แม่เป็นไข้หวัดใหญ่ ให้นมลูกได้ไหม ป่วยเป็นไข้ ไอเจ็บคอ ต้องกินยา แล้วแม่จะให้นมลูกต่อไปได้ไหม หรือปั๊มนมแม่ทิ้งไปก่อน แม่กลัวลูกจะติดหวัด แพร่เชื้อไปสู่ลูกรัก หรือยาที่แม่กิน ยาต้านไวรัส ยาแก้ไข้ จะส่งผ่านน้ำนมไปทำอันตรายกับลูกหรือเปล่า มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลยค่ะ
น้ำนมแม่
“น้ำนม” หรือกระบวนการผลิตน้ำนมที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องที่อัศจรรย์สำหรับคุณแม่มือใหม่ และน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้คุณแม่คลายกังวลได้ หากแม่ต้องมาเป็นไข้ในขณะที่ให้นมลูก เพราะกระบวนการผลิตน้ำนมของแม่ถูกธรรมชาติรังสรรค์มาให้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งกว่าน้ำนมจะผ่านออกมาสู่ลูกน้อยนั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากผนังถึง 2 ชั้น คือ ผนังหลอดเลือดฝอย และผนังต่อมน้ำนมค่ะ
เมื่อแม่เป็นไข้ การกินยา จะส่งผลต่อลูกขณะให้นมไหม ?
การที่คุณแม่มีอาการป่วยไข้ไม่สบายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องกินยาก็สามารถกินยาตามที่คุณหมอแนะนำได้อย่างปลอดภัย เพราะปริมาณยาที่จะผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้มีไม่ถึง 1% เท่านั้น และร่างกายของลูกเองก็ยังมีระบบป้องกันพื้นฐาน เช่น น้ำลาย น้ำย่อย หรือเนื้อเยื่อคัดกรองต่าง ๆ ที่คอยสกัดกั้นยาไว้อีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องได้รับยาเฉพาะทาง หรือตามที่แพทย์สั่ง ก็จำเป็นต้องหยุดการให้นมลูกขณะกินยารักษานะคะ
เมื่อแม่เป็นไข้ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- หากแม่เริ่มต้นมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก ควรบรรเทาอาการและดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- เมื่อต้องไปพบแพทย์ ควรแจ้งให้ทราบว่ากำลังให้นมลูกอยู่ เพื่อที่คุณหมอจะได้เลือกยาที่มีผลต่อการให้นมทารกน้อยที่สุด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น ยาบางตัวต้องกินติดต่อกันจนหมด บางตัวต้องกินหลังอาหาร ในช่วงที่กินยาก็ควรสังเกตอาการของลูกด้วยว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
- ปกติยาจะมีปริมาณสูงสุดในกระแสเลือดหลังจากกินไปแล้วประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง ฉะนั้น หลังให้ลูกกินเสร็จแล้วควรกินยาทันที หรือเลือกช่วงกินยาในขณะที่ลูกหลับยาวที่สุด เพื่อช่วยลดโอกาสที่ยาจะผ่านน้ำนมไปสู่ลูกได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยขับยาออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
- หากเป็นยาที่ห้ามกินขณะให้นมลูก คุณแม่ควรใช้วิธีปั๊มนมเพื่อเก็บน้ำนมเป็นสต็อกแช่แข็งไว้ให้ลูกล่วงหน้า โดยกะให้ปริมาณน้ำนมที่เก็บพอดีกับช่วงเวลาที่ต้องกินยา หรือถ้าต้องกินยาพร้อมกับหยุดให้นมชั่วคราวระหว่างนี้ก็ควรบีบ หรือปั๊มน้ำนมทิ้งเพื่อให้เต้านมยังคงผลิตน้ำนมต่อไปได้ไม่ขาดช่วงนะคะ
- ถ้าจำเป็นต้องมีการรักษาระยะยาว ควรปรึกษาคุณหมอเรื่องการให้นมแม่ ควรหยุดชั่วคราวเพื่อรับการรักษาแล้วค่อยกลับมาให้นมลูกอีกครั้ง หรือสามารถเลื่อนการรักษาได้หลังจากลูกหย่านมแล้วกลับมารักษาต่อ หรือต้องหยุดให้นมลูกตลอดไป
- หากมีอาการข้ออักเสบ เคล็ด ขัดยอก ควรใช้ยาทาภายนอกแทนยากิน
ถึงแม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ยาจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทารกได้ในปริมาณน้อยมากก็ตาม แต่หากเป็นไปได้ในขณะที่คุณแม่ให้นมลูกอยู่นั้นถ้าเลี่ยงการกินยาได้โดยไม่ปล่อยให้ยาผ่านเข้าสู่ร่างกายลูกเป็นดีที่สุดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาสามัญประจำบ้านที่คนท้องควรมี ยาที่ปลอดภัยทั้งแม่และลูก
แม่เป็นไข้หวัดใหญ่ ให้นมลูกได้ไหม ?
