โรคมะเร็ง เป็นโรคที่ขึ้นชื่อว่ามีโอกาสรักษาหายได้ยาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้น การรู้เท่าทันและการป้องกันโรค จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิต และลดความรุนแรงของโรค บทความนี้ จะพาทุกคนมารู้จักกับ มะเร็งกระดูก อาการเป็นอย่างไร วิธีป้องกัน และรักษาโรค
มะเร็งกระดูก คืออะไร?
โรคมะเร็งกระดูก (Bone Cancer หรือ Malignant Bone Tumor) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 10-20 ปี แต่ก็อาจพบได้ในผู้ป่วยวัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน
มะเร็งกระดูก เป็นเซลล์มะเร็งที่อาจมีการก่อตัวจากบริเวณกระดูก ที่อยู่ในกระดูกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะเรียกว่า โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ แต่หากเซลล์มะเร็ง มีต้นกำเนิดมาจากอวัยวะอื่น ๆ แล้วแพร่กระจายมายังกระดูก จะเรียกว่า โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ ซึ่งมะเร็งกระดูก มักเกิดขึ้นในบริเวณกระดูกที่มีแนวยาว เช่น กระดูกแขน กระดูกขา ซึ่งอาจมีการเจ็บ บวม แดง เป็นสัญญาณบ่งบอกโรคได้
ชนิดของมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
-
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary Bone Cancer หรือ Primary Bone Tumor)
เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์มะเร็ง ที่เกิดขึ้นในบริเวณกระดูกเอง มักเกิดบริเวณกระดูกที่มีแนวยาว เช่น กระดูกแขน กระดูกขา เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งที่เกิด มักเกิดบริเวณใกล้ข้อ เช่น ข้อขา ข้อเข่า เป็นต้น
-
มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary Bone Cancer หรือ Secondary Bone Tumor)
เป็นมะเร็งที่มีการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง มาจากส่วนอื่นของร่างกาย แล้วแพร่มายังกระดูก ซึ่งประมาณ 30-40% ของมะเร็งที่แพร่กระจายมา มักพบที่บริเวณแขน ขา และอีกประมาณ 50-60% จะเป็นเซลล์มะเร็ง ที่แพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนกลางของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระดูก
สาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นบริเวณกระดูก ยังมีที่มาไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันพบว่า มีปัจจัยในการเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรค ดังนี้
การรักษาโรค ที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับรังสีในปริมาณมาก อาจมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งเกิดการพัฒนาขึ้นในเซลล์กระดูกได้
โรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก อาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มความเสี่ยง ให้กับการเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้เช่นกัน
หากครอบครัว หรือ บรรพบุรุษ มีประวัติการเป็นมะเร็งมาก่อน อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระดูกได้ และความผิดปกติของพันธุกรรมบางอย่าง อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งกระดูกได้เช่นกัน
ความรุนแรงของโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูก ถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมีสูง หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที สำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้เสียชีวิตในเวลาเพียงไม่เกิน 2 ปี และสำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ หากเซลล์มะเร็งปอดกระจายมาที่กระดูก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ทั้งนี้ ระยะเวลาและโอกาสในการหาย ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคด้วย
อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิในระยะเริ่มต้น ที่ยังไม่เกิดการแพร่กระจาย ผู้ป่วยอาจมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่การตรวจโรคมะเร็งไม่สามารถตรวจก่อนพบเชื้อได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติ ที่เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยด่วน
มะเร็งกระดูกมีกี่ระยะ?
มะเร็งกระดูก สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ตามลักษณะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนี้
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจายออกไปและมีอัตราการแบ่งตัวต่ำ
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกไปจากกระดูก แต่เซลล์มะเร็งมีอัตราการแบ่งตัวสูง
- ระยะที่ 3 บริเวณกระดูกมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น 2 แห่งขึ้นไป และเกาะอยู่บนกระดูกแนวเดียวกัน ซึ่งอาจมีการแบ่งตัวสูงหรือต่ำก็ได้
- ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกส่วนอื่น หรือ อวัยวะอื่น ๆ
อาการของมะเร็งกระดูกเป็นอย่างไร?
