สายสัมพันธ์แม่ลูก เกิดจากการใช้เวลาร่วมกัน สร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงของลูกน้อยกับคุณแม่ ซึ่งความผูกพันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการดูแลหรือความรักของคุณแม่ แต่ขึ้นอยู่กับการสื่อสารทางอารมณ์ ที่คุณแม่สร้างประสบการณ์ร่วมกันกับลูกน้อยค่ะ บทความนี้มี 7 วิธีสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก ที่มั่นคง แข็งแกร่ง ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อนำทางลูกไปตลอดชีวิต มาฝาก
สายสัมพันธ์ที่มั่นคง VS สายสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง
“สายสัมพันธ์ที่มั่นคง” ที่เราพูดถึงนี้ คือความรู้สึกผูกพันทางใจที่เกิดขึ้นระหว่างลูกน้อยกับคุณแม่ หรือผู้ที่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดค่ะ ซึ่งความผูกพันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการพูดคุยด้วยคำพูดเสมอไป แต่เป็นการสื่อสารผ่านทางความรู้สึก การสัมผัส การสบตา หรือการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางต่างๆ
มีงานวิจัยจากต่างประเทศเมื่อปี 2000 ยืนยันว่า ความผูกพันทางอารมณ์แบบนี้สำคัญต่อการเติบโตของลูกมากๆ เพราะมันส่งผลดีต่อพัฒนาการทุกด้านของลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
จริงๆ แล้ว สัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยังสามารถทำนายได้ว่า ในอนาคตลูกจะเติบโตไปได้ดีแค่ไหน ทั้งในเรื่องการเรียนรู้และในการใช้ชีวิตประจำวัน
- สายสัมพันธ์ที่มั่นคง สร้าง “พื้นฐานสมอง” ที่ดีให้ลูกน้อย
สายสัมพันธ์ที่อบอุ่นและมั่นคง จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย เข้าใจ และสงบใจได้มากพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ต่อการเติบโตของสมองลูกค่ะ ในช่วงวัยนี้ สมองของลูกกำลังสร้าง “ระเบียบ” และวางรากฐานที่แข็งแรงที่สุดสำหรับชีวิตของเขา
ความรู้สึกปลอดภัยจากสายใยรัก จะกระตุ้นให้ลูกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีสติที่ดี จดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ไว้ใจคนรอบข้าง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
- สายสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูก
ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการด้านความรู้สึกปลอดภัย ความเข้าใจ และความสงบอย่างเพียงพอ สมองที่กำลังพัฒนาของลูกอาจจะไม่สามารถจัดระเบียบตัวเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และร่างกายของลูกได้ ในระยะยาว ลูกอาจจะมีความยากลำบากในการเรียนรู้ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

สายสัมพันธ์ที่มั่นคง สำคัญอย่างไร?
เมื่อลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่รักและเข้าใจเขาอย่างแท้จริง เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะไว้ใจคุณพ่อคุณแม่ เล่าความรู้สึกต่างๆ ให้ฟัง และเมื่อเขาโตขึ้น ก็จะสามารถเชื่อใจคนอื่นๆ ได้ด้วย
การที่คุณแม่กับลูกน้อยมีความผูกพันทางใจที่ดี จะช่วยให้ลูกรู้สึกดีกับตัวเอง เป็นเด็กร่าเริงสดใส มีความรัก และรู้จักเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง
ที่สำคัญไปกว่านั้น สายสัมพันธ์ที่มั่นคงนี้ยังช่วยให้สมองส่วนที่ดูแลเรื่องอารมณ์ สังคม การสื่อสาร และความสัมพันธ์ของลูกน้อยเติบโตได้ดี ทำให้เขาเป็นเด็กที่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดีในอนาคต คุณสมบัติที่เราเห็นในความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่ เช่น การเห็นอกเห็นใจ การเข้าใจกัน ความรัก และการตอบสนองต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย จริงๆ แล้วลูกน้อยได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ยังเล็กๆ ผ่านความรักและความเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่นี่เองค่ะ
เมื่อลูกน้อยมีสายสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคุณแม่ จะส่งผลดีในหลายด้าน
- สร้างเพื่อนแท้และคนสนิทได้ง่าย ลูกจะสามารถผูกมิตรและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้อย่างลึกซึ้ง
- ควบคุมอารมณ์ได้ดี ลูกจะรู้จักวิธีจัดการกับความรู้สึกต่างๆ ไม่ให้ขึ้นๆ ลงๆ มากเกินไป
- รักและมั่นใจในตัวเอง ลูกจะรู้สึกดีกับตัวเอง มีความเชื่อมั่น และกล้าที่จะทำสิ่งต่างๆ
- มีความสุขกับการเข้าสังคม ลูกจะสนุกกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
- เข้มแข็งเมื่อเจอปัญหา เมื่อลูกผิดหวังหรือสูญเสียอะไรไป จะสามารถปรับตัว รับมือกับความผิดหวัง และกลับมาเข้มแข็งได้เร็ว
- กล้าพูดคุยและขอความช่วยเหลือ ลูกจะเปิดใจเล่าความรู้สึกและกล้าที่จะขอคำแนะนำหรือกำลังใจจากคนที่ไว้ใจค่ะ
สายสัมพันธ์แม่ลูกที่มั่นคง ไม่ได้ดีแค่กับลูก แต่ดีกับคุณแม่ด้วย!