ไข้หวัดใหญ่กับการให้นมแม่ ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดต่าง ๆ ในขณะนี้ คุณแม่ที่กำลังให้นมแม่แก่ลูกสมควรอย่างยิ่งที่จะคงให้นมแม่อย่างต่อเนื่องต่อไปนะคะ อย่าเพิ่งรีบหยุดนมแม่ เพราะทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ หากรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงได้มากกว่า ทารกที่กินนมแม่ค่ะ
ถึงแม้คุณแม่จะสงสัยว่า ตนเองจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรืออยู่ใกล้ชิดคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ก็ให้คงการให้นมแม่ต่อไป เพราะก่อนหน้าที่คุณแม่จะทราบว่าตนเป็นไข้หวัดใหญ่ เชื้อก็อาจจะแพร่มาสู่ลูกแล้วก็ได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้อาจแพร่กระจายได้ก่อนที่คนไข้จะมีอาการเป็นเวลา 24 – 48 ชม เสียด้วยซ้ำไป
ถึงแม้ลูกที่กินนมแม่อยู่สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็ให้กินนมแม่ต่อไป การให้นมแม่ทำให้การติดเชื้อทางเดินหายใจลดความรุนแรงลง ยิ่งใน 6 เดือนแรกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะมีการป้องกันได้อย่างดีที่สุด และถึงแม้จะให้นมแม่ร่วมกับนมผสม ก็ยังมีผลป้องกันได้ดีกว่า การกินนมผสมอย่างเดียว ดังนั้น คุณแม่ที่ยังให้ทั้งสองอย่างอยู่ ควรถือโอกาสนี้เพิ่มการให้นมแม่มากขึ้น และลดการให้นมผสมลง เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้ลูกค่ะ
สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด และทารกที่เพิ่งคลอดจากแม่ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับการดูแลแนะนำเป็นราย ๆ ไปจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อ ยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่าโอกาสเสี่ยงจริง ๆ ในการที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะผ่านมาทางนมแม่มีมากน้อยเพียงใด แต่คิดว่ามีโอกาสน้อยมาก เพราะการรายงานว่าพบไวรัสในกระแสเลือดในช่วงระบาดของไข้หวัดใหญ่หาได้ยากมากจริง ๆ นั่นแสดงว่า โอกาสพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในน้ำนมแม่ก็น้อยมากด้วย
กินยาต้านไวรัสตัวไหนไม่อันตราย ให้นมลูกได้อย่างสบายใจ
แม่ที่กินยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่งในสองตัวนี้ (Oseltamivir , Zanamivir) เป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในไข้หวัดใหญ่ สามารถให้นมแม่แก่ลูกที่คลอดครบกำหนดได้
- ระดับของยา Oseltamivir ในน้ำนมแม่ อยู่ในระดับต่ำ ในการศึกษาหนึ่งพบว่า ทารกที่กินนมแม่ที่กินยานี้จะได้รับยาประมาณ 0.5 % ของขนาดที่แม่กิน
- ยา Oseltamivir ได้รับการรับรองให้ใช้ในทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ส่วนยา Zanamivir ที่ให้โดยการสูดดม จะมีระดับยาในพลาสมาในระดับต่ำ จึงไม่น่ามีผลต่อระดับยาในนมแม่ และทารกที่กินนมแม่ค่ะ
เพจ นานายาเด็ก โดย ณัฎฐา โมลีเศรษฐ์ (เภสัชกรกวาง)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
กากบาทตัวโต!! ยาอันตราย ห้ามใช้กับลูก ทารกและเด็กเล็กไม่ควรกินเด็ดขาด!
ซื้อยาปฏิชีวนะมาให้ลูกกินเอง อันตรายถึงชีวิต!
เช็คลิสต์ยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีไว้ สำหรับเจ้าตัวน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!