1. เจ็บกระดูก
อาการของโรคมะเร็งกระดูกที่พบได้บ่อย คือ เจ็บกระดูก ซึ่งมักมีอาการเริ่มแรกคลายอาการฟกช้ำ บริเวณกระดูกที่มีเซลล์มะเร็ง จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเจ็บติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือ เจ็บ ๆ หาย ๆ มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน หรือ ในขณะที่กำลังนั่งพัก ซึ่งอาการดังกล่าว มีความคล้ายกับโรคข้ออักเสบ อาจทำให้เกิดความสับสนได้
2. อาการบวมแดง
นอกเหนือจากอาการเจ็บแล้ว อาจพบอาการบวม แดง อักเสบ หรือ สามารถสังเกตได้ถึงก้อนบวม บริเวณที่รู้สึกเจ็บ และหากเซลล์มะเร็งอยู่ใกล้ข้อต่อ อาการบวมแดงอาจไปรบกวนให้ข้อต่อเคลื่อนไหว ส่งผลให้กระดูกอ่อนแอ จนเกิดการแตกหักได้ง่ายขึ้น
3. อาการไข้
อีกหนึ่งอาการของมะเร็งกระดูก ที่สามารถพบได้คือ มีไข้สูง เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน อีกทั้งอาจมีภาวะน้ำหนักลดลง อย่างไม่มีสาเหตุ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเข้าพบแพทย์ด้วยอาการปวดกระดูก ซึ่งแพทย์จะทำการสอบถามอาการ และตรวจบริเวณที่มีอาการ ว่าพบก้อนเนื้อหรืออาการบวมผิดปกติหรือไม่ และแพทย์จะพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
เป็นการใช้รังสีถ่ายภาพกระดูก ซึ่งสามารถใช้เพื่อดูความเสียหายของกระดูก ที่อาจเกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็ง หรือ ดูว่ามีกระดูกงอกใหม่ที่เป็นผลมาจากเซลล์มะเร็งหรือไม่
การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นวิธีที่ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สามารถนำมาใช้วิจัยโรคได้ การนำเอาตัวอย่างกระดูกบริเวณที่สงสัย ส่งเข้าตรวจในห้องปฏิบัติการการเจาะกระดูกจะช่วยให้ทราบได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดใด โดยการเจาะกระดูก สามารถทำได้ทั้งการใช้เข็มเจาะเข้าไปในกระดูก และการผ่าตัด
หากตรวจพบมะเร็งกระดูก แพทย์จะทำการตรวจในขึ้นตอนต่อไป เพื่อดูว่ามะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามแล้วหรือไม่ ด้วยการใช้วิธีการ ดังต่อไปนี้
เป็นวิธีการตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เกิดภาพกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งจะช่วยประเมิรขนาด และความเร็วของการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้
เป็นวิธีการตรวจโดยการใช้รังสีเอกซเรย์ ควบคู่ไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถ่ายภาพร่างกาย มักใช้เพื่อการตรวจหาการกระจายของมะเร็ง ที่ลุกลามไปยังปอด
วิธีการสแกนกระดูก จะช่วยให้แพทย์รู้ว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนใดแล้วบ้าง ซึ่งจะใช้วัสดุกัมมันตรังสี ฉีดเข้าไปบริเวณหลอดเลือด เพื่อช่วยให้มองเห็นความปกติได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะกระดูกส่วนที่มีปัญหา จะสามารถดูดซึมวัสดุชนิดนี้ได้ดีกว่าปกติ
ผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า แพทย์อาจมีการใช้การตรวจไขกระดูกเข้าช่วย เพื่อดูว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังไขกระดูกแล้วหรือยัง ซึ่งแพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปยังกระดูก เพื่อนำเอาตัวอย่างของไขกระดูกออกมาตรวจ
วิธีรักษามะเร็งกระดูก
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกให้หาย ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะ และความรุนแรงของมะเร็ง ซึ่งวิธีการรักษาโรคมะเร็งกระดูก มีหลายวิธี และแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการให้การรักษา อาจให้การรักษาควบคู่กันได้หลายวิธี ดังนี้
-
การผ่าตัด
การผ่าตัดมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
- การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งออกโดยไม่ตัดแขนและขา จะใช้ในกรณีที่สามารถแยกแยะมะเร็งออกจากเส้นประสาท และแยกออกจากเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้ ซึ่งแพทย์จะนำกระดูกจากส่วนอื่นของร่างกาย หรืออาจใช้กระดูกเทียมมาใส่แทน
- การผ่าตัดแขนและขา จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีมะเร็งขนาดใหญ่ หรือเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณที่ซับซ้อน ซึ่งต้องใช้การผ่าตัดเพื่อนำแขน และขาส่วนนั้นออกไปด้วย
- การผ่านำกระดูกเนื้อเยื่อรอบ ๆ จะใช้ในมะเร็งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณแขน หรือขา แต่จะเหลือส่วนของกระดูกไว้ให้มากที่สุด ซึ่งจะใช้กระดูกจากส่วนอื่นทดแทน
เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งให้กับผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการให้ยาผ่านทางเส้นเลือด เพื่อให้ยาสามารถแพร่กระจายไปสู่ทั่วร่างกาย การรักษาด้วยวิธีนี้ จะใช้ในผู้ป่วยที่มีมะเร็งระยะลุกลามไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว
เป็นการรักษาโดยการใช้คลื่นแสงพลังงานสูง เช่น รังสี X-ray เพื่อช่วยในการกำจัดเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกันกับการทำเคมีบำบัด โดยแพทย์จะทำการฉายรังสีก่อนแล้วจึงให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด
มะเร็งกระดูก แม้เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง และมีโอกาสการรักษาหายได้ยาก แต่หากเรามีความรู้เท่าทัน ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ ดังนั้นหากใครที่กำลังสงสัย ว่าตัวเองเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งกระดูก ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที
ที่มาข้อมูล : pobpad rama.mahidol
บทความที่น่าสนใจ :
มะเร็งมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง คุ้มครองอะไรได้บ้าง
10 สัญญาณโรคมะเร็งที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้ โรคมะเร็งที่สาว ๆ ต้องระวัง
มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวของผู้หญิง อันตรายถ้าไม่รีบตรวจ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!