไม่ได้ผล หรือทารกเริ่มมีอาการผิดปกติทางสมอง แพทย์จะพิจารณาการเปลี่ยนถ่ายเลือด ซึ่งเป็นการนำเลือดที่มีสารสีเหลืองสูงออกจากร่างกายทารก และแทนที่ด้วยเลือดใหม่ เพื่อลดระดับสารสีเหลืองอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนถ่ายเลือดเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงมักใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองของทารกค่ะ
คำถามที่พบบ่อย เมื่อลูกตัวเหลือง
เมื่อลูกน้อยมีภาวะที่ต่างไปจากเดิม คุณพ่อคุณแม่หลายท่านก็จะเริ่มกังวลและสงสัย ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมถึงเกิดกับลูกเรานะ จึงเกิดมีคำถามมากมาย
ลูกน้อยตัวเหลืองเกิดจากระดับสารสีเหลืองในเลือดสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากตับของลูกยังทำงานไม่เต็มที่ในการกำจัดสารสีเหลืองออกจากร่างกายค่ะ
-
จะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยตัวเหลือง ?
ในการสังเกตว่าลูกน้อยตัวเหลืองหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แล้วลองสังเกตดูนะคะ ผิวหนังของลูกน้อยจะดูเหลืองกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ตาขาว และลำตัว และลงมาที่แขน ขา เท้า หรือ ลองใช้นิ้วกดเบาๆ บนผิวหนังของลูกน้อย สักครู่แล้วปล่อย ถ้าผิวหนังที่กดลงไปมีสีเหลืองมากกว่าบริเวณรอบข้าง แสดงว่าลูกน้อยอาจมีอาการตัวเหลือง
-
เด็กที่กินนมแม่มีโอกาสตัวเหลืองน้อยกว่าเด็กที่กินนมผงจริงหรือไม่ ?
โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่กินนมแม่มีโอกาสตัวเหลืองน้อยกว่าเด็กที่กินนมผงค่ะ เนื่องจากนมแม่ย่อยง่ายกว่า ทำให้ระบบทางเดินอาหารของทารกทำงานได้ดีขึ้น และมีการดูดซึมสารสีเหลืองกลับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง แม้ว่าเด็กที่กินนมแม่บางรายอาจมีอาการตัวเหลืองได้บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และนมแม่ยังคงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกอยู่ค่ะ
-
การให้ลูกดื่มน้ำมากๆ จะช่วยป้องกันอาการตัวเหลืองได้ไหม ?
การให้ลูกดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพื่อป้องกันอาการตัวเหลืองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนะคะ เพราะทารกแรกเกิดต้องการนมแม่เป็นหลัก การดื่มน้ำอาจทำให้ทารกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้น้ำหนักไม่ขึ้น และยังอาจทำให้ทารกอิ่มเร็วเกินไป จนไม่ยอมกินนม ซึ่งเป็นอาหารหลักที่ให้พลังงานและสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก
-
ถ้าลูกตัวเหลืองมาก จะเป็นอันตรายต่อลูกอย่างไร ?
ถ้าระดับสารสีเหลืองในเลือดของลูกสูงมากเกินไป สารสีเหลืองเหล่านี้จะไปทำลายเซลล์สมองได้ค่ะ อาจส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการล่าช้า หรือมีปัญหาทางสมองได้ ดูซึมไม่สดใส อาจดูดนมได้น้อยลง กล้ามเนื้อเกร็งตัว มีผิดปกติของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้น ลูกตัวเหลือง ตากแดด ช่วยได้จริงไหม การพาลูกตากแดดเพื่อรักษาอาการตัวเหลืองในทารกนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัยค่ะ แสงแดดไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารสีเหลืองในร่างกายทารกให้ขับออกได้ง่ายขึ้นเหมือนกับการส่องไฟรักษาในโรงพยาบาล และการตากแดดอาจทำให้ทารกได้รับอันตรายจากแสงแดดโดยตรง เช่น ผิวไหม้ ผิวหนังระคายเคือง หรือร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีอาการตัวเหลือง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องนะคะ การดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้ลูกน้อยหายจากอาการตัวเหลืองและมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ
ที่มา : โรงพยาบาลสินแพทย์ , โรงพยาบาลศิครินทร์ , โรงพยาบาลเปาโล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อากาศชื้น ระวัง! ลูกน้อยเสี่ยงเป็น เชื้อราแมว
โรคนิ้วล็อกในเด็ก พบได้ตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่จะมีวิธีสังเกตอาการลูกน้อยได้อย่างไร
ลูกร้องไห้ไม่หยุดรับมืออย่างไร ? ร้องไห้แบบไหนเข้าข่าย โคลิค
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!