ความสุขที่คุณแม่ได้รับจากการได้อยู่ใกล้ชิดลูกน้อย จะช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และความเครียดจากการเรียนรู้วิธีเลี้ยงลูกได้ดีมากๆ เลยค่ะ กระบวนการสร้างความผูกพันนี้จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่หลั่งสาร “เอ็นดอร์ฟิน” ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้คุณแม่รู้สึกมีพลังและอารมณ์ดีขึ้นได้
7 วิธีสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก ตั้งแต่แรกเกิด นำทางลูกไปตลอดชีวิต
สัญญาณที่ไม่ใช่คำพูดคือสัญญาณทางประสาทสัมผัสที่สื่อสารด้วยน้ำเสียง การสัมผัส หรือการแสดงออกทางสีหน้า คุณแม่จะเฝ้าดู ฟังเสียงร้องไห้และเสียงอ้อแอ้ของลูกน้อย และตอบสนองต่อสัญญาณของลูกน้อย เพื่อสร้างความรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย และสบายใจให้กับลูก
1. สบตากับลูก
การที่คุณแม่มองตาลูกด้วยความรัก ลูกจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกดีๆ ที่ส่งผ่านทางสายตา ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ภาษากาย” ที่สำคัญมากๆ ค่ะ การสบตาแบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย อบอุ่นใจ และมีความสุข
แต่ถ้าช่วงไหนคุณแม่รู้สึกเศร้า เครียด หรือใจลอย อาจจะทำให้เราไม่ได้มองตาลูกโดยตรง ซึ่งอาจจะทำให้ลูกรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้ค่ะ
นอกจากนี้ การสบตายังสำคัญในการพูดคุยกับลูกด้วยนะคะ มันช่วยให้ลูกรู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขา และทำให้การสื่อสารราบรื่นขึ้นค่ะ เหมือนเป็นการบอกลูกว่า “แม่อยู่นี่นะ กำลังฟังหนูอยู่นะ” ค่ะ
2. สีหน้าอบอุ่น ผ่อนคลาย
ใบหน้าของเราสามารถสื่อสารความรู้สึกได้หลากหลาย โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลยค่ะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่แสดงสีหน้าที่สงบ อ่อนโยน และใส่ใจเวลาอยู่กับลูก ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยและสบายใจค่ะ
แต่ถ้าใบหน้าของเราดูเครียด โกรธ กังวล เศร้า หรือแม้แต่ใจลอย ลูกก็จะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ และอาจจะทำให้เขารู้สึกเครียด ไม่ปลอดภัย หรือไม่มั่นใจตามไปด้วย
บางทีแค่สีหน้าของเราเปลี่ยนไป เขาก็รับรู้ได้แล้วค่ะ ดังนั้น การแสดงออกทางสีหน้าที่อบอุ่นและผ่อนคลายจึงสำคัญมากๆ ในการสร้างความรู้สึกมั่นคงให้กับลูกค่ะ

3. น้ำเสียงนุ่มนวล แสดงความรัก
ถึงแม้ลูกน้อยจะยังเด็กมากจนไม่เข้าใจคำพูดของเรา แต่เขาสามารถแยกแยะน้ำเสียงต่างๆ ได้ เขารับรู้ได้ถึงความแตกต่างระหว่างน้ำเสียงที่แข็งกระด้าง เฉยเมย หรือเหมือนเรากำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ กับน้ำเสียงที่อ่อนโยน แสดงความสนใจ ห่วงใย และเข้าใจ
ดังนั้น เวลาที่เราพูดกับลูกน้อย แม้จะยังเล็กอยู่ ลองใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล อบอุ่น และแสดงความรักนะคะ ลูกจะรู้สึกปลอดภัยและได้รับการใส่ใจค่ะ
และเมื่อลูกโตขึ้น สิ่งสำคัญคือ น้ำเสียงที่เราใช้ควรจะสอดคล้องกับสิ่งที่เราพูด ถ้าเราพูดด้วยความเป็นห่วง แต่เสียงเราดูหงุดหงิด ลูกอาจจะสับสนได้ การใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกและสิ่งที่เราต้องการสื่อสารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
4. สัมผัสอย่างอ่อนโยน
การสัมผัสลูกน้อยสามารถส่งผ่านความรู้สึกต่างๆ ของเราไปให้ลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นความใส่ใจ ความใจเย็น ความอ่อนโยน ความผ่อนคลาย หรือแม้แต่ความไม่สนใจ ความไม่สบายใจ หรือความเร่งรีบของเรา
