ของหวานตามท้องตลาดหลายเมนู ใช้นมข้นเป็นส่วนผสม ยิ่งราดเยอะ ๆ แม่ท้องยิ่งฟินแน่นอน คนท้องกินนมข้นหวานได้ไหม ถ้าหยุดทันตอนนี้ก็หยุดไปก่อนดีกว่านะ อย่างน้อยก็ให้คลอดก่อนค่อยหันมาทาน เพราะทานเพลิน ๆ นอกจากความอร่อยแล้ว ไขมันในเส้นเลือดอาจถามหาได้ มีผลต่อการทำงานของหัวใจนะ
คนท้องกินนมข้นหวานได้ไหม
นมข้นหวาน (Sweetened Condensed Milk) เป็นเมนูอาหารที่นำไปทำกับอะไรก็อร่อย โดยเฉพาะคนที่ชอบกินของหวาน คนท้องอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ และแน่นอนรสหวานจัดของนมข้นหวานก็เป็นสิ่งที่ต้องบอกว่าเลี่ยงได้เลี่ยงจะดีกว่า หากไม่อยากกินมากเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรไปแตะเลย เพราะนอกจากความหวานหอมแล้ว ประโยชน์ทางด้านโภชนาการก็น้อยมาก หากดูฉลากจะพบว่าปริมาณนมจริงอาจไม่มากกว่าที่คิด บางยี่ห้อแอบใช้ครีมเทียมแทนนมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง เมื่อคนท้องอยากกินจริง ๆ จึงต้องพิถีพิถันในการเลือกให้ดี อ่านฉลากก่อน และทานแต่พอดีด้วย นอกจากจะไม่ดีต่อสุขภาพคุณแม่ท้องแล้ว ยังต้องระวังด้วยสำหรับแม่ให้นม เพราะนมข้นหวานอันตรายต่อทารกน้อยด้วยเช่นกัน
3 อันตรายจากนมข้นหวาน คนท้องต้องระวัง
หากไม่ได้อยากทานมาเป็นพิเศษ ก็อย่าไปแตะนมข้นหวาน เพราะมีปัจจัยอันตรายที่แม่ท้องอาจมองข้ามไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง, การใช้ครีมเทียมแทนนม และปริมาณนมบางยี่ห้อที่น้อยเกินไป
1. พลังงานของนมข้นหวานมากเกินไปสำหรับคนท้อง
แม่ท้องรู้หรือไม่ว่าการกินนมข้นหวานเพียง 1 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี และหากกินในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานถึง 329 กิโลแคลอรี แน่นอนว่าคงไม่มีแม่คนไหนนั่งกินนมข้นหวานอย่างเดียว จะต้องกินกับอาหารอื่น ๆ ความอร่อยที่เพลิดเพลินนี้ อาจทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ตัวอย่างเช่น กินขนมปังใส่นมข้นหวาน 1 ช้อนโต๊ะ จะให้พลังงาน 240 กิโลแคลอรี กินเพียง 2 แผ่นก็ให้พลังงานเทียบเท่ากับการกินอาหารมื้อหลักได้เลย แต่แน่นอนว่าคงมีแม่ท้องหลายคนไม่อิ่มเท่ากับกินข้าวแน่นอน
นอกจากพลังงานแล้วทั้งไขมัน และคอเลสเตอรอล ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในนมข้นปริมาณไม่น้อยเลย เทียบจากนมข้นปริมาณ 100 กรัม มีไขมัน 14 % และมีคอเลสเตอรอล 12 % ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ท้องควรเลี่ยงมากที่สุด ในด้านของคุณค่าทางโภชนาการ นมข้นหวานก็นับว่าไม่ได้โดดเด่นอะไรเลย ส่วนมากจะเป็นแคลเซียม, คาร์โบไฮเดรต, โปรตีน และโพแทสเซียม เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้สามารถพบได้ง่ายในเมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่านี้
2. นมข้นหวานที่มีปริมาณนมไม่ถึงครึ่ง
ปัจจุบันมีการขายนมข้นหวานหลายสูตร หลายแบรนด์ หาซื้อได้ไม่ยากแน่นอน แต่ละสูตรก็จะมีสัดส่วนของส่วนผสม ซึ่งคุณแม่สามารถศึกษาก่อนตัดสินใจซื้อได้จากฉลากของสินค้า โดยทั่วไปแล้วจะใช้น้ำตาลในการทำมากถึงประมาณ 40 – 50 % ซึ่งเทียบเท่ากับว่านมข้นหวานที่เรากิน ครึ่งหนึ่งก็คือเรากินน้ำตาลไปนั่นเอง ส่วนปริมาณนมที่นำมาใช้มักจะอยู่ในช่วง 22 – 28 % เท่านั้น ที่เหลือก็เป็นส่วนประกอบวัตถุดิบอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่า นมข้นหวานจริง ๆ แล้วมีปริมาณแท้ ๆ เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น หากแม่ท้องคนไหนที่คิดว่ากินนมข้นหวาน อย่างน้อยก็มีนม ตอนนี้คงจะรู้แล้วว่าปริมาณนมนั้นน้อยแค่ไหน หันไปกินนมหวานแบบกล่องอาจมีประโยชน์กว่าหลายเท่า ดังนั้นก่อนจะซื้อแม่ท้องต้องดูด้วยว่าแบรนด์นั้น ๆ ใช้ส่วนผสมอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีปริมาณเท่าไหร่
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินมะม่วงน้ำปลาหวานได้ไหม กิน 1 ถ้วยโรคไตถามหาทันที
3. ระวังครีมเทียมในนมข้นหวาน
เชื่อว่าแม่ท้องหลายคนอาจไม่ได้ศึกษาฉลากก่อนเลือกซื้อนมข้นหวาน หากยังเลือกซื้อจากความคุ้นเคย หรือเลือกจากชื่อแบรนด์ หรือจากโฆษณา แม่ท้องจะยิ่งเสียเปรียบได้ เพราะมีบางยี่ห้อทำการเปลี่ยน หรือลดปริมาณของนมไปเป็นครีมเทียมแทน เรื่องนี้ รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้ออกมาเปิดเผยว่าบางยี่ห้อเลือกเอานมออก เพื่อลดต้นทุนการผลิต และหันมาใช้ครีมเทียมที่มีส่วนผสมของกลูโคสไซรัป, แป้ง และน้ำมันปาล์ม ซึ่งไม่ได้ทำให้นมข้นหวานเสียรสชาติไป แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือ สารอาหารที่หายไป แม้แต่เดิมจะมีสารอาหารไม่มากอะไรอยู่แล้ว
ซึ่งวัตถุดิบอย่างน้ำมันปาล์ม ที่เป็นส่วนประกอบของครีมเทียมมีปริมาณของไขมันอิ่มตัวสูง และในครีมเทียมเองหากเทียบปริมาณ 1 ซอง หรือ 3 กรัม จะมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัวถึง 1 กรัมเลย นั่นหมายความว่าหากกินไปมาก ๆ จะส่งผลต่อร่างกายของคนท้องหลายอย่าง เช่น คอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ เป็นต้น
วิดีโอจาก : RakSukkhaphap
คนท้องควรกินนมข้นหวานแบบไหนให้ปลอดภัย
แม้ว่าเราไม่อยากแนะนำให้แม่ท้องกินนมข้นหวาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกินไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว เพียงแต่การจะกิน 1 ครั้ง อาจต้องคำนึงตั้งแต่การเลือกซื้อ ไปจนถึงปริมาณในการทาน ดังนี้
- ศึกษาฉลากก่อนเป็นอันดับแรก ให้เลือกยี่ห้อที่ใช้นม ไม่ใช่ครีมเทียม และให้เลือกยี่ห้อที่มีส่วนผสมของนมมากที่สุด เพื่อประโยชน์ของร่างกาย
- ควรซื้อสูตรที่มีไขมันน้อย ซึ่งปัจจุบันบางยี่ห้อก็ทำแยกกัน สูตรไขมันปกติจะมีราคาที่ถูกกว่า แม่ท้องไม่ควรเสียดายเงิน แม้สูตรไขมันน้อยจะมีราคาสูงกว่า แต่เป็นการจ่ายค่าสินค้าเพื่อทำให้ร่างกายปลอดภัยมากขึ้น
- เลี่ยงการกินเมนูใด ๆ ที่ใช้นมข้นหวานปริมาณมาก เช่น ขนมปังราดนมข้นหวานแบบฉ่ำ ๆ หรือเครื่องดื่มบางชนิดที่เทใส่แก้วแบบเอาหวานเข้าว่า หากเจอร้านแบบนี้ หรือเมนูแบบนี้ให้เลี่ยงไปเลย
- นมข้นหวานเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่ควรเลี่ยง หากแม่ท้องจะทานจะต้องกินในปริมาณที่น้อยเป็นพิเศษ ระวังการทานให้ดี เพราะพลังงานไม่น้อย จะทำให้มื้ออาหารว่างมีพลังงานเท่ามื้อหลักได้
นมข้นหวานมีความหวานเป็นรสนำ หากแม่ท้องแค่ต้องการกินของหวาน อาจจะเพราะเป็นคนชอบทานหวานอยู่แล้ว หรือมาจากอาการแพ้ท้องก็ตาม ในกรณีนี้หากไม่ได้ต้องเจาะจงว่าหวานแบบนมข้นหวาน การกินของหวานประเภทอื่น ๆ จะดีต่อสุขภาพของคุณแม่กว่ามาก ๆ เช่น นมรสหวาน และผลไม้รสหวาน ซึ่งก็หาซื้อได้ง่าย ไม่แพ้นมข้นหวานแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินเครื่องในได้ไหม สารอาหารเยอะ แต่มีโรคประจำตัวต้องระวัง
คนท้องกินผักบุ้งได้ไหม กินแบบไหนให้ดี มีอะไรบ้างที่ต้องระวัง ?
คนท้องกินส้มแผ่นได้ไหม มะม่วงแผ่น กินแบบไหนให้สุขภาพดี
ที่มา : classifiedmom, mgronline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!