ตรวจสุขภาพทารก สำคัญอย่างไร พ่อแม่ควรรู้อะไรบ้าง ?

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ตรวจสุขภาพทารก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ผู้ใหญ่ เพราะเด็กวัยทารก เป็นวัยที่ยังไม่สามารถบอกความเจ็บป่วยของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตามแต่ละช่วงวัย เพื่อทำการตรวจสุขภาพ และหาความผิดปกติในร่างกาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก การตรวจสุขภาพเด็ก จึงนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง และพร้อมรับมือกับโรคร้ายต่าง ๆ ได้

 

ลูกอายุเท่าไหร่ จึงควรไปตรวจสุขภาพ 

เด็กในแต่ละช่วงวัย จะมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้ลูกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบพฤติกรรมการเจริญเติบโตของเด็กว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยช่วงอายุที่ลูกควรไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลนั้น ได้แก่

  • 1 เดือน
  • 2 เดือน 
  • 4 เดือน
  • 6 เดือน
  • 9 เดือน
  • 12 เดือน
  • 15 เดือน
  • 18 เดือน
  • เด็ก 2 ขวบ
  • เด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป

ทั้งนี้เด็กที่มีอายุ 2 ขวบขึ้นไป ควรมาตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อเป็นการประเมินการเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกาย รวมถึงยังเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่หากลูกเจ็บป่วย หรือมีอาการผิดปกติ ก็สามารถรักษา และช่วยเหลือได้รวดเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้อง : การนัดตรวจสุขภาพลูก และทำวัคซีนครั้งแรก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 79

 

 

ตรวจสุขภาพทารก มีอะไรบ้าง

การตรวจสุขภาพของเด็กทารก ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่าง ๆ และสามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมาตรวจตามนัด และพาไปตรวจตามกำหนดเวลาในแต่ละช่วงอายุ โดยการตรวจสุขภาพของเด็กทารกที่ต้องเจอนั้น มีดังนี้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ตรวจร่างกายทั่วไป และการเจริญเติบโต

การตรวจสุขภาพเบื้องต้นของเด็กทารก จะมีการตรวจร่างกาย และการเจริญเติบโต เช่น สัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ รวมทั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบศีรษะของเด็กทารกในช่วง 2 ปี แรก เพราะเด็กในช่วงวัยนี้ มีการเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรวดเร็ว

 

  • ตรวจสุขภาพฟัน และช่องปาก

เด็กในวัย 1 ขวบ สามารถตรวจสุขภาพฟัน และช่องปากได้ หากลูกเริ่มมีฟันขึ้นซี่แรก คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็ก ไปพบทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำได้ ซึ่งเด็กในวัยนี้จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น และเริ่มเคี้ยวอาหารเองได้ การไปพบทันตแพทย์ สามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมตัวลูกดูแลฟัน และช่องปาก เพื่อป้องกันโรคฟันผุที่อาจเกิดขึ้นในเด็กได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ตรวจประเมินภาวะโภชนาการ

การประเมินภาวะโภชนาการของลูกน้อย สามารถตรวจได้ทั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย อัตราการเติบโต และสัดส่วนของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ซักประวัติในเรื่องการรับประทานอาหารของลูกเล็กว่า มีการรับประทานในแต่ละครั้งเพียงพอหรือไม่ ซึ่งบางครั้งอาจต้องมีการเจาะเลือดในการประเมิน และรักษา คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมพร้อม และคอยสังเกตพฤติกรรมการบริโภคของนมของลูก เพื่อช่วยให้การตรวจประเมินนี้ง่ายขึ้นค่ะ

 

  • ตรวจคัดกรองภาวะซีด หรือภาวะขาดธาตุเหล็ก

การตรวจคัดกรองภาวะซีด และภาวะการขาดธาตุเหล็ก ถือเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเลือดลูก โดยเฉพาะทารกในวัย 6-9 เดือน เป็นวัยที่ต้องได้รับสารอาหารอย่างอื่น นอกเหนือจากนม และต้องพร้อมปรับตัวในการรับประทานอาหาร ซึ่งหากลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะการขาดธาตุเหล็กที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการลูก และทำให้เกิดภาวะตัวซีดได้

