เมื่อนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น จะหาอาหารแบบไหนดีนะที่เหมาะกับลูก นอกจากนมแม่ ให้ลูกกินอะไรได้อีก ทางเลือกที่ใกล้เคียงที่สุดกับนมแม่คืออะไร ควรเลือกอาหารแบบไหน หรือผลิตภัณฑ์นมอย่างไร ให้เกิดความปลอดภัยต่อทารกมากที่สุด
อาหารที่ดีที่สุดของทารก คืออะไร
ใคร ๆ ก็ต้องรู้ว่าอาหารที่ดีที่สุดของทารก คงหนีไม่พ้น “นมแม่” ที่ต้องมาจากแม่แท้ ๆ ของทารก ไม่ใช่เพราะว่าทารกกินเพียงนมแม่ได้เท่านั้นช่วงแรกเกิดใหม่ ๆ จนถึง 6 เดือน แต่เพราะว่าน้ำนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และสารอาหารที่หลากหลาย ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการทารก โดยเฉพาะช่วยในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้ทารกป่วยได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วทารกจะต้องกินนมแม่ล้วน ๆ ไปอย่างน้อย 6 เดือน และมากที่สุด 2 ปี โดยเฉลี่ย ก่อนที่จะเริ่มหันมากินอาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยได้
อย่างไรก็ตาม แม้นมแม่จะดีที่สุดแต่อาจต้องระวังปัญหาสุขภาพโดยรวม เนื่องจากหากคุณแม่ดูแลสุขภาพไม่ดี เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือกินอาหารไม่หลากหลายพอ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพสารอาหารในน้ำนมแม่ ไปจนถึงปริมาณน้ำนมที่น้อยกว่าปกติ สามารถส่งผลกระทบเมื่อทารกโตขึ้น และต้องการน้ำนมแม่มากขึ้น
ไม่มีอะไรทัดเทียมน้ำนมเหลือง
ในช่วงที่คุณแม่คลอดเจ้าตัวน้อยใหม่ ๆ ช่วงหลังคลอดเพียง 1-3 วัน ร่างกายของคุณแม่จะผลิตน้ำนมที่เรียกว่า “น้ำนมเหลือง (Colostrum)” ซึ่งเป็นที่รู้โดยทั่วไปว่าน้ำนมช่วงนี้ถือว่าเป็นนมแม่ช่วงที่สมบูรณ์ที่สุด มีประโยชน์ต่อทารกมากที่สุด หากผ่านช่วงหลังคลอด 1-3 วันไปแล้ว น้ำนมแม่จะไม่ได้มีนมเหลืองเข้มข้นเท่าตอนแรก หรืออาจเรียกได้ว่า นมแม่ในช่วงปกติมีประโยชน์ต่อทารกมากกว่าอาหารมื้อไหน ๆ แต่น้ำนมเหลืองมีประโยชน์มากกว่านั้นมาก
สาเหตุที่ทำให้น้ำนมเหลืองสำคัญต่อทารก คือ สารอาหารหลากชนิดในนั้น ตัวอย่างเช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM, DHA และวิตามินต่าง ๆ สารอาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อทารกน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารก การช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียให้ทารก และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองของทารกนั่นเอง
นอกจากนมแม่ ให้ลูกกินอะไรได้อีก
สำหรับคุณแม่ที่อาจมีปัญหาการให้นม หรือคุณแม่ที่มีลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว อาจมีความกังวลกลัวว่าลูกจะได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์มากพอหรือเปล่า กรณีที่คุณแม่มีปัญหาการให้นม เช่น มีนมแม่น้อย ไหลออกมาไม่มาก ปัญหานี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการ กระตุ้นน้ำนม และโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อย
ส่วนคุณแม่ที่มีทารกอยู่ในวัยเริ่มลดมื้อนมแม่ เริ่มทานผลิตภัณฑ์นม หรืออาหารบด ตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป เราก็มีคำแนะนำสำหรับการเลือกมื้ออาหาร หรือเกณฑ์การเลือกนมให้เด็ก เพื่อให้ได้สารอาหารที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์ของนมแม่มากที่สุด ดังนี้
1. อาหารบด อาหารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นมแม่
