รู้จักเนื้องอกในมดลูก
เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri หรือ Uterine fibroid) ไม่ใช่มะเร็ง แต่เป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูกที่มีการเจริญมากขึ้นผิดปกติจนเกิดเป็นเนื้องอก ทำให้มดลูกมีขนาดที่โตขึ้น เนื้องอกในมดลูกพบได้ประมาณ 25% ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มักพบในผู้หญิงอายุ 35-45 ปี แต่อาจพบในหญิงสาวก็ได้ เนื้องอกอาจมีขนาดต่าง ๆ กันไป ก้อนเนื้องอกอาจมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดถั่ว หรือมีขนาดใหญ่เท่ากับผลแตงโม ก้อนเนื้องอกนี้สามารถพบได้ในทุกที่ของมดลูกและมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามตำแหน่งที่พบ ดังต่อไปนี้
1.เนื้องอกที่กล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) คือ เนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นภายในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด
2.เนื้องอกมดลูกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) คือ เนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นและดันออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูก
3.เนื้องอกมดลูกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) คือ เนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นและดันเข้ามาในโพรงมดลูก และ
4.เนื้องอกมดลูกชนิดมีก้านยื่น โดยตำแหน่งก้อนเนื้องอกซึ่งโตขึ้นอาจดันพ้นออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูกหรืออาจดันเข้ามาในโพรงมดลูก ตัวก้อนเนื้องอกจะยึดติดกับมดลูกด้วยก้านเล็กๆ (Intracavitary fibroid)
อ่าน สาเหตุของการเกิดเนื้องอกในมดลูก คลิก
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกในมดลูก
เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่มีการเจริญมากผิดปกติของกล้ามเนื้อมดลูก สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมหากพบว่า คนในครอบครัวมีประวัติเป็นเนื้องอกในมดลูกมักจะมีคนในครอบครัวคนอื่น ๆ เป็นเนื้องอกในมดลูกได้เช่นกัน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศหญิง) เป็นตัวเร่งการเติบโตที่มดลูก (Growth factor) เป็นตัวเร่งให้ตัวเนื้องอกโตขึ้น ดังนั้นเนื้องอกนี้จะพบในวัยเจริญพันธุ์ (ในช่วงวัยที่ยังมีประจำเดือน) และเนื้องอกจะเล็กลงหลังเข้าวัยหมดประจำเดือน ยิ่งกว่านั้นการให้ฮอร์โมนทดแทน (เอสโตรเจน) จะทำให้ขนาดเนื้องอกโตเร็วกว่าธรรมดา
อาการที่พบได้มาก
ในกลุ่มผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกจะมีเพียงประมาณ 50% ที่จะมีอาการของโรคเกิดขึ้น ดังนั้นผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกหลาย ๆ คนจึงไม่ทันรู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคเนื้องอกมดลูกแล้ว ทั้งนี้เพราะไม่มีอาการ หรือความผิดปกติทางร่างกายปรากฏให้เห็น และมักจะรู้ตัวว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก็เมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี จะมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้นที่มีอาการ อาการสำคัญที่พบได้ คือ
1.ประจำเดือนมามาก หรือปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามากกว่าปกติ และในบางครั้งก็ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มขึ้น การที่มีประจำเดือนออกมากอาจจะทำให้เกิดภาวะซีดเพราะขาดธาตุเหล็ก โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งการรับประทานธาตุเหล็กทดแทนจะช่วยรักษาภาวะซีดอันเนื่องมาจากการที่มีประจำเดือนมามากได้
2.อาการท้องอืดเฟ้อ มักจะพบในรายที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้รู้สึกอึดอัดในท้อง แน่นท้อง ท้องบวม โดยเฉพาะที่บริเวณส่วนล่างของช่องท้องและบริเวณท้องน้อย
3.ก้อนเนื้องอกที่โตยื่นมาทางหน้าท้อง หรือตัวก้อนเนื้องอกเบียดดันมดลูกมาทางหน้าท้อง อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้าของมดลูกถูกกดจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ถ้าก้อนเนื้องอกหรือมดลูกโตยื่นไปทางด้านหลังของช่องท้อง ก็จะทำให้เกิดการกดเบียด ลำไส้เหใญ่ส่วนปลายเป็นส่วนที่ต่อกับทวารหนักจะทำให้เกิดอาการท้องผูก
4.อาากรเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นไปในช่องคลอดหรือเป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งปากมดลูก