 

  • ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะพร่องเอนไซม์

การตรวจคัดกรองภาวะทั้งสองนี้ ทารกจำเป็นที่จะต้องตรวจคัดกรองแต่แรกเกิด เพื่อช่วยให้ลูกสามารถหาภาวะบกพร่องของฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะบกพร่องของเอนไซม์ ซึ่งหากเด็กไม่ได้ตรวจ และรับการรักษาในช่วงแรกเกิด จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้าจากเด็กในวัยเดียวกัน หรือแม้กระทั่งพัฒนาการล่าช้าไปทั้งตลอดช่วงชีวิตเลยก็ว่าได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ แม่ท้องทำเองได้ไม่ต้องรอหมอ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

  • ตรวจประเมินพัฒนาการทางด้านพฤติกรรม และอารมณ์

อีกหนึ่งสิ่งที่ลูกต้องเจอ คือการประเมินในด้านของพฤติกรรม และอารมณ์ เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม และอารมณ์อยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกรักได้ประเมินกับแพทย์ว่ามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง หรือมีปัญหาเรื่องพัฒนาการหรือไม่ ซึ่งการตรวจประเมินพฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กวัยนี้ จะสามารถช่วยวินิจฉัย และรักษาโรคเกี่ยวกับพัฒนาการได้อย่างทันท่วงที โดยจะช่วยให้ลูกได้มีพัฒนาการเทียบเท่า และใกล้เคียงกับเด็กวัยเดียวกัน

 

  • ตรวจการได้ยิน

การตรวจการได้ยินของเด็กทารก เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ทารกจึงควรได้รับการตรวจการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเมื่อเด็กมีความบกพร่องในการได้ยิน ก็อาจส่งผลต่อการพูด โดยอาจทำให้มีปัญหาลูกไม่พูด หรือพูดช้า หากคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาตรวจตั้งแต่แรกเกิด ก็จะช่วยให้รับมืออย่างทันท่วงที และสามารถแก้ไขให้พวกเขาสามารถพูดได้ และฟังได้เหมือนกับเด็กปกติ

 

  • ตรวจการมองเห็น

นอกจากการตรวจการได้ยินแล้ว การตรวจการมองเห็น ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในเด็กช่วงก่อนวัยเข้าเรียน เด็กจะเริ่มให้ความร่วมมือในการตรวจร่างกาย ไม่ร้อง หรืองอแงแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาพวกเขาไปตรวจสายตา เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงได้ ซึ่งหากลูกไม่ได้ทำการรักษา ก็อาจก่อให้เกิดโรคตาขี้เกียจตามมา ซึ่งอาจส่งผลให้สายตาพิการตลอดทั้งชีวิตได้

 

  • ตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะของทารก เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนของการตรวจสุขภาพร่างกาย โดยเมื่อลูกมีอายุ 4 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรพาพวกเขาไปตรวจคัดกรองปัสสาวะ เพื่อช่วยให้ลูกตรวจสอบว่ามีโรคไตตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ ซึ่งโรคไตนี้อาจไม่แสดงอาการในวัยเด็ก แต่เป็นการส่งผลในระยะยาวกับลูก เมื่อพวกเขาเริ่มเติบโตขึ้น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องตรวจสุขภาพมากน้อยแค่ไหน

สำหรับเด็กที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิต ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแล ซึ่งบางครั้งอาจต้องมีการตรวจเลือด และร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งอาจทำให้ลูกร้องไห้ หรืองอแง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพร้อมรับมือพวกเขา นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะอ้วน และความดันโลหิตสูง อาจพาลูกมาตรวจร่างกายกับแพทย์ก่อนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เพื่อให้พร้อมรับมือปัญหาโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมา

นอกจากเด็กที่อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของโรคเบาหวาน และความดันโลหิตแล้ว เด็กที่เจริญเติบโตเร็ว หรือช้ากว่าเกณฑ์ ก็ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพอย่างยิ่ง หากลูกมีหน้าอกตั้งแต่เล็ก หรือเสียงยังไม่แตก และยังไม่ฝันเปียก ก็อาจพาลูกไปปรึกษากับหมอ และตรวจว่าความบกพร่องทางร่างกายหรือไม่ หากมีก็สามารถรับมือได้อย่างรวดเร็วและทำการรักษาได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เลี่ยงโรคทางพันธุกรรมที่จะเกิดขึ้น