ช่วง 6 เดือนนี้ คุณแม่สามารถลดมื้อนมแม่ และทดแทนด้วยอาหารบดได้บ้างแล้ว เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ลูกน้อยจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร ดังนั้นในช่วงแรกทารกจะกินอาหารบดได้เพียงไม่กี่ช้อนเท่านั้น ถ้าลูกอิ่มแล้วก็พอ ไม่ต้องบังคับลูกให้กินต่อ โดยทั่วไปแล้วเมนูอาหารบด มักเลือกมาจากวัตถุดิบที่มีประโยชน์ทั้งผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ เช่น ไก่บด หรือกล้วยบด เป็นต้น เด็กวัยนี้อาจหย่านมแม่ไม่ได้ 100 % ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่ และลดออก 1 มื้อ เอาไปเพิ่มเป็นมื้ออาหารบดให้กับลูกแทน จากนั้นจึงค่อย ๆ ปรับอัตราส่วนไปเรื่อย ๆ
ผู้ปกครองไม่ควรเลือกอาหารที่เคี้ยวได้ยาก หรือบดได้ยาก เพราะอาจมีบางส่วน บางชิ้นเล็ก ๆ ที่ยังมีความแข็งอยู่ เด็กเล็กที่อาจยังเคี้ยวอาหารได้ไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ในภายหลัง ตัวอย่างเช่น แครอท หรือแอปเปิล ที่หากทำไม่สุกทำไม่ดี จะทำให้ติดคอลูกได้ อาหารบดเหล่านี้โดยพื้นฐานให้ลูกลองกินอย่างหลากหลายมากที่สุด เพื่อให้ได้สารอาหารหลายแบบ อย่างไรก็ตามช่วงนี้ที่ลูกยังได้กินนมแม่อยู่เรื่อย ๆ ก็ยังหายห่วงเรื่องสารอาหารได้พอสมควร
2. ผลิตภัณฑ์นมเสริมกับนมแม่
ทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ การเลือกผลิตภัณฑ์นมชง หรือนมต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับทารกมากที่สุด เหมาะสมในที่นี้ คือ ให้ยึดหลักเกณฑ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
- ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยก่อนอันดับแรก คือ การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อรับคำแนะนำแนวทางสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์นมว่าแบบไหนที่ควรระวัง อาจเป็นอันตรายต่อทารก เพราะทารกแต่ละคน อาจมีข้อจำกัดในการรับนมแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจแพ้นมวัว ก็ต้องเลือกสูตรที่แตกต่างออกไป เป็นต้น
- เมื่อมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยแล้ว ต่อมาให้เลือกจากผลิตภัณฑ์นมที่มีส่วนผสมของสารอาหารที่ครบถ้วนต่อความต้องการของทารก และเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการรอบด้านของลูกน้อย หากคุณแม่ต้องการเลือกโภชนาการที่พบในนมแม่ เช่น แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin), MFGM และ DHA ก็สามารถสอบถามแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับสารอาหารแต่ละชนิดได้
- เลือกผลิตภัณฑ์นมให้เหมาะสมกับช่วงวัย เนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้น จะต้องการปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป คุณแม่จึงต้องศึกษาถึงอายุที่แนะนำข้องกล่องผลิตภัณฑ์ด้วย
อาหารแบบไหนที่ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่ควรระวังเมนูอาหารที่มีความหวาน หรือเสี่ยงต่อการมีเชื้อตามธรรมชาติติดมากับอาหาร เช่น น้ำผึ้ง, ชีส, นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์, อาหารบดที่ปรุงไม่สุก, ขนมหวาน, ถั่ว และปลาที่มีปรอทสูง เช่น ปลากระโทงดาบ เป็นต้น ยังมีอาหารที่หลากหลายที่ลูกรักไม่ควรทานในตอนนี้ ซึ่งควรผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้ระวังไว้ให้ได้มากที่สุด
การเลือกอาหารให้ทารก ควรเน้นที่ความปลอดภัย สารอาหาร และความเหมาะสม เป็นที่ตั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทารกน้อยจะยังสามารถเติบโตได้อย่างคุณภาพ ทั้งนี้หากลูกยังต้องการนมแม่ โดยที่อายุยังไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไป ร่วมกับมื้ออาหารอื่น ๆ ได้เช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เติมนมแม่ลงในนมผงได้ไหม ใครทำอยู่หยุดด่วน ไม่ใช่ผลดีกับทารก
สต็อกน้ำนมเหลือง สต็อกนมแม่หลังคลอด ทำอย่างไร แค่ไหนถึงพอ
นมผงแต่ละสูตรต่างกันอย่างไร ก่อนเปลี่ยนนมให้ลูกแม่ต้องรู้อะไรบ้าง
ที่มา :enfababy , webmd
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!