5.มีบุตรยากและแท้งบุตรง่าย ถ้าก้อนเนื้องอกโตยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก อาจก่อให้ เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ได้ หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน และอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือแท้งตามมาได้
6.ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ขณะที่มีเนื้องอกมดลูก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสในการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะทารกอาจอยู่ผิดท่า หรือก้อนเนื้องอกขัดขวางการคลอดทางช่องคลอดได้
อ่าน เช็คด่วน! เนื้องอกในมดลูกเสี่ยงมีบุตรยาก คลิก
เช็คด่วน! เนื้องอกในมดลูกเสี่ยงมีบุตรยาก
แน่นอนว่าหลาย ๆ ท่านเมื่ออ่านแล้วอาจเริ่มวิตกกังวล ไม่เป็นไรค่ะให้รีบไปตรวจภายในเสียก่อนหากคุณคิดจะตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีเนื้องอกจะได้รับการรักษาหรือคำแนะนำจากคุณหมอแต่เนิ่น ๆ เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์และการคลอด พบว่าร้อยละ 25 -35 ของสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกจะพบร่วมกับภาวะมีบุตรยาก ถ้าตั้งครรภ์อาจเกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากการฝังของไข่ที่ได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิแล้วกับเยื่อบุมดลูกไม่ดี และก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการเจริญเติบโตของมดลูกขณะตั้งครรภ์ หรือทำให้เกิดการบีบตัวอย่างผิดปกติของมดลูก นอกจากนี้ทารกในครรภ์อาจอยู่ในตำแหน่งหรือท่าผิดปกติ เนื้องอกมดลูกอาจไปขัดขวางทางคลอด ทำให้คลอดยากและอาจตกเลือดภายหลังการคลอดได้
นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ได้ให้คำแนะนำว่า “การตรวจเจอเนื้องอกมดลูก ไม่จำเป็นว่าจะต้องผ่าตัดออกเสมอไป เพราะการผ่าตัดนั้นจะแนะนำในกรณีที่เป็นเนื้องอกชนิด“Myoma uteri”(เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง) เพราะสามารถผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกจากกล้ามเนื้อมดลูกส่วนที่ปกติได้ แต่ย้ำว่าควรต้องเป็นกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง เสียเลือดมาก ก้อนมีขนาดใหญ่ หรือภายหลังจากที่ใช้ยารักษาเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผล และถึงแม้ว่าก้อนเนื้องอกนั้นมีขนาดเล็กแต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก หรือแท้งหลายๆครั้ง ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาการผ่าตัดรักษา
ส่วนในกรณีที่ตรวจเจอก้อนเนื้องอกโดยบังเอิญ ถ้าก้อนมีขนาดเล็ก อาการไม่รุนแรง และยังต้องการมีบุตรอยู่ หากก้อนเนื้องอกที่ตรวจเจอนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ตรวจติดตามขนาดของก้อน และสังเกตอาการเป็นระยะ ทุกๆ 4-6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องรีบผ่าตัด เพราะการผ่าตัดอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อมารดาและทารกได้ระหว่างตั้งครรภ์ นั่นก็คือ แผลผ่าตัดที่มดลูกปริแตก เพราะแผลผ่าตัดยืดขยายออกตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการผ่าตัดยังทำให้เริ่มมีบุตรได้ช้าเพราะต้องเสียเวลาพักฟื้นแผลที่มดลูกให้หายดีอย่างน้อย 12-18 เดือน ก่อนที่จะเริ่มปล่อยให้ตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีบุตรเพียงพอแล้ว จะผ่าตัดมดลูกออกไปเลย ผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกมดลูก หรือจะตรวจติดตามก็สามารถพิจารณาได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลที่มดลูกปริแตก โดยจะเลือกการรักษาวิธีไหนนั้นก็ขึ้นกับอาการเป็นหลัก”
จากที่ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้องอกในมดลูกกันแล้ว สิ่งที่ควรกระทำตั้งแต่เนิ่น ๆ คือ การตรวจภายในเป็นประจำทุกปีนะคะ เพื่อสุขภาพของตัวคุณเองและเพื่อการวางแผนตั้งครรภ์ในอนาคตด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://drchawtoo.com
https://haamor.com/th
https://www.si.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ฉันคิดว่าท้องแต่จริงๆ แล้วเป็นเนื้องอก!!! คนท้องควรเช็คตัวเอง!!!
เนื้องอกนอกมดลูก-ความกังวลของคุณแม่ท้องแรก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!