 

 

เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องพาลูกไปตรวจสุขภาพ

แน่นอนว่าเด็กในวัยทารก อาจร้องไห้ หรืองอแงเมื่อต้องไปพบกับแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เด็กจะเริ่มมีอาการกลัวคุณหมอ และโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อพวกเขาได้รับเจาะเลือดตรวจร่างกายก็อาจร้องไห้ อาละวาด และทำให้การตรวจยากลำบากได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจเตรียมตัวได้ดังนี้

 

  • เตรียมความพร้อมของเด็ก

อย่างที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น เด็กในช่วงวัย 1 ขวบ จะเริ่มมีอาการร้องไห้ งอแง และอาละวาดเมื่อต้องไปตรวจสุขภาพ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมตัวพวกเขาให้พร้อม โดยอาจซ้อมลอกเลียนแบบเป็นคุณหมอ หรือให้ลูกดูการ์ตูนหมอ และอ่านหนังสือเกี่ยวกับหมอให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกเริ่มคุ้นเคย และเริ่มเข้าใจว่าต้องทำตัวอย่างไรเมื่อไปตรวจสุขภาพ

 

  • เตรียมเสื้อผ้า และของเล่นเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่สะดวกสบาย และง่ายต่อการถอด เมื่อต้องไปตรวจสุขภาพ เพราะบางครั้งการตรวจร่างกายนั้น แพทย์จะต้องถอดเสื้อผ้าของเด็กออกเพื่อตรวจอย่างละเอียด หากลูกใส่เสื้อผ้าที่เป็นชุดติดกัน หรือชุดที่ถอดยาก อาจทำให้ลำบากในการตรวจ รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมของเล่น อาหารว่าง หรือนมให้ลูก ๆ ซึ่งหากพวกเขามีอาการร้องไห้ หรืองอแง ก็ช่วยให้ลูกหายร้องไห้ได้

 

  • ให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ

การให้ลูกพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรให้พวกเขานอนหลับอย่างเต็มอิ่ม หรือนอนกลางวันก่อนไปตรวจสุขภาพ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาไม่งอแง เมื่อต้องไปปลุก หรือมีอาการง่วงนอนเมื่อต้องรอพบแพทย์ ซึ่งหากลูกเริ่มเหนื่อย หรือหิว ก็อาจทำให้พวกเขางอแง อยู่ไม่นิ่ง อาจส่งผลให้การตรวจร่างกายนั้น เป็นไปอย่างลำบากได้

 

  • เตรียมข้อมูล และประวัติส่วนตัวของลูก

คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องเตรียมข้อมูล และประวัติของลูกทุกครั้งก่อนไปพบแพทย์ อีกทั้งยังต้องคอยสังเกตพฤติกรรม และอาการของลูกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริโภคอาหาร การนอน พฤติกรรมในแต่ละวัน อาการต่าง ๆ และยาที่ลูกรับประทาน เพื่อจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำที่สุด ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องตอบคำถามแพทย์ให้ตรงประเด็น และสั้นกระชับที่สุด

 

การตรวจสุขภาพทารก เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเพิกเฉย ควรพาลูกไปตรวจร่างกายตามวัยที่เหมาะสม และหมั่นคอยสังเกตพฤติกรรมของลูก ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งหากเราไม่พาลูกไปตรวจสุขภาพ หรือละเลยในเรื่องนี้ ก็อาจส่งผลให้เด็กต้องพบเจอกับปัญหาโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และควรทำตามคำแนะนำของหมอ เพื่อช่วยให้พวกเขาแข็งแรง และเจริญเติบโตสมวัย

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานใช้เงินเท่าไหร่ ?

ความแข็งแรงของศีรษะทารก สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ !

“แสงแดดยามเช้า” ดีกับทารกอย่างไร ทารกไม่ควรตากแดดจริงหรือ ?

ที่มาข้อมูล : vejthani, enfababy

บทความโดย

Sittikorn Klanarong