ลองสังเกตวิธีที่เราอาบน้ำ แต่งตัว อุ้ม หรือกอดลูกน้อยดูนะคะ การที่เราโอบกอดลูกอย่างอบอุ่น การสัมผัสแขนเบาๆ หรือการตบหลังเบาๆ เพื่อปลอบโยน ทั้งหมดนี้เป็นการสื่อสารด้วยการสัมผัส ที่ถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย และความรู้สึกดีๆ ไปสู่ลูกน้อยของเราค่ะ
ดังนั้น การสัมผัสลูกด้วยความรักและความอ่อนโยน จะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในใจลูกได้มากเลยทีเดียว
5. ภาษากายที่เปิดเผยและใส่ใจ
วิธีที่คุณแม่นั่ง ขยับตัว หรือทำท่าทางต่างๆ สามารถบอกอะไรลูกได้เยอะเลยนะคะ ลองนึกภาพว่า ถ้าเราคุยกับลูกไปพร้อมกับไขว้แขน และเอนตัวไปข้างหลัง ลูกอาจจะรู้สึกว่าเรากำลังตั้งรับ หรือไม่ค่อยสนใจสิ่งที่เขาพูดเท่าไหร่ค่ะ
แต่ถ้าเรานั่งด้วยท่าทางที่ผ่อนคลาย เอนตัวเข้าหาลูกเล็กน้อย ลูกจะรู้สึกได้เลยว่าเรากำลังตั้งใจฟัง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูด
ภาษากายของเราจึงสำคัญไม่แพ้คำพูดเลยนะคะ การแสดงท่าทางที่เปิดเผยและใส่ใจ จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจและกล้าที่จะสื่อสารกับเรามากขึ้นค่ะ
6. จังหวะการพูดที่เหมาะสม
จังหวะการพูด การเคลื่อนไหว และสีหน้าของเรา สามารถบอกสภาวะจิตใจของเราได้ค่ะ ถ้าเราพูดเร็วเกินไป เคลื่อนไหวด้วยท่าทางกระวนกระวาย หรือสีหน้าดูเครียดหรือไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้จะไม่ช่วยให้ลูกรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย หรืออบอุ่นใจได้เลยค่ะ
เราต้องสังเกตจังหวะและน้ำหนักในการสื่อสารของลูกน้อยด้วย โดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆ มักจะพูดช้ากว่า และแสดงออกไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่
ดังนั้น เวลาที่เราอยู่กับลูก ลองปรับจังหวะการพูดและการเคลื่อนไหวให้ช้าลง นุ่มนวลขึ้น และสังเกตการตอบสนองของลูกน้อย เพื่อให้การสื่อสารของเราสอดคล้องกับความรู้สึกของลูก และช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจและปลอดภัยมากขึ้นค่ะ
7. เล่านิทาน ร้องเพลงกล่อม
ถึงแม้ลูกน้อยจะยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจเนื้อหาที่เราอ่านหรือร้อง แต่การที่เขาได้ยินเสียงที่อ่อนโยน นุ่มนวล และให้กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจมากๆ เลยค่ะ
เสียงของคุณแม่จะช่วยปลอบประโลมและสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับลูกน้อยได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทานด้วยน้ำเสียงที่สดใส หรือการร้องเพลงกล่อมเบาๆ ก็เป็นการสื่อสารความรักและความใส่ใจ ที่ลูกน้อยรับรู้ได้ด้วยความรู้สึกค่ะ
วิธีสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก ทั้ง 7 ข้อข้างต้นเป็นเรื่องง่ายที่สุดที่คุณแม่จะทำให้กับลูกได้ค่ะ โดยสายสัมพันธ์ที่มั่นคงที่เราสร้างไว้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก จะไม่ใช่แค่ความผูกพันในวัยเด็กเท่านั้น แต่มันจะกลายเป็นพลังใจที่ยิ่งใหญ่ ที่จะหล่อเลี้ยงและนำทางลูกของเราไปตลอดชีวิต ทำให้เขามีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปค่ะ
ที่มา : helpguide.org
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
9 วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก เคล็ดลับง่ายๆ ทำได้ทุกวันตั้งแต่ในท้อง
3 เคล็ดลับ สร้างวินัยก่อนเข้านอน ทำตามนี้! ลูกจะหลับง่าย พัฒนาการดี
วิธีเลี้ยงลูก Gen Beta ต้องปลูกฝัง 6 ทักษะสำคัญนี้ให้ลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!