หากคุณแม่เคยผ่าคลอดมาก่อนแล้ว และวางแผนว่าจะมีลูกคนต่อไป อาจสงสัยว่า การคลอดเอง หลังเคยผ่าคลอดมาแล้วทำได้ไหม เพราะคุณแม่หลายคนไม่อยากที่จะกลับไปผ่าคลอดอีกครั้ง แต่การคลอดเองหลังผ่าคลอดนั้นก็มีความเสี่ยงสูง คุณแม่จึงควรวางแผนไว้ก่อน วันนี้เราจะพามาดูกันว่าการคลอดเองหลังเคยผ่าคลอด เหมาะกับใคร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
การคลอดเอง หลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน เหมาะกับใคร
1. การผ่าคลอดที่ผ่านมาต้องเป็นการลงใบมีดทางขวาง (low-transverse uterine incision) หากคุณเคยได้รับการผ่าคลอดด้วยวิธีผ่าแนวตั้ง เป็นรูปตัว T จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกปริได้เมื่อคุณต้องเบ่ง (แผลเย็บที่คุณมองเห็น ไม่ใช่ตัวบอกว่าคุณได้รับการผ่าตัดแนวขวางหรือแนวตรง ต้องปรึกษาหมอที่เคยทำการผ่าตัดให้คุณ)
2. มีเชิงกรานที่ใหญ่พอที่จะให้เด็กออกมาได้อย่างปลอดภัย การจะดูว่าใหญ่พอหรือไม่ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือหมอที่จะทำคลอดให้คุณเป็นคนตัดสินใจ
3. ไม่เคยทำการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับมดลูก เช่น ผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก เป็นต้น
4. ไม่เคยมีภาวะมดลูกแตก
5. ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยงระหว่างการคลอดลูก
6. ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะทำการผ่าคลอดทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
7. โรงพยาบาลที่ทำคลอดต้องมีเครื่องมือครบ พร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน
8. ตั้งครรภ์หลังจากผ่าคลอดมาแล้วกว่า 9 เดือน เพราะร่างกายของคุณจะมีเวลาในการฟื้นฟูนานขึ้น
9. อายุน้อยกว่า 35 ปี เพราะมีอัตราความสำเร็จในการคลอดเองหลังผ่าคลอดสูง ผู้หญิงที่มีอายุมากมักมีลูกที่ขนาดตัวใหญ่หรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง
10. มีน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์ เพราะหากคุณแม่ผอม ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการคลอดเอง ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำหนักเกิน อาจไม่ได้มีปัญหา แต่อาจทำให้คลอดลูกยากเนื่องจากเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณกระดูกเชิงกรานขยายเพิ่มขึ้น
ถ้าร่างกายของคุณและตำแหน่งของทารกเป็นไปอย่างปกติ พร้อมคลอดเองปกติ ในการคลอดครั้งที่ 2 หรือ 3 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเคยผ่าคลอดมาแล้ว คุณก็สามารถคลอดเองได้ ทั้งนี้ การคลอดเองหลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน หรือ VBAC จำเป็นต้องใช้แพทย์ที่ชำนาญ และแพทย์หลายคนก็จะปฏิเสธไม่ให้คุณคลอดเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากนั้นโรงพยาบาลก็ต้องมีความพร้อมที่จะทำคลอดแบบนี้ให้คุณ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ คลอดเองเตรียมตัวอย่างไร คลอดธรรมชาติอันตรายไหม
อัตราความสำเร็จของการคลอดเองหลังผ่าคลอด
ส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่หลายคนสามารถคลอดเองหลังจากเคยผ่าคลอดโดยไม่มีปัญหา ซึ่งความจริงแล้ว การคลอดดังกล่าวนี้ เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่หลายคนที่เคยมีประวัติผ่าคลอดมาก่อนหน้า สำหรับคุณแม่ที่ได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์อย่างเหมาะสมแล้ว ก็มีโอกาสที่จะที่คลอดเองสำเร็จประมาณ 60-80% อ้างอิงจากวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และนรีแพทย์อเมริกัน (ACOG)
ความเสี่ยงที่จะทำให้คุณแม่ไม่ควรคลอดเอง
1. อายุมาก
2. น้ำหนักมาก
3. เด็กตัวใหญ่ (มากกว่า 4,000 กรัม)
4. ตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์
5. ตั้งครรภ์ห่างจากครั้งแรกเกิน 18 เดือน
ทั้งนี้แต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญว่าคุณจะสามารถคลอดเองได้หรือไม่
ข้อดีของการคลอดเองหลังผ่าคลอดมาก่อน
ข้อดีของการเลือกคลอดเองหลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน (VBAC) ก็เหมือนกับข้อดีของการคลอดแบบธรรมชาติ คือ ทำให้ลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มาจากการผ่าคลอด เช่น การมีเลือดออกมากเกินไป หรือตกเลือด การติดเชื้อระหว่างคลอด อันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง เป็นต้น
การผ่าตัดซ้ำอีกก็เหมือนเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ ก็ตาม และยังทำให้การผ่าตัดยากขึ้นทุก ๆ ครั้งที่ต้องผ่าด้วย หลังจากการผ่าคลอด คุณแม่จะต้องอยู่พักฟื้นในโรงพยาบาลนานกว่า และมีรอยแผลผ่าตัดที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา การผ่าคลอดหลายครั้ง จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะรกเกาะต่ำ หมายถึงรกจะเกาะคลุมปากมดลูกขวางทางคลอดของทารก ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเสียเลือดมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ขั้นตอนคลอดลูก แบบคลอดเองและผ่าคลอด ขั้นตอนการคลอดลูก ที่แม่ท้องควรรู้
ประโยชน์ของการคลอดเองหลังผ่าคลอด
แม้ว่าการคลอดเองหลังผ่าคลอด อาจมีความเสี่ยงบางประการที่คุณแม่บางคนไม่สามารถทำได้ แต่สำหรับคุณแม่บางคนนั้นอาจจำเป็นที่ต้องคลอดเองเพราะเหตุผลทางการแพทย์ แต่การคลอดเองหลังผ่าคลอดนั้น ก็ยังมีประโยชน์ดังต่อไปนี้
- ช่วยลดความเสี่ยงในการผ่าตัดช่องท้อง เช่น ตกเลือด ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ
- ลดความเสี่ยงของการถ่ายเลือด และโรคที่เกิดจากเลือด
- ทำให้ระยะเวลาในการพักตัวในโรงพยาบาลสั้นลง และพักฟื้นน้อยลง
ความเสี่ยงจากการคลอดเองหลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน
ถึงแม้คุณมีคุณสมบัติครบถ้วนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ก็ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะมดลูกแตกก็ยังมี ซึ่งมีเพียง 1% (ค่อนข้างต่ำ และจะเกิดขึ้นได้ยากถ้าคุณเจ็บท้องโดยธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยาเร่งเจ็บท้องคลอด) แต่หากภาวะมดลูกแตกเกิดขึ้น จะทำให้เกิดการเสียเลือดอย่างมาก และอาจทำให้ทารกขาดอากาศหายใจ
หากสุดท้ายคุณเบ่งไม่ไหวหลังจากที่ได้พยายามไปหลายชั่วโมง คุณอาจจะต้องผ่าคลอดอยู่ดี และจะเป็นการผ่าแบบฉุกเฉิน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงระหว่างการผ่าตัดมากกว่าการวางแผนจะผ่าตั้งแต่แรก ความเสี่ยงเหล่านี้ก็มีตั้งแต่การเสียเลือดมาก ที่อาจทำให้ต้องมีการให้เลือด และในบางกรณีอาจจะมีการติดเชื้อ ที่สำคัญเด็กทารกอาจจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ผลกระทบทางด้านระบบประสาทหรือถึงขั้นเสียชีวิต แต่นั่นเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะมดลูกแตก เกือบตาย! สาเหตุและวิธีป้องกันภาวะเสี่ยง มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์
การเตรียมตัวในการคลอดเอง
1. ขั้นแรก ตัดสินใจก่อนว่าคุณแม่ต้องการคลอดตามธรรมชาติหลังจากเคยผ่าท้องคลอดมาก่อนหรือไม่ ทั้งนี้อาจต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองก่อน
2. เลือกแพทย์ที่มีความชำนาญ และสามารถให้คำแนะนำได้
3. ศึกษาว่าอาหารประเภทใดเหมาะกับคุณแม่ เพื่อไม่ทำให้ลูกตัวเล็ก หรือตัวโตมากจนเกินไป และต้องช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่ลูกด้วย
4. ระหว่างการคลอด ขอให้เชื่อใจคุณหมอ และเชื่อมั่นในร่างกายของคุณแม่เอง จะทำให้การคลอดผ่านไปได้ด้วยดี
หากคุณแม่ต้องการที่จะคลอดเองหลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวคุณคนเดียว แพทย์ต้องเป็นผู้ตัดสินว่าคุณพร้อมหรือไม่ เพราะฉะนั้น อยากให้คุณแม่คำนึงถึงการรักษาสุขภาพตัวเอง เพราะเมื่อถึงเวลาตัดสินใจคลอด จะได้เป็นผลดีต่อทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผ่าคลอดท้องแรก แต่คลอดธรรมชาติท้องสอง ทำได้หรือ?
คลอดเองหรือผ่าคลอด ถ้าเลือกได้จะเลือกอะไร แบบไหนดีกว่ากัน
ผ่าคลอด มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ผ่าคลอดแนวขวางหรือแนวตั้งดีกว่ากัน
ที่มา : story.motherhood